
Myth and Fact in Allergy
ความเชื่อหรือความจริงในศาสตร์ภูมิแพ้
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
BNH Asthma & Allergy centre, BNH hospital
ข้อที่ 1 ภูมิแพ้ไม่มีทางหายต้องเป็นไปตลอดชีวิต
โรคภูมิแพ้เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นย่อมมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ติดตัวเราไปเสมอ อย่างไรก็ตามภาวะภูมิแพ้บางอย่าง เช่น การแพ้อาหารในเด็กโตขึ้นบางชนิดหายเองได้ตามธรรมชาติ โรคภูมิแพ้อื่นๆ หากมีการรักษาอย่างเหมาะสมจนทำให้โรคสงบจะมีชีวิตประจำวันเท่าคนปกติได้ นอกจากนั้นในปัจจุบันนี้มีวิธีการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้หรือภูมิคุ้มกันบำบัดแล้ว เป็นวิธีการใกล้เคียงที่ทำให้หายขาดจากภูมิแพ้ได้ค่ะ
ข้อที่ 2 อาหารที่แพ้ กินไปนานๆจะสะสมเกิดอาการแพ้อาหารแฝงได้
ภาวะแพ้อาหารแบ่งออกเป็นเฉียบพลันหรือหรือไม่เฉียบพลัน การที่ไม่ออกอาการทันทีทันใด เกิดจากการกลไกทางภูมิคุ้มกันที่ค่อยๆใช้เวลาในการแสดงอาการ เช่น โรคลำไส้อักเสบมีเลือดออก หรือ ผื่นผิวหนังอักเสบแบบผื่นสากคัน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-7 วันในการแสดงอาการ อย่างไรก็ตามไม่มีการกินสะสมเป็นเดือนๆ แล้วจึงค่อยแสดงอาการทีหลัง
ข้อที่ 3 เลี้ยงสุนัขหรือแมวพันธุ์ขนสั้นไม่ทำให้เกิดการแพ้
สารก่อภูมิแพ้จากสุนัขและแมวเกิดจากเศษรังแคผิวหนังเป็นหลัก สาเหตุรองได้แก่น้ำลาย ต่อมไขมัน หรือปัสสาวะเป็นต้นดังนั้นไม่ว่าสัตว์เลี้ยงจะขนสั้นหรือขนยาว หากมีเศษผิวหนังรังแคหลุดร่วงก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ได้ คุณหมอแนะนำให้อาบน้ำทุกสัปดาห์ กำจัดเศษซากผิวหนังรังแคและเศษขน กำจัดแหล่งสะสมในบ้าน ไม่ว่าจะเลี้ยงพันธุ์ไหนนะคะ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นปัจจุบันมีวัคซีนภูมิแพ้ทั้งสุนัขและแมวแล้ว
ข้อที่ 4 แพ้อาหารทะเลไม่ควรไปฉีดสารทึบรังสี contrast เพราะมีไอโอดีน
ไม่สัมพันธ์กันเลยค่ะสารที่เราแพ้จากอาหารทะเลมักมาจากในส่วนเนื้อของอาหาร ได้แก่ สารโทโปรไมโอซินซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสารไอโอดีนในสารทึบรังสี ปัจจัยที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสีได้แก่ เพศหญิง,มีประวัติภูมิแพ้โรคประจำตัวโดยเฉพาะหอบหืด หรือเคยแพ้สารทึบรังสีชนิดอื่นมาก่อนในอดีตต่างหากค่ะ
ข้อที่ 5 อาหารที่แพ้ค่อยๆ ลองกินไปทีละนิดเพื่อสร้างภูมิจะได้หายแพ้เอง
ไม่แนะนำเลยค่ะ เพราะการไปกินเองนอกจากจะไม่ได้สร้างภูมิต้านทานแล้วยังอาจจะเกิดอาการอันตรายถึงชีวิต เช่น ลิ้นบวมคอบวม หายใจไม่ออก ความดันต่ำ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีวิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทางปาก ซึ่งเป็นการค่อยๆให้กินเพื่อสร้างภูมิต้านทาน แต่การรักษานี้ทำในขนาดของอาหารที่เหมาะสม จะกระตุ้นภูมิต้านทานแต่ไม่กระตุ้นภูมิแพ้ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ มีการเตรียมยาฉุกเฉินไว้ การไปลองกินเองอาจจะได้รับขนาดที่มากเกินไปกลายเป็นการกระตุ้นภูมิแพ้ ทำให้ยิ่งแพ้มากขึ้น การรักษาภูมิคุ้มกันบำบัดทางปากมีการศึกษาได้ประสิทธิผลชัดเจนในบางชนิดอาหาร เช่น ถั่วลิสง แป้งสาลี นมวัว ไข่ไก่ หรือ ปลา เป็นต้น
ข้อที่ 6 ยาพ่นหรือยากินภูมิแพ้ควรกินเฉพาะตอนมีอาการไม่อย่างนั้นจะติดยาหรือสะสมได้
ยาพ่นจมูกปัจจุบัน ไม่พบว่ามีส่งผลต่อผลข้างเคียงสะสมระยะยาว คำแนะนำของการรักษาภูมิแพ้จมูกหรือหอบหืดแนะนำให้ใช้ยาพ่นชนิดควบคุมอาการที่เป็นการลดอาการอักเสบในทางเดินหายใจสม่ำเสมอเป็นหลักหลายเดือน เนื่องจากหากไม่ใช้และใช้แค่ยาพ่นฉุกเฉินขยายหลอดลม ปอดจะเกิดกระบวนการที่เรียกว่า remodeling ซึ่งทำให้เสียสภาพความยืดหยุ่น ไม่ตอบสนองต่อยาพ่น เกิดผลร้ายในเวลาต่อมา ในจมูกก็อาจจะเกิดการอักเสบเรื้อรังเกิดเป็นไซนัสอักเสบหรือริดสีดวงจมูก
สำหรับยากินแก้แพ้นั้นหากเลือกตัวที่เป็นรุ่นใหม่ไม่ส่งผลให้ง่วงหรือผลข้างเคียงอื่นๆ การศึกษาพบว่าสามารถกินนานติดต่อกันได้มากกว่า 1 ปี หากเป็นยาแก้แพ้รุ่นเก่าจะเกิดผลข้างเคียงต่อสมองและหัวใจได้ อย่างไรก็ตามก็ตามการกินยาแก้แพ้นานๆ ควรหาสาเหตุต้นตอว่าเกิดจากอะไรและแก้ไขให้ถูกต้องดีกว่าคะ
ข้อที่ 7 ต้องการหายจากอาการภูมิแพ้ต้องย้ายประเทศไปอยู่ที่อื่น
การย้ายประเทศหนีสารก่อภูมิแพ้อาจช่วยให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นได้ช่วงเวลาระยะเวลาชั่วคราว อย่างไรก็ตามคนที่เป็นภูมิแพ้นั้นพบว่าจะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาภูมิคุ้มกันไวต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ง่าย ดังนั้นอาจจะทำอาจจะเกิดการแพ้ต่อสารแพ้ใหม่ในประเทศที่ไปอยู่ ทั้งนี้หากแพ้มลภาวะฝุ่นพิษและย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ระดับค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น จะสามารถส่งผลให้ทางเดินหายใจมีการอักเสบลดลงได้ สำหรับสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ไรฝุ่น ในการศึกษาปัจจุบันยังพบว่าแม้ในเทือกเขาประเทศยุโรปที่มีอัลติจูดที่สูง แม้พบสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ฝุ่นละอองมลภาวะลดลง แต่สารก่อภูมิแพ้ในบ้านเช่นไรฝุ่นก็ยังคงปริมาณมากอยู่ดี

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)
ติดต่อสอบถาม หรือทำนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ผ่าน LINE @MBRACE
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

พญ. อัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ความชำนาญพิเศษ
ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์
– วุฒิบัตรภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– 2553 แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– 2559 กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป
– 2561 กุมารเวชศาสตร์ ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
เสาร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |