
อาหารและโรคหอบหืด
อาหารสามารถส่งผลต่ออาการภูมิแพ้และหอบหืดได้ อาหารประเภทผักผลไม้ กรดไขมันบางชนิดหรือ วิตามินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระพบว่าส่งผล ลดการอักเสบในร่างกาย ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน และ มีผลต่อจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้สร้างกรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acids) ซึ่งส่งผลดีในการปรับภูมิคุ้มกัน
การแนะนำการรับประทานอาหารในโรคหอบหืด ดังนี้
กลุ่มอาหารประเภทผักและผลไม้
- การศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีกากใย เฉลี่ย 17.5-25 กรัมต่อวัน ทำให้คนหอบหืดมีค่าสมรรถภาพปอดสูงกว่า การรับประทานผักมากกว่า 5 หน่วยต่อสัปดาห์และผลไม้มากกว่า 2 หน่วยต่อสัปดาห์โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว เป็นเวลานานกว่า 14 สัปดาห์ สัมพันธ์กับการควบคุมโรคหอบหืดได้ มีการกำเริบและมีอาการน้อยกว่า
- แนะนำให้รับประทานผลไม้อย่างน้อย 1.5–2 ถ้วยและผัก 2-3 ถ้วยต่อวัน บริโภคอาหารที่มีใยอาหารให้ได้ 25 กรัมต่อวัน จะสามารถลดการเกิดโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยวมากกว่า 46.3 กรัมต่อวันสัมพันธ์กับอาการหืดที่ลดลงโดยเฉพาะประเภท แอปเปิ้ล และส้ม
- กากใยในอาหารพบมากใน ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ผักผลไม้ที่ให้ใยอาหารสูงเช่น บรอคโคลี่ ผักโขม คะน้า กระหล่ำ แครอท ข้าวโพด มะละกอ กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล อะโวคาโด ฝรั่ง ตัวอย่างปริมาณใยอาหาร เช่น ผักกวางตุ้ง 2.3 กรัมต่อ 100 กรัม, ผักบุ้งจีน 2.9 กรัมต่อ 100 กรัม, กล้วยน้ำว้า 2.4 กรัมต่อ 100 กรัม, ฝรั่ง 3.7 กรัมต่อ 100 กรัม, ส้ม 1.6 กรัมต่อ 100 กรัม
รูปแบบของอาหาร (Dietary pattern)
- รูปแบบการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน รูปที่1 ซึ่งประกอบด้วย ผักผลไม้ปริมาณสูง ธัญพืชไม่ขัดสี (whole grain) ส่งผลที่ดีต่อโรคหอบหืด ในขณะที่รูปแบบการรับประทานอาหารแบบตะวันตก (Western dietary pattern) ซึ่งประกอบด้วย ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี (refined grains), เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป (processed and red meats) ของหวาน น้ำตาล ของทอด ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง ส่งผลเสียต่อหอบหืด การรับประทานอาหารประเภท fast food หรือ salty-snack (เกลือสูง มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระต่ำ) มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์สัมพันธ์อาการหอบหืดที่มากขึ้น การรับประทานน้ำหวาน (sugar-sweetened beverage) มากกว่า 2 ครั้งต่อวัน พบว่าสัมพันธ์กับโรคหอบในผู้ใหญ่
- คำแนะนำสัดส่วนพลังงานในอาหาร ควรมีการกระจายตัวของคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 45-65 ไขมันร้อยละ 20-35 และจากโปรตีนร้อยละ 10-15 ของความต้องการพลังงานใน 1 วัน (ผู้ใหญ่เพศชาย อายุ 19-60 ปี= 1,800-2,200 กิโลแคลอรี ผู้ใหญ่เพศหญิง อายุ 19-60 ปี=1,500-1,800 กิโลแคลอรี)
- พลังงานจากไขมัน ควรมีกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินร้อยละ 10 เช่น เนยสด ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid) ไม่เกินร้อยละ 11 เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) ไม่เกินร้อยละ 10 เช่นน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะกอก เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Jihad Alwarith, Hana Kahleova, Lee Crosby, Alexa Brooks, Lizoralia Brandon, Susan M. Levin, and Neal D. Barnard. The role of nutrition in asthma prevention and treatment. Nutrition Reviews V R Vol. 0(0):1–11. doi: 10.1093/nutrit/nuaa005
- Laurent Guilleminault, Evan J. Williams, Hayley A. Scott, Bronwyn S. Berthon, Megan Jensen and Lisa G. Wood. Diet and Asthma: Is It Time to Adapt Our Message? Nutrients 2017, 9, 1227; doi:10.3390/nu9111227
- Dietary Reference Intake for Thais 2020 สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- Hemila H. Vitamin C and asthma. J Allergy Clin Immunol 2014; 134:1216.
- อรพรรณ โพชนุกูล. Non-pharmacological Therapy for Asthma.
- Bentzon AK, Loehde LW, Backer V, et al. The long-term effect of an exercise and diet intervention in asthma patients: a 1-year follow-up on a randomised controlled trial. ERJ Open Res 2019; 5: 00032-2019 [https://doi.org/10.1183/23120541.00032-2019].

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)