
ส่วนประกอบของไข่ไก่
ไข่ไก่ 1 ฟอง ประกอบไปด้วย ไข่แดง และไข่ขาว ในไข่ขาวนั้นมีปริมาณโปรตีนเป็นหลัก ประมาณ 4 กรัมต่อฟอง ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ โซเดียม, โฟเลท, เซเลเนียม, แคลเซี่ยม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม สำหรับไข่แดงนั้นส่วนประกอบหลักจะเป็นไขมันมากกว่าประกอบไปด้วย ไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 4.5 กรัมและคอเลสเตอรอล 210 มิลลิกรัม ส่วนประกอบอื่น ได้แก่ โปรตีนประมาณ 2.7 กรัมและโซเดียม ไข่ยังเป็นแหล่งคุณค่าอาหาร ของ Riboflavin, biotin, vitamin A, cyanocobalamin, vitamin D, vitamin E, pantothenic acid, selenium, iodine, และ folate การแพ้ไข่นั้นมักแพ้จากส่วนประกอบโปรตีนดังนั้นในผู้ป่วยที่แพ้ไข่จึงมักเกิดจากส่วนประกอบในไข่ขาวมากกว่าไข่แดงนั่นเอง
สารก่อภูมิแพ้หลักในไข่
ได้แก่ โอวัลบูมิน (ovalbumin), โอโวทรานส์เฟอร์ริน (ovotransferrin), โอโวมิวคอยต์ (ovomucoid), ไรโซไซม (egg lysozyme) และ ลิวิติน (α-livetin) ซึ่งแต่ละส่วนประกอบมีความสำคัญมีการทนความร้อนที่ไม่เท่ากัน

อาการ และอาการแสดง
การแพ้ไข่มีอาการได้ทั้งแบบเฉียบพลัน เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม หลอดลมอุดตัน
ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน จนถึงแพ้แบบรุนแรงได้ ส่วนอาการแบบล่าช้าที่พบได้บ่อย คือ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis)
การทดสอบการแพ้ไข่
การทดสอบด้วยการสะกิดผิวหนังหรือ skin prick test มีทั้งน้ำยาทดสอบจากไข่แดงและไข่ขาว โดยหากผลการทดสอบพบว่าขนาดความนูนบวม มากกว่า 7 มิลลิเมตร มีความเป็นไปได้ 95% ที่จะมีอาการแพ้ไข่ขาว
การทดสอบโดยการเจาะเลือดเพื่อหาอิมมูโนโกลบูลิน อี (specific immunoglobulin E) เฉพาะต่อไข่ขาวพบว่า หากมีค่ามากกว่า 2 KUA/L ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีหรือมีค่ามากกว่า 7 KUA/L ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีจนถึงผู้ใหญ่ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีโอกาสแพ้ไข่ขาว
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีการตรวจเฉพาะต่อส่วนประสอบแต่ละชนิดของไข่ เช่น ovomucoid หรือ ovalbumin เพื่อพิจารณาในแง่การรักษาและการหลีกเลี่ยงไข่ที่ผ่านความร้อน
การรักษา
ประมาณ ร้อยละ 50 ของเด็กที่แพ้ไข่อาจสามารถทานไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ หากไม่หายเองตามธรรมชาติและมีอาการแพ้ชนิดเฉียบพลัน ในปัจจุบันมีการรักษาที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัดทางปากหรือ oral immunotherapy (OIT) ซึ่งการให้รับประทานน้อยกว่าปริมาณที่ทำให้แพ้ ทีละเล็กละน้อยจนสร้างภูมิต้านทานในการดูแลของแพทย์ นอกจากนั้นยังมีการนำ ไข่ที่ผ่านการอบร้อนหรือ baked egg เช่น ขนมเค้กและมัฟฟิน มาใช้ในการรักษาวิธีนี้เพื่อลดภาวะไม่พึงประสงค์ขณะสร้างภูมิต้านทาน เพื่อทำให้ผู้ป่วยหายแพ้เร็วขึ้นอีกด้วย
การอ่านฉลาก
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของคำเหล่านี้ หากมีอาการแพ้ไข่ ได้แก่ คำว่า Egg white, Egg yolk, Egg Albumin, Lysozyme, Egg Lecithin หรือ Ovalbumin
ตัวอย่างอาหารที่มีส่วนประกอบของไข่
อาหารคาว : บะหมี่, หมี่กะทิ, มักกะโรนี, พาสต้า, โรตีมะตะบะ, พิซซ่า, ทอดมัน, ขนมครก, เกี๊ยว, ขนมจีบ, น้ำสลัด, มายองเนส, ไส้กรอก, แฮมเบอร์เกอร์, อาหารชุบแป้งทอด เป็นต้น
อาหารว่าง : เค้ก, แพนเค้ก, มัฟฟิน, คุ้กกี้, โดนัท, ขนมปัง, วอฟเฟิล, เมอแรงค์, มาร์ชแมลโลว์, พุดดิ้ง, คัสตาร์ด, ขนมหม้อแกง, ทองหยิบ, ทองหยอต, ขนมไข่, ขนมเปี๊ยะ, ขนมสาลี่, ปุยฝ้าย, ขนมทองม้วน, ขนมเบื้อง เป็นต้น
วัคซีนที่มีส่วนประกอบของไข่
- วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม หรือ MMR เพาะเลี้ยงใน เซลล์ไฟโบรบาสท์เอมบิโอ้ของไก่ แต่ ไม่ได้ทำมาจากไข่โดยตรง มีส่วนผสมของไข่น้อยมาก ในผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไม่มีข้อปฏิบัติพิเศษ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลิตจากไข่ไก่ฟัก หรือ embryonated eggs หรือ เซลล์เพาะเลี้ยง ปัจจุบันมีส่วนประกอบของไข่น้อยมาก หรือน้อยกว่า 0.06 ไมโครกรัมต่อ 1 โด๊ส (0.5 ซีซี) หรือบางชนิดไม่มีเลย ทำให้คำแนะนำปัจจุบัน สามารถให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่อผู้ป่วยที่แพ้ไข่ไม่รุนแรงได้เลย และสังเกตอาการหลังฉีด สำหรับผู้ป่วยที่เคยแพ้ไข่รุนแรง แนะนำรับวัคซีนในสถานพยาบาลที่สามารถดูแลและรักษาอาการแพ้รุนแรงได้
- วัคซีนไข้เหลือง หรือ yellow fever เพาะเลี้ยงในเอมบิโอ้ของไก่และมีส่วนประกอบของไข่ปริมาณมาก ประมาณ 0.1 ไมโครกรัมต่อ 1 โด๊ส (0.5 ซีซี) ผู้ป่วยแพ้ไข่อาจมีอาการได้ หากจำเป็นต้องได้รับควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

บทความโดย
แพทย์หญิงอัญชลี เสนะวงษ์
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)

แพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ (20) จุด ครอบคลุมการตรวจภูมิแพ้อาหารและจมูก
ตรวจภูมิแพ้อาหาร หรือตรวจภูมิแพ้จมูก ราคาเดียว 4,000 บาท!!
Promotion พิเศษ เริ่มวันที่ 22 กรกฏาคม – 31 ธันวาคม 2566