
ในปัจจุบันพบ อุบัติการณ์การแพ้ปลาน้อยกว่า 1% ของ ประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการบริโภคปลามากขึ้นทั้ง ปลาดิบและ ผลิตภัณฑ์จากปลา รวมถึงไข่ปลา
ส่วนประกอบและสารก่อภูมิแพ้จากปลา ได้แก่
- เนื้อปลา เป็นสาเหตุหลักของการแพ้โดยสารก่อภูมิแพ้เรียกว่า พาวาลบูมิน (Parvalbumin) โดยสารนี้มักพบในปลาเนื้อขาว เช่น ปลาcod ปลา flounder ปลา hake มากกว่าปลาเนื้อแดง เช่น ปลาเมคเคอเรว หรือ ปลาทูน่า นอกจากนั้นยังมีสารอื่นๆ ได้แก่ อีโนเลสและอัลโดเลส เป็นสารจำพวกไกโคไลติกเอนไซม์ในเนื้อปลา
- เจลาตินจากปลาหรือ Isinglass (วุ้นใส) เจลาตินเป็นสารจำพวกคอลลาเจ้น สามารถพบได้ในแคปซูลยา ลูกอม หรือเครื่องดื่ม วุ้นใสมาจากกระเพาะปัสสาวะปลาใช้ในการฟิลเตอร์เครื่องดื่มเบียร์
- เลือดปลา ได้แก่ สาร Hemin ไปพบในสารประกอบอาหารหรือการแพ้ในอุตสาหกรรมปลา
- ไข่ปลา หรือ fish eggs, roe, cavier เกิดจากสารที่เรียกว่าวิทิโลเจลลิน (Vitellogenin) เป็นสารประเภท ไกลโคไลโปโปรตีน ในไข่ปลา
การแพ้ปลามักเกิดจากการแพ้สาร Parvalbumin ในเนื้อปลาซึ่งมีการแพ้ข้ามกลุ่มกันได้มากดังนั้นผู้ป่วยที่แพ้ปลาชนิดหนึ่งมาแพ้ปลาชนิดอื่นๆ ด้วยได้มากกว่า 50%
นอกจากสารเหล่านี้ในปลาพบว่ายังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้จากการรับประทานปลาได้แก่
- พยาธิอะนิสซาคิส (anisakis) เป็นพยาธิตัวกลมพบในอาหารจำพวกปลาดิบได้ เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง เป็นต้น
- สารพิษปนเปื้อนกับเนื้อปลา
- สารพิษสคอมบรอยด์ (Scombroid toxin) มักพบในปลาในตระกูล Scombridae และ Scomberosocidae ได้แก่ ปลาทูน่า (tuna) ปลาโอ เช่น ปลาโอแถบ (skipjack tuna) ปลาโอครีบเหลือง (yellowfin tuna) ปลาโอครีบฟ้า (bluefin tuna) ปลาหลังเขียว (sardine) ปลาแมกเคอเรล (mackerel), mahi-mahi, amberjack, marlin, black marlin และหอยเปาฮื้อ (abalone) เกิดจากการเก็บปลาที่ไม่ดี เกิดการเน่าเสีย มีปริมาณฮิสทิดีนสูง จากนั้นแบคทีเรียในเนื้อปลาจะเปลี่ยนเป็นฮิสทามีน ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างรุนแรง
- สารพิษซิกัวเทอรา (Ciguatera) พบในปลาทะเลที่มีพิษ อาศัยในแนวปะการัง ได้แก่ ปลาเก๋า ปลา น้ําดอกไม้ ปลาสาก ปลาขี้ตังเป็ด ปลากะรัง ปลากะพงแดง ปลานกแก้ว เป็นต้น
ลักษณะอาการและอาการแสดงของการแพ้ปลา
การแพ้แบบเฉียบพลันได้แก่ ลมพิษ ตาบวม คอบวม หรือหายใจไม่ออก พบได้บ่อย เนื้อปลาที่ผ่านการอบความร้อนทางกระบวนการอุตสาหกรรม หรือการอัดแน่นในกระป๋อง (canned process) พบว่าทำให้สารก่อภูมิแพ้ลดลงโดย 20% ของเด็กที่แพ้ปลาแซลมอนหรือทูน่าสามารถกินแซลมอนหรือทูน่ากระป๋องได้ การแพ้ไม่เฉียบพลันพบได้น้อยกว่า
อาการจากพยาธิอะนิสซาคิส ทำให้มีอาการปวดท้อง ลำไส้อุดตัน อาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้อซ้ำสามารถทำให้เกิดอาการลมพิษหรือแพ้รุนแรง
พิษจากสารสคอมบรอยด์ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนตัวแดง flushed skin ลมพิษ หลอดลมตีบ หรือหรือแพ้รุนแรงเฉียบพลันได้
พิษจากซิกัวเทอรา มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมาด้วยอาการทางระบบประสาทชารอบปาก มือ เท้า ลิ้น
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
สามารถตรวจด้วยการทำสะกิดผิวหนังหรือ skin prick test และการเจาะเลือดเพื่อหาแอนติบอดีชนิดอีจำเพาะ โดยหากค่า แอนติบอดีอีมากกว่า 20 kU/L พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพ้ถั่วลิสง
การยืนยันภาวะแพ้ทำได้โดยการทดสอบด้วยการรับประทานหรือ oral food challenge test ซึ่งกำหนดประมาณ 1 ชิ้นฟิลเล็ตปลา หรือประมาณ 4 ออนซ์
การรักษา
ในปัจจุบันยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงปลาและส่วนประกอบของปลาหากมีอาการแพ้รุนแรงและเฉียบพลัน การรักษาโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดทั้งปากหรือ oral immunotherapy ยังอยู่ในการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้กินปลาที่สุขผ่านความร้อน 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ถ้าเป็นเนื้อปลาสดควรเก็บที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา มากกว่า 24 ชั่วโมง สามารถป้องกัน พยาธิอะนิสซาคิส และ รับประทานปลาที่แช่เย็นทันทีน้อยกว่า 4 องศาเซลเซียสหลังจากจับได้ จะสามารถป้องกันสารพิษสคอมบรอยด์

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)