
มีใครบ้างไม่เคยมีปัญหากับ ระบบทางเดินอาหาร?
โดยเฉพาะประเทศไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องของอร่อย ใครจะอดใจไหวกับของทอด ของปิ้งย่าง ขนมหวานเจี๊ยบ พอกินอย่างสนุกปากนานไป ความสุขจากการกินก็อาจเปลี่ยนเป็นความทุกข์ทางกายได้ ตั้งแต่ อาหารเป็นพิษ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือถ้าที่หนักไปเลยและไม่มีใครอยากเป็นอย่างโรคมะเร็ง
คุณประทุมพร คือ หนึ่งในคนที่เคยชอบกินของทอด ของมัน ขนมหวาน
จนวันหนึ่งร่างกายก็ส่งสัญญาณบางอย่างจนเธอต้องยอมเข้ารับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร และตรวจพบมะเร็ง
สุขภาพที่เหมือนจะปกติดี
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน คุณประทุมพรในวัย 44 ปี ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เธอตรวจสุขภาพทุกปี และก็ไม่เคยพบว่าส่วนใดของร่างกายมีความผิดปกติร้ายแรง ยกเว้นแต่ว่าสมาชิกในครอบครัวของเธอหลายคนเคยป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ตั้งแต่คุณพ่อ คุณป้า 2 ท่าน และคุณลุง ในตอนนั้นน้องสาวของเธอก็ชวนไปตรวจส่องกล้อง แต่เพราะความเข้าใจว่าตัวเองสุขภาพดี ทั้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีก็ยิ่งยืนยันสิ่งนั้น และคิดว่าการส่องกล้องนั้นยุ่งยาก ทำให้คุณประทุมพรหลีกเลี่ยงการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารมาตลอด และยังมีความสุขกับการรับประทานของหวาน ของทอดต่อไป
ในวัย 49 ปี คุณประทุมพรก็ยังไม่เคยผ่านการตรวจส่องกล้อง เธอยังคงคิดว่าสุขภาพตัวเองแข็งแรงสมบูรณ์ดี และยังไม่ถึงวัยที่มีความเสี่ยงตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ระบุไว้ว่าผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงมีความเสี่ยงโรคมะเร็งทางเดินอาหาร
แต่ แต่ แต่… ในปัจจุบันข้อมูลทางสถิติทั่วโลก พบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้นในคนที่อายุตั้งแต่ 45 ปี จึงปรับอายุที่เหมาะสมในการเริ่มส่องกล้องให้ลดลง
แต่ แต่ แต่… ผู้มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งในส่วนใดก็ตาม ถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าปกติ และควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งล่วงหน้าตั้งแต่อายุยังไม่มาก หรือราว 40 ปี
แต่ แต่ แต่… การตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไปจะไม่ได้รวมการส่งตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดแฝง (Stool Examination and Occult Blood) และไม่รวมการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Carcinoembryonic Antigen; CEA) และโปรแกรมตรวจสุขภาพของคุณประทุมพรก็เช่นกัน
แต่ แต่ แต่… มะเร็งทางเดินอาหารบางประเภท จะไม่แสดงอาการเลยจนกว่าถึงระยะลุกลามที่เริ่มหนักและยากแก่การรักษาแล้ว
“ปกติพี่เป็นคนไม่กินดึก 2 ทุ่ม คือ กินจบแล้ว 4-5 ทุ่มก็เข้านอน แต่วันนั้นบังเอิญไปงานอีเวนต์กับเพื่อน ก็ไม่ได้กินข้าวไปเพราะกะว่าจะไปกินในงาน แต่ในงานไม่มีอาหารให้ พอออกจากงานแล้วเราก็ไปกินข้าวต้มรอบดึกกันตอน 3-4 ทุ่ม ตอนนั้นหิวมาก สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ คืนนั้นตอนจะนอนก็มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นมาก แล้วมันก็คงดันไปโดนอวัยวะข้างในจนเจ็บแปลบเหมือนมีเข็มยาวๆ ไปทิ่มตรงชายโครงข้างขวาอยู่ราว 30 วินาที พี่กินยาธาตุน้ำขาวแล้วก็หายสนิท ไม่ได้กลับมาเจ็บอีก แต่ก็รู้ตัวแล้วว่ามันไม่ปกติแน่ ๆ”
จากเหตุการณ์เสี้ยวนาทีนั้น ทำให้คุณประทุมพรตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล BNH ในเช้าวันถัดไป
ส่องกล้องทางเดินอาหาร…ไม่ยากอย่างที่กังวล
คุณประทุมพรเข้ารับการตรวจที่ศูนย์ระบบทางเดินอาหารโรงพยาบาล BNH โดยมี พญ. ศรัณรัตน์ เตยวัฒนะชัย อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นผู้ดูแล โดยเริ่มจากการทำอัลตราซาวนด์ ซึ่งแน่นอนว่าคุณหมอพบความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย จึงนำไปสู่การทำ CT Scan ต่อ สิ่งที่เห็นจากการทำ CT Scan ร่วมกับการซักประวัติครอบครัวแล้วยิ่งทำให้คุณหมอสงสัยว่านี่อาจเป็นเนื้อร้าย คุณหมอ จึงนัดมาตรวจส่องกล้องให้แน่ใจในวันต่อมา
“พอพูดถึงส่องกล้อง พี่ก็รู้สึกว่าไม่อยากไปเลย มันต้องเจ็บแน่ ๆ ต้องไปกินยาถ่ายยุ่งยาก ก็พยายามเลี่ยงตั้งแต่ตอนที่น้องชวนมาเมื่อ 5 ปีก่อน เพราะเรารู้สึกสบายดีไม่จำเป็นที่จะต้องมาตรวจ”
แต่เหตุการณ์คราวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เธอไม่อยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงการส่องกล้องได้แล้ว ทำได้แค่เลือกว่าจะเตรียมตัวอย่างไร จะเตรียมตัวดื่มยาถ่ายมาล่วงหน้า หรือมาเริ่มขั้นตอนทั้งหมดที่โรงพยาบาล
“พี่เลือกเป็น One Day Service มาดื่มยาถ่ายที่โรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะปวดถ่ายระหว่างการเดินทาง พี่มาถึงโรงพยาบาล 8 โมงเช้า ที่นี่มีห้องพักส่วนตัว มีโซฟา มีผ้าห่ม และมีห้องน้ำในตัว พี่ต้องดื่มยาถ่าย 2 ลิตร ค่อย ๆ จิบ แล้วเข้าห้องน้ำไปเรื่อย ๆ เล่นมือถือดูซีรีส์สบาย ๆ พี่คิดว่าเตรียมตัวง่ายจนใครจะเอางานมานั่งทำก็ได้ ไม่รู้สึกเสียเวลาเลย ประมาณ 10 โมง ก็ดื่มยาหมด”
“ได้ก็เริ่มส่องก็ประมาณช่วงเที่ยง ของพี่ต้องส่องทั้งจากข้างล่างและข้างบน เพราะต้องส่องดูกระเพาะอาหารด้วยแล้วก็ลำไส้ทั้งหมด ในห้องส่องกล้องจะมีวิสัญญีแพทย์อยู่ด้วย การส่องกล้องจากทางปากเรายังคงต้องรู้สึกตัวเมื่อรับยาชา จะได้บอกหมอว่าชาแล้วหรือยัง พอรู้สึกชาปุ๊บ จะหันมาจะถามคุณหมอว่าใช้เวลานานแค่ไหน…แต่รู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ในห้องไฟสลัว ๆ แล้ว เพราะคุณหมอฉีดยานอนหลับให้ทันที ตื่นมาเสร็จหมดแล้ว ง่ายมาก ๆ”
ช่วงเวลาทำหัตถการส่องกล้องหลังจากคุณประทุมพรรับยาสลบแล้วประมาณ 45 นาที และพักฟื้นร่างกายต่ออีก 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนี้จะมีทีมพยาบาลคอยมอนิเตอร์ดูความดันตลอด อีก 2 ชั่วโมงต่อมาก็ทราบผลการตรวจส่องกล้อง รวมเวลาตั้งแต่เริ่มมารับยาถ่ายจนถึงขั้นตอนวินิจฉัยเพียง 6 ชั่วโมง
“ตรวจเสร็จฟังผลแล้วกินข้าวได้ทันที ไม่ได้มีอาการเจ็บคอหรือปวดตรงไหน ปกติดีทุกอย่าง”
ผลการส่องกล้องก็ทำให้ทราบว่าคุณประทุมพรมีก้อนเนื้อร้ายขนาด 4 เซนติเมตร ที่บริเวณลำไส้ใหญ่ช่วงบนซึ่งต่อกับลำไส้เล็ก กระบวนการถัดไปคือการตรวจชิ้นเนื้อในห้องแล็บเพื่อยืนยันและหาระยะของโรค ซึ่งการส่องกล้องนั้นยังมีอีกข้อดีคือสามารถตัดชิ้นเนื้อได้เลย ทั้งเพื่อการตรวจชิ้นเนื้อ และการตัดเนื้องอกขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งในอนาคต ซึ่งในกรณีของคุณประทุมพร แพทย์ยังได้ทำการตัดติ่งเนื้อลำไส้ขนาดเล็กออกหลายชิ้นระหว่างการส่องกล้องด้วย
ธรรมชาติของเนื้องอกที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นมะเร็ง จะมีระยะพัฒนาอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรมาส่องกล้องระบบทางเดินอาหารล่วงหน้า 10 ปี นับจากอายุของสมาชิกในครอบครัวเมื่อตรวจพบมะเร็งครั้งแรก หรือเมื่ออายุ 40 ปี และติดตามอาการอย่างต่อเนื่องทุก 3-5 ปี หากตรวจพบติ่งเนื้อในทางเดินอาหาร ก็มีโอกาสตัดทิ้งได้ก่อนการพัฒนาไปเป็นเนื้อร้าย
“ตอนที่ อ.ศรัณรัตน์ บอกว่ามีโอกาสเป็นเนื้อร้าย พี่ก็โอเคให้ตรวจเพิ่ม ไม่ได้ตกใจอะไรเพราะรู้สึกชินกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ครอบครัวเราเป็นกันเกือบทั้งบ้านอยู่แล้ว เป็นพี่เองที่ประมาทไม่ยอมส่องกล้องให้เร็วกว่านี้ ดีที่พี่เจอเร็วเลยไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไร”
“แต่พอตอนนี้รู้ว่าส่องกล้องช่วยได้ยังไง ของลูก ๆ ก็คงต้องมอนิเตอร์ให้ไว ๆ หน่อย จะได้ไม่เป็นเหมือนตัวเอง”

การรักษามะเร็ง
2 สัปดาห์หลังการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร แพทย์ก็ยืนยันว่าเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 4 มีการลุกลามไปยังตับและปอดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเธอไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย นอกจากความเจ็บเหมือนเข็มทิ่มที่ชายโครง 30 วินาที หลังทานมื้อดึกครั้งนั้น
“ก็ต้องขอบคุณเพื่อนเลยที่ชวนไปงานอีเวนต์ในวันนั้น เลยมีสัญญาณแปลก ๆ ถึงได้มาส่องกล้องและพบโรคก่อนจะแย่ไปกว่านี้”
คุณประทุมพรเริ่มการรักษามะเร็งทันทีด้วยการพบ นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา เพื่อตรวจเนื้อเยื่อตับ สำหรับวางแผนการรักษา และอาจารย์หมอได้แนะนำเกี่ยวกับการฝังพอร์ต (Port A Cath) อุปกรณ์ที่ฝังใต้ผิวหนังเพื่อนำยาหรือสารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย อีกทางเลือกในการรับคีโมและสารอาหารอย่างน้ำเกลือหรือวิตามินทางเส้นเลือด ที่สะดวกขึ้นและเจ็บน้อยลง โดยสามารถลดการแทงเข็มซ้ำ ๆ เวลาให้ยา ซึ่ง นพ.ยงสรร วงศ์วิวัฒน์เสรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ เป็นผู้ให้ความรู้และฝังพอร์ตให้ ร่างกายพักฟื้นจากการผ่าตัดฝังพอร์ตเพียงวันเดียวก็สามารถรับคีโมได้เลย
“พี่ชอบ BNH ตรงที่เราสามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในการรักษาได้ ไม่ต้องทำตามหมอทุกอย่าง มีอะไรก็คุยกับคุณหมอได้”
“อย่างตอนที่ให้คีโมครั้งแรก พี่เพิ่งผ่าตัดใส่พอร์ตได้เพียง 1 วัน แล้วยังเป็นแผล หมอที่ดูแลเรื่องมะเร็งก็อยากให้รับคีโมทางเส้นเลือดก่อนแต่พี่อยากรับทางพอร์ต น้องพยาบาลเลยให้อาจารย์หมอที่มาใส่พอร์ตกับหมอที่รักษามะเร็งโทรคุยกัน ก็ปรากฏว่า คุณหมอคอนเฟิร์มให้รับยาคีโมผ่านทางพอร์ตได้เลย พี่ได้มีส่วนร่วมในแผนการรักษาของตัวเองก็สะดวกเราดี และรู้สึกดีกับขั้นตอนการรักษาที่ BNH มากค่ะ”
วิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ได้พบเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลมากขึ้นด้วยตัวยามุ่งเป้า ซึ่งคนไข้สามารถรับควบคู่กับการให้คีโม เพื่อการรักษาแบบเจาะจงที่เนื้อร้าย ยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) โดยโรงพยาบาล BNH ก็นำมาให้บริการกับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถรับยามุ่งเป้าได้ ต้องมีการตรวจความเข้ากันของสารพันธุกรรมเพื่อดูว่าร่างกายสามารถรับยาได้หรือไม่ ซึ่งคุณประทุมพรก็โชคดีมีตัวยาที่เข้ากับร่างกายของเธอได้ 1 ตัว
“ครอบครัวพี่รักษาที่ BNH มาตลอด ลูกสองคนก็มาคลอดที่นี่ รู้สึกว่าอบอุ่นคุ้นเคยกัน ตอนมาแอดมิทน้องพยาบาลทุกคนก็น่ารักมาก ที่ประทับใจมากคือตอนที่เจาะเนื้อเยื่อตับไปตรวจ มีน้องพยาบาลคอยประกบ ตอนอยู่ในห้องเจาะก็คอยจับมือตลอดบอกพี่ไม่เป็นไรนะหนูอยู่ตรงนี้ด้วย และยังมีน้องทราย พยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง คอยดูแลด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มตลอด พี่ประทับใจมากค่ะ”
“โดยทั่วไป เขาจะบอกว่าระหว่างการรับคีโมจะไม่อยากกินข้าว อาเจียน ผอมลง แต่พี่ไม่เป็นเลย อาจจะเป็นความโชคดีที่ร่างกายพี่เข้ากับยาได้ดี ช่วงที่พักฟื้นหลังรับคีโมที่โรงพยาบาลก็สะดวกสบายดี พยาบาลมาดูแลมาตรวจความดันวัดไข้อยู่เรื่อย ๆ ถ้างานเร่งพี่ก็เอาคอมมานอนทำงาน เพราะพี่ก็ไม่มีอาการอะไร เลยไม่มีปัญหาเรื่องงาน”
แผนการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ขึ้นกับระยะของโรค ในกรณีของคุณประทุมพร เป็นระยะแพร่กระจายไปที่ตับและปอด จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดก่อนเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง แล้วจึงพิจารณาผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ต่อไป
ชีวิตที่เปลี่ยนไปเพราะมะเร็ง
“ขั้นตอนที่ยากสุด คือตอนที่บอกลูกว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ตอนแรกเขาก็ร้องไห้ว่าพี่จะเจ็บมั้ย จะเป็นอะไรมั้ย แล้วเขาจะเป็นด้วยมั้ย พี่ก็บอกให้เขาโฟกัสที่ปัจจุบัน มาเป็นกำลังใจให้หม่ามี๊ในการรักษา เพราะสิ่งที่เราทำตอนนี้วันนี้ต่างหากที่จะเป็นผลลัพธ์ต่ออนาคต นี่เป็นเหตุผลที่พี่รีบวางแผนการรักษากับ BNH อย่างไม่รีรอ ไม่ต้องรอความคิดเห็นจากบุคคลที่ 2 เพราะเราเชื่อมั่นใน BNH และเพราะพี่ได้รับมาจากพ่อ มันมาทางพันธุกรรม”
“ก่อนหน้านี้ลูก ๆ ก็ชอบกินพวกอาหารขยะ ก็บอกเขาว่ากินเข้าไปเถอะ ถ้าอยากเป็นเหมือนหม่ามี๊”
หลังตรวจพบโรคมะเร็ง สามีของคุณประทุมพรซึ่งเป็นเชฟก็ซื้อเครื่องทำน้ำผลไม้สกัดเย็นมาทำน้ำผลไม้ให้เธอดื่มทุกวัน และสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็ต้องดื่มตามเธอไปด้วย อาการปวดท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหารที่สามีมักเป็นบ่อยก็ลดลง หลังจากที่หันมาดื่มน้ำผักผลไม้สกัดกันเป็นประจำ
“ไลฟ์สไตล์พี่เปลี่ยนไปเยอะเลย เพื่อนที่เคยเป็นมะเร็งก็ให้ความรู้เรื่องธรรมชาติบำบัด ตื่นมาสิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ ดื่มน้ำมะนาวเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันลดการอักเสบ และเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก อย่างที่สอง คือ ต้องดื่มน้ำผักผลไม้สกัดเย็น พี่ใช้ผักและผลไม้ต้านมะเร็งอย่างบรอกโคลี เซเลอรี แอปเปิ้ลเขียว ขิง มะเขือเทศสลับกันไป และสูตรของที่บ้านต้องมีขมิ้น เมื่อทำเสร็จต้องดื่มใน 8 นาที ดื่มอย่างนี้ทุกเช้า”
“หลังส่องกล้องพี่ก็เริ่มหักดิบเลย ไม่กินของหวานของทอดเลย กาแฟก็ไม่แตะเลย แล้วก็กินทุกอย่างที่สามีทำ ซึ่งจะเน้นพวกโปรตีนและผักที่มีสารต้านมะเร็ง น้ำหนักจาก 62.5 ภายใน 1 เดือนเหลือ 58 กิโล ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามลดน้ำหนักยังไงก็ไม่เคยทำสำเร็จ”
ในการรักษาด้วยเคมีบำบัด(คีโม)นั้น คีโมไม่ได้เพียงทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ยังทำลายเซลล์ร่างกายส่วนอื่น ๆ ไปด้วย ผู้ป่วยหลายรายที่ร่างกายไม่แข็งแรงจึงมีอาการข้างเคียงตามมา การทานอาหารก็เป็นหนึ่งในวิธีที่คุณประทุมพรใช้เสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกาย ที่เธอเปลี่ยนจากคนที่ออกกำลังกายน้อยมาก หันมายกเวทและเดินให้มากขึ้น โดยมี Smart Watch เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการขยับร่างกายต่อวัน
“พี่จึงต้องคอยเสริมความแข็งแรงให้ร่างกายตัวเองไปสู้คีโมได้”
“ช่วงหลังที่หักดิบกับการดูแลตัวเอง ค่าเลือดก็ดีขึ้น กลายเป็นว่าช่วงที่รับยาคีโม ค่าเลือดดีกว่าช่วงก่อนหน้าอีก”
ถึงแม้ว่าการเจ็บป่วยของคุณประทุมพรยังอยู่ระหว่างการรักษา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับส่งผลดีต่อตัวเธอเองและครอบครัวในระยะยาวจากความตระหนักรู้ด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงความสำคัญของการตรวจส่องกล้องตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติรุนแรงซึ่งรักษาทั้งชีวิตเธอและลดความเสี่ยงของคนที่เธอรักจากโรคมะเร็งทางเดินอาหารได้
“อยากจะบอกคนอื่นว่าถ้าไม่ตรวจส่องกล้องตั้งแต่ตอนที่มันควรตรวจก็จะเจอแบบพี่ พี่ชะล่าใจคิดเอาเองว่าคงสบายดี เพราะตรวจร่างกายทุกปีก็ดูปกติดี ทั้งที่พ่อตัวเองก็เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งปัจจุบันอาหารหลายอย่างมากับพลาสติก มีทั้งอาหารแปรรูปที่มีสารก่อมะเร็ง แต่เรากินกันจนเป็นปกติ ความเสี่ยงก็สูงขึ้น การส่องกล้องจึงสำคัญมาก คนชอบกลัวว่าการตรวจทำให้เสียเวลาทำงาน แต่ขั้นตอนจริง ๆ มันง่ายมาก ใครที่รู้ว่าเสี่ยงก็ยอมตรวจหน่อยเถอะ ดีกว่ามาเจอตอนสายเกินไป”
บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งลำไส้
มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่มักเริ่มต้นบริเวณลำไส้ใหญ่ อาการที่น่าสงสัยเช่น มีเลือดปนมาในอุจจาระ ขับถ่ายผิดปกติ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ อันตรายที่ผู้หญิงไทยไม่ควรมองข้าม
มะเร็งลำไส้ใหญ่ อันตรายที่ผู้หญิง วัย 50 + ไม่ควรมองข้าม ตรวจเช็คระบบทางเดินอาหาร ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้อง

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” โรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยทำงาน โดยอาการเตือนที่มักปรากฏให้เห็นของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แพ็กเกจส่องกล้องทางเดินอาหาร
อีกหนึ่งในมะเร็งร้ายใกล้ตัว ที่มักมาแบบไม่มีสัญญาณเตือน คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
“อย่านิ่งนอนใจ มะเร็งลำไส้หายได้ ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มต้น”
แพ็กเกจส่องกล้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ราคาเหมาจ่าย 25,000 บาท
- ค่าแพทย์ส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- ค่าห้องส่องกล้อง
- ค่าห้องเตรียมลำไส้
- ค่ายาระบายสำหรับเตรียมลำไส้
- ค่าระงับความรู้สึก (ยานอนหลับ)
- ค่าอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์
- ค่าบริการโรงพยาบาล
- ค่าห้องพักฟื้น
ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนและส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Gastroscopy & Colonoscopy) ราคาเหมาจ่าย จากปกติ 39,000 บาท
- ค่าแพทย์ส่องกล้องกระเพาะอาหาร
- ค่าแพทย์ส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- ค่าห้องส่องกล้อง
- ค่าห้องเตรียมลำไส้
- ค่ายาระบายสำหรับเตรียมลำไส้
- ค่าระงับความรู้สึก (ยานอนหลับ)
- ค่าอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์
- ค่าบริการโรงพยาบาล
- ค่าห้องพักฟื้น
- กรุณาทำนัดล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ
- ราคานี้รวมค่าแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาลแล้ว
- แพ็กเกจนี้รวมค่ายาระงับความรู้สึกสำหรับการส่องกล้อง (Moderate sedation)
- แพ็กเกจนี้ยังไม่รวมการใช้ยาระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ (ดมยาสลบ) หากจำเป็น
- แพ็กเกจนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายนอกเหนือการตรวจส่องกล้อง ได้แก่ ค่าตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ค่าห้อง และค่าอาหารกรณีต้องการเข้าพักเป็นผู้ป่วยใน (แอดมิท)
- แพ็กเกจนี้อาจใช้ร่วมกับประกันสุขภาพได้ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์ของท่าน)
- เข้ารับบริการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567