
โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดจากทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
- ปัจจัยทางพันธุกรรม มาจากการถ่ายทอดทางยีน (genetic predisposing) และเอพิเจเนติก (epigenetic) ซึ่งเป็นการแสดงออกของยีนโดยกระบวนการเหนือพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงยีนโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนลำดับของเบสดีเอ็นเอ ทั้งนี้ ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่บุตรเป็นโรคภูมิแพ้จะเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 50-70 โดยครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย เด็กจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 10
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (environmental exposure) เกี่ยวกับจากการรับประทานอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด การสัมผัสมลภาวะ การสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนั้นระยะเวลาที่สัมผัส (timing of exposure) เช่น ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ช่วงเวลาหลังคลอด หรือขวบปีแรกของเด็ก ส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนภูมิและก่อให้เกิดภูมิแพ้ (allergic programming)
แนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้ของประเทศไทยได้ให้นิยามของเด็กที่ความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้ โดยการการประเมินจากครอบครัว ดังนี้
สมาชิกในครอบครัว | คะแนนประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้ | |||||
โรคหลัก** | โรครอง* | |||||
อาการชัดเจน | ไม่แน่ใจ | ไม่มีอาการ | อาการชัดเจน | ไม่แน่ใจ | ไม่มีอาการ | |
พ่อ | 2 | 1 | 0 | 1 | 0.5 | 0 |
แม่ | 3 | 2 | 0 | 1 | 0.5 | 0 |
พี่น้อง | 2 | 1 | 0 | 1 | 0.5 | 0 |
**โรคหลัก: โรคหอบหืด, ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้, จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือภาวะแพ้นมวัว
*โรครอง: ลมพิษ, แพ้ยา, แพ้อาหารอื่นๆ หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
คะแนนรวม คือนำคะแนนสูงสุดของโรคหลักและโรครองมารวมกันในแต่ละสมาชิกครอบครัวและนำคะแนนของทุกคนมารวมกัน ถ้าคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ขึ้นไปแสดงว่าเด็กมีความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้มีการดำเนินโรคอย่างไรในแต่ช่วงละอายุ
การดำเนินโรคตามธรรมชาติ (natural history) ของโรคภูมิแพ้ เรียกว่า “Allergic march”หรือ “Atopic march”เริ่มจาการแพ้อาหารในเด็กเล็ก ซึ่งมักเกิดก่อนอายุ 1 ขวบ และอาการของโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงเดือนแรก อาจเกิดหลังการแพ้อาหารเล็กน้อย มักเริ่มที่ก่อนอายุ 1 ขวบ จนเข้าสู่อายุ 2 ขวบ ทั้งนี้โรคผื่นผิวหนังอักเสบและการแพ้อาหารอาจพบสัมพันธ์กันได้ประมาณ 30% ตามมาด้วยโรคภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหอบหืดและภูมิแพ้จมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งมักพบตั้งแต่อายุ 1-2 ปีขึ้นไป พบมากในช่วงวัยเข้าโรงเรียนจนถึงวัยผู้ใหญ่ ดังรูป
อุบัติการณ์ของโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย
ในประเทศไทยได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลความชุกของโรคภูมิแพ้ในเด็กโดยใช้แบบสอบถาม The international study of asthma and allergies in children (ISAAC) พบว่าเด็กไทยอายุ 6-7 ปี มีความชุกของโรคภูมิแพ้ คือ โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ พบมากที่สุดประมาณ 50% ตามด้วยการมีเสียงหายใจหอบวี๊ซประมาณ 24% และภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบประมาณ 15% ตามลำดับ
เอกสารอ้างอิง
- D. E. Campbell, R. J. Boyle, C. A. Thornton, S. L. Prescott,Clinical & Experimental Allergy, 2015(45) 844–858.
- แนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้ของประเทศไทย
- Report from the National Institute of Allergy and Infectious Diseases Workshop on “Atopic Dermatitis and the Atopic March: Mechanisms and Interventions” Journal of Allergy and Clinical Immunology. 2019.01.003
- Chinratanapisit S, Suratannon N, Pacharn P, Sritipsukho P, Vichyanond P. Prevalence and severity of asthma, rhinoconjunctivitis and eczema in children from the Bangkok area: The Global Asthma Network (GAN) Phase I. Asian Pac J Allergy Immunol DOI 10.12932/AP-120618-0336

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)