ชีวิตกับการแสวงหาโอกาส
– นพ. สยาม ไทยอุดม –
ชีวิตกับการแสวงหาโอกาสของ นพ. สยาม อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร ผู้มีความสุขในทุกวันทำงาน และทุกครั้งที่ได้เล่นฟุตบอล
โอกาสในชีวิตอาจเกิดจากโชคช่วยหรือการแสวงหา แต่สำหรับ นพ. สยาม ไทยอุดม อายุรแพทย์ประจำศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล BNH เคล็ดลับของความสำเร็จคือการไขว่คว้าหาโอกาส และมองหาความสุขในสิ่งที่ทำ ทำให้มีพลังใจในการทำงานในทุกวัน แม้ภาพปัจจุบันจะอยู่ห่างจากสิ่งที่เคยฝันไปไกลแสนไกล
นักเตะแข้งทอง
“ปี 1986 เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในตอนนั้นผมอยู่ประถมปลาย เริ่มคลั่งไคล้ฟุตบอลมาก เวลาที่อเมริกาใต้ต่างจากไทยเยอะ ผมก็ตั้งนาฬิกาปลุกขึ้นมานั่งดูฟุตบอลตอนตี 2”
ความฝันของ ด.ช. สยาม คือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เขาใช้เวลาทุกเย็นและในวันหยุดคว้าลูกหนังออกไปเตะ พอจะสอบเข้าชั้นมัธยม พ่อแม่ตั้งใจจะให้สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ถึงขั้นพาไปเรียนกวดวิชากับสถาบันที่เน้นการสอบแข่งขันเพื่อเรียนต่อในโรงเรียนนี้โดยเฉพาะ
“แต่ในเวลานั้น โรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเจ้าแห่งฟุตบอลโรงเรียนมัธยม”
แล้ว ด.ช. สยาม ก็แอบพ่อแม่ไปสมัครสอบโรงเรียนเทพศิรินทร์แทนที่จะเป็นโรงเรียนสวนกุหลาบ การได้เป็นเด็กเทพศิรินทร์มาพร้อมความหวังบนเส้นทางสู่นักฟุตบอล โดยมีก้าวแรกคือการได้แข่งขันในฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษาในนามโรงเรียน ซึ่งจะจัดแข่งขันทั้งหมด 4 รุ่น รุ่นอายุ 12, 14, 16 และ 18 ปี อีกข้อเท็จจริงที่จุดไฟฝันในตัวของ ด.ช. สยาม ให้ฮึกเหิมคือในปีที่เขาเริ่มเข้าเรียนนั้น โรงเรียนเทพศิรินทร์ก็ครองแชมป์ได้ทุกรุ่น
“ผมจะไปคัดลงแข่ง แต่บังเอิญเดือนที่ผมเกิดมันคลาดไป ลงเล่นรุ่น 12 ปีไม่ได้ แล้วผมก็ไม่กล้าไปคัดรุ่นอายุ 14 ปี เพราะผมตัวเล็ก ผอม ไปแข่งกับเด็ก ม.3 ยังไงคงไม่ติด ตอนนั้นคิดว่าไม่เป็นไร พอขึ้น ม. 2 แล้วค่อยไปคัดรุ่น 14 ปี”
“แต่พออยู่ ม. 2 ก็ไม่ได้คัด ผ่านไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ได้แค่เล่นฟุตบอล แต่ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลโรงเรียนอย่างที่ใจอยากจะเป็น”
อย่างไรก็ตาม การไม่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไม่ได้ทำให้ ด.ช. สยาม หมดความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล เขายังคงใช้เวลาว่างก่อนเข้าเรียน ระหว่างช่วงพัก และหลังเลิกเรียน คว้าลูกบอลออกไปเตะในสนามเป็นประจำจนแต่ละปีต้องเปลี่ยนรองเท้าถึง 8 คู่ เพราะส้นรองเท้าขาด พ่วงด้วยผลการเรียนที่ตกลงจนได้เกรดเพียง 2 กว่าๆ
“พอ ม.4 ก็เริ่มรู้ตัวว่าต้องกลับมาตั้งใจเรียนแล้ว”
จนในที่สุดเขาก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้สำเร็จ

แพทย์ทหารกับความสุขที่ค้นพบ
สมัยรุ่นที่คุณหมอเรียนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยังมีนโยบายรับเพียงนักศึกษาชาย ทำให้ช่วงมัธยมจนจบมหาวิทยาลัยของ นพ. สยาม อยู่ในสถาบันชายล้วนมาโดยตลอด ชีวิตท่ามกลางกลุ่มเพื่อนผู้ชายเต็มไปด้วยความสนุกสนานเฮฮา เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงและยังคงชอบเล่นฟุตบอล เขาเป็นเพียงนักเรียนระดับกลางที่ไม่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่สนใจของอาจารย์ แม้ตอนเรียนจบแพทย์ GPA ที่ได้ก็ยังไม่ถึง 3.00
แต่ในความเฮฮาตามประสาผู้ชายนั้น การเรียนเป็นแพทย์ทหารก็มีจุดที่ต่างจากการเรียนหมอทั่วไป มีการฝึกทหารที่ค่อนข้างจริงจัง และต้องทำตามระเบียบวินัยแบบทหาร อาทิ การเข้าแถวเดินสวนสนาม ต้องวิ่งทุกเช้าเย็น เข้านอนเป็นเวลา ตื่นก็เป็นเวลา

“ตอนฝึกทหารเปลี่ยนลักษณะนิสัยหลายอย่าง ผมเป็นคนรับประทานยาก อยากทำอะไรก็ทำตามใจ แต่พอมาเป็นทหารมันสร้างระเบียบวินัย รุ่นพี่ที่เคยมีปัญหาตอนรับน้อง ยิ่งโตมากลับยิ่งสนิทกันมาก”
“รุ่นพี่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาเนี่ย เราต้องจำให้เป๊ะ ต้องท่องชื่อนามสกุล อยู่หมู่ไหนกองไหน ห้ามเรียกผิดเพราะเป็นความผิด”
การฝึกทหารจะเข้มข้นมากตอนช่วงปี 2 และก็เป็นช่วงเวลาที่เริ่มนับเวลารับราชการทหารเป็นปีแรก ในสมัยนั้น แพทย์ทุกคนที่จบจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจะได้บรรจุรับราชการทหารและกระจายไปตามหน่วยทหารต่างๆ ไม่มีแบ่งมาเป็นแพทย์พลเรือนเหมือนในสมัยนี้ ในหน่วยทหาร แพทย์ทหารต้องแต่งเครื่องแบบทหารเป็นหลัก แต่งเครื่องแบบแพทย์แค่บางวัน ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ ใช้ชีวิตประหนึ่งทหารคนหนึ่ง
“พอจบแพทย์ปุ๊บไปใช้ทุน เราได้เป็นแพทย์เต็มตัวมีใบประกอบโรคศิลปะและต้องรับผิดชอบคนไข้จริงๆ ผมเริ่มรู้สึกว่าผมมีความสุขกับการเป็นแพทย์ เริ่มเห็นภาพชอบในการตรวจคนไข้ อยู่เวรผมก็ไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน แม้จะมีคนไข้จำนวนมาก แต่ตื่นเช้ามาผมก็ยังรู้สึกอยากทำงาน”
“ผมไม่เคยมีปัญหากับคนไข้ตลอดชีวิต ก็อาจจะเกิดจากช่วงนั้น”
เมื่อความรับผิดชอบมาพร้อมความสุขในงานที่ทำ คุณหมอสยามเปลี่ยนจากคนกลางๆที่ไม่โดดเด่นในสายตาใครขึ้นมาอยู่ในระดับดี ในขณะเดียวกัน เขายังคงสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างนักกิจกรรม เฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง และเตะฟุตบอลเมื่อมีโอกาส เมื่อถึงเวลาต้องกลับมาเรียนต่อเฉพาะทาง เขาก็ลองวัดดวงกับสาขาหลักที่การแข่งขันสูงอย่างอายุรกรรม
“มีแต่คนคิดว่าผมไม่ควรเลือกสาขาอายุรกรรม เพราะผลงานสมัยเป็นนักเรียนแพทย์ไม่ค่อยดี แล้วประกอบกับช่วงนั้นสาขาอายุรกรรมของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีคนมาสมัครค่อนข้างเยอะ ผมก็คิดเหมือนกันว่าอาจารย์คงไม่รับผมแน่ แต่โชคดีที่อาจารย์รับผม”
ถึงจะได้รับคัดเลือกเข้าไปเรียนต่อ แต่สายตาที่คณาจารย์มองมายัง นพ.สยาม ยังเต็มไปด้วยความเป็นห่วงว่าเขาจะเรียนไหวหรือไม่ เพราะภายใต้การเรียนเฉพาะทางที่หนัก คุณหมอก็ยังเต็มที่กับการใช้ชีวิตเช่นเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือความสุขที่เขาค้นพบจากการทำงานที่ทำให้ผลงานของเขาออกมาดีกว่าที่ใครหลายคนกังวล เปลี่ยนภาพลักษณ์ที่อาจารย์เคยรู้จัก และเรียนจบสาขาอายุรกรรมด้วยคะแนนอันดับ 2 ของรุ่น
เมื่อมาสมัครเรียนอายุรศาสตร์สาขาย่อยหลังกลับจากไปใช้ทุนอายุรแพทย์ทั่วไป นพ.สยาม มาด้วยความรู้สึกที่ต่างออกไปจากเดิม ทั้งทัศนคติที่อาจารย์หมอมีต่อเขา ทัศนคติต่อหน้าที่ของแพทย์ และทุนจากกระทรวงกลาโหมจากการรับราชการเป็นแพทย์ทหารเรือ ทำให้เขาได้เรียนต่อสาขาทางเดินอาหารและโรคตับ แม้ว่าในปีนั้นจะมีอัตราการแข่งขันสูงมาก
ประเทศแห่งโอกาส
“ถ้ารับราชการแพทย์ทหารก็ต้องอยู่ต่างจังหวัด แล้วก็ห่างจากแฟน ไม่รู้ว่าจะสร้างครอบครัวยังไง และผมก็อยากไปดูงานเมืองนอก แต่แพทย์ในกองทัพเรือช่วงเวลานั้นมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่ง่ายที่จะลาไปดูงาน”
ด้วยข้อจำกัดทั้งหมด คุณหมอสยามจึงตัดสินใจลาออกจากงานราชการมาประจำอยู่โรงพยาบาล BNH โดยยังไม่ทิ้งฝันที่จะไปต่างแดน แต่ความตั้งใจที่จะลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในกรุงเทพฯนั้นก็ต้องเลื่อนออกไป เมื่อภรรยาของคุณหมอถูกส่งตัวไปทำงาน 3 ปี ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
“ผมไปหา นพ. ทวี รัตนชูเอก แพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้องจากโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมศรัทธา อาจารย์ก็ติดต่อ Professor ท่านนึงให้ ซึ่งทาง Professor ก็ได้ตอบรับในการดูงาน แต่ว่าเป็นได้แค่ Visitor ระยะเวลาสั้นมากแค่ 4 สัปดาห์ ในขณะที่ภรรยาต้องอยู่อย่างน้อย 3 ปี แล้วผมจะไปทำอะไรต่อถ้าจะไป”
“แต่ภรรยายังคงให้กำลังใจและบอกว่า ‘สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งโอกาส’ ทำให้ผมตัดสินใจจะลองไปก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากัน”
นพ. สยามจึงขอโรงพยาบาล BNH เพื่อลาไปเป็น Research Fellow ที่ต่างประเทศหนึ่งปี แม้ที่จริงจะยังไม่รู้อนาคตอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าด้วยซ้ำ แผนการของเขาคือต้องหาทางโชว์ตัวแสดงความตั้งใจกับ Professor ทางนั้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้รับข้อเสนอให้อยู่ต่อ
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องแสดงความตั้งใจเยอะมาก ที่พักผมอยู่ออกมานอกเมือง ทุกวันต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 แล้วขับรถให้ถึงสถาบันภายในตี 5 กว่าๆ เพราะต้องไปเตรียมข้อมูลก่อน งานหลักของผม ช่วงแรกๆจะอยู่ในห้องส่องกล้อง ดูเคสส่องกล้องช่วยส่งกล้องเป็นหลัก ผมกับ Clinical Fellow ต้องมารีวิวเคสก่อนให้รู้รายละเอียดทั้งหมดก่อนที่ Professor จะมาถึงตอน 6 โมงครึ่ง”
“ผมเป็น Visitor ไม่มีคีย์การ์ดเพื่อเข้าอาคารและห้องต่างๆ ชีวิตในช่วงแรกคือไปรอแต่เช้า มีคนจะขึ้นลิฟต์แล้วค่อยวิ่งตามเข้าไป ไปถึงประตูชั้นต่างๆแล้วถ้ายังไม่เปิดก็ต้องไปนั่งรอ ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่เดือนนึงจน Professor รับเป็น Research Fellow”
ก่อนหน้าที่จะไปสหรัฐอเมริกา หมอสยามแทบไม่รู้จัก MD Anderson Cancer Center สถาบันที่เขาได้รับโอกาสเข้าไปทำวิจัย แต่พอได้รู้จัก สถาบันแห่งนี้คือ 1 ใน 2 สถาบันมะเร็งที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา แต่ละปีผลิตผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยระดับโลกจำนวนมาก และคุณหมอเองก็ได้รับโอกาสจากทาง Professor ให้ช่วยเขียนงานวิจัยบางบทและได้มีชื่อปรากฏบนผลงาน
ผ่านไป 2 ปี กับชีวิตที่เกินฝันและเกินกว่าแผนที่วางไว้แต่แรก คุณหมอตัดสินใจเลือกกลับเมืองไทย แม้ว่าจะได้รับข้อเสนอให้อยู่ต่อในตำแหน่งที่มีค่าตอบแทน ช่วงเวลา 2 เดือน ระหว่างรอนำเสนอผลงานวิจัย นพ.สยาม ได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ใฝ่ฝันอยากลองไปใช้ชีวิตดูซักครั้ง โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก นพ. ทวี ในการติดต่อหาโรงเรียนแพทย์อีกครั้ง
“อยู่ญี่ปุ่นเป็นชีวิตที่แตกต่าง ด้วยปัญหาการฟ้องร้องที่เยอะ การแพทย์ของทางฝั่งอเมริกาจึงค่อนข้าง Conservative ทุกอย่างตาม Guideline ขณะที่ญี่ปุ่นมีลักษณะการทำงานเฉพาะตัว ทำอะไรนอก Guideline ได้ ถ้าเชี่ยวชาญ เทคนิคอาจแตกต่างจากทางฝั่งตะวันตก”

ไม่เพียงประสบการณ์ทางการแพทย์ แต่หมอสยามยังได้ลองชีวิตแบ็คแพ็คเกอร์เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุน ระหว่างช่วงวันหยุดยาวที่ไม่มีงานในโรงพยาบาล เขาแบกเป้ใบนึงขึ้นบ่า เดินทางไปเรื่อยๆตามลำพัง ไร้แผนการ นอนในแคปซูลโฮสเทลราคาประหยัด เป็นอีกช่วงนึงของชีวิตที่เขาต้องใช้ความอดทน แต่ก็แลกมาด้วยความประทับใจ
เสร็จจากญี่ปุ่น คุณหมอก็กลับมานำเสนองานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ประจำศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ตามที่ให้สัญญากับทางโรงพยาบาลไว้แต่แรก
“ดีที่ผมเชื่อที่ภรรยาบอกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งโอกาส แต่คุณต้องแสวงหามัน ถ้าผมไม่พยายามแสดงตัว ผมก็คงไม่มีสิทธิ์ได้รับโอกาสนี้ ถ้าผมถอดใจก่อน ผมก็คงไม่ได้ตำแหน่งงานนี้ ผมอยู่ไปสักพักหนึ่งผมเริ่มได้โอกาสเพราะคนเขารู้จักผมมากขึ้น มันเลยมีโอกาสมาเต็มไปหมดในช่วงนั้น”
ดูแลเพื่อนหมอ
บทบาทสำคัญในปัจจุบันอีกอย่างของ นพ.สยาม คือการเป็นประธานองค์กรแพทย์ของโรงพยาบาล BNH ซึ่งมาจากผลการโหวตของคณะแพทย์ มีหน้าที่หลักคือเป็นตัวกลางประสานงานกับแพทย์ทั้งหมด เป็นปากเสียงให้แพทย์ ดูแลปัญหาหรือความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงดูแลสวัสดิการของแพทย์ด้วย
“ตั้งแต่วันที่ผมก้าวเข้ามาที่นี่ พี่ๆก็ดูแลอย่างดี ให้การต้อนรับ ให้ความเป็นกันเอง ซึ่งเป็น Culture ของโรงพยาบาล BNH ในวันนี้ที่ผมเป็นพี่เขาแล้ว เรารู้สึกดียังไง ก็พยายามส่งต่อไปให้รุ่นน้อง เพื่อให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงาน”

ของขวัญล้ำค่า

“ผมมีลูกคนเดียว เป็นลูกสาว ยังเล็กอยู่เลย เป็นของขวัญล้ำค่า ทำให้ชีวิตเปลี่ยนหมดจากหน้ามือเป็นหลังมือมากกว่าทุกครั้ง ทำให้รู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิตเยอะขึ้น อยากกลับบ้านเร็ว มีความสุขที่จะได้เจอ และอยากให้เขาโตไปด้วยดี”
คุณหมอเล่าเรื่องลูกสาวด้วยแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก มีรอยยิ้มประทับมุมปากตลอดบทสนทนา ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้เขาอยากมอบบทเรียนให้ลูกสาวเชื่อในคน เชื่อในโลก แม้ว่าคนรอบข้างจะย้ำซ้ำๆว่าโลกใบนี้นานวันมันน่าอยู่น้อยเพียงใด
“มีคนเคยถามว่าเวลาเจอใครทำไมไม่กลัว ใครอยากอุ้มก็ให้อุ้มเลย ใครอยากหอมก็หอมเลย เพราะผมคิดว่าถ้าเขาไม่เชื่อในคนแล้ว เขาจะอยู่ยังไงในสังคม ถ้ามันจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องโทษเราว่าเราดูแลเขาไม่ดีเอง”
การเล่นฟุตบอลมาตลอดชีวิตทำให้เข่าของคุณหมอบาดเจ็บหนักจากการปะทะ ระยะหลังจึงทำได้เพียงการออกกำลังกายเบาๆที่ไม่มีการปะทะ เช่น วิ่ง โดยเฉพาะวิ่งเล่นกับลูกสาวในวันที่ยังมีแรง แต่ถ้าวันไหนแรงหมด คุณหมอก็จะเล่นเกม อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ตามประสาพ่อลูก ใช้เวลาที่มีค่าอยู่ด้วยกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ผมไม่อยากพลาดโอกาสที่จะอยู่กับเขา ใช้เวลากับเขาให้เต็มที่ในช่วงที่มีโอกาส เมื่อถึงเวลาที่เขาโตขึ้น ผมจะต้องกล้าปล่อยมือเขา ผมอยากให้ลูกของผมเข้มแข็งเหมือนแม่ แม่เขามีความเชื่อว่าทุกอย่างทำได้หมด และมีพลังมหาศาล”

นพ. สยาม อาจไม่ได้ทำตามความฝันวัยเด็ก แต่เขาก็ได้พบอีกหลายสิ่งที่สร้างความสุขให้เขาได้ไม่น้อยไปกว่าการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และความสุขจากความสำเร็จที่ไขว่คว้ามาด้วยสองมือโดยไม่ละทิ้งความพยายาม
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีความสุขกับงานที่ทำ มันก็จะออกมาดีโดยที่เราไม่ต้องใช้ความพยายามหรือความอดทนมากนัก แต่สามารถทำมันอย่างมีความสุขไปเรื่อยๆ ผมมีความสุขกับการได้คุยกับคนไข้ ได้ฟังเขา ให้การรักษา และได้เห็นผลลัพธ์ของการรักษา ผลงานก็ออกมาดี ถ้าคนไข้กลับมาหาเราเวลาเขาเจ็บป่วย อันนี้น่าจะเป็นรูปธรรมมากกว่าคำชื่นชมใด”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Post-Doctoral scholar certification (Advanced Endoscopy), University of Texas MD Anderson Cancer Center, Texas, U.S.A. (2015-2016)
– Observeship Program (Advanced Endoscopy), Nagoya University Hospital, Japan (2016)
– Diploma of Thai Subboard of Gastroenterology, Phramongkutklao Hospital, Thailand (2010)
– Diploma of Thai Board of Internal Medicine, Phramongkutklao Hospital, Thailand (2006)
– Faculty of Medicine, Phramongkutklao College of Medicine, Mahidol University, Thailand (2000)
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
พุธ | 07:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
พฤหัสบดี | 07:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
ศุกร์ | 07:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
เสาร์ | 08:00 – 12:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |