ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไข้ด้วยความรู้
– ดร.พญ. ประเนตรทิพย์ รินแก้วกาญจน์ –
ปลายทางของการรักษาโรคคือการทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนของการฟื้นฟูนี้อาจใช้เวลายาวนานยิ่งกว่าการรักษา และ หมอแอน ดร.พญ. ประเนตรทิพย์ รินแก้วกาญจน์ แพทย์ประจำแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด โรงพยาบาล BNH คือคนที่อยู่ตรงนั้น คอยให้กำลังใจคนไข้เพื่อพาผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยความเข้าใจโรค ความเป็นกันเอง คอนเทนต์ออนไลน์ และเรื่องราวบันดาลใจจากอุปสรรคในชีวิตที่คุณหมอเองก็เรียนรู้และยอมรับที่จะอยู่กับมันในทุกวัน
คนสายอาร์ต
“หมอเป็นคนชอบอะไรที่เป็นอาร์ตค่ะ เมื่อก่อนอยากเรียนศิลปกรรม ไม่ก็สถาปัตย์”
หมอแอนเล่าความหลังสมัยเรียนที่ไม่ว่ามีงานกิจกรรมอะไรของโรงเรียน เธอจะต้องไปประจำอยู่ฝ่ายศิลป์ ออกแบบคัทเอาต์งานกีฬาสี ป้ายแปรอักษร บอร์ดวันคริสต์มาส
เธอชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยมีความคิดจะเรียนหมอ ในสมัยนั้นที่ยังใช้ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยการเอ็นทรานซ์เลือกคณะที่สนใจ 4 อันดับ ตัวเลือกของหมอแอนก็จะเป็นคณะด้านศิลปะ ออกแบบ ไม่ก็วิศวกรรมศาสตร์ เธอถึงกับลงสอบวิชาความถนัดทางสถาปัตย์และความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ไปแล้วด้วย

ด้วยความเป็นคนไม่ชอบเรียนวิชาชีววิทยา การเป็นหมอไม่เคยเป็นเป้าหมายในอนาคตของหมอแอน แต่วันหนึ่งเพื่อนเตรียมอุดมก็ชวนไปฝึกงานที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพราะไม่รู้ว่าคนเป็นหมอเขาทำงานกันยังไง เธอจึงลองไปดูให้รู้ พอฝึกงานครบ 10 สัปดาห์ ก็มีสิทธิสอบโควตาที่โรงพยาบาลศิริราช คุณหมอก็ลองสอบ แล้วก็สอบผ่าน จึงได้เริ่มต้นชีวิตหมอแบบไม่ได้วางแผนมาล่วงหน้า
“แต่กลายเป็นว่า พอมาเรียนหมอ ต้องเรียนเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ อวัยวะต่าง ๆ แล้วมันสนุก มันเป็นอาร์ตอีกแบบนึง ตอนเรียนปีสองนี่รู้สึกสนุกกว่าเพื่อนที่อยากเรียนหมอแต่แรกอีก เพราะว่าเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเป็นแบบนี้ เวลาทํางานเขียนก็สนุก เลยรู้สึกว่าตัวเองโชคดี
“ถึงจริตเราจะเป็นพวกอาร์ต แต่พอไปเห็นเพื่อนสถาปัตย์ทํางานกัน ก็รู้สึกว่าเขาต้องนอนดึก ต้องทําโปรเจคให้เสร็จ ต้องผ่าฟันอะไรเยอะจัง”

หลังจากได้เรียนรู้งานในสาขาต่าง ๆ จนครบ หลายสาขาในงานแพทย์อาจไม่ใช่สิ่งที่เธออยากอยู่ด้วยไปตลอด แต่ศิลปะและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่เธออยากใช้เวลากับมัน ทำให้หมอแอนมาเลือกเรียนสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับสรีระของคน ได้ดูแลกระดูก กล้ามเนื้อ และการบริหารร่างกาย และเธอก็มาต่อเฉพาะทางด้านนี้ที่โรงพยาบาลศิริราช และต่อสาขาย่อยด้านการฟื้นฟูกระดูกสันหลังที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พอกลับมาทำงานที่ไทยใน พ.ศ.2558 คุณหมอก็อยู่กับโรงพยาบาล BNH มาตลอด
“ตอนนี้หมอก็ยังเป็นจริตเดิมนะ เราได้คุย ได้ดูแล ได้ให้ความรู้กับคนไข้ แล้วรู้สึกดี แล้วก็มาทําอะไรจุกจิกเกี่ยวกับศิลปะของเราเอง มันก็มีความสุข”
รักษาและฟื้นฟู
“เคสไหนที่ยากแต่พอรักษาได้ คนไข้ไม่อยากผ่าตัด แล้วเราสามารถรักษาให้เขาหายได้สำเร็จโดยไม่ต้องผ่า เราก็จะภูมิใจมาก”

เวชศาสตร์ฟื้นฟูคือการฟื้นฟูร่างกายที่บกพร่องให้กลับมาใช้งานได้ เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการรักษาองค์รวม Complete Care ที่โรงพยาบาล BNH พยายามส่งเสริม ผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวด้วยโรคอะไรก็ตามเป็นเวลานานอาจมีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากกระดูกหรือกล้ามเนื้อมีปัญหาก็ยังต้องมาให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูดูแลเพื่อทำให้ร่างกายกลับไปเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติที่สุด หรือแม้กระทั่งอาการปวดเมื่อยยอดฮิตของคนวัยทำงาน
“คนเดี๋ยวนี้ทํางานหน้าคอมหรืออยู่กับมือถือเยอะ คลํากล้ามเนื้อดูก็มักตึงกันทุกคน แต่แค่ว่ายังไม่ถึงขั้นปวด ส่วนมากคนไข้ก็จะไปหาวิธีแก้ด้วยตัวเองก่อน เช่น ร้านนวด เข้ายิม แต่จนถึงจุดนึงแล้วปวดไม่หาย ส่วนใหญ่ก็จะมาถึงมือพวกหมอ บางคนคิดว่าตัวเองเป็นแค่ออฟฟิศซินโดรม แต่ที่จริงเป็นอย่างอื่น ที่หมอเคยเจอก็มีทั้งข้อต่อมันสบกันจนเจ็บ กระดูกทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกคออักเสบ”
หากมีอาการแค่ปวดเมื่อยที่พบได้บ่อยและฟังดูธรรมดาจนผู้ป่วยมีมุมมองว่าไม่น่าจะหนักขนาดต้องเข้ารับการผ่าตัด เขาก็จะยิ่งกังวลและต่อต้าน ดังนั้นความท้าทายอีกอย่างของหมอแอนคือการรักษาคนไข้ให้หายโดยไม่ต้องไปถึงการผ่าตัด ซึ่งศาสตร์ของเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็รักษาได้ด้วยเทคนิคหลากหลาย ทั้งการฝังเข็ม ฉีดยา เลเซอร์ ช็อคเวฟ กายภาพบำบัด หรือ การออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการด้วยเช่นกัน
“มีคนไข้ใช้ข้อมือเยอะจนมีอาการชา ตรวจพบว่าข้อมือมีพังผืดทับเส้นประสาทในระดับปานกลางถึงค่อนข้างมาก เขาไม่อยากผ่าตัด หมอก็จัดโปรแกรมกายภาพและรักษาด้วยการฉีดยาให้เส้นประสาทโล่งขึ้นให้ไม่ไปกดทับ คนไข้ต้องมารักษาต่อเนื่อง พอทําไปเรื่อย ๆ คนไข้ก็ชาลดลงแล้วกลับมาทํากิจวัตรประจำวันได้ เขาก็ดีใจที่ไม่ต้องผ่าตัด”

“งานของพวกเรา คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไข้ ไม่ว่าจะปวด หรือ กล้ามเนื้อไม่มีแรง ยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ยัง นั่ง ยืน เดิน กลืน พูดไม่ได้ เรามีหน้าที่ทำให้พวกเค้ากลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง”
แต่การฟื้นฟูร่างกายก็เป็นเพียงการรักษาและเยียวยาที่ปลายทางจริง ๆ การดูแลแบบองค์รวมที่แพทย์มอบให้จึงต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยให้ยอมดูแลตัวเองที่ต้นเหตุของปัญหาเพื่อไม่ให้อาการที่รักษาจนดีขึ้นแล้วกลับมาหนักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดการหดเกร็งตึงของกล้ามเนื้อจากการอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน การออกกำลังกายอยู่เสมอในท่าทางที่แพทย์แนะนำว่าจะไม่เกิดอันตราย หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสม รับประทานอาหารที่สร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
เพื่อให้คนไข้เข้าใจหลักการดูแลตัวเอง คุณหมอจึงรวบรวมความรู้ต่าง ๆ ที่สำคัญ ถ่ายทอดลงในช่องทางของตัวเอง พร้อมกับการเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้ทำงานศิลปะที่รักไปควบคู่กัน
Rehab Your Life
“หมอเป็นคนเรียนเยอะค่ะ ทั้งเรียนหมอ ทําวิจัย ต่อเฉพาะทาง ไปเมืองนอก แล้วยังเรียนใบเซอร์ต่างๆ เลยทำได้หมดทั้งอัลตร้าซาวด์ ฉีดยา ฝังเข็มจีน อุปกรณ์ลดปวดต่างๆ มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าเราเรียนเยอะไปมั้ยนะ แต่ทุกวันนี้ก็การทํางานก็มีช่วงที่สุขมากกว่าไม่สุข ลักษณะงานมันตรงจริต ได้ดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีความรู้ในการดูแลตัวเองติดตัวกลับไป ได้ทํางานเขียน เราก็รู้สึกดีนะ”

หากสงสัยว่าหมอแอนทำคอนเทนต์อะไร ให้ไปที่ร้านหนังสือชั้นนำแล้วถามหา ‘ปวดเมื่อยเรื่องเล็ก’ หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่มีตัวการ์ตูนลายเส้นน่ารักมาสอนท่าทางจัดการกับความเมื่อยฉบับหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูออกแบบท่าทางเอง เขียนเอง และวาดรูปประกอบเอง
“เริ่มแรกหมอวาดเอง พอวาดเสร็จก็ส่งไปให้คนกราฟิกทำต่อ”
แรกเริ่มเดิมที หมอแอนไม่เคยคิดจะออกหนังสือ แต่คนไข้รายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจด้านงานออกแบบมารักษากับเธอจนหายจากปัญหาที่กระดูกคอ ความรู้ในการดูแลตัวเองที่คนไข้ได้ใช้ก็มาจากคำแนะนำของคุณหมอทั้งโดยตรงและผ่านหน้าเพจเฟสบุ๊ค ‘Rehab Your Life ปวดเมื่อยเรื่องเล็ก’ ที่คุณหมอทำคอนเทนต์และภาพประกอบเอง คนไข้เลยอาสาช่วยด้านกราฟิก แต่พอนานไป คอนเทนต์เริ่มเยอะขึ้น จึงนำมารวมเล่มจัดพิมพ์สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดอ่านออนไลน์
“หมอไม่ใช่คนฟิตมาก ก็จะใช้เวลาที่รู้สึกว่าหายเหนื่อยจากงานมาทําทีละนิด”
แต่คอนเทนต์ที่ทำทีละนิดของคุณหมอ จนถึงตอนนี้มีทั้งบนเพจเฟสบุ๊ค หนังสือเล่ม เนื้อหาบน Medium ในชื่อ Dr.Pranathip Rinkaewkan สำหรับแนะนำคนไข้แต่ละกลุ่มปัญหาโดยละเอียด และช่อง YouTube รวมวิดีโอสาธิตการบริหารร่างกายที่ส่วนมากคุณหมอเป็นนางแบบเอง ชื่อ DrAnnPlanet
“คนไข้มารักษากับเรา ต้องสอนท่าบริหารกายภาพต่างๆ แล้วเราต้องสอนบ่อย กลัวเขาจะจําไม่ได้ บางท่าก็อยากให้กลับไปทําที่บ้านเอง เราก็เลยทําคลิปท่าบริหารไว้สอนคนไข้ ไปจนถึงอาหาร คนมารักษาแผนกนี้ต้องมีกล้ามเนื้อ หมอก็แนะนำวิธีทานโปรตีนให้พอเหมาะ เรารู้สึกว่าต้องให้ความรู้คนไข้ ไม่ใช่เจอหน้าหมอแล้วจะหายเจ็บ คุณต้องไปปฏิบัติตัวด้วย ต้องมาทํากายภาพสม่ำเสมอ ต้องปรับท่าทางพฤติกรรม ต้องบริหารร่างกายเอง เราให้ความสําคัญกับการให้ความรู้ มันเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ในที่สุดคนไข้เข้าใจวิธีการดูแลตัวเอง และการวาดอะไรกุ๊กกิ๊กกับการออกกําลังกายก็เป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว มันก็รู้สึกเหมือนได้ทําสิ่งที่ชอบด้วยและได้ทําประโยชน์ด้วย”
โตมากับเบาหวาน
หมอประเนตรทิพย์นิยามตัวเองว่าเป็นคนสายบันเทิง เมื่ออยู่กับคนใกล้ชิดก็มักมีเสียงหัวเราะอยู่ตลอด เมื่ออยู่กับคนไข้ หากผ่านช่วงทำความรู้จักไปแล้วก็จะรู้ว่าคุณหมอใจดี ใส่ใจ คุยเก่ง และเป็นกันเองมาก แต่เบื้องหลังรอยยิ้มนี้ หมอแอนคือหนึ่งในคนที่โตมากับความเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย และต้องดูแลตัวเองไปทั้งชีวิต

“หมอไม่ใช่คนที่ร่างกายแข็งแรง พลังเยอะมากนัก หมอมีโรคประจําตัวเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 มาตั้งแต่อายุ 16 ปี ร่างกายสร้างอินซูลินเองไม่ได้ ต้องฉีดอินซูลินทุกวันไม่อย่างนั้นเราก็จะเสียชีวิต”
อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน ถ้าตับอ่อนผลิตสารอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย น้ำตาลก็จะตกค้างอยู่ที่กระแสเลือดทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หมอแอนจึงต้องฉีดอินซูลินทุกวันมาโดยตลอด แต่ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ป่วยยังต้องควบคุมอาหาร คํานวณคาร์โบไฮเดรตในแต่ละวันเพื่อฉีดยาให้ได้ปริมาณพอดี ออกกําลังกายเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งวิถีชีวิตของคนปกติอาจมีบ้างที่ติดภารกิจจนหลงลืมการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายไป แต่สำหรับคุณหมอ มันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำทุกวัน และหากดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ผลลัพธ์ก็ต้องแลกด้วยสุขภาพและชีวิต
“ชีวิตมันก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องปรับไปตามนั้น เราเรียนรู้มาแล้วก็แชร์ให้คนอื่นได้ ตอนดูแลคนไข้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคุณเจอปัญหานี้ไปตลอด ก็ต้องแก้ปัญหาตรงหน้าแล้วก็ปรับตัวเหมือนกัน”
ความพยายามในการใช้ชีวิตร่วมกับปัญหาอย่างมีคุณภาพที่สุดของคุณหมอกลายมาเป็นกำลังใจให้คนไข้ที่กำลังฝ่าฟันกับปัญหาตรงหน้าได้สู้ต่อไป และคุณหมอยังเผยแพร่ความรู้และวิธีการดูแลตัวเองที่เกี่ยวกับผู้ป่วยเด็กโรคเบาหวาน รวมถึงอัปเดตวิทยาการใหม่ๆเกี่ยวกับเบาหวานประเภทที่ 1 เป็นวิทยาทานโดยไม่รับค่าจ้างบนวารสารชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน (sugar free) เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่ยังศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มาจนถึงปัจจุบัน

“ชีวิตเรา ได้เห็นคนไข้ดีขึ้น เห็นคอนเทนต์ตัวเองมีคนดูเยอะขึ้น คนได้ประโยชน์มากขึ้น เข้าใจการดูแลตนเองขึ้น มีความสุขขึ้น มันก็รู้สึกมีคุณค่าแล้ว”
ความสุขเล็ก ๆ ของคุณหมอ คือแค่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ เป็นแรงบันดาลใจด้วยเรื่องราวของตัวเอง และมีความสุขกับงานอดิเรกที่ทำควบคู่กับงานประจำได้ แต่สุดท้ายกลับสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนได้มากมาย
Customer’s Story


Articles & Published Content
หลายปีที่ผ่านมาการรักษาอาการปวด อักเสบของโรคที่เกียวกับกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท มีการพัฒนาไปมาก คือ เริ่มตั้งแต่มีการใช้คลื่นเสียง (ultrasound)
ปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งในความงาม การผ่าตัด มาจนถึงมีการประยุกต์ใช้เลเซอร์ ในการลดปวดและอักเสบที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อและกร...อ่านต่อ ...
สำหรับอาการปวดกล้ามเนื้อ ข้อ และกระดูก ต่างๆ ที่เราสงสัยว่า ควรจะประคบร้อนหรือเย็นจึงจะดีกว่ากัน เรามีหลักง่ายๆในการเลือกใช้ดังนี้ค่ะ
การรักษาโดยคลื่นกระแทก (Extracorporeal ShockWave Therapy หรือ ESWT) คนไข้ที่มารักษาส่วนใหญ่มักจะยังไม่รู้จักว่า การรักษานี้คืออะไร?
การทำงานในออฟฟิศ การนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถหรือมีการจัดตำแหน่ง หรือท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสม
บ่อยครั้งเวลาที่หมอคุยกับคนไข้ และกับคนรู้จัก ความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับ office syndrome มักเป็นเรื่องคล้ายๆกัน
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

ดร.พญ. ประเนตรทิพย์ รินแก้วกาญจน์
แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด
ความชำนาญพิเศษ
เวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
Pain, Pain & Spine intervention, DM related (foot)
แพทย์ฝังเข็ม
– Diplomate Thai Board of Rehabilitation Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University
– อบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็ม ณ กรมแพทย์ทหารบก
– MD.,Siriraj Hospital, Mahidol University
– Ph.D. Immunology, Mahidol University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 17:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
อังคาร | 08:00 – 15:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
พุธ | 08:00 – 17:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
พฤหัสบดี | 12:00 – 20:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
ศุกร์ | 08:00 – 16:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |