ศ.พญ.ดร. อรพรรณ โพชนุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และหอบหืด
กับความสุขทางใจเมื่อได้จับไมค์ร้องเพลง

หลากนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตจากความทุ่มเทเพื่อคนไข้

ศ.พญ.ดร. อรพรรณ โพชนุกูล

Ann Asthma คือฉายาของอาจารย์แอน ศ.พญ.ดร. อรพรรณ โพชนุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และหอบหืด ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิแพ้ โรงพยาบาล BNH ผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์หลายชิ้นที่มีจุดเริ่มต้นจากความปรารถนาดีต่อคนไข้ นอกจากความสำเร็จทางการแพทย์แล้ว เรื่องราวเส้นทางชีวิตของอาจารย์ยังมีหลายด้านที่น่าศึกษาและเป็นแรงบันดาลใจต่อคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากเป็นหมอ

“เท่าที่จำได้ ก็อยากเป็นหมอตั้งแต่เกิด”

ตั้งแต่ชั้นอนุบาล หากมีคนถาม ด.ญ.แอน ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบที่ได้ก็คือคุณหมอ และเธอไม่เคยเปลี่ยนคำตอบเลยตลอดชีวิต จนถึงวันนี้ในวัย 54 ปี คุณหมอยังคงมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รัก และไม่เคยมีวันไหนที่ไม่อยากเป็นหมอ

ด.ญ.แอน เป็นคนใต้โดยกำเนิด เกิดที่สุราษฎร์ธานี และเติบโตที่หาดใหญ่ ในครอบครัวที่ทุกคนก็มีภูมิลำเนาจากภาคใต้ ก่อนที่คุณพ่อจะเสียชีวิต ท่านมักพาเธอไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ซึ่งประดิษฐานสมเด็จพระบรมรูปของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย แม้ว่าตอนนั้นเธอจะยังเด็กมาก แต่ก็ได้รู้จักหน้าที่ของอาชีพที่ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของคนไข้มาก่อนประโยชน์ของตัวเอง และใฝ่ฝันถึงงานนี้มาตลอด

เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตลง คุณแม่กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้ฐานะทางบ้านของ ด.ญ.แอน จะไม่ได้ดีนัก แต่แม่ยังคงเข้มแข็ง ขยัน และทุ่มเทในการเลี้ยงดูลูก 3 คน มาโดยลำพัง ครอบครัวคือเหตุผลที่ทำให้หมอแอนเลือกเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนจบแพทย์ และต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชอีก 4 ปี เพื่อให้เธอได้อยู่ใกล้บ้านและใกล้ครอบครัว

“ทุกวันนี้ แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตก็คือคุณแม่ และเป็นคนต้นแบบของตัวเอง”

เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ยังมีนักศึกษาแพทย์สนใจเรียนด้านภูมิแพ้ไม่มากนัก สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หมอแอนจึงสนใจและมาเรียนต่อสาขาภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่กรุงเทพฯ

“ตอนนั้นชีวิตเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องปรับตัวเยอะ ต้องขึ้นรถเมล์ แล้วก็เรียนในสิ่งที่ยาก แต่เนื่องจากเรามี Passion แรงกล้ากว่า ก็ทำตาม Passion อย่างเดียว ชีวิตต้องลำบากก่อนเสมอ เพราะความลำบากคือการเรียนรู้”

ความมุ่งมั่นในการได้ช่วยเหลือคนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หมอแอนไม่หยุดความพยายามที่จะได้เป็นหมอที่เก่งกว่าเดิมในทุกวัน แต่สิ่งที่แพทย์หนึ่งคนทำได้ก็ยังมีข้อจำกัดด้านเวลา หากต้องการช่วยคนให้มากขึ้น เธอจะต้องสร้างหมอที่ดีและหมอที่เก่งเพื่อไปดูแลคนไข้ได้มากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หมอแอนไปสมัครเป็นอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าการเป็นครูจะไม่เคยเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันมาก่อน

งานของอาจารย์หมอไม่ใช่เพียงงานสอนและตรวจคนไข้ แต่ต้องทำวิจัยควบคู่ไปด้วย ความสำเร็จทางวิชาการของ อ. อรพรรณ คือการได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในวัยเพียง 45 ปี ด้วยผลงานวิจัย และนวัตกรรมมากมายที่สร้างประโยชน์ให้คนไข้ได้จริง ตอบความฝันของเธอที่ไม่ได้อยากช่วยคนแค่การรักษา แต่ได้สร้างผลลัพธ์ทางสังคมเป็นวงกว้างจากสิ่งที่เธอได้คิดค้นขึ้น

“ความเป็นหมอ การที่เราได้ฝึกทุกวันทำให้เห็นโจทย์เห็นปัญหา และเราเป็นคนไม่ชอบยอมแพ้ เจอปัญหาก็จะแก้ มันก็เลยเป็นที่มาของนวัตกรรมที่มาจากโจทย์เล็กๆ ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย”

เจ้าแม่นวัตกรรม

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งพาลูกที่เป็นหอบหืดมาพบหมอแอน การรักษาอาการหอบจำเป็นต้องพ่นยาซึ่งต้องทำโดยใช้เครื่องพ่นยาที่มีราคาแพง และคุณพ่อก็จ่ายไม่ไหว

“เรามาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ลูกของคุณภูมิใจกันมั้ย”

หมอแอนถามคุณพ่อของเด็กซึ่งเป็นวิศวกร แล้วทั้งคู่ก็ช่วยกันพัฒนาอุปกรณ์พ่นยาแบบ DIY เพื่อให้ลูกของเขาได้ใช้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อมา ความสำเร็จนั้นไม่ได้จบแค่การรักษาเด็กคนนั้น แต่ยังขยายผลไปสู่กิจกรรมสอนผู้ป่วยหอบหืดและครอบครัวอื่นทำเครื่องพ่นยาใช้เอง และได้รับเชิญไปร่วมงานประกวดนวัตกรรมยังประเทศเกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์จนสามารถคว้ารางวัลกลับมา เมื่อผลงานเริ่มเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ สถาบันพลาสติกโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็ได้เข้ามาร่วมพัฒนาโดยใช้พลาสติกรีไซเคิล เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมและส่งไปใช้งานได้ทั่วประเทศแทนการใช้อุปกรณ์พ่นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงกว่า ในชื่อ Thai Kit Spacer

“เราทำกิจกรรมระดมทุนเพื่อบริจาค Thai Kit Spacer ให้โรงพยาบาลต่างๆ ถึงตอนนี้ก็บริจาคแล้วประมาณ 40,000 ชิ้น เป็นเงินราว 7 ล้านบาท แต่ทั้งหมดคือเอกชนช่วยสนับสนุนทั้งหมด”

จากความต้องการหาหนทางภายใต้ข้อจำกัดของคนไข้ สู่ผลิตภัณฑ์จากความรักของพ่อที่ทำเพื่อลูก และการต่อยอดสู่ผลงานเพื่อสังคมในวงกว้าง เส้นทางการค้นคว้าและพัฒนา Thai Kit Spacer นี้ใช้เวลาร่วม 10 ปี แต่ทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ขาดโอกาสจำนวนมากสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ซึ่งจำเป็นต่อคุณภาพชีวิต จุดเริ่มต้นจากโจทย์ของคนไข้ที่หมอแอนดูแล ยังนำไปสู่นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในอีกหลายมิติ

“การหายป่วยเพราะใช้ยามันก็คือการรักษาหลัก แต่จะดีกว่ามั๊ยถ้าคนไข้สามารถหายโดยไม่ใช้ยาได้”

ปลายปี พ.ศ. 2559 เกิดเหตุการณ์วิปโยคของคนไทย เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ผสกนิกรหลายคนเดินทางออกจากภูมิลำเนามาไกลเพื่อให้ได้มีโอกาสสักการะพระบรมศพ คนไข้หญิงรายหนึ่งของคุณหมอแอนก็เช่นกัน แต่อุปสรรคใหญ่คืออาการป่วยโรคหอบหืดขั้นรุนแรงระดับที่ต้องลาออกจากงานมารักษาตัว การออกจากบ้านไปร่วมงาน ผ่านสภาพแวดล้อมภายนอกที่เต็มไปด้วยฝุ่น ละออง และควันธูป เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเขา

“คนไข้ตกงานและไม่ได้มีเงินเยอะมาก ให้ยาก็ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดีพอ ก็พยายามมองหาปัจจัยร่วมอื่นที่ทำให้โรคกำเริบ พยายามแคะทีละปัญหา แต่ว่าโชคดีตอนนั้นทำวิจัยเรื่อง 4Es พอสมควร ก็เลยทำสกรีนนิ่ง ให้เขาทำแบบทดสอบ มีเรื่องน้ำหนักเยอะทำให้อักเสบในร่างกาย เสี่ยงในการเป็นภูมิแพ้และหอบหืดก็คุมอาการยาก เรื่องสภาพแวดล้อม เขาจุดธูปบ่อยมีฝุ่นควัน เรื่องความเครียด ทุกอย่างมันส่งผลกระทบกับโรค”

“แต่การสอนให้เขาเปลี่ยนไลฟสไตล์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เลยต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เขาก็มองเราเป็นไอดอล ใช้เวลาครึ่งปีปรับการใช้ชีวิต ในที่สุดคนไข้ก็น้ำหนักลดลง 20 กิโลกรัม ออกกำลังกายได้ทุกวัน ออกจากบ้านได้ สามารถไปกราบงานในหลวงได้ และสามารถใช้ชีวิตอย่างคนปกติ เขาสุขภาพดีขึ้นมาก และไม่ใช้ยาอะไรเลยในปัจจุบัน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชุดใหญ่อย่างตั้งใจจริง”

การใช้ยารักษาอาการภูมิแพ้คือการรักษาทั่วไปในขั้นต้น แต่หากอยากให้หายขาดนั้นต้องใช้เวลา และไม่ใช่คนไข้ทุกคนจะสามารถเข้าถึงยาได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นอาจารย์แอนจึงทำวิจัยเพื่อหาหนทางรักษาโรคภูมิแพ้ทางเลือกโดยไม่ใช้ยา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากอาการภูมิแพ้ของตัวเองที่กำเริบหนักจากการหักโหมทำงานจนร่างกายเสียสมดุล พอได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว โรคก็หาย สุขภาพก็ดีขึ้น คุณหมอจึงหันมาทำวิจัยด้านนี้อย่างจริงจังโดยมีตัวเองเป็นกรณีศึกษาเพื่อโน้มน้าวให้คนไข้ดูแลตัวเองทั้ง 4Es คือ ออกกำลังกาย (Exercise) อารมณ์ความเครียด (Emotion) อาหารการกิน (Eating) และการออกกำลังกาย (Exercise) ควบคู่กับ 1s คือคุณภาพการนอน (Sleep)

“เมืองไทยมีสมุนไพรดีๆเยอะ แต่เราต้อง Upscale ให้มันไปสู่ตลาดโลก และทำในเชิงยาแผนปัจจุบัน ต้องทำให้เขายอมรับด้วยงานวิจัยว่ามีผลเทียบเท่ากับยาของนอก”

แต่ในกรณีที่คนไข้มีอาการรุนแรง ในเบื้องต้นก็ยังคงจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แต่ยาปฏิชีวนะที่ผลิตโดยใช้สารเคมีก็อาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาว หมอแอนจึงมีแนวคิดค้นคว้ายาแก้แพ้จากสมุนไพรไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุน 10 ล้านบาท จากองค์การเภสัชกรรมเพื่อทำวิจัย ใช้เวลาร่วม 15 ปี กว่าจะได้ผลงานที่ผ่านการทดลองในกลุ่มตัวอย่างได้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับยาแก้แพ้ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันยาแก้แพ้จากสมุนไพรนี้กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการขอ อย. และคุณหมอได้ขายลิขสิทธิ์คืนให้แก่องค์การเภสัชกรรมเพื่อให้องค์กรรัฐเข้ามาสานต่อในการผลิตและกระจายไปใช้งานได้ทั่วประเทศ

นี่คือตัวอย่างของนวัตกรรมที่เกิดจากการไม่หยุดคิดค้นเพื่อคนไข้ของ อ.อรพรรณ และด้วยความเชี่ยวชาญ ควบคู่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านหอบหืดที่เป็นที่รู้จัก คุณหมอจึงได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมโรคหืดแห่งประเทศไทย อีกความภาคภูมิใจคือเธอเป็นผู้หญิงคนแรกในสมาคม และได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำท่ามกลางการยอมรับของคุณหมอผู้ชาย

นอกจากนี้ หมอแอนยังนำความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนไข้และผู้สนใจมาถ่ายทอดลงสื่อสมัยใหม่อย่าง YouTube และ Facebook ในชื่อ ‘Asthma Talks by Dr.Ann’ และเขียนหนังสือ ‘แล้วภูมิแพ้จะแพ้เรา’ ซึ่งเรียบเรียงจากประวัติการต่อสู้กับโรคภูมิแพ้ของตัวเองสู่การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์จนเอาชนะโรคได้ในที่สุด

“TikTok ก็มี ‘Dr.Ann_Allergy’ อันนี้เพิ่งหัดทำ แล้วก็ลองตัดต่อเอง ทำเองลงเองหมด มันก็ง่ายดีนะอยากถ่ายทอดความรู้และเน้นเรื่องเอาไปปรับใช้ได้ การให้ความรู้มันทำได้หลายมิติหลาย Platform”

“เป็นสิ่งที่เราอยากฝากไว้ ถึงตายไปความรู้นี้ก็ยังอยู่”

แพทย์อาสา

“เป็นหัวหน้าห้องตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 6 เวลามีกิจกรรมอะไรก็จะได้เป็นผู้นำหมู่ แล้วก็เป็นประธานชั้นปี ตอนมหาวิทยาลัยก็ทำค่ายอาสา แล้วตอนนี้ก็มาออกหน่วยแพทย์”

คุณหมอแอนชอบทำกิจกรรมมาแต่เล็ก และมักได้รับมอบหมายจากเพื่อนฝูงให้เป็นผู้นำ พอโตเป็นหมอ เธอได้ตกตะกอนในงานที่รัก และยิ่งสัมผัส ยิ่งได้เห็นความขาดแคลนของผู้คนในถิ่นห่างไกล ซึ่งเธออาจไม่สามารถเติมเต็ม แต่ด้วยทักษะ เส้นสาย และความตั้งใจจริง คุณหมอรู้ว่าตัวเองและผู้ร่วมอุดมการณ์จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้

“เมื่อก่อนสนิทกับพี่สาวมาก แล้วพี่สาวก็เสียชีวิตกะทันหันตอนอายุ 40 ต้นๆเอง ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมันไม่แน่นอน อยากทำอะไรก็ควรจะทำ อย่าไปคิดว่าฉันอยากช่วยคนเมื่อฉันเกษียณแล้ว ถ้าเราจะตายมันก็ตายเมื่อไรก็ได้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการไปทำค่ายอาสากับตรวจสุขภาพพระสงฆ์”

กว่า 10 ปีแล้ว ที่คุณหมอออกเดินทางไปตรวจรักษาชาวบ้านและพระสงฆ์ในพื้นที่ห่างไกลปีละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ตามแต่เขาต้องการให้ไป พร้อมคณะแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรผู้มีความตั้งใจเดียวกันที่จะช่วยคนโดยไม่หวังผลตอบแทน หากใครประสงค์จะช่วยเหลือ คุณหมอก็จะให้บริจาคเป็นยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์โดยไม่เน้นการรับเงินทุนสนับสนุน

“เมื่อก่อนอยากเป็นแพทย์ชนบท ปัจจุบันภาพนี้ก็ยังอยู่ในหัว ตอนนี้ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เป็นโครงการส่วนตัว ใครอยากทำก็มาร่วมกับเรา เน้นทำง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง ก็มีทีมค่อนข้างเข้มแข็งเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก ส่วนใหญ่ก็มีหมอด้านอื่นไปด้วยประจำ”

“ตอนนั้นมีคนไข้ที่เป็นพระสงฆ์เยอะ เวลามารักษาต้องจ่ายเงินเอง เบิกไม่ได้ ถ้าเบิกฟรีต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ก็เลยทำกิจกรรมไปตรวจสุขภาพพระสงฆ์ ตรวจภูมิแพ้ ตรวจสมรรถภาพปอด สอนการใช้ยา ถ้าท่านเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องยาว ก็จะมีรายชื่อพระที่ต้องส่งยาไปให้ที่วัด และถ้าอยู่ในกรุงเทพฯก็จะเดินสายไปตรวจ”

“ไฟป่าภาคเหนือ เขาก็ขอให้ไปตรวจเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตอนนั้นเป็นโรคหอบหืดเยอะมาก”

เวลาทำอะไร อ. อรพรรณ จะลงมือทำให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาหน้างาน ครั้งหนึ่งเมื่อประสงค์จะเดินทางไปออกตรวจที่สามจังหวัดภาคใต้ หมอแอนส่งจดหมายขอความอนุเคราะห์เครื่องบินจากกองทัพอากาศเพื่อขนทีมแพทย์ลงพื้นที่โดยไม่คาดหวังว่ากองทัพจะสนับสนุน แต่แล้วหน่วยแพทย์อาสาก็ได้เดินทางไปด้วยเครื่องบินของกองทัพจริงๆ หน่วยแพทย์ของคุณหมอยังเคยข้ามฝั่งชายแดนแม่สายไปลงพื้นที่ถึงประเทศพม่า หากมีความต้องการให้ไป สุดท้ายแล้วจะมีคนคอยช่วยประสานงานให้ไปถึงอย่างปลอดภัยจนได้

“บางอย่างมันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ถ้ามัวแต่คิดสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้ทำสักที เราคิดดีทำดีอยากช่วยคนอื่นเดี๋ยวจะมีทีมมาร่วมสนับสนุนเสมอ”

ทำเพื่อนักศึกษาและคนไข้

“เป็นขวัญใจนักศึกษา อยู่กองสันทนาการ ชอบเต้นชอบร้องเพลง เวลามีฟุตบอลประเพณีก็ไปเต้นกับเขา”

อาจารย์แอนไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แต่ในคณะแพทยศาสตร์ แต่ความเข้าใจนักศึกษาของอาจารย์ทำให้มีโอกาสเข้าไปดูแลงานบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมาถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา ดูแลนักศึกษาในองค์รวมตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ จนจบไปแล้วต้องมีงานทำ

“เป็นหมอ เราก็ดูแลสุขภาพกายใจให้เขา แต่เน้นสุขภาพใจมากกว่า เพราะว่าเด็กนักศึกษามีปัญหาเรื่องเครียดซึมเศร้าค่อนข้างเยอะ โดยที่เราจะให้บริการเชิงรุกประจำที่หอต่างๆ มีให้คุยกับนักจิตวิทยา ให้คำปรึกษาออนไลน์ออฟไลน์ทำแชตบอท ถ้าเป็นโรคแล้วก็ติดต่อจิตแพทย์ให้รักษาจ่ายยาฟรีให้ รวมถึงทำเรื่องจิตบำบัด”

“แล้วก็ทำกิจกรรมเรื่องความเท่าเทียมเยอะ ทำเรื่องให้นักศึกษาสามารถใส่ชุดไปรับปริญญาตามเพศที่ต้องการ แล้วก็ทำกับ UN Woman ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องการรังแกค่อนข้างเยอะ การคุกคามทางเพศทั้งทางโซเชียล ทางวาจา และการกระทำ ก็ได้เรียนรู้เยอะมาก ทำแคมเปญโฆษณาออกมาค่อนข้างเยอะและทำเป็นรูปธรรม”

เป็นช่วงเวลาร่วม 6 ปี ที่หมอแอนได้พัฒนาทักษะใหม่ๆให้ตัวเอง เคียงคู่กับการทำโครงการเพื่อคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและได้ช่วยคนในอีกมิติ แต่งานบริหารก็ไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของเธอ พอครบวาระ คุณหมอจึงวางมือจากงานบริหารของมหาวิทยาลัยเพื่อทุ่มเทเวลาให้คนไข้ได้อย่างเต็มที่ และดูแลแค่โครงการที่เกี่ยวข้องกับสายการแพทย์ที่เธอรัก อาทิ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิแพ้ และ Lifestyle and Wellness Center ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เราเป็นคนกล้าทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น ชอบคิดแล้วลงมือทำเลย เลยสามารถออกจากกรอบความเป็นหมอ อย่าไปคิดว่าเป็นหมอมันทำได้แค่นี้ เราก็ทำแบบไร้ขีดจำกัดเลย สำคัญคือต้องเป็นคนคิดดี คิดที่จะช่วยคนอื่น มันถึงจะทำออกมาได้”

และปัจจุบัน อ. อรพรรณ กำลังใช้ศักยภาพที่มี ริเริ่มสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิแพ้ที่โรงพยาบาล BNH เพื่อดูแลคนไข้ภูมิแพ้อย่างครบวงจร นอกเหนือจากการใช้ยาและ 4Es ที่คุณหมอทำการวิจัยแล้ว คนไข้ยังต้องได้รับการดูแลแบบ 4P คือ การป้องกัน (Prevention) คาดการณ์ความเสี่ยงได้ (Predictive) การรักษาเฉพาะบุคคล (Personalize) และคนไข้กับครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการรักษา (Participatory)

“การดูแลคนไข้ของโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมันจะมีรายละเอียดซึ่งตอบโจทย์ตัวเอง เลยคิดว่าโรงพยาบาล BNH มีโอกาสพัฒนาและเติบโตไปได้อีกหลายมิติเรื่องภูมิแพ้”

ออกกำลังกายวันละนิดจิตแจ่มใส

“อาทิตย์นึงออกกำลังกาย 5 ชั่วโมง ก็เกือบทุกวัน”

1 ใน 4Es สูตรไม่ลับปรับไลฟ์สไตล์เพื่อพิชิตโรคภูมิแพ้ของหมอแอน คือ การออกกำลังกาย ซึ่งเธอเริ่มหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังเพื่อต่อสู้กับอาการภูมิแพ้ของตัวเอง และก็ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากประโยชน์ที่เกิดกับตัวเองแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการโน้มน้าวให้คนไข้หันมาปรับรูปแบบการใช้ชีวิต

“สิ่งที่เราพูด เราต้องทำด้วย คนไข้จะรู้สึกว่าเราเป็นคนจริงใจ ถ้าเราพูดแล้วทำไม่ได้ คนไข้ก็จะไม่เชื่อ ความศรัทธาของคนไข้นำไปสู่การรักษาที่ต่อเนื่อง”

การออกกำลังกายสำหรับอาจารย์แอน ยังเป็นการได้ฝึกสมาธิไปในตัว เมื่อก่อนที่ชีวิตเธอประสบอุปสรรคหลายด้าน การไปปฏิบัติธรรมคือทางแก้ในตอนนั้น แต่ไม่ใช่สิ่งที่คนที่ธุระมากมายเช่นคุณหมอจะสามารถปลีกตัวออกไปทำได้บ่อยครั้ง เธอจึงปรึกษากับพระอาจารย์เพื่อหาหนทางบริหารจิตใจตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปวัด และมาจบลงที่การออกกำลังกาย

หนึ่งในตัวอย่างใกล้ตัวและต้นแบบทุกด้านรวมถึงการออกกำลังกายของคุณหมอ คือคุณแม่ในวัยย่าง 85 ปี ผู้ยังสุขภาพดีและมีวินัยในการออกกำลังกายทุกวัน คุณแม่แข็งแรงถึงขนาดที่วิ่งรอบสวนรถไฟ 3 รอบ ได้โดยไม่หมดแรงเสียก่อน

“ปัจจุบัน คุณค่าที่คิดได้มากขึ้นก็คือการไม่ลืมทำเพื่อตัวเอง ถ้าเราอยากดูแลคนอื่นให้ดี เราต้องดูแลตัวเองให้ดีด้วย”

ฝันลับนักร้อง

“เราเป็นคนสนุกสนาน ชอบการ Entertain คนอื่น ชอบร้องเพลงมาก ร้องเพลงของสุนทราภรณ์ได้ทุกเพลง  อยากเป็นนักร้อง อยากประกวดร้องเพลง อันนี้คือความฝันแต่ยังไม่ได้ทำ”

หมอแอนหลงใหลในดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เธอเคยอยู่ชมรมดนตรีไทยสมัยมัธยม และเคยสีซอและตีขิมต่อหน้าพระพักตร์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อโตมาเป็นแพทย์ ความชื่นชอบในดนตรียังไม่เปลี่ยน เธอชอบไปคาราโอเกะ และถ้ามีโอกาสขึ้นเวทีไหนก็ขึ้นหมด

“เพลงของตัวเองคือเพลง ‘แพ้ใจ’ ไปร้องทุกเวที”

ด้วยหน้าที่การงาน และสารพัดโครงการที่หมอแอนทำ รวมถึงการจัดสรรเวลาเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองและออกกำลังกาย ทำให้คุณหมอยังหาโอกาสไปเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังไม่ได้ แต่คุณหมอก็ฝึกร้องเพลงด้วยตัวเองเป็นประจำ และไม่มีทางทิ้งความฝันที่จะได้เป็นนักร้อง

“สักวันเราก็คงได้เป็นนักร้อง คิดว่าไม่มีใครที่แก่เกินความสามารถ”

ความสำเร็จของอาจารย์แอน เกิดจากความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และความแน่วแน่ที่จะทำให้ทุกโครงการที่ดูแลได้สร้างผลประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก สมดังความตั้งใจของเธอที่ต้องการก้าวพ้นขีดจำกัดในการช่วยเหลือผู้คน อุดมการณ์และความทุ่มเทของคุณหมอสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับ จนคนมากมายร่วมสนับสนุนและเดินเคียงข้างสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปพร้อมกับเธอ

“ทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง ถ้าเราหาไม่เจอเราก็ลองลงมือทำ จุดที่ดีที่สุดมันไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ลองกลับมาฟังเสียงตัวเองให้มากขึ้นจะได้ทำในสิ่งที่อยาก ถ้าเราไม่มี Passion ไม่มีความชอบ ไม่ทำในสิ่งที่เป็นตัวเรา เราอาจจะทำได้ไม่นาน ทุกวันนี้ที่เราทำงานโดยฟังเสียงตัวเองก่อนนะ ลงมือทำ แล้วก็ทำต่อไปเรื่อยๆ ทุกอย่างที่สำเร็จเป็นเพราะเราทำแบบจิกไม่ปล่อย”

Customer’s Story

Articles and Published Content by This Doctor

ภาวะอ้วน-อดนอน

ภาวะอ้วน-อดนอน ต้นเหตุโรคหืดและภูมิแพ้ ทำคนไทยเสียชีวิต 4 พันคนต่อปี

คนไทยเสียชีวิตจาก "โรคหืดและภูมิแพ้" เฉลี่ย 4,000 คน/ปี เผยปัจจัยป่วยสูงสุดจากภาวะอ้วน ความเครียด การอดนอน และมลภาวะทางอากาศ โดยการปรับพฤติกรรมสามารถร...อ่านต่อ ...

หอบหืดในยุคมลพิษ

การรักษาโรคหอบหืดให้หายขาด ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะในทางเดินหายใจ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดมากขึ้น

ชนิดของโรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ โดย ในวัยหนึ่งอาจเกิดภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง แล้วอาการลดลง หลังจากนั้นก็เกิดภูมิแพ้ชนิดนี้ตามมา

ความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้และการป้องกันในหญิงตั้งครรภ์

ความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้และการป้องกันในหญิงตั้งครรภ์ สาเหตุของโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ร่วมกับการได้รับกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม

การรักษาผื่นแพ้ผิวหนัง

การรักษาโรคผื่นแพ้ผิวหนังแบ่งเป็น สองระยะ คือระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง โดยระยะเฉียบพลัน จะมีอาการบวม แดง อักเสบ คันมาก ผิวหนังแฉะ เยิ้ม

การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

วัคซีนภูมิแพ้ หรือ การรักษาโดยการบำบัดทางอิมมูนต่อสารก่อภูมิแพ้ คือ การให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยทีละน้อย

โรคตึกเป็นพิษ sick building syndrome

โรคตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome เป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร

แพ้อาหาร อันตรายแค่ไหน

ภาวะแพ้อาหาร คือ ภาวะที่ร่างกายมีภูมิไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นอาหาร คำว่าไวเกินคือคนปกติกินอาหารไม่มีอาการ แต่เรากินแล้วเป็น

แพ้ยา

แพ้ยา เป็นปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองผิดปกติต่อยาที่ได้รับ โดยยาที่พบว่าแพ้บ่อยได้แก่ ยาปฎิชีวนะ ยาแก้ปวด ยารักษาโรคข้อ

ภูมิแพ้แบบไหน ที่คุณกำลังเป็น

อาการของโรคภูมิแพ้เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ โดย ในวัยหนึ่งอาจเกิดภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง แล้วอาการลดลง หลังจากนั้นก็เกิดภูมิแพ้อีกชนิดตามมา

RSV กับโรคหิต

RSV กับโรคหืด

ไวรัส อาร์เอสวีกับโรคหืด ไวรัส อ์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

Food allergy and intolerance

โรคแพ้อาหาร Food Allergy ภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดยอาการที่พบแบ่งเป็นสองแบบ

Antioxidant for allergy

โรคภูมิแพ้และโรคหืดเป็นโรคที่พบบ่อยและเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน กลไกลการเกิดโรคนี้เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง แล้วส่งผลให้มีการอักเสบ

Allergy Screening

โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย มีสาเหตุจากพันธุกรรม การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่าการใช้ชีวิตมีผลมาก

Exercise for allergy

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น และหากมีอาการมาก

Allergy Prevention

การป้องกันโรคภูมิแพ้ (Allergy Prevention) โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ร่างกายมีความผิดปกติของระบบอิมมูน ที่ทำให้เกิดการตอบสนองไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น

ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล

ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้

ความชำนาญพิเศษ

กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

ภาษา

ไทย, อังกฤษ

ทำนัดหมาย


– สาขา กุมารเวชศาสตร์
– สาขา อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน


– อนุมัติบัตรกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
– วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
– ประกาศนียบัตร American Board Certified in Nutritional Wellness


– ปริญญาเอกสาขา Oral Health Science (International Program) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


ตำแหน่งทางวิชาชีพ
– นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(Thailand Asthma Council)
– ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ผู้อำนวยการศูนย์ Lifestyle and wellness medical center รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
– หัวหน้าหน่วยวิจัยเฉพาะทางสมุนไพรเพื่อรักษาโรคหืดและภูมิแพ้
– รองประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย

ผลงานทางวิชาการ
– ประพันธ์งานวิจัยเกือบ 40 ฉบับ
– เขียนหนังสือเรียน 5 เล่ม รวมหนังสือเรียนนานาชาติ 1 เล่ม

นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในการดูแลโรคหอบหืด
– พัฒนา 3 นวัตกรรมสำคัญเพื่อผู้ป่วยโรคหอบหืด
– จัดตั้งเครือข่ายการดูแลโรคหอบหืด

รางวัลและการยอมรับ
– ได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติ 3 รางวัล จากงานเจนีวา เกาหลี ไต้หวัน International Invention Fair

ภารกิจการพูดระหว่างประเทศ
– นำเสนอเป็นวิทยากรระดับนานาชาติในญี่ปุ่น เกาหลี เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

มุ่งเน้นการวิจัย
– มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคภูมิแพ้แบบใหม่เป็นหลัก

การมีส่วนร่วมของการทดลองทางคลินิก
– มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และ 3 สำหรับยาสมุนไพรที่มุ่งรักษาโรคหอบหืด

ตารางออกตรวจแพทย์
วัน เวลา แผนก
เสาร์ 09:00 – 17:00 ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก