
อาการไอเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย แต่สำหรับหลายคน การไอเรื้อรังกลับกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะงยิ่งหากไม่สามารถระบุสาเหตุหรือรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยบางคนอาจต้องเผชิญกับภาวะ "Cough Hypersensitivity Syndrome" หรือภาวะไอไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น
สาเหตุและกลไกการเกิดอาการไอ
อาการไอเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทและสมอง โดยแบ่งออกเป็นการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทส่วนปลาย และการกระตุ้นผ่านระบบประสาทส่วนกลาง ดังนี้
การกระตุ้นผ่านระบบประสาทส่วนปลาย
ระบบประสาทส่วนปลายส่งสัญญาณการไอผ่านเส้นประสาท การกระตุ้นจากสารภายนอก ซึ่งมีเส้นประสาทหลัก 2 ประเภท คือ:
c-fibres เป็นเส้นประสาทที่ไม่หุ้มฉนวน (unmyelinated) ที่ไวต่อการกระตุ้นโดยเฉพาะสารที่เกิดจากการอักเสบหรือสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เช่น บุหรี่ และมลภาวะ
Aδ fibres เป็นเส้นประสาทที่หุ้มฉนวน (myelinated) ซึ่งพบมากในทางเดินหายใจส่วนต้น มีความไวต่อการกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การเบียดสัมผัสหรือการยืดตัว และการกระตุ้นจากกรดในร่างกาย
จากนั้น สัญญาณจากระบบประสาทส่วนปลายจะถูกส่งต่อไปยังระบบประสาทส่วนกลาง เริ่มจากสมองส่วน brainstem ผ่านเส้นประสาท vagus nerve ซึ่งสมองจะทำหน้าที่ประมวลผล ส่งส่งสัญญาณคำสั่งเพื่อกระตุ้นกะบังลม กล้ามเนื้อทรวงอกให้เกิดอาการไอ
ภาวะ Cough Hypersensitivity Syndrome คืออะไร?
คือภาวะไอเรื้อรังที่เกิดจากการตอบสนองที่ไวเกินไปของระบบประสาททั้งส่วนปลายหรือส่วนกลาง โดยปัจจัยกระตุ้นมีได้หลากหลาย เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การกระตุ้นจากฝุ่นหรือสารเคมี แม้แต่ภาวะทางอารมณ์ ความเครียด เป็นต้น จากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มักมีการแสดงออกของตัวรับบางชนิดที่เส้นประสาทของหลอดลมมากขึ้น และการศึกษาผ่านเทคโนโลยีสแกนการทำงานของสมอง ยังพบถึงความไวเกินของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการควบคุมการไออีกด้วย ผู้ป่วยภาวะนี้มักจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบทั่วไป
แนวทางการรักษาอาการไอหรือการไอจากจากภาวะ Cough Hypersensitivity Syndrome
ปัจจุบันมีการพัฒนายารักษาไอเรื้อรังหลายกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มยาได้ดังนี้:
- ยาบรรเทาอาการไอและยาขับเสมหะแบบทั่วไป
– ยาขับไอ หรือ Expectorants เช่น Guaifenesin ช่วยในการขับเสมหะออกจากร่างกาย
– ยาละลายเสมหะ หรือ Mucolytics เช่น Bromhexine และ Acetylcysteine ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้ไอออกได้ง่ายขึ้น
– ยากดไอ หรือ Antitussives เช่น Dextromethorphan ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ใช้บรรเทาอาการไอที่ไม่มีเสมห
- ยาต้านการกระตุ้นการไอที่มีการคิดค้นใหม่
กลุ่มยาที่กำลังพัฒนามีความสามารถในการยับยั้งการทำงานของ receptor และระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการไอเรื้อรัง ได้แก่:
– ยายับยั้งที่ตัวรับปลายประสาทที่เกี่ยวกับการไอ หรือ P2X3 Receptor Antagonists เช่น Gefapixant มีประสิทธิภาพในการลดอาการไอเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
– ยากลุ่ม Opioids เช่น Codeine ช่วยบรรเทาอาการไอโดยการออกฤทธิ์ลดความไวที่สมอง อย่างไรก็ตามควรใช้ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากมีผลข้างเคียง เช่น ท้องผูกและง่วงซึม
– ยากลุ่มที่เกี่ยวข้องสารสื่อประสาท เช่น Gabapentin และ Pregabalin เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการทำงานของระบบประสาททั้งในส่วนปลายและส่วนกลาง ซึ่งช่วยลดอาการไอได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
– ยาที่ยับยั้งที่ตัวรับในระบบประสาทการไอ Neurokinin-1 Receptor Antagonists เช่น Orvepitant มีแนวโน้มในการใช้ลดอาการไอในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบทั่วไป
ความท้าทายและอนาคตของการรักษาอาการไอเรื้อรัง
การรักษาอาการไอเรื้อรังและภาวะไอที่ไวเกินต่อสิ่งกระตุ้นยังมีความท้าทาย เนื่องจากต้องการยาที่สามารถทำงานได้ตรงจุด มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในระยะยาว ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาอาการไอเป็นเวลานาน การติดตามผลการรักษาและการศึกษาต่อยอดเพื่อพัฒนายาที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุดให้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ยังต้องดำเนินต่อไป ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาและติดตามผลอย่างใกล้ชิด
เอกสารอ้างอิง
- Imran Satia, Huda Badri, Bashar Al-Sheklly, Jaclyn Ann Smith and Ashley Woodcock. Towards understanding and managing chronic cough. Clinical Medicine 2016 Vol 16, No 6: s92–s97
- Nermin Diab, Matthew Patel, Paul O’Byrne, Imran Satia. Narrative Review of the Mechanisms and Treatment of Cough in Asthma, Cough Variant Asthma, and Non‑asthmatic Eosinophilic Bronchitis. Lung (2022) 200:707–716
- Guilleminault, L., Grassin-Delyle, S. & Mazzone, S.B. Drugs Targeting Cough Receptors: New Therapeutic Options in Refractory or Unexplained Chronic Cough. Drugs (2024).
- Woo-Jung Song, Alyn H. Morice. Cough Hypersensitivity Syndrome: A Few More Steps Forward. Allergy Asthma Immunol Res. 2017 September;9(5):394-402
- Chung KF, McGarvey L, Song WJ, Chang AB, Lai K, Canning BJ, Birring SS, Smith JA, Mazzone SB. Cough hypersensitivity and chronic cough. Nat Rev Dis Primers. 2022 Jun 30;8(1):45
- Spanevello A, Beghé B, Visca D, Fabbri LM, Papi A. Chronic cough in adults. Eur J Intern Med. 2020 Aug;78:8-16.
- Danica Brister, Mustafaa Wahab, Moaaz Rashad, Nermin Diab, Martin Kolb & Imran Satia (2023) Emerging drugs in the treatment of chronic cough, Expert Opinion on Emerging Drugs, 28:2, 67-77
- Sara J. Bonvini & Mark A. Birrell & Jaclyn A. Smith & Maria G. Belvisi. Targeting TRP channels for chronic cough: from bench to bedside. Naunyn-Schmiedeberg’s Arch Pharmacol (2015) 388:401–420
- Guilleminault, L., Grassin-Delyle, S. & Mazzone, S.B. Drugs Targeting Cough Receptors: New Therapeutic Options in Refractory or Unexplained Chronic Cough. Drugs (2024).
- Smith JA, Woodcock A. Chronic Cough. N Engl J Med. 2017 Jan 12;376(2):183-184.

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)
ติดต่อสอบถาม หรือทำนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ผ่าน LINE @MBRACE
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

พญ. อัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ความชำนาญพิเศษ
ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์
– วุฒิบัตรภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– 2553 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– 2559 กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
– 2561 กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
เสาร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |