
1. คนไทยแพ้อาหารอะไรบ้าง
อุบัติการณ์การแพ้อาหารพบประมาณ 1-10% ในเด็กไทยพบว่ามีการแพ้นมวัว แป้งสาลีและไข่ไก่ มากที่สุด เมื่อเทียบกับเด็กทางยุโรปหรืออเมริกาซึ่งพบการแพ้ถั่วลิสงมาก สำหรับในผู้ใหญ่มักพบการแพ้อาหารทะเล, ถั่วลิสงหรือถั่วเปลือกแข็ง
2. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้อาหาร
อาการแสดงเริ่มต้นอาจมีหลายรูปแบบ เช่น
-ชนิดเฉียบพลัน เช่น ลมพิษ หายใจไม่ออก มักเป็นหลังรับประทานอาหารที่แพ้ภายในนาทีหรือชั่วโมง
-ผื่นผิวหนังอักเสบ พดผื่นคัน พบหลังรับประทานอาหารที่แพ้เป็นหลักวันหรือสัปดาห์
-อาการทางลำไส้ เป็นการแพ้ชนิดไม่เฉียบพลัน เช่น เด็กเล็กที่มีถ่ายปนมูกเลือดหลังกินนมวัว ภาวะลำไส้อักเสบดูดซึมไม่ปกติ
การวินิจฉัยอาศัยทั้งอาการ, การตรวจร่างกาย, การทดสอบผิวหนังหรือเจาะเลือดในกรณีการแพ้แบบเฉียบพลัน และยืนยันด้วยการทดสอบโดยการรับประทานอาหารนั้นๆ หรือ oral food challenge test สำหรับการแพ้ที่มีอาการทางทางเดินอาหารอาจพิจารณาตรวจอุจจาระหรือส่องกล้องกระเพาะอาหารหรือลำไส้ตามอาการ
3. ทำไมบางคนจึงแพ้อาหารหลายชนิด
การแพ้อาหารสามารถเกิดการแพ้ข้ามกลุ่มกันจากความคล้ายคลึงของโมเลกุลสารก่อภูมิแพ้ เช่น แพ้แป้งสาลีพบว่า 25% มีการแพ้บาร์เลย์หรือข้าวไรย์ร่วมด้วย, คนที่แพ้กุ้งพบว่า 75%แพ้ปูด้วย น้อยกว่า50% พบว่าแพ้หอยหรือปลาหมึกด้วย, ภาวะแพ้นมวัวนั้นมากกว่า90% พบว่าแพ้นมแพะหรือนมแกะร่วมด้วย ในขณะที่มีเพียงน้อยกว่า5% ที่มีการแพ้นมอูฐหรือนมม้า, สำหรับการแพ้ถั่วลิสงพบว่าแพ้ถั่วเปลือกแข็ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ้ วอลนัท ร่วมได้ประมาณ 33% เป็นต้น
4. แพ้อาหารหายได้หรือไม่
การแพ้แต่ละชนิดโอกาสหายไม่เท่ากัน การแพ้นมวัวและไข่ไก่ เฉลี่ย 50% หายแพ้ที่5-6 ขวบ, แป้งสาลี 50% หายแพ้ที่ 7 ขวบ ในขณะที่การแพ้ถั่วพบเพียงแค่ 10-20% หายแพ้ที่ 5 ขวบและอาจแพ้ต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ในปัจจุบันนี้จึงมีวิธีการรักษาที่เรียกว่าวัคซีนภูมิแพ้ทางปาก หรือ oral immunotherapy ซึ่งเป็นการให้อาหารที่แพ้ในปริมาณควบคุมเหมาะสมเพื่อสร้างภูมิต้านทานมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีที่คนไข้ไม่หายแพ้โดยธรรมชาติและมีการแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลัน
5. การป้องกันในเด็กหรือตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้อย่างไรบ้าง
แนะนำรับประทานนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4 เดือน เริ่มอาหารเสริมที่อายุ 4-6 เดือน ในทารกกลุ่มเสี่ยงที่นมแม่ไม่เพียงพอ การให้นมสูตรย่อยพิเศษ อาจช่วยป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้เมื่อนำมาใช้แทนนมวัวสูตรปกติ โดยยังไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับนมแพะหรือนมถั่วเหลือง หญิงตั้งครรภ์ควรทานอาหารให้สมดุลย์ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ต้องงดอาหารอะไร ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเน้นรับประทานนมวัวหรือนมถั่วเหลืองในช่วงเวลาตั้งครรภ์
มีหลักฐานทางการแพทย์กล่าวถึงการใช้โปรไบโอติกหรือพรีไบโอติก, ภาวะไม่บกพร่องของวิตามินดี, การมีโอเมก้า3 ที่สูง ซึ่งพบในปลาทะเล เช่น แซลมอน ปลาแมคเคอเรล และการมีสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยเสริมความต้านทานต่อภาวะภูมิแพ้ได้ ทั้งนี้การศึกษานั้นมีจำกัด
เอกสารอ้างอิง
- Savage et.at The Natural History of Food Allergy. J Allergy Clin Immunol Pract. 2016;4(2):196-203
- Cox AL et al. Clinical Relevance of Cross-Reactivity in Food Allergy. J Allergy Clin Immunol Pract 2021;9:82-99
- Sicherer SH et al. Food allergy: A review and update on epidemiology, pathogenesis, diagnosis, prevention, and management. J Allergy Clin Immunol 2018;141:41-58.

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)