พญ. อัญชลี เสนะวงษ์ | ทำให้เด็กแพ้แป้งได้กินเค้กวันเกิด
หนึ่งในภารกิจพลิกคุณภาพชีวิตคนของหมอแซนด์ คุณหมอนางฟ้า
ผู้สร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียให้คนรู้ว่าโรคภูมิแพ้นั้นแก้ได้

“เราเป็นหมอเนี่ยมีแค่ 2 อย่าง อันแรกต้องมีทัศนคติที่ดี คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้ง และสอง ต้องเป็นหมอที่เก่งด้วย หมอแต่ละคนความเก่งไม่แพ้กัน แต่ว่าต้องเอามาประยุกต์กับคนไข้ให้เหมาะสม ต้องอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ เพราะภูมิแพ้มันใหม่ การรักษามันเปลี่ยนแปลงตลอด

– พญ. อัญชลี เสนะวงษ์ –

หากคุณเป็นสายโซเชียลที่กำลังเปิดดู Instagram หรือ Tiktok แล้วอยู่ๆก็เกิดจามขึ้นมาเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ วิธีที่จะได้รู้จักอาการตัวเองโดยไม่ต้องออกจากโซเชียลมีเดีย คือติดตามคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จาก พญ. อัญชลี เสนะวงษ์ หรือหมอแซนด์ภูมิแพ้ กุมารแพทย์ด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ประจำศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาล BNH ซึ่งรักษาอาการแพ้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และมอบความรู้แก่คนทั่วไปในโซเชียลมีเดีย

สาวกิจกรรมขวัญใจสถาบัน

“ตอนแรกพี่เขามาทาบทามให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ แต่รู้สึกว่าแต่งตัวโป๊ รู้สึกเขิน เลยไม่เอาดีกว่า เป็นดรัมเมเยอร์แทน แล้วก็ไปเข้าค่ายติวเคมีโอลิมปิกวิชาการ ด้วยความที่เป็นคนตัวสูง ก็ไปแข่งแบดมินตันด้วย แล้วก็ได้แชมป์มา”

ชีวิตสมัยมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของหมอแซนด์นับว่ามีสีสันไม่น้อย ไม่เพียงบุคลิกสวยหวานที่มอบโอกาสให้เธอเป็นดาวเด่นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แต่ทักษะทางวิชาการและกีฬาก็โดดเด่นไม่แพ้กัน พอขึ้นชั้น ม. 5 คุณหมอก็ได้ตำแหน่งนางนพมาศประจำโรงเรียนที่จัดประกวดกันอย่างจริงจังมากระหว่างตัวแทนสาวงามจากหลายตึก

 

“ต้องนั่งเสลี่ยงไม้ด้วย แล้วตอนนั้นเรายังอ้วนอยู่ เพื่อนผู้ชายก็บ่นว่าเจ็บมากที่ต้องแบกเราไปรอบโรงเรียน”

 เรียกได้ว่าประสบการณ์ชีวิตของหมอแซนด์ในวัยเยาว์มีครบถ้วนทุกด้าน แต่สังคมรอบตัวที่ล้อมรอบด้วยคนอยากเป็นหมอก็พาเธอเดินเข้าสู่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ในใจเธอจะอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม

“พ่อแม่ก็บอกว่าเป็นหมอเถอะ เราก็เลยโอเคมาเป็นหมอ เพราะว่าสายงานก็ใกล้ๆกัน”

หมอแซนด์จึงได้เป็นหมอคนแรกของบ้านที่มีพ่อเป็นวิศวกร แม่เป็นพยาบาล พี่สาวเป็นแอร์โฮสเตส เรื่องเล่าจากการทำงานของคนสี่คนสี่อาชีพจึงไม่รู้จบและไม่รู้เบื่อ ทำให้ครอบครัวของคุณหมออบอุ่นและสนิทสนมใกล้ชิดกันมาก และแม้ว่าในตอนแรกหมอแซนด์จะเข้ามาสู่วงการแพทย์เพราะค่านิยมของครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่ยิ่งนานไป เธอก็ยิ่งรู้สึกว่านี่คืออาชีพที่ต้องเสียสละเพื่อผู้อื่น ความตื้นตันที่อยู่ในใจกลายเป็นความสุขและความรักในสิ่งที่ทำ เธอยังคงเป็นเด็กเรียนควบคู่กับเด็กกิจกรรมในตำแหน่งนางนพมาศและดรัมเมเยอร์ประจำคณะในช่วงชั้นปีแรกๆ ก่อนต้องหันมาอุทิศเวลาให้การเรียนอย่างเต็มที่จนจบชั้นปีที่ 6 แล้วชีวิตก็พบจุดเปลี่ยนเมื่อต้องออกไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ซึ่งเป็นโลกอีกใบสำหรับคนที่เกิด โต และใช้ชีวิตในกรุงเทพฯมาโดยตลอด

 

“วันแรกจำได้ว่าคุณพ่อขับรถไป 5 ชั่วโมง พอพ่อกลับ นี่ร้องไห้เลย ไม่รู้จะทำยังไง แล้วพรุ่งนี้จะต้องไปผ่าตัด แต่ก็สู้ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอก ถ้าไม่ได้ก็เปิดหนังสือเอา ตอนนั้นเจอทุกโรคเลย โรงพยาบาลมีกันไม่กี่คน เราก็ต้องทำทุกอย่างได้หมด ตรงนั้นติดชายแดนกัมพูชา มีชาวเขมรมาทำงานมาแต่งงาน ก็ต้องรักษาคนไข้ชาวเขมร สื่อสารกันยาก แต่เขาทนมาก เย็บแผลให้ไม่ต้องฉีดยาชาเลย”

“แต่ก่อนเป็นคนรังเกียจปลาร้ามาตลอด แต่พอไปตรงนั้น ทุกอย่างใส่ปลาร้าหมด หลนปลาร้า แกงจืดปลาร้า ก็กินก็ได้ ตอนนี้แซ่บเลย ถ้าไม่มีไม่กินเลยดีกว่า”

โรงพยาบาลในอำเภอศรีราชา ชลบุรี เป็นที่หมายต่อไปของการใช้ทุนที่ทำให้หมอแซนด์เริ่มรู้สึกสนใจด้านกุมารเวช เธอชอบอยู่กับเด็ก ดูแลคนไข้เด็กได้ดี ทำงานก็เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดี และยังคงเป็นขวัญใจสถาบัน

 

“ตอนนั้นมีโหวตกัน คนไข้ก็โหวตว่าเราเป็นหมอนางฟ้า เพราะว่าใจดี แล้วก็ช่วยเหลือน้องๆหมอพยาบาล ก็รู้สึกภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้เป็นนางฟ้าของโรงพยาบาล มีสายสะพายกับมงกุฎด้วย ยังเก็บไว้อยู่เลย”

หลังการเรียนต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชและภูมิแพ้ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอก็เข้าทำงานเป็นกุมารแพทย์ และแพทย์โรคภูมิแพ้ ประจำโรงพยาบาล BNH โดยยังคงความเป็นนางฟ้าในตัวทั้งต่อคนไข้และเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ทำให้เธอเป็นคุณหมอขวัญใจคนไข้ประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเช่นกัน

ฉันรักภาษา

หมอแซนด์ชอบเรียนภาษามาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสเธอจึงมักหาเวลาฝึกฝนทักษะทางภาษาอยู่เสมอ การได้ไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาตั้งแต่เด็กๆ คือจุดเริ่มต้นที่เปิดโลกทางภาษา อันนำไปสู่การทลายกำแพงกั้นเพื่อเข้าถึงผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

 

“พอพูดได้ ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมเขาได้ดี และฝึกให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น ตอนนี้ก็มีผลกับการทำงาน การพูดภาษาอังกฤษได้คล่องก็ช่วยเยอะ”

หมอแซนด์เคยร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของนักเรียนแพทย์ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี กับการฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์แพทย์ชื่อดังด้านภูมิแพ้ที่ญี่ปุ่นในสมัยเรียนเฉพาะทาง แม้ว่าระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะไม่เพียงพอต่อการรับทักษะทางภาษาใหม่ แต่ประสบการณ์การแพทย์จากโลกที่แตกต่างก็ทำให้เธอเห็นอีกมุมมองหนึ่งของงานด้านสาธารณสุข

 

“คนอิตาลีจะเป็นคนสบายๆ แต่พอในสังคมหมอ ความสบายนั้นก็หายไป อ่านหนังสือกันซีเรียสเลยเหมือนกัน คนญี่ปุ่นทำงานกันจริงจัง ทุกคนทำเพื่อคนไข้ ข้าวก็ไม่ค่อยกินกัน”

วันนี้ในโรงพยาบาล BNH คนไข้เกือบครึ่งของคุณหมอแซนด์คือผู้มาจากต่างแดน ความสนใจในภาษา และการเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่เธอได้เรียนรู้มาทำให้ช่องว่างระหว่างหมอไทยและคนไข้ต่างชาติลดลง แต่คุณหมอไม่ได้หยุดแค่ภาษาอังกฤษ ความรักด้านภาษาพาเธอออกไปหาเหล่าซือเพื่อฝึกปรือภาษาจีนในช่วงเวลาว่างที่ไม่ได้มีมากนักสำหรับคนเป็นแพทย์ จนสอบได้ HSK ระดับ 4 แต่การสื่อสารทางการแพทย์เป็นขั้นกว่าของระดับภาษาทั่วไป คำหลายคำคือศัพท์เฉพาะที่เธอต้องขวนขวานทำความเข้าใจเอาเองเพื่อสื่อสารกับคนไข้ให้ได้ และเธอก็ทำได้จริง

 

“ตอนนี้ก็พูดกับคนไข้ได้ ถ้าง่ายๆก็ไม่ต้องมีล่ามแล้ว เราสนใจเรื่องภาษาเพราะว่าเวลาคุยกับคนไข้โดยตรงให้ความรู้สึกไม่เหมือนคุยกับล่าม เวลาคนไข้ชมว่าคุณหมออธิบายเก่ง ก็รู้สึกว่าคุ้มแล้วกับการเรียน”

“ตอนนี้ก็อยากจะเรียนภาษาฝรั่งเศสด้วย”

จากนักกิจกรรมสู่ ‘หมอแซนด์ ภูมิแพ้’ ที่รักในภาษา คุณหมอได้ใช้ความสามารถที่มีนำเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ด้วยภาษาไทยที่เข้าใจง่ายบนช่องทาง Instagram และที่ยิ่งกว่านั้นคือถ่ายทอดด้วยภาษาจีนบน Tiktok ในชื่อ @allergybangkok

เส้นทางในงานภูมิแพ้

“เด็กบางคนแพ้พวกแป้ง ดังนั้นเขาจะไม่เคยกินเค้กวันเกิดเลย แต่เรามีวิธีการรักษาที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันบำบัดทำให้เด็กที่แพ้อาหารไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไปตลอดชีวิตแล้ว ก็ทำให้เขาไปร่วมงานวันเกิดได้ กินเค้กวันเกิดได้ แม้ไม่กี่คำ มันก็เป็นความสุขของหมอภูมิแพ้”

เด็กหลายคนเกิดมาพร้อมกับอาการแพ้บางสิ่งบางอย่าง แต่การเปลี่ยนภูมิคุ้มทำให้คนไข้สามารถลดอาการแพ้ และได้ปลดล็อคข้อจำกัดในการใช้ชีวิต หมอแซนด์จึงเลือกมาเรียนต่อทางด้านนี้ ซึ่งในสมัยนั้นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีคนเลือกเรียนเพียงปีละ 8-9 คน

 

“เด็กบางคนที่แพ้แป้ง แค่เดินผ่านแผงอาหารที่เขาทอดกันแป้งกระจายก็ตัวแดงหายใจไม่ออกแล้ว”

“หลายครอบครัว พ่อแม่ต้องลาออกเพื่อมาทำอาหารให้ลูกกินเพราะไม่เชื่อใจโรงเรียน ปัญหามันไม่จบแค่การเลี่ยง แต่มันจะมีปัญหาแนวพ่อแม่ทะเลาะกันเพราะคนนั้นคนนี้ทำพลาด ปัญหาครอบครัวก็ตามมา”

การรักษาภูมิแพ้จึงเป็นงานท้าทายที่ไม่ใช่เพียงการช่วยชีวิต แต่แก้ไขคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่คนกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือไม่ทราบว่ามีทางรักษาได้แล้วอย่างภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งหากปล่อยโรคภูมิแพ้ทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก็อาจนำไปสู่อาการอื่นๆตามมา เช่น เป็นไซนัสง่าย ใต้ตาดำ ภูมิแพ้ลงปอด เป็นต้น

 

“เด็กบางคนเป็นภูมิแพ้แล้วมีผื่นอักเสบ เขาก็จะอายเพื่อน ไม่ค่อยอยากใส่ชุดนักเรียน เราก็จะยกตัวอย่างให้ฟังว่าสมัยก่อนหมอก็เคยมีผื่นนะ ทั้ง สิว ทั้งสาก ขนคุด แต่ว่าหลังจากดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ดูแลผิวดีๆ ดูสิหมอก็ยังกลับมาผิวสวยได้”

หลายครั้งที่ผลข้างเคียงจากอาการแพ้ไม่ได้จบที่ศูนย์โรคภูมิแพ้ แต่เกี่ยวข้องกับแผนกอื่น เช่น แพทย์ผิวหนัง สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ นักโภชนาการ ทางคุณหมอแซนด์ก็จะต้องทำงานประสานกับแผนกอื่นๆของโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เพื่อมอบการดูแลแบบองค์รวม ที่ไม่ใช่เพียงรักษาอาการแพ้ แต่ยังดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางกายและทางใจอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเคสร้ายแรงอย่างกลุ่มอาการแพ้ยาเฉียบพลันซึ่งอันตรายถึงชีวิตอย่าง Steven Johnson

 

“คนไข้ได้ยามา 4 ตัว ประเด็นที่ท้าทายคือเราก็ไม่รู้ว่าเขาแพ้ตัวไหน เราใช้ความร่วมมือหลายแผนก ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีของโรงพยาบาล BNH เพราะสังคมที่นี่เป็นเหมือนบ้าน ทุกคนเป็นเพื่อนกัน มีอะไรแล้วก็โทรศัพท์หากันส่งเคสปรึกษากันได้ เพื่อคนไข้แล้วเราไม่มีช่องว่างในการดูแล เราก็ปรึกษาจักษุแพทย์เพราะตาเขาอักเสบ ปรึกษาทางคุณหมอผิวหนังให้มาทำแผล แล้วคุณหมอคนนั้นคนนี้ช่วยกันดู แล้วก็ส่งไปตรวจดูว่าเขาแพ้อะไร คนไข้ก็นอนโรงพยาบาลอยู่เดือนนึงได้ ตอนนี้ก็เจอตัวที่แพ้แล้ว”

 

“ที่ BNH เราก็ตั้งใจจะจับมือระหว่างแผนกหูคอจมูก หมอปอด หมอภูมิแพ้ ถ้าคนไข้ฟึดฟัดมาทีเดียว เราจะได้ดูทั้งหมดเลยเป็น One Stop Service เพื่อให้คนไข้ได้รับ Complete care”

หน้าที่ในการรักษาอาการแพ้ ทำให้หมอแซนด์ต้องทำตัวเป็นนักสืบตลอดเวลาเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ให้ได้ เธอจะต้องซักประวัติคนไข้ สืบลึกลงไปถึงเรื่องราวในอดีต อาหารการกิน สัมผัสสารอะไรมา คลายข้อกังวลใจ ทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ แล้วจึงค่อยๆรักษาโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด โดยปลายทางคือการที่คนไข้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสารก่อภูมิแพ้ได้เกือบเท่าคนปกติ และทลายข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต

 

แต่บางครั้ง สารตั้งต้นของอาการแพ้ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นไกล แต่เป็นความเครียดเองที่สั่งให้ร่างกายป่วย อีกหน้าหนึ่งของหมอภูมิแพ้คือต้องช่วยคนไข้ได้เยียวยาสุขภาพจิตโดยการรับฟัง มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการแพ้ แต่ตลอดบทสนทนาคือปัญหาความเครียด วิตกกังวลจนนอนไม่หลับ และร่างกายแสดงปฏิกิริยาคล้ายคนเป็นภูมิแพ้ หมอแซนด์จึงมอบการดูแลเพื่อคลายความทุกข์ของคนไข้ให้ได้ ซึ่งการเป็นคนมองโลกในแง่ดี ยิ้มง่าย และอ่อนโยน ช่วยมอบความสบายใจให้คนไข้ยอมเปิดใจเล่าเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ต่อการรักษา

 

“ตอนที่คนไข้ดีขึ้น อย่างเคยเป็นหอบหืด แล้วตอนนี้เขาหายใจได้ดีขึ้น ไปเล่นกีฬาไปวิ่งได้ไปเข้าฟิตเนสได้ อันนี้ก็ทำให้เรามีกำลังใจ มีความสุข”

พลังขนและสายน้ำ

“เป็นภูมิแพ้ไรฝุ่น และก็เป็นคนชอบหมา ทำให้เข้าใจคนที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว”

ทุกช่วงชีวิตของหมอแซนด์มีเจ้าตูบสี่ขาพันธุ์เชาเชาคอยเคียงข้างอยู่ตลอดตั้งแต่เด็กจนโต จะกี่รุ่นก็ต้องเป็นพันธุ์นี้เท่านั้น แม้ว่ามันจะตัวใหญ่ ขนยาว และหนักถึง 30 กิโล จนอุ้มไม่ไหว แถมคุณหมอเองก็มีอาการแพ้ต่อขนสุนัข

 

“ตอนนี้มีเชาเชาอยู่ 2 ตัว ถ้าเป็นคำแนะนำทั่วไปก็คือให้เอาออกจากบ้านไปเลย ซึ่งก็รู้ว่ามันทำไม่ได้ แต่เราก็เข้าใจว่าจะทำยังไงให้อยู่ด้วยกันกับน้องเขาได้”

ถึงแม้หมอแซนด์จะไม่ได้มีอาการแพ้รุนแรงถึงระดับที่ต้องรับภูมิคุ้มกันบำบัด แต่เธอก็จัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสมกับคนแพ้ไรฝุ่นที่ต้องยอมให้น้องหมา ที่บ้านจะใช้โซฟาหุ้มหนัง ผ้าม่านสองชั้น และต้องจัดการอาบน้ำให้น้องทุก1-2สัปดาห์ เพื่อให้น้องเชาเชาได้อยู่ใกล้คอยให้กำลังใจคุณหมอในทุกสถานการณ์

 

“เวลาเราเครียด ถ้าได้กลับไปสูดขนของน้อง มันก็ได้พลังบางอย่าง อย่างพลังขน แต่บางทีสูดขนแล้วก็จามนะ แต่ก็โอเค…ยอมนิดนึง”

อาจไม่เกี่ยวกับการเป็นอดีตนางนพมาศประจำโรงเรียน แต่อีกขุมพลังใจของหมอแซนด์ คือสายน้ำ ซึ่งเธอชอบกิจกรรมทางน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะดำน้ำ หรือการเล่นเซิร์ฟ

 

“ดำน้ำนี่เป็นขั้น advance แล้ว ซึ่งมันฝึกสมาธิ ฝึกให้ไม่ panic ไม่ว่าในสถานการณ์อะไร จะคุมสติได้มาก ส่วนเล่นเซิร์ฟก็ได้ฝึกความแข็งแกร่ง ทำให้เป็นคนกระฉับกระเฉง เวลาทำงานก็จะได้มอบพลังงานที่ดีให้กับคนไข้ด้วย”

 

“ถ้า ผอ. อนุญาต ก็อยากลาไปเล่นเซิร์ฟที่ฮาวายด้วย…แต่มันต้องลายาวๆ”

 

“เราเป็นหมอเนี่ยมีแค่ 2 อย่าง อันแรกต้องมีทัศนคติที่ดี คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้ง และสอง ต้องเป็นหมอที่เก่งด้วย

จากวันที่เลือกเป็นหมอเพราะตามกระแส ทุกวันนี้หมอแซนด์มีความสุขที่ได้ช่วยคลายปมการใช้ชีวิตและมอบความสุขที่เคยขาดหายไปให้คนไข้ ด้วยหน้าที่ของหมอ ด้วยความสนใจในภาษา ด้วยทักษะของนักกิจกรรม เธอยังคงบูรณาการความสามารถที่มีเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดให้คนไข้ และคนทั่วไปที่ยังไม่รู้ว่าภูมิแพ้นั้นแก้ได้

Articles and Published Content by This Doctor

ภาวะหลอดลมตีบจากการออกกำลังกาย

ภาวะหลอดลมตีบจากการออกกำลังกาย การออกกำลังกายสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหายใจขัดได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะบางอย่างหลังการออกกำลังกาย

แพ้ถั่วเปลือกแข็ง

การแพ้ถั่วเปลือกแข็งถือเป็นหนึ่งในแปดของอาหารที่พบการแพ้บ่อย ถั่วเปลือกแข็ง ได้แก่ ถั่วอัลมอนด์ ถั่วบราซิล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ วอลนัต

ภาวะแพ้อาหารและหอบหืด

โรคแพ้อาหารพบ 1-10% แล้วแต่ว่าเป็นจากประวัติหรือจากการกินทดสอบกับแพทย์เพื่อยืนยัน ส่วนหอบหืด 10-20% คนหอบหืดมีแพ้อาหารได้

รู้จักอาการแพ้กัญชา

การแพ้เป็นปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งแตกต่างจากผลข้างเคียงจากสารในกัญชา เช่น อาการปากแห้งคอแห้ง มึนเมา ใจสั่น เป็นต้น

การแพ้วัคซีน

วัคซีนคือ สารผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง พบได้ไม่บ่อย

เข้าใจโรคภูมิแพ้

การดำเนินโรคตามธรรมชาติ (natural history) ของโรคภูมิแพ้ เรียกว่า “Allergic march”หรือ “Atopic march”เริ่มจาการแพ้อาหารในเด็กเล็ก

การป้องกันภูมิแพ้และอาหารของลูกน้อย

การป้องกันภูมิแพ้และอาหารของลูกน้อย เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กได้ ควรดำเนินการตั้งแต่ระยะเวลาแรก ๆ ของชีวิต

อาหารในคนโรคภูมิแพ้หอบหืด

อาหารสามารถส่งผลต่ออาการภูมิแพ้และหอบหืดได้ อาหารประเภทผักผลไม้ วิตามินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่าส่งผล ลดการอักเสบในร่างกาย

การออกกำลังกายในคนภูมิแพ้หอบหืด

การออกกำลังกายมีประโยชน์ในโรคหอบหืด นอกจากจะลดความเสี่ยงการเป็นหอบหืดยังช่วยทำให้อาการหอบหืดลดลงด้วย เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย

5 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับการแพ้อาหาร

การแพ้อาหารพบประมาณ 1-10% ในเด็กไทยพบว่ามีการแพ้นมวัว แป้งสาลีและไข่ไก่ มากที่สุด เมื่อเทียบกับเด็กทางยุโรปหรืออเมริกาซึ่งพบการแพ้ถั่วลิสงมาก

แพ้กุ้ง

พบอาการแพ้กุ้งมักพบในผู้ใหญ่หรือเด็กโตมากกว่า ประมาณ 42% พบในเด็กเล็ก 12-20% มักเป็นการแพ้ชนิดเฉียบพลัน มีการรายงานการแพ้ชนิดรุนแรง

แพ้ปลา

ในปัจจุบันพบ อุบัติการณ์การ แพ้ปลา น้อยกว่า 1% ของ ประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการบริโภคปลามากขึ้น

แพ้นมวัว

อาการแพ้นมวัว เกิดจากสารก่อภูมิแพ้โปรตีนที่ชื่อว่าเคซีน (casein)และเวย์ (whey) โปรตีนเหล่านี้ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อยๆ

แพ้ถั่วเหลือง

โดยกลุ่มอาการแพ้มีหลากหลาย พบได้ทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ถั่วเหลืองถือเป็น หนึ่งในอาหารแพ้หลัก 8 ชนิดที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้

ไขข้อข้องใจ ทำไมบางทีกินกุ้งแล้วแพ้ บางทีก็ไม่แพ้

ทำไมเวลารับประทานกุ้ง ทำไมถึงแพ้เป็นบางครั้ง หรือแพ้เป็นบางร้าน หรือแพ้เฉพาะบางเมนู ทำให้กังวลใจว่าเป็นภูมิแพ้อาหารอยู่หรือเปล่า

เลี่ยงฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ได้ หมอภูมิแพ้แนะ 5 วิธีรับมือ

คุณภาพอากาศส่งท้ายปีในเดือนธันวาคม พบว่าเกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะทำอย่างไรดี เมื่อเราต้องออกไปทำกิจวัตรประจำวันข้างนอก

แพ้ไข่

การแพ้ไข่นั้นมักแพ้จากส่วนประกอบโปรตีน ดังนั้นในผู้ป่วยที่แพ้ไข่จึงมักเกิดจากส่วนประกอบในไข่ขาวมากกว่าไข่แดงนั่นเอง

แพ้แป้งสาลี

ภาวะแพ้แป้งสาลี หรือหลายคนเรียก แพ้กลูเตน พบว่าเป็นการแพ้อาหารที่พบบ่อยในคนไทย จริงๆแล้วกลูเตน คือส่วนประกอบหนึ่งของแป้งสาลี

Video Testimonial

Video Knowledge

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์​ | Appointment

พญ. อัญชลี เสนะวงษ์

ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้

ความชำนาญพิเศษ

ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

ภาษา

ไทย, อังกฤษ

ทำนัดหมาย


– กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน


– วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์
– วุฒิบัตรภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน


– 2553 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– 2559 กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
– 2561 กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

ตารางออกตรวจแพทย์
วัน เวลา แผนก
จันทร์ 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
อังคาร 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
พฤหัสบดี 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ศุกร์ 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
เสาร์ 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก