
อาการของโรคภูมิแพ้เปลี่ยนไปตามช่วงอายุ โดย ในวัยหนึ่งอาจเกิดภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง แล้วอาการลดลง หลังจากนั้นก็เกิดภูมิแพ้ชนิดนี้ตามมา อาการของโรคของโรคภูมิแพ้ในเด็กมักเริ่มต้นด้วยการแพ้อาหารและผื่นแพ้ผิวหนัง ซึ่งจะพบในช่วงอายุแรกเกิดถึงอายุประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นก็จะพัฒนาไปเป็นการแพ้อากาศ ภูมิแพ้ทางตา หอบหืด หรือลมพิษ เมื่อโตขึ้น โดยอาการของแพ้อาหารอาจแสดงได้หลายระบบ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด หรือมีอาการหลายระบบของร่างกาย
ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นหลังทานอาหารทันที หรือหลังทานอาหารไปหลายสัปดาห์ได้ สำหรับอาการผื่นแพ้ผิวหนัง และเมื่อโตขึ้นอาการแพ้อาหารและผื่นแพ้ผิวหนังก็จะค่อยๆลดลงจนหายไป แล้วอาจมีอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น แพ้อากาศหรือโรคหืดตามมาทีหลังได้ นอกจากนี้การเกิดผื่นแพ้ผิวหนังยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการเกิดโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในอนาคต
อาการของโรคภูมิแพ้
อาการของโรคภูมิแพ้แบ่งเป็นระบบต่างๆตามอาการที่แสดงออกดังนี้
โรคแพ้อาหาร (food allergy)
ภาวะแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาทางอิมมูนที่ตอบสนองไวผิดปกติต่ออาหารที่รับประทาน โดย มักมีอาการเฉียบพลันหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งอาการที่เกิดจากระบบอิมมูนชนิด IgE มักมีอาการเร็วหลังได้รับอาหาร โดยอาการที่พบได้แก่ ผื่นลมพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำมูก หอบ ผื่นแพ้ผิวหนัง หรืออาจมีอาการหลายระบบร่วมกันเรียกว่า anaphylaxis (ได้แก่มีอาการผิวหนัง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ) สำหรับอาหารที่ทำให้แพ้ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล แป้งสาลี ถั่ว เป็นต้น กรณีอาการแพ้นมวัวที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ไม่ผ่านอิมมูนชนิด IgE อาจมีอาการช้าหลังรับประทานนมวัวไปหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการที่พบได้แก่ กรดไหลย้อน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการทางผิวหนังหรือทางเดินอาหารเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะที่มีอาการสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรืออาจมีอาการหลายๆระบบโดยที่หาสาเหตุไม่ได้
โรคผื่นแพ้ผิวหนัง (eczema)
พบได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนหลังคลอด โดยลักษณะผื่นคือ แห้ง แดง คัน มักเป็นบริเวณ หน้า หนังศีรษะ แขนและขา อาการจะคันมาก ทำให้เกาจนเกิดผิวแห้ง หนา ตกสะเก็ด บางครั้งเกาจนเป็นแผลถลอก ติดเชื้อได้ ซึ่งผื่นแพ้ผิวหนังอาจมีสาเหตุกระตุ้นจากอาหารได้ โดยอาหารที่กระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ผิวหนังได้แก่ ไข่ นม แป้งสาลี อาหารทะเล
การดูแลตนเองเบื้องต้น
- ใส่เสื้อผ้าเด็กด้วยผ้าคอดตอน ไม่ใช้เสื้อผ้าทีทำจากใยสังเคราะห์
- ตัดเล็บเด็กให้สั้น เพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเกา ใส่ถุงมือตอนนอนเพื่อป้องกันไม่ให้เกาขณะหลับ
- อุณหภูมิร้อนทำให้อาการแย่ลง พยายามให้เด็กอยู่ในที่เย็นและไม่อาบน้ำร้อน
- ใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อน ไม่แพ้ง่าย (hypoallergenic products) หลังอาบน้ำใช้ผ้าเช็ดตัวซับเบาๆ ไม่ถู แล้วใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำทันที
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมน้ำหอม
- ใช้น้ำเกลือหรือความเย็นประคบบริเวณที่มีผื่นคัน
- ผื่นแพ้ผิวหนังอาจกระตุ้นด้วยอาหาร ความเครียด ดังนั้นควรมองหาตัวกระตุ้นเหล่านี้ด้วย
ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ มีอาการรุนแรงจนต้องได้รับยาสเตียรอยด์ทา มีการติดเชื้อจนต้องได้รับยาปฏิชีวนะ มีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ผื่นคันจนรบกวนการนอนหรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก
โรคลมพิษ (uticaria)
เป็นผื่นนูน แดง คัน ขอบเขตชัด และลักษณะผื่นที่เป็นจะเปลี่ยนที่ โดยที่หายแบบไม่มีร่องรอยเดิม สาเหตุของลมพิษอาจเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา การติดเชื้อ ความร้อน ความเย็น รอยกดทับ หรือ เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองก็ได้ บางรายที่เป็นลมพิษเรื้อรังมักไม่ทราบสาเหตุ
การรักษา คือ รับประทานยาต้านฮีสตามีน หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และควรปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการทราบสาเหตุ มีอาการเรื้อรัง รุนแรงและทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
โรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือแพ้อากาศ(allergic rhinitis)
เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในเด็กวัยเรียน และอาจพบร่วมกันกับโรคหืดได้ อาการที่พบบ่อยได้แก่ เป็นหวัดบ่อย หวัดเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน จาม น้ำมูก คันจมูก คันตา หรือเป็นไซนัสอักเสบบ่อยโดยอาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ หรืออาจมีอาการตลอดทั้งปีได้ เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่มีอาการภูมิแพ้ทางจมูกมักจะเกิดภูมิแพ้ทางตา ร่วมด้วย
การดูแลรักษา คือ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ใช้ยาต้านฮีสตามีน หรือยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ หากมีอาการเยอะจนรบกวนคุณภาพชีวิต ควรไปปรึกษาแพทย์
โรคหืด (asthma)
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุหลัง 3 ปี โรคนี้เกิดจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้หลอดลมไว เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการหลอดลมตีบ มีมูกอุดตันทำให้หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก มีเสียงวี้ด ไอบ่อยๆหรือไอเรื้อรังหลังเป็นหวัดได้ อาการเหล่านี้อาจได้รับกระตุ้นจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ การออกกำลังกาย เล่น หัวเราะ หรือร้องไห้ก็ได้ มักมีอาการช่วงกลางคืน หรืออากาศเย็น
การดูแลรักษา คือ ใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการ กรณีมีอาการหอบกำเริบบ่อยให้ใช้ยาควบคุมอาการเช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสูด เพื่อลดหลอดลมอักเสบ หลอดลมไว ทำให้ป้องกันอาการหอบกำเริบ ซึ่งยาตัวนี้มีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้เป็นเวลานานตามขนาดที่แพทย์สั่ง สำหรับระยะเวลาในการรักษาโรคหืด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไอรุนแรง หอบเยอะ หายใจเสียงดังวี้ดรุนแรง ริมฝีปากหรือเล็บเขียว หรือกรณีหอบบ่อย รบกวนคุณภาพชีวิต

บทความโดย
ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช BNH Asthma and Allergy Centre (BAAC)
ติดต่อสอบถาม หรือทำนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ผ่าน LINE @MBRACE
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

ศ.ดร.พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ความชำนาญพิเศษ
กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– สาขา กุมารเวชศาสตร์
– สาขา อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน
– อนุมัติบัตรกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
– วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
– ประกาศนียบัตร American Board Certified in Nutritional Wellness
– ปริญญาเอกสาขา Oral Health Science (International Program) คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ตำแหน่งทางวิชาชีพ
– นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(Thailand Asthma Council)
– ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและระบบหายใจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ผู้อำนวยการศูนย์ Lifestyle and wellness medical center รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
– หัวหน้าหน่วยวิจัยเฉพาะทางสมุนไพรเพื่อรักษาโรคหืดและภูมิแพ้
– รองประธานมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย
ผลงานทางวิชาการ
– ประพันธ์งานวิจัยเกือบ 40 ฉบับ
– เขียนหนังสือเรียน 5 เล่ม รวมหนังสือเรียนนานาชาติ 1 เล่ม
นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในการดูแลโรคหอบหืด
– พัฒนา 3 นวัตกรรมสำคัญเพื่อผู้ป่วยโรคหอบหืด
– จัดตั้งเครือข่ายการดูแลโรคหอบหืด
รางวัลและการยอมรับ
– ได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติ 3 รางวัล จากงานเจนีวา เกาหลี ไต้หวัน International Invention Fair
ภารกิจการพูดระหว่างประเทศ
– นำเสนอเป็นวิทยากรระดับนานาชาติในญี่ปุ่น เกาหลี เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
มุ่งเน้นการวิจัย
– มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคภูมิแพ้แบบใหม่เป็นหลัก
การมีส่วนร่วมของการทดลองทางคลินิก
– มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 และ 3 สำหรับยาสมุนไพรที่มุ่งรักษาโรคหอบหืด
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
เสาร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |