อาหารและการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหอบหืด

อาหารและโรคหอบหืด

อาหารสามารถส่งผลต่ออาการภูมิแพ้และหอบหืดได้ อาหารประเภทผักผลไม้ กรดไขมันบางชนิดหรือ วิตามินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระพบว่าส่งผล ลดการอักเสบในร่างกาย ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน และ มีผลต่อจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้สร้างกรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acids) ซึ่งส่งผลดีในการปรับภูมิคุ้มกัน 

อาหารที่มีประโยชน์ในโรคหอบหืด ได้แก่

1. กลุ่มอาหารประเภทผักและผลไม้

  • การศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีกากใย เฉลี่ย 17.5-25 กรัมต่อวัน ทำให้ผู้ป่วยหอบหืดมีค่าสมรรถภาพปอดสูงกว่า การรับประทานผักมากกว่า 5 หน่วยต่อสัปดาห์และผลไม้มากกว่า 2 หน่วยต่อสัปดาห์โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว เป็นเวลานานกว่า 14 สัปดาห์ สัมพันธ์กับการควบคุมโรคหอบหืดได้ มีการกำเริบและมีอาการน้อยกว่า
  • แนะนำให้รับประทานผลไม้อย่างน้อย 1.5–2 ถ้วยและผัก 2-3 ถ้วยต่อวัน บริโภคอาหารที่มีใยอาหารให้ได้ 25 กรัมต่อวัน จะสามารถลดการเกิดโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยวมากกว่า 46.3 กรัมต่อวันสัมพันธ์กับอาการหืดที่ลดลงโดยเฉพาะประเภท แอปเปิ้ล และส้ม
  • กากใยในอาหารพบมากใน ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ผักผลไม้ที่ให้ใยอาหารสูงเช่น บรอคโคลี่ ผักโขม คะน้า กระหล่ำ แครอท ข้าวโพด มะละกอ กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล อะโวคาโด ฝรั่ง ตัวอย่างปริมาณใยอาหาร เช่น ผักกวางตุ้ง 2.3 กรัมต่อ 100 กรัม, ผักบุ้งจีน 2.9 กรัมต่อ 100 กรัม, กล้วยน้ำว้า 2.4 กรัมต่อ 100 กรัม, ฝรั่ง 3.7 กรัมต่อ 100 กรัม, ส้ม 1.6 กรัมต่อ 100 กรัม

2. รูปแบบของอาหาร (Dietary pattern)

  • รูปแบบการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean dietary pattern) รูปที่1 ซึ่งประกอบด้วย ผักผลไม้ปริมาณสูง ธัญพืชไม่ขัดสี (whole grain) ส่งผลที่ดีต่อโรคหอบหืด ในขณะที่รูปแบบการรับประทานอาหารแบบตะวันตก (Western dietary pattern) ซึ่งประกอบด้วย ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี (refined grains), เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป (processed and red meats) ของหวาน น้ำตาล ของทอด ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง ส่งผลเสียต่อหอบหืด การรับประทานอาหารประเภท fast food หรือ salty-snack (เกลือสูง มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระต่ำ) มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์สัมพันธ์อาการหอบหืดที่มากขึ้น การรับประทานน้ำหวาน (sugar-sweetened beverage) มากกว่า2 ครั้งต่อวัน พบว่าสัมพันธ์กับโรคหอบในผู้ใหญ่
  • คำแนะนำสัดส่วนพลังงานในอาหาร ควรมีการกระจายตัวของคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 45-65 ไขมันร้อยละ 20-35 และจากโปรตีนร้อยละ 10-15 ของความต้องการพลังงานใน 1 วัน (ผู้ใหญ่เพศชาย อายุ 19-60 ปี = 1,800-2,200 กิโลแคลอรี ผู้ใหญ่เพศหญิง อายุ 19-60 ปี =1,500-1,800 กิโลแคลอรี) พลังงานจากไขมัน ควรมีกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 เช่น เนยสด ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid) ไม่เกินร้อยละ 11 เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) ไม่เกินร้อยละ 10 เช่นน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะกอก เป็นต้น

3. วิตามิน

วิตามินดี

  • ระดับวิตามินดีพบว่าสัมพันธ์กับสมรรถภาพปอด ระดับวิตามินดีที่น้อยกว่า 20 ng/ml และ 30 ng/ml เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืดมากกว่าคนที่มีระดับปกติ 5 และ 3 เท่าตามลำดับ พบว่าการเสริมวิตามินดี 600 IU ทุกเดือนในเด็กหอบหืดวัยเรียน สามารถลดการหอบกำเริบ การใช้สเตียรอยด์ และการมาห้องฉุกเฉินได้
  • วิตามินดีมีหน้าที่ในการควบคุมภาวะสมดุลของแคลเซียมและฟอสเฟต ควบคุมการเจริญเติบโต แบ่งตัวของและการตายของเซลล์ มีผลต่อภูมิคุ้มกัน ร้อยละ 80-90 ของวิมามินดีสร้างมาจากผิวหนังหลังได้รับแสงแดดประเภท UVB  และ ร้อยละ 10-20 จากอาหารและวิตามินอาหารเสริม
  • ค่าประมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน แนะนำ 600 IU ในผู้ใหญ่ และ 800 IU ในผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี ตัวอย่างอาหารที่มีส่วนประกอบของวิตามินดี เช่น น้ำนมถั่วเหลือง โยเกิร์ต น้ำส้ม 100 IU ต่อ 240 มิลลิลิตร, ซีเรียล 100 IU ต่อ 1 หน่วยบริโภค, เนย มาการีน ชีส 80-400 IU ต่อ 100 กรัม, น้ำมันตับปลา 1 ช้อนชา มีวิตามินดี3 400-1,000 IU, ปลาแซลมอนเลี้ยงตามธรรมชาติ 600-1,000 IU เลี้ยงในฟาร์ม 100-250 IU ปลาซาดีนหรือทูน่าประมาณ 300 IU

วิตามินซี         

  • การศึกษาแบบแบ่งกลุ่มในผู้ป่วยหอบหืดพบว่าการเสริมวิตามินซี 1 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 4 เดือน พบว่ามีประโยชน์ในคนหอบหืดที่มีภาวะ acute stress เช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจหรือการออกกำลังกายอย่างหนักที่กระตุ้นอาการหอบหืด แต่ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสมรรถภาพปอดในคนที่โรคหอบควบคุมได้
  • วิตามินซี มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทาน ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน มีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารสื่อประสาท ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำในผู้ใหญ่ผู้ชาย 100 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้หญิง 85 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินซีพบมากในผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ มะละกอ ส้มโอ ทับทิม, มะนาว, มะละกอ, เชอร์รี่ ผักต่างๆ เช่น พริกหวาน คะน้า บรอกโคลี ตระกูลกะหล่ำ, ผักชี, ต้นหอม, ขึ้นฉ่าย, ถั่วลันเตา,ผักกาดขาว, ผักโขม, ผักคะน้า เป็นต้น

วิตามินเอ

  • การขาดวิตามิน เอ ซี และอี พบว่าสัมพันธ์กับโรคหืดอย่างไรก็ตามผลการป้องกันจากการเสริมวิตามินเอยังไม่ชัดเจน
  • วิตามินเอพบได้ในรูป retinoids จากแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์ หรือ carotenoids จากแหล่งอาหารจากพืช

วิตามินเอพบมากใน เนื้อสัตว์ น้ำมันตับปลา ไข่ ตับและเครื่องใน แครอท ฟักทอง ผักใบเขียว เช่น ตำลึง ปวยเล้ง เคล

วิตามินอี

  • วิตามินอี มีหน้าที่ขจัดอนุมูลอิสระ ป้องกันกรดไขมันไม่อิ่มตัวไม่ให้จับกับส่วนประกอบเยื่อหุ้มเซลล์ มีบทบาทในกระบวนการต้านอักเสบ อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินอีได้แก่ น้ำมันพืช เช่น น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันรำข้าว, น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันจมูกข้าวสาลี เป็นต้น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เช่น น้ำมันจมูกข้าวสาลี (wheat germ oil) น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันดอกทานตะวัน

4. Fish oil

  • น้ำมันปลา เป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วนของเนื้อ หนัง หัว และหางของปลาทะเลน้ำลึก มีกรดไขมันหลายชนิด ได้แก่ กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid, PUFA) กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ กรดไอโคซาเพนตาอีโนอิก EPA (Eicosapentaenoic acid) และกรดโดโคซาเฮ็กซาอีโนอิก DHA (Docosahexaenoic acid)
  • การเสริม Fish oil 2.7 กรัมต่อวันในช่วงตั้งครรภ์ พบว่าสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหืดในบุตรได้ 63% การศึกษาป้องกันโรคหอบในเด็กผลยังไม่ชัดเจน มีการให้กรดไขมัน omega-3 ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีพบว่าลดอาการไอได้ 10% ในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้ อีกการศึกษาพบว่าการให้ EPA 3 กรัมต่อวันและกรดลิโนเลนิกแกมมา 1.6 กรัมต่อวันสามารถลดอาการในโรคหอบหืดได้
  • แหล่งอาหารที่มี EPA และ DHA มากก็คือปลามีไขมันสูง (oily fish) เช่น ปลาแซลมอน, เฮร์ริง, ซาดีน, แมกเคอเรล, กะตัก เมล็ดแฟลกซ์ (หรือลินซีด)

5. Selenium และ Flavonoids

  • Selenium และ Flavonoids เป็นกลุ่ม antioxidants สามารถลด oxidative stress และมีแนวโน้มในการลดอาการหอบหืด อาหารประเภทกลุ่ม ซิลิเนียม และ กลุ่ม ฟลาโวนอยด์ ซึ่งอยู่ในตระกูลหอมต่าง ๆ และกระเทียม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง ต้นหอม กระเทียมโทน กระเทียมกลีบ

การออกกำลังกายและโรคหอบหืด

การออกกำลังกายมีประโยชน์ในโรคหอบหืด นอกจากจะลดความเสี่ยงการเป็นหอบหืดยังช่วยทำให้อาการหอบหืดลดลงด้วย เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย หัวใจ และสมรรถภาพปอด ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที สม่ำเสมอ ประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์สำหรับความหนักปานกลางหรือ 75 นาทีต่อสัปดาห์สำหรับกิจกรรมที่มีความหนักสูง มีการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 1-2 วันต่อสัปดาห์

พบว่าการออกกำลังกายที่ต่อเนื่องเฉลี่ย 18 สัปดาห์ขึ้นไป จะทำให้อาการหอบหืดดีขึ้นได้ ทั้งนี้ก่อนการออกกำลังกายควรมีการใช้ยาควบคุมอาการอย่างสม่ำเสมอและอาการโรคสงบ ควรมีการ warm-up และ cool down ความแรงของการออกกำลังไม่แรงเกินไปจนเกิดอาการกำเริบ ระวังการออกกำจะลังกายในที่แห้งและเย็น หรือบริเวณที่มีฝุ่นมลภาวะ ซึ่งจะสามารถทำให้โรคหืดกำเริบได้

ในบางรายอาจมีการกำเริบจากการออกกำลังกายได้หรือเรียกว่า Exercise-induced bronchoconstriction (EIB) พบได้ร้อยละ 5-20 โดยจะมีอาการหอบหลังออกกำลังกาย 5-15 นาที คำแนะนำในการออกกำลังกายในคนกลุ่มนี้ ให้ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์เร็ว เช่น Salbuterol หรือ Formoterol พ่น 15 นาทีก่อนออกกกำลังกาย และสามารถใช้ซ้ำเพื่อบรรเทาอาการได้

ภาวะโรคอ้วนนั้นส่งผลต่อหอบหืดหลายทาง ตั้งแต่ด้านสรีระ ภาวะอ้วนส่งผลการเคลื่อนไหวต่อผนังทรวงอก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea), อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนกระตุ้นการหดเกร็งของหลอดลม (Reflux-induced bronchoconstriction) และยังทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกันต่างๆ แนะนำเส้นรอบเอวผู้ชายไม่เกิน 36 นิ้ว และผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว โดยดัชนีมวลกาย (Bobby mass index; BMI) ไม่เกิน 23

เอกสารอ้างอิง

  1. Jihad Alwarith, Hana Kahleova, Lee Crosby, Alexa Brooks, Lizoralia Brandon, Susan M. Levin, and Neal D. Barnard. The role of nutrition in asthma prevention and treatment. Nutrition Reviews V R Vol. 0(0):1–11. doi: 10.1093/nutrit/nuaa005
  2. Laurent Guilleminault, Evan J. Williams, Hayley A. Scott, Bronwyn S. Berthon, Megan Jensen and Lisa G. Wood. Diet and Asthma: Is It Time to Adapt Our Message? Nutrients 2017, 9, 1227; doi:10.3390/nu9111227
  3. Dietary Reference Intake for Thais 2020 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  4. Hemila H. Vitamin C and asthma. J Allergy Clin Immunol 2014; 134:1216.
  5. อรพรรณ โพชนุกูล. Non-pharmacological Therapy for Asthma.
  6. Bentzon AK, Loehde LW, Backer V, et al. The long-term effect of an exercise and diet intervention in asthma patients: a 1-year follow-up on a randomised controlled trial. ERJ Open Res 2019; 5: 00032-2019 [https://doi.org/10.1183/23120541.00032-2019].

บทความโดย

แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์

ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก