หมอภูมิแพ้จากครอบครัวภูมิแพ้
– พญ. ธัชขวัญ อินทปันตี –
ประสบการณ์ 16 ปี ในการคลุกคลีอยู่กับโรคภูมิแพ้ของหมอธัช พญ. ธัชขวัญ อินทปันตี หรือ ‘ป้าหมอธัช’ ของคนไข้เด็กประจำศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาล BNH นับว่าผ่านเคสยากเย็นมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้คุณหมอต่างออกไป คือเธอเองก็เป็นผู้ป่วยภูมิแพ้ที่มาจากครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนเป็นโรคภูมิแพ้รุนแรง และมีลูกๆที่เป็นภูมิแพ้รุนแรงเช่นกัน ทำให้คุณหมออยู่ทั้งในสถานะแพทย์ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ซึ่งการดูแลครอบครัวในชีวิตจริงนี้เองที่ทำให้หมอธัชเป็นหมอที่เข้าใจคนไข้และญาติคนไข้ได้เป็นอย่างดี
รอยยิ้มเปลี่ยนความคิด
“ตอนนั้นเอนทรานซ์ติดคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ตอนอยู่ ม.4”
เส้นทางการเป็นหมอของหมอธัชคือการตัดตัวเลือกอนาคตที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองออกจนเหลือเพียงวิชาชีพในสายงานสาธารณสุข และเช่นเดียวกับเด็กมัธยมอีกหลายคนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ที่เลือกประหยัดเวลาด้วยการสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย และเธอก็ทำได้ตั้งแต่ ม.4

“พี่ใส่ชุดนิสิตเตรียมไปเรียนแล้ว แต่แม่บอกว่าอย่าเพิ่งใจร้อน ตอนแรกพี่ก็ไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายก็ยอมทำตาม เรียนไปถึง ม.5 ไปสอบอีกครั้งก็ได้แพทย์จุฬาฯ เลยได้เป็นหมอ”
ชีวิตในคณะแพทยศาสตร์ไม่ได้ง่ายนัก อดีตเด็กเรียนดีสมัยมัธยมอย่างหมอธัชต้องขยัน พยายาม และอดทนหนักกว่าเดิมเพื่อรักษาผลการเรียนไว้ให้ได้ท่ามกลางสังคมที่รวมกลุ่มคนระดับช้างเผือกไว้ด้วยกัน แต่อีกประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนตัวตนของเธอไปคือการได้เข้าคอร์สพัฒนาบุคลิกภาพจากคำแนะนำของญาติผู้ใหญ่สมัยอยู่ปี 2
“แต่ก่อนพี่เป็นคนที่มาสายเรียนอย่างเดียว ไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย แต่หลังจากไปลงพัฒนาบุคลิกภาพ จากคนเงียบๆที่พูดไม่เป็นเลย ก็มีโอกาสเป็นพิธีกรของรุ่น ผ่านมาเกือบ 30 ปี ก็ยังรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้เรียน ทำให้เรามีทักษะในการให้ความรู้กับคนไข้ เราพูดเป็นอธิบายเป็น”
ช่วง 6 ปี ในรั้วโรงเรียนแพทย์ ไม่มีคำว่า ‘กุมารแพทย์’ ปรากฏขึ้นในภาพอนาคตของหมอธัชเลย เธอไม่ชอบการอยู่ใกล้ชิดเด็กที่ส่งเสียงดัง และตั้งใจว่าจะเป็นสูตินรีแพทย์หรือไม่ก็ศัลยแพทย์เพราะความชอบในการผ่าตัดและวินาทีที่ชีวิตถือกำเนิดขึ้น แต่วันหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เธอไปใช้ทุน ได้เปลี่ยนความคิดเธอ
ท่ามกลางคนไข้ต่อวันจำนวน 200-300 คน ที่พาความกดดันมาสู่หมอธัช การรักษาเด็กที่ร้องไห้ไม่หยุดสร้างความเครียดกว่าการรักษาผู้ใหญ่เป็นเท่าทวี วันหนึ่งก็มีคุณแม่ชาวเขาพาลูกน้อยวัยขวบกว่ามาหาหมอ จังหวะที่ตรวจเสร็จแล้วคุณแม่พาเด็กออกจากห้อง เด็กน้อยหันมายิ้มแล้วโบกมือบ๊ายบายให้หมอธัช
“ตอนนั้นเครียดมากกับการที่เห็นคนไข้รอตรวจข้างหน้าอีกหลายคน เด็กก็กรีดร้อง เราก็ยิ่งหงุดหงิด แต่พอตรวจเสร็จเด็กหยุดร้อง หันมาบ๊ายบายและยิ้มให้ ก็คิดได้ว่า เราจะไปโกรธเด็กทำไม เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เด็กร้องเพราะอาจไม่สบายตัวหรือว่ากังวลหรือกลัวอะไร แต่จริงๆแล้วเด็กไม่ได้โกรธเกลียดเรา เขาใสมาก ตั้งแต่นั้นเลยทำให้รู้สึกว่าจะเป็นหมอเด็ก”
หลังเข้าเรียนต่อแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ต้องเลือกเรียนต่อยอด ด้วยความที่หมอธัชมาจากครอบครัวที่ทุกคนเป็นโรคภูมิแพ้ค่อนข้างหนัก ไม่ว่าน้องสาวที่แพ้กุ้ง พ่อที่เป็นภูมิแพ้จมูกและแพ้ยา และตัวเธอเองก็เป็นภูมิแพ้จมูก หลังจบจากเฉพาะทางด้านกุมารเวช เธอจึงเรียนต่อสาขาย่อยทางโรคภูมิแพ้
“ซึ่งก็ตัดสินใจถูก เพราะว่าตั้งแต่เรียนก็ได้ใช้กับครอบครัวตลอด”
ที่สุดของความภูมิใจ
หมอธัชเริ่มต้นการทำงานเป็นหมอโรคภูมิแพ้เด็กที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ชีวิตการทำงานเฉพาะทางกว่า 16 ปี ทำให้เธอผ่านประสบการณ์รับมือกับเคสโรคภูมิแพ้มากมาย จนนำไปสู่โครงการพัฒนาศูนย์โรคภูมิแพ้ของโรงพยาบาล โดยมีเธอเป็นผู้นำ
“ไม่ใช่แค่ตั้งศูนย์ขึ้นมาเฉยๆ เราต้องปรับปรุงทั้งสถานที่ วางแผนโครงการ วางแนวงานบริการ ทำ Content ต่างๆ เพื่อให้ศูนย์เป็นที่รู้จัก อันนี้เป็นโครงการที่พี่ตั้งใจทำ แล้วมันก็ออกมาดี ศูนย์ภูมิแพ้เป็นที่รู้จักของคนไข้ และพี่ได้รับการเสนอชื่อในนิตยสารรักลูกให้เป็น 1 ใน 80 หมอภูมิแพ้เด็กที่พ่อแม่เลือก”
ช่วงปี พ.ศ. 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบไปแทบทุกวงการ รวมถึงการสาธารณสุข โรงพยาบาลจำเป็นต้องสำรองพื้นที่เพื่อรับเคสผู้ป่วยโควิด-19 และจำกัดการรักษาผู้ป่วยนอกโรคอื่นๆเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด แต่คนก็ยังคงเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ และจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับแนวทางการรักษา ดังนั้นแล้ว Telemedicine หรือระบบแพทย์ทางไกลจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยโดยเลี่ยงการเดินทางที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีใครได้เตรียมการ ทำให้ระบบ Telemed กลายเป็นแผนรับมือฉุกเฉินที่ต้องรีบดำเนินการในเวลาที่จำกัด ในเวลานั้น คุณหมอธัช คือประธานโครงการผู้รับผิดชอบหลักในการสร้างระบบงานบริการ Telemedicine ที่ใครต่อใครมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริง
“ใช้คำว่าที่สุดของความยาก เพราะตั้งต้นจากศูนย์หรือว่าติดลบด้วยซ้ำ โรงพยาบาลที่อยู่ตอนนั้นไม่เคยมีระบบพวกนี้มาก่อนและไม่มีใครในโรงพยาบาลที่บริการคนไข้ด้วยระบบทางไกล ความยากคือระบบการบริการ Telemedicine เป็นระบบที่โรงพยาบาลต้องใช้เพื่อช่วยเหลือคนไข้ให้มีช่องทางติดต่อกับแพทย์ในช่วงโควิดที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ แต่เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะพัฒนาระบบได้ ทางไอทีก็คิดว่าไม่มีทางทำได้ เราก็ต้องไปลองว่าระบบของแต่ละโรงพยาบาลเป็นยังไงแล้วก็ทำตัวเป็นทั้งผู้ใช้บริการไปสมัคร ทำตัวเหมือนคนไข้เพื่อเรียนรู้ว่าถ้าคนไข้ไปรับบริการจะเป็นยังไง แล้วก็นำข้อมูลทั้งหมดมาคุยกับพี่ๆในทีม ศึกษา หาข้อมุลเรื่องการวางระบบ แล้วจึงขอเปิดบริการ ก็ค่อยๆทำลงไป”
“ในวันที่ทางกองประกอบโรคศิลป์มาตรวจระบบ Telemedicine และเราได้รับใบอนุญาติให้เปิดใช้บริการได้ พี่รู้สึกภูมิใจมากที่ความทุ่มเทในการทำงานของทีมสามารถพัฒนาให้โรงพยาบาลมีระบบ Telemedicine เอาไปใช้ได้ สมัยตอนอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นก็มีคนไข้ที่รับบริการตรงนี้เยอะ คนไข้ส่วนใหญ่ก็พอใจกับการรับบริการ Telemedicine บางทีลูกเล็กๆ แทนที่จะต้องเดินทางเอาลูกมานั่งรอที่โรงพยาบาลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็สามารถคุยที่บ้านได้ ลดเวลาเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายของคนไข้”
หลังจาก 2 โครงการใหญ่ ที่คุณหมอธัชเป็นผู้นำปลุกปั้นจนสำเร็จ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้โรงพยาบาลเดิมเป็นอย่างมาก ก็ถึงเวลาที่คุณหมอจะรับการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิตเพื่อก้าวไปสู่ขั้นต่อไปในฐานะแพทย์โรคภูมิแพ้ คุณหมอจึงได้มาเริ่มงานที่ท้าทายกว่าเดิมในสถานที่ใหม่ ที่ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ โรงพยาบาล BNH แห่งนี้ ที่เธอจะได้ทุ่มเทเวลาเพื่อรักษาคนไข้โรคภูมิแพ้ที่มีความหลากหลายทุกเพศทุกวัยนอกเหนือจากฐานะของกุมารแพทย์

“มันเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะได้มาทำงานเฉพาะทางโดยตรง พี่เชื่อมั่นในแบรนด์ BNH เพราะเราจะอยู่ในที่ที่สามารถให้การรักษาและมอบบริการให้คนไข้ได้อย่างมีมาตรฐาน พี่เชื่อว่าอีก 15 ปี ในชีวิตการทำงานที่เหลือจนเกษียณ พี่จะต้องทำให้มันดีเหมือนที่เคยทำมา”
หมอภูมิแพ้
การรักษาโรคภูมิแพ้ให้ได้ผลดีนั้น การหาสาเหตุของการแพ้ถือเป็นส่วนสำคัญของการรักษา แพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมมือกันในการหาสาเหตุของการแพ้ และเมื่อนำต้นเหตุของการแพ้ออก คนไข้ก็จะอาการดีขึ้น
“มีเด็กเล็กอายุแค่ 2 เดือน กินนมแม่ไปแค่ครึ่งออนซ์แล้วก็อ้วกแล้วก็กรีดร้องตลอด เขาเลี้ยงไม่โตเลย พ่อแม่และคนในครอบครัวกังวลมากเพราะลูกทานไม่ได้เลย ทานแล้วก็อาเจียน พออาการแพ้เริ่มเยอะก็มาออกระบบอื่น เริ่มมีผื่นแพ้ผิวหนัง และถ่ายเป็นเลือด”

การรักษาโรคภูมิแพ้ แม้ส่วนมากจะไม่ได้มีความรุนแรงของโรคเท่าการเจ็บป่วยอื่นๆ แต่ก็สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยเฉพาะอาการที่เกิดกับเด็กทารกที่พูดไม่ได้ และมีข้อจำกัดทางการรักษา
“เคสนี้เลยต้องทำ Skin Test ตั้งแต่น้องอายุ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งธรรมดาแล้วจะทำตอนอายุประมาณ 4-6 เดือน แต่เคสนี้พอคุยกับพ่อแม่ว่าอาการเยอะ ควรรีบหาสาเหตุ พ่อแม่ก็เข้าใจและยอมให้ทำ Skin Test เพราะเด็กทรมานมาก”
หน้าที่ของหมอภูมิแพ้ คือการสืบให้ได้ว่าผู้ป่วยแพ้อะไรแล้วค่อยๆเอาออก สำหรับเด็กคนนี้คือการแพ้อาหารผ่านนมแม่ คุณแม่จึงต้องงดอาหารที่ลูกแพ้ทั้งหมดโดยเด็กรับนมซึ่งทำจากกรดอะมิโนละเอียดระหว่างรอให้ร่างกายคุณแม่พร้อมกับการให้นม พอปรับเอาสารต้นเหตุอาการแพ้ออก เขาก็สามารถกลับมาทานนมได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ และมีสุขภาพที่ดีขึ้น พ่อแม่ก็สบายใจ
แต่การรักษาอาการแพ้ไม่ได้มีแค่การหาสาเหตุแล้วแก้ไข คุณหมอต้องทำความเข้าใจกับตัวผู้ป่วยและคนใกล้ตัวให้รู้จักการดำเนินของโรคและการดูแล เพราะหากปราศจากความร่วมมือจากผู้ป่วย การรักษาก็ยากที่จะสำเร็จ
“เคสผู้ป่วยชาวซาอุดีอาระเบีย พาเด็กอายุ 2-3 ขวบ มารักษาที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เด็กเป็นผื่นแพ้ผิวหนังหนักมากจนนอนไม่ได้ ซึ่งรักษามาหลายโรงพยาบาลแล้ว โดนเจาะเลือดมาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง พอพี่จะคุยกับพ่อเขาเนี่ย มันเหมือนมีผนังบางๆกั้นอยู่ ไม่อยากตรวจไม่อยากถามหมอ ตั้งท่าจะหงุดหงิดใส่เราทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน”
“สักพักเราก็ต้องปรับมุมมองตัวเรา คิดว่าเขาคงรู้สึกเครียดและไม่ไว้ใจกับการรักษาของแพทย์ ต้องอธิบายเขาไปช้าๆ แล้วก็ค่อยๆสอนว่าตัวโรคเป็นยังไง เคสนี้ใช้เวลาคุยประมาณ 45 นาที สุดท้ายก็สามารถทำให้พ่อเขายอมรับในตัวเราได้”
เคสนี้จึงเป็นหนึ่งในเคสภูมิแพ้ที่หมอธัชภูมิใจ ความพยายามและเจตนาที่ดีที่อยากให้คนไข้เข้าใจในการดำเนินโรคทำให้ครอบครัวคนไข้เปิดใจและเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเผชิญถือเป็นการทลายปราการด่านแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการรักษา และเมื่อคนไข้มาตรวจอีกครั้ง อาการก็ดีขึ้นมาก แต่ยังคงต้องนัดเพื่อติดตามอาการและรักษาอย่างต่อเนื่อง
แต่การรักษาที่ดีไม่อาจมองเพียงด้านเดียว คนไข้ชายวัยต้น 30 ปี ที่มีปัญหาภูมิแพ้จมูกรายหนึ่งมาหาหมอเพื่อขอยาแก้แพ้เหมือนที่เคยทำมาตลอด แต่ความดันที่สูงถึง 150 ไม่อาจทำให้คุณหมอธัชนิ่งนอนใจ อาการความดันสูงในคนอายุน้อยบ่งบอกโรคหลายอย่างที่จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ไม่ใช่แค่กินยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยต้องทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และติดตามหาอาการแทรกซ้อนของโรค มอบ Complete Care การดูแลแบบองค์รวมให้ผู้ป่วยที่มากกว่าแค่การมองที่สาเหตุตั้งต้นที่เขามาหาหมอ ซึ่งนี่เป็นนโยบายในการรักษาของโรงพยาบาล BNH
“Complet Careในมุมของโรคภูมิแพ้สำคัญมาก เพราะโรคภูมิแพ้ไม่ได้จบแค่รักษาหาย ถ้าเกิดเขาไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ไม่รู้ว่าตัวกระตุ้นอาการคืออะไร แล้วเขายังสัมผัสกับมันไปตลอด มันจะไปกระตุ้นจนทำให้มีอาการผิดปกติตามมาตอนหลังได้ เช่น ตอนแรกเป็นผื่นแพ้ผิวหนัง โตขึ้นแล้วก็จะแพ้จมูก ถ้ารักษาไม่ดีก็จะจบที่หอบหืด แล้วเด็กบางคนมีอาการแพ้ช้า ซึ่งตรงนี้หมอหลายคนมักไม่ได้คิดถึง นานเข้าร่างกายก็มีกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องจนป่วยเรื้อรัง”
จุดเปลี่ยนจากคนใกล้ตัว
“พี่เป็นคนตั้งใจ ทุกเคสที่มาหาทุ่มเทเกินร้อย ตรวจร่างกายอย่างละเอียด คุยให้คำแนะนำคนไข้ บางคน 45 นาทีถึงชั่วโมงครึ่งพี่ก็คุยให้ได้ เราอยากให้คนไข้เห็นความสำคัญของการรักษา พอเราตั้งใจมากแต่คนไข้บางคนไม่ทำตามในสิ่งที่เราแนะนำ แล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น พี่ก็จะดุ และรู้สึกท้อมากทีผลไม่ออกมาดีอย่างที่เราตั้งใจ”
จนเมื่อถึงวันที่หมอธัชมีลูก ลูกคนแรกแพ้รุนแรงต่อถั่วเปลือกแข็งและมีอาการหอบหืดร่วมด้วย ลูกคนที่สองทานนมแม่แล้วทั้งอาเจียน ทั้งถ่ายเป็นเลือด ทำให้เธอพบว่าทฤษฎีการดูแลผู้ป่วยที่เคยเรียนมา เมื่อนำไปปฏิบัติจริงกลับไม่สามารถทำได้ตรงตามนั้นทั้งหมด
“พอมีโอกาสมารักษาลูกเราจริงๆ ก็รู้ว่าบางอย่างไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่คุณต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติด้วยมันถึงสามารถให้คำแนะนำคนไข้ได้”
ประสบการณ์นอกตำรากว่า 13 ปี จากการดูแลลูกนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณหมอหันมาใส่ใจกับความรู้สึกของคนไข้มากกว่าแค่ผลการรักษา ข้อจำกัดของแต่ละคนทำให้คนไข้ไม่สามารถทำตามคำแนะนำของหมอได้ทั้งหมด ยังต้องมีการเปลี่ยนแนวทางให้เหมาะสมกับแต่ละคน
“ถ้าเราไม่มีลูก ก็ไม่รู้หรอกว่าการดูแลลูกที่ป่วยมันเป็นยังไง มันมีความไม่สบายใจ ความกังวล ที่ซ่อนอยู่”
แต่อีกเหตุการณ์สำคัญคือเมื่อคุณพ่อของคุณหมอหัวใจหยุดเต้น แม้เป็นโชคดีที่สุดท้ายแล้วสามารถรักษาให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้ แต่หมอธัชก็ต้องทบทวนทุกสิ่งในชีวิตใหม่ จากคุณหมอที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก อยู่โรงพยาบาลมากกว่าอยู่กับครอบครัว หมอธัชได้หันกลับมารักษาสมดุลเวลาอันมีค่ากับคนสำคัญ ไปพร้อมกับความตั้งใจใหม่ที่จะมองผู้ป่วยเหมือนเป็นญาติตัวเองจากความรู้สึกที่ได้รับในวันนั้น
“โดยเฉพาะเด็กเล็กๆเนี่ย เราต้องคิดเสมอว่าเขาเป็นลูกของเรา ถ้าลูกเราไม่สบายแล้วเราอยากจะทำยังไง แล้วเราก็จะเลือกการรักษาที่ดีที่สุดปลอดภัยที่สุดและเหมาะสมกับเขาเพื่อให้เด็กคนหนึ่งหาย”
“แล้วก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ที่มีลูก ในยุคที่ข้อมูลมันเยอะมาก ถูกผิดก็ไม่รู้ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าข้อมูลที่ถูกต้องเป็นอย่างไร บางทีเขาเห็นคนอื่นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วลูกตัวจ้ำม่ำ แต่ลูกตัวเองกินนมแม่ไม่ได้เลย ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี บางทีเราก็ต้องเข้าใจเขา แล้วก็พยายามเป็นหลักให้เขา”
จากสองเหตุการณ์ของคนใกล้ตัว มาวันนี้คุณหมอธัชกลายมาเป็นคุณหมอที่คนไข้ชอบมาปรึกษาด้วยอย่างสบายใจประหนึ่งว่าเธอเป็นคนในครอบครัว เธอจะย้ายตัวเองไปลองสวมบทบาทของคนไข้เพื่อให้เข้าใจมุมมองของพวกเขา และหาแนวทางดูแลที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของแต่ละบุคคลอย่างใจเย็นและเข้าใจ

“การได้ตรวจเด็กๆเนี่ย เป็นเหมือนน้ำที่เติมเต็มใจเรา พอเขาสดชื่น เขาหายจากการเจ็บป่วย เขายิ้มให้เรา รักเรา วิ่งมาหาแล้วเรียก ‘ป้าหมอ’ มันมีความสุขเสมอกับทุกเคสที่ได้ตรวจ”
Slow-Life ความสุขในความเรียบง่าย

“พี่ชอบความสงบในชีวิต ชอบ Slow-life อยากอยู่ต่างจังหวัด มีความสุขตอนที่ไปใช้ทุน”
สำหรับชีวิตเด็กกรุงเทพฯอย่างหมอธัช ชีวิตในต่างจังหวัดถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เธอไม่เคยได้สัมผัส แต่การใช้ทุนปีแรกที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ดินแดนสุดขอบประเทศติดชายแดนลาวที่ต้องนั่งรถต่อแล้วต่อเล่ากว่าจะเข้าถึง ได้มอบมุมมองใหม่ให้คนที่ยอมเปิดใจสัมผัสอย่างเธอตกหลุมรักวิถีชีวิตเนิบช้าที่ตรงข้ามกับความรีบเร่งในเมืองหลวง
“อยู่นู่นนั่งรถสามล้อถีบไปกินข้าวในตัวเมือง ไปกินข้าวตามน้ำตก มีความสุขมาก สบาย ชีวิตช้าๆ จนตอนแรกคิดว่าจะขอทุนแถวๆนั้น แล้วก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่หรือว่าพะเยา แต่มีจังหวะที่ทางบ้านไม่สบายกะทันหัน อยู่ไกลคงมาหาลำบาก ก็เลยต้องเปลี่ยนแผนกลับมากรุงเทพฯ เพื่อดูแลพ่อแม่”
ความหลงใหลในชีวิตเนิบช้านั้นยังคงติดตัวคุณหมอมาจนปัจจุบันในวันที่เธอกลายเป็นคุณแม่ เธอถ่ายทอดความสุขในความเรียบง่ายมาสู่ลูกๆผ่านการเลี้ยงดูให้เป็นคนติดดิน แม้อาชีพหมอจะทำให้มีกำลังทรัพย์พอจะพาลูกไปทริปหรูหราในต่างแดน แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของเธอ ลูกของหมอธัชได้รู้จักชีวิตในต่างจังหวัด ที่ซึ่งผู้คนมีความสุขตามอัตภาพแม้ไม่ได้ครอบครองข้าวของมีราคา ที่ซึ่งการขี่จักรยานหรือก่อกองทรายก็มอบความสนุกได้แม้เนื้อตัวจะมอมแมม
“แค่ได้กินข้าวด้วยกันที่บ้าน แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว ผมไม่ต้องการไปกินอะไรแพงๆ”
ท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขันและครอบครอง ประโยคสั้นๆที่สะท้อนทัศนคติการใช้ชีวิตของลูก ทำให้คุณหมอรู้ว่าเธอบรรลุวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงลูกข้อแรกแล้ว

ในวันที่โลกหมุนไว คุณหมอธัชยังคงมีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายและเนิบช้า พร้อมพาตัวเองเข้าไปมองในมุมของคนไข้ มอบการรักษาอย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของเขาที่สุด
“ใครๆก็อยากได้หมอที่เก่ง แต่จริงๆที่รู้สึกว่าขาดไปคือเราต้องการหมอที่มองคนไข้และรักษาเขาให้เหมือนคนในครอบครัว แล้วก็ต้องใส่ใจความรู้สึกคนไข้ด้วย พี่เชื่อว่าถ้าเราตั้งใจดีเจตนาดี คนไข้เขาก็รู้สึกมั่นใจและเชื่อใจ ผลการรักษาก็จะดีอย่างที่เราตั้งใจ”
Articles and Published Content by This Doctor
การทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจหาสาเหตุของการแพ้ โดยการนำสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหยดที่ผิวหนัง เพื่อดูปฎิกิรยาการแพ้ที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันการหาสาเหตุว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ นอกจากการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin Prick Test) แล้ว สามารถตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันชนิด IgE
การแพ้รุนแรง Anaphylaxis เป็นปฎิกิริยาอาการแพ้เฉียบพลันที่เกิดขึ้นหลายระบบของร่างกายในเวลาเดียวกันหรือเวลาไล่เลี่ยกัน และมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีว...อ่านต่อ ...
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

พญ. ธัชขวัญ อินทปันตี
ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
ความชำนาญพิเศษ
กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– กุมารเวชศาสตร์
– กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– วุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์
– วุฒิบัตรอนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
– แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– วุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์
– วุฒิบัตรอนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 18:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
อังคาร | 08:00 – 18:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
พุธ | 08:00 – 14:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
พฤหัสบดี | 13:00 – 18:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |
อาทิตย์ | 08:00 – 17:00 | ศูนย์รักษาโรคหอบหืดและภูมิแพ้ |