
บ่อยครั้งเวลาที่หมอคุยกับคนไข้ และกับคนรู้จัก ความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับ office syndrome มักเป็นเรื่องคล้ายๆกัน จึงอยากมาอธิบายเรื่องที่หมอเห็นว่าคนไข้เข้าใจผิดบ่อยๆมาไว้ที่นี่ เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตัวเองที่ถูกต้องค่ะ

อย่างแรกคือ เรามักเข้าใจว่า office syndrome เป็นชื่อโรคทางการแพทย์ ที่เกิดกับคนทำงาน office แท้จริงแล้ว office syndrome เป็นเพียง fashion term ที่หมายถึง “กลุ่มอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นกับคนที่นั่งทำงานนาน ๆ” ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อรอบ ๆ คอ ได้แก่ กล้ามเนื้อตึง (muscle tightness) หรือกล้ามเนื้อจม ยึด คลำได้เป็นก้อน (Trigger point) และเกิดอาการเจ็บตามมา หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า Myofascial pain ซึ่งภาวะนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่อาจรบกวนการทำงานหรือชีวิตประจำวันมาก ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่เกิดความวิตกกังวลกับอาการปวดที่เกิดขึ้น

เรื่องต่อมา คือ เวลาที่มีอาการปวด หลังจากนั่งทำงานนาน ๆ โดยส่วนใหญ่ คนมักคิดว่า เรากำลังเป็นโรค office syndrome แน่ ๆ แต่แท้จริงแล้วอาการปวดเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอเสื่อมหรือเคลื่อน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างอื่น ๆ ของบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับภาวะนั้น ๆ
สุดท้ายที่สำคัญมาก คือเรื่องเกี่ยวกับ เก้าอี้ โต๊ะ และอุปกรณ์ทำงานต่าง ๆ เรามักเข้าใจว่า ถ้าเราใช้เก้าอี้ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ดชั้นดี ราคาแพง ที่ได้รับการรับรองว่า ถูกหลัก ergonomics แล้วเราจะไม่เป็น office syndrome แน่ ๆ ในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญคือ ไม่ว่าเราจะใช้อุปกรณ์แบบใดก็ตาม คือ การพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ทุก 30 นาที อาจจะเป็นการก้มเงย เอียง หมุนคอ, การยืดกล้ามเนื้อ หรือการเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่ายืน ซึ่งจะช่วยให้มีการสลับใช้กล้ามเนื้อที่แตกต่างออกไป และลดความดันในหมอนรองกระดูกจากท่านั่งนาน ๆ วิธีนี้เป็นวิธี ที่ง่ายและได้ผลดี ในการลดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งนาน ๆ ค่ะ
นอกจากนี้ เรายังต้องปรับระยะสัดส่วนต่าง ๆ ของอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ ขณะนั่งหรือยืนทำงาน ให้เหมาะกับสรีระของเรา และจัดท่านั่งและยืนทำงานให้เหมาะสมร่วมด้วย จึงจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้มาก ในส่วนนี้การใช้เก้าอี้ที่ถูกหลัก ergonomics อาจช่วยให้เราปรับระยะต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น จึงควรพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม ร่วมกับการปฏิบัติตัวอื่น ๆ จึงจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยขณะทำงานได้

เราจะปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานได้อย่างไรบ้าง
การป้องกัน office syndrome ที่ถูกต้องเหมาะสม ต้องอาศัยการปฏิบัติตัวหลายอย่างร่วมกัน
- พักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ทุก 30 นาที
- ปรับระยะสัดส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดท่านั่งหรือยืนทำงานให้เหมาะสม
- การยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่ใช้มาก มักจะตึงเวลาทำงานนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอ บ่า แขน หลัง ต้นขา และน่อง เราอาจเลือกการยืดกล้ามเนื้อบางมัด มาใช้ในช่วงพักเปลี่ยนอิริยาบถได้ค่ะ
- ผ่อนคลาย โดยปรับสภาพแวดล้อมขณะทำงาน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การทำสมาธิ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ

เรื่องการผ่อนคลายนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนไข้หลาย ๆ คนเลย บอกว่า ไม่มีอาการในช่วง weekend หรือ vacation พอกลับมาทำงานแล้วเป็นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากทุกครั้งที่เรามีความเครียด (stress) กล้ามเนื้อจะมีการทำงานและตึงตัวมากกว่าปกติ ทำให้อาการปวดมากขึ้น หมอจึงเน้นถึงความสำคัญของการผ่อนคลายในการช่วยป้องกัน รักษา ภาวะ office syndrome มากค่ะ
ที่สำคัญคือ ถ้าทำทุกอย่างแล้ว ยังมีอาการปวดเรื้อรัง มีอาการปวดรุนแรงรบกวนการนอน มีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือมีประวัติโรคมะเร็งร่วมด้วย หรือไม่แน่ใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม เพราะอาจมีภาวะอื่นที่เป็นอันตรายมากกว่า office syndrome ได้ค่ะ

ติดต่อสอบถาม หรือทำนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ผ่าน LINE @MBRACE
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

ดร.พญ. ประเนตรทิพย์ รินแก้วกาญจน์
แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด
ความชำนาญพิเศษ
เวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
Pain, Pain & Spine intervention, DM related (foot)
แพทย์ฝังเข็ม
– Diplomate Thai Board of Rehabilitation Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University
– อบรมหลักสูตรแพทย์ฝังเข็ม ณ กรมแพทย์ทหารบก
– MD.,Siriraj Hospital, Mahidol University
– Ph.D. Immunology, Mahidol University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 17:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
อังคาร | 08:00 – 15:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
พุธ | 08:00 – 17:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
พฤหัสบดี | 12:00 – 20:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |
ศุกร์ | 08:00 – 16:00 | แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู และกายภาพบำบัด |