ผู้นำความก้าวหน้ามาสู่วงการรักษากระดูกสันหลังเมืองไทย
– ศ. นพ. วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล –
โรคกระดูกสันหลังสร้างปัญหาให้คนไทยมาช้านาน แต่การรักษาด้านนี้กลับเพิ่งได้รับความสนใจจริงจังเมื่อ 20 ปีก่อน จากการบุกเบิกของ ศ. นพ. วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล อาจารย์แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ ผู้ก่อตั้งศูนย์กระดูกสันหลัง (Spine Center) ประจำโรงพยาบาล BNH ซึ่งใช้ความขยัน มุ่งมั่น และทะเยอทะยาน พัฒนาการรักษากระดูกในประเทศไทย สร้างคุโณปการยิ่งใหญ่ไว้ให้วงการแพทย์
แรงบันดาลใจจากไก่ตัวนั้น
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลแห่งหนึ่งในตำบลเล็กๆของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวบ้านในชุมชนออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนกันครื้นเครง หนึ่งในพิธีกรรมคือการบวงสรวงเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษด้วยสารพัดอาหาร
“แล้วเขาก็เชือดคอไก่ เอาเลือดรองใส่ถัง แล้วก็โยนมันออกไป ไก่มันก็กระตุกๆแล้วก็ตาย ตอนนั้นสงสารไก่มาก เป็นลมเลย ตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่กินเนื้อสัตว์ไป 8 ปี”
จุดเริ่มต้นจากการได้เห็นความตายเพื่อเซ่นคนตายในตอนนั้น ได้จุดประกายให้ ด.ช. วิชาญ อยากเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้คนตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่สำหรับเด็กเชื้อสายจีนจากต่างจังหวัดที่พ่อแม่สาละวนกับการค้าขายจนไม่มีเวลามาดูแลลูกทั้ง 6 คนได้เต็มที่ เส้นทางชีวิตของเขาตอนนั้นยังห่างไกลจากการเป็นหมอ จนเมื่อวันหนึ่งที่พี่ชาย 2 คน สอบติดได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ ด.ช. วิชาญ จะไม่มีความรู้สึกกดดัน แต่ก็ลองไปสอบตามพี่ชายดู แล้วปรากฏว่าเขาผ่านการคัดเลือกได้ในอันดับต้นๆ ได้ย้ายสถานะจากเด็กไกลปืนเที่ยงสู่นักเรียนเมืองกรุงที่ล้อมรอบด้วยผองเพื่อนจากทุกสถานะทางสังคม ไม่ว่าจนหรือรวย
“ตอนนั้นรู้สึกว่าเรามาจากบ้านนอก ไม่มีทางสู้เด็กกรุงเทพฯได้ แต่ความรู้สึกนี้ทำให้เราขยันมากกว่าเขาเยอะ ปรากฏว่าผลออกมามันใกล้เคียงกัน ก็รู้สึกว่าเราทำได้สำเร็จแล้ว ไม่กลัวแล้ว”
หลังจากนั้น นายวิชาญก็ตั้งเป้าจะสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยความขยัน มุ่งมั่น ตั้งใจ เขาก็ทำได้สมหวัง
“เรามีความสงสารคนตลอดเวลา พอมาเรียนแล้วก็ใช่ มันเหนื่อยแต่ว่าคุ้มเพราะเราอินมาก ถ้าช่วยแล้วคนไข้ด่าเรา ก็คือเราทำเต็มที่แล้ว แต่ถ้าเขารู้สึกว่าหมอเปลี่ยนชีวิตเขา มันก็ทำให้เรารู้สึกมีแรงจูงใจ มีความสุข ก็สะสมมาเรื่อยๆ หล่อหลอมให้เป็นคนอยากช่วยคน ทำให้เราถีบตัวเองไปเรื่อยๆ”
หลังผ่านประสบการณ์ในทุกสาขา คุณหมอจึงตัดสินใจเลือกเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพราะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน ท้าทาย และมีความเสี่ยงสูงมาก ทำให้มีผู้สนใจน้อย
“เราอยากเป็นหมอที่ผ่าอะไรที่มันยากๆ ที่มันท้าทาย แล้วพอเข้าสู่วงการกระดูกสันหลัง ก็บอกตัวเองว่าอยากเป็นคุณหมอที่ถ้ามีคนสำคัญของประเทศเจ็บป่วยเรื่องหลัง ก็ต้องนึกถึงเราเป็น 1 ใน 5 อันดับแรก ก็เป็นแรงจูงใจให้เราตั้งใจทำงานมาก”
สิ่งที่แพทย์ทำได้คือการรักษาคนไข้ทีละคน แต่ นพ.วิชาญ ตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่านั้น อีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่ตามมาคือการสร้างคนที่จะไปรักษาคนไข้ได้ทั่วประเทศ

“จะเป็นอาจารย์มันต้องมีของดีก่อน ต้องไปให้ถึงระดับที่คนยอมรับถึงจะสอนได้ เรียกว่าสร้างศรัทธา เราต้องหาความรู้ฝึกทักษะ แล้วความศรัทธาทำให้เราสอนแล้วคนเชื่อถือมากขึ้น”
และความตั้งมั่นในวันนั้นได้พา นพ. วิชาญ ข้ามทะเลไปลับคมทักษะด้านโรคกระดูกในเด็กและโรคกระดูกสันหลังไกลถึงสหรัฐอเมริกา
หมออเมริกา
“สมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ มีเรื่องอะไรก็ต้องเขียนจดหมาย อีเมลก็ยังไม่เป็นที่นิยม ตอนนั้นค่าโทรศัพท์กลับบ้านนาทีละ 3.5 เหรียญ เดือนนึงเสียค่าโทรศัพท์เกือบ 400 เหรียญ ด้วยความคิดถึงบ้าน”
การได้ไปศึกษาวิทยาการทางการแพทย์จากประเทศพัฒนา ถือเป็นความใฝ่ฝันของแพทย์หลายคน เพราะไม่เพียงแต่ทักษะความรู้ที่ได้รับ แต่ประสบการณ์ชีวิตในต่างแดนทั้งในและนอกโรงพยาบาลมักมอบแง่มุมความคิดใหม่ๆที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเอง ในส่วนของอาจารย์วิชาญ ทักษะชีวิตใหม่ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ลำพัง

“ตอนนั้นปี พ.ศ.2540 จะไปเรียนต่อ ก็วางแผนจะไปด้วยกันกับภรรยา ภรรยาก็เป็นหมอ เราเขียนใบสมัครไป 20 กว่าที่ แต่เผอิญปีนึงก่อนไปเรียนภรรยาท้องแล้วลูกจะคลอดเดือนมกราคม เราต้องการไปเดือนตุลาคม ต้องการดูลูกเกิดแล้วค่อยไป แต่เขาก็ตอบกลับมาว่าถ้าไปก็ต้องไปมกราคมเลย ต้องไปวันนี้เท่านั้น ถ้าไม่ไปวันนี้ไม่ได้ เราก็เลยไป ไปเสร็จก็รู้สึกว่าชีวิตแย่มาก เราไม่พร้อมที่จะไป จิตใจก็เป็นห่วงทางบ้าน เสียค่าโทรศัพท์เยอะมาก เป็นช่วงชีวิตที่มีหลายอารมณ์มาก แต่ก็ทำให้เราเป็นคนที่พึ่งตัวเองได้ อยู่คนเดียวได้เวลามีปัญหา”
และยิ่งกว่านั้น ตลอดเวลา 3 ปีในต่างแดน คุณหมอได้เห็นแนวความคิดด้านสิทธิของผู้ป่วยที่แตกต่างไปจากไทย
“คนไทยเคารพหมอมาก แต่ของเขา หมอเป็นแค่อาชีพหนึ่งเหมือนอาชีพทั่วไป รอนานก็ด่า ผิดพลาดก็ด่า มีปัญหาก็ฟ้อง ก็รู้สึกว่ามันขนาดนี้เลยหรอ คนไทยมาถึงก็ยกมือไหว้สวัสดีหมอ แต่ฝรั่งมาถึงก็นั่งไขว่ห้าง มันทำให้เราคิดได้ว่าคนเราเท่ากัน”
หรือแม้แต่สิทธิของคนไข้อันเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัว วัฒนธรรมอเมริกันก็มอบให้สิทธิอยู่เหนือความกตัญญู
“เขาไม่ได้สอนว่าพ่อแม่รักลูกดูแลลูกด้วยความมีบุญคุณ แต่มันเป็นหน้าที่และเด็กก็รู้ มีครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกผ่าหลังคด ลูกโตมาแล้วมันน่าเกลียดมาก ก็มาฟ้องร้องพ่อแม่ เพราะเมื่อก่อนพ่อแม่ตัดสินใจให้เองโดยไม่ได้ถามเด็ก”
“แล้วเวลาพ่อแม่เจ็บป่วย ของเรานี่ต้องไปเฝ้า ของเขาไม่ได้มีความรู้สึกว่าลูกต้องมาเฝ้า คนแก่อยู่กันสองคนตายาย เวลาผ่าตัดเราก็แปลกใจ ลูกสาวมาเยี่ยมเอาของมาให้ แล้วก็ไปเลย แต่พ่อแม่ไม่ได้ผิดหวัง เราไปคุยกับพ่อแม่ถามว่าทำไมเขาไม่รู้สึกอะไรเลย พ่อแม่เขาว่าลูกมีครอบครัวของเขาที่เป็นหน้าที่ของเขา แค่มาเยี่ยมก็ถือว่ามีน้ำใจแล้ว”
สิทธิและหน้าที่ของคนไข้ไม่ว่าในสถานะอะไรที่คุณหมอได้เจอมากับตัวในวันนั้น ส่งผลกับความคิดและทัศนคติในการรักษาถึงวันนี้ วันที่โลกาภิวัตน์ทำให้คนจากโลกตะวันออกมีมุมมองใกล้เคียงคนจากโลกตะวันตก และคนจากโลกตะวันตกเดินทางมาสู่โลกตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ
“การรักษาพยาบาลทุกอย่าง เกิดจากการให้ความรู้คนไข้ แล้วให้เขาตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป จะมา ‘แล้วแต่หมอ’ ไม่ได้ แสดงว่าเราตัดสินใจแทนคนไข้ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ คนเราคิดไม่เหมือนกัน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง
หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกา น.พ. วิชาญ ได้เป็นอาจารย์หมอสมใจ และรับหน้าที่รักษาและงานสอนนิสิตแพทย์ที่ภาควิชากระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเขาได้พบว่าการมอบความรู้ให้คนคืออีกสิ่งที่เป็น Passion ความเป็นครูของคุณหมอไม่ได้จำกัดแค่เนื้อหาวิชาการ แต่ยังเป็น Mentor มอบบทเรียนการใช้ชีวิตให้กับลูกศิษย์
“ลูกศิษย์จะบอกว่าอาจารย์สอนเยอะมาก ผ่าตัดไปก็จะพูดไปเรื่อย อินจนกลับบ้านเสียงแหบ วันที่ผ่าตัดก็จะเหนื่อยมากเพราะพูดมากกว่าทำ ลูกศิษย์จะรู้เลยว่าเราสอนเพราะมีความเป็นอาจารย์ ไม่ได้สอนแค่เพราะหน้าที่อย่างเดียว”

“เราเห็นคนที่มาเรียนหมอ ตั้งแต่วันแรกไม่รู้เรื่องอะไรเลย โดนด่าจนร้องห่มร้องไห้ จะโกรธก็ไม่เป็นไร แต่ในวันที่เขาจบ มันก็เห็นความแตกต่างชัดเจน เราเปลี่ยนชีวิตเขาจากคนนึงเป็น specialist ได้แล้ว เราก็รู้สึกว่าได้ช่วยเขาอย่างแท้จริง”
จนถึงปัจจุบัน นพ.วิชาญ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากระดูกและข้อ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังปีละราว 4 คน ส่งไปประจำยังโรงพยาบาลทั่วประเทศจนถึงวันนี้เกือบ 50 คนแล้ว
“คนไข้มาหาที่ BNH หรือจุฬาฯ พอผ่าตัดเสร็จปุ๊บ ถ้ามีอะไรก็ให้คนไข้ไปหาหมอที่จังหวัดตัวเองได้เลย เรามีลูกศิษย์เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ แล้วเราก็พยายามทำแบบนี้ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่เราเรียนมามันไม่ตายไปกับเรา มันจะถูกส่งต่อไปยังหมอรุ่นต่อไป ยังมีตำราคู่มือหรือเทคนิคการผ่าตัด ที่เราเขียนและแจกจ่ายไปทั่วประเทศอีกด้วย”
และเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในประเทศไทยยังไม่มีศูนย์รักษาเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังทั้งที่พบผู้ป่วยมาก การรักษาสมัยก่อนจะดำเนินการโดยหมอกระดูกทั่วไป นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล BNH ในสมัยนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญที่ควรต้องมีศูนย์รักษาเฉพาะทางเพื่อการรักษาที่เป็นระบบ จึงได้เชิญ อ.วิชาญ มาริเริ่มก่อตั้งศูนย์กระดูกสันหลัง (Spine Center) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2547
“เราก็มีความฝันว่าอยากจะทำศูนย์นี้ให้ดีให้เป็นที่ยอมรับ ตอนเริ่มต้นเราบอกว่าวิธีการทำต้องยังไง โรงพยาบาลบีเอ็นเอชก็รับฟัง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนผู้อำนวยการมา 7-8 คน ทุกคนก็ให้เกียรติแล้วก็เชื่อใจเรา สามารถบริหารจัดการเองได้ภายใต้การยอมรับของผู้บริหาร เช่น ต้องใช้อุปกรณ์ใหม่เพื่อวิธีการรักษาใหม่ๆ ก็เริ่มต้นจากการเข้าไปคุย ไม่ใช่เริ่มจากการที่ต้องมีเคสก่อนถึงจะซื้อ ทำให้เราอยู่แล้วมีความสุข”
ตอนเพิ่งก่อตั้ง Spine Center มีการผ่ากระดูกสันหลังที่โรงพยาบาล BNH ปีนึงไม่ถึง 10 ราย แต่ปัจจุบันในแต่ละปีมีการผ่าตัดให้คนไข้ราว 200-300 ราย และทำให้โรงพยาบาลแห่งอื่นหันมาเล็งเห็นความสำคัญของการรักษาส่วนนี้ จนมีศูนย์กระดูกสันหลังที่อื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ชีวิตที่ได้กลับคืนมา

“อาการหลังคดไม่ทราบสาเหตุมักพบในเด็กช่วง 10-13 ปี มีเคสหนึ่งรักษาโดยผ่าตัดเข้าทางด้านหน้าแล้วก็ตัดกระดูกซี่โครงเข้าไปถึงกระดูกสันหลัง แล้วค่อยๆทำให้กระดูกไม่แข็งทีละข้อ เสร็จแล้วจับนอนคว่ำ แล้วยืดจากด้านหลัง ผ่าตัดเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า เสร็จห้าทุ่ม คนไข้เป็นลูกชายคนเดียวของนักการเมืองชื่อดัง พ่อแม่รักมาก ก็มีความกดดันสูง เราก็บอกว่าทำเต็มที่ ผ่าตัดไป 15 ชั่วโมง เหนื่อยแล้วก็ไม่ได้พัก แต่ผลที่ได้ดีมาก เปลี่ยนชีวิตเด็กคนนี้ไปเลย”
การผ่าตัดจบแต่การดูแลคนไข้ไม่จบตาม คนไข้ยังคงต้องนัดติดตามต่อเนื่อง หากเวลาผ่านไปนานก็เหลือแค่การเข้ามาพบเมื่อมีอาการผิดปกติ จนถึงตอนนี้คนไข้รายนั้นเติบโตเป็นคนมีชื่อเสียงและมีครอบครัวแล้ว แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เขาจึงมักมาหา อ. วิชาญ เพื่อเยี่ยมเยียนมากกว่านัดตรวจอาการ จนอาจารย์กลายเป็นคุณหมอประจำครอบครัวที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวให้ด้วย
สมัยที่คุณหมอเริ่มงานใหม่ๆ คนอายุ 65 ปี ก็นับว่าเยอะแล้ว และหากเกิดการเจ็บป่วยในคนไข้สูงอายุแล้วต้องผ่าตัดก็จะเสียเลือดเยอะแล้วเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่สามารถผ่าตัดโดยไม่ทิ้งความบอบช้ำทางกายไว้มาก ลดปัญหาในการรักษาผู้สูงอายุ ทำให้คนมีอายุยืนมากขึ้น การพบคนที่อายุ 80-90 ปี แต่ดูแลตัวเองดี มีสุขภาพแข็งแรง จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างเช่นคนไข้รายล่าสุดที่ อ.วิชาญ ผ่าตัดให้ ท่านเป็นศาสตราจารย์แพทย์หญิงอายุ 99 ปี 6 เดือน ซึ่งดูเหมือนคนอายุแค่ 80 ปี ถึงแม้จะมีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท แต่ท่านดูแลตัวเองดีมาก ยังแข็งแรงและได้ยินเสียงดี
“การผ่าตัดใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง เปลี่ยนกระดูกสันหลัง ใช้วิธีเจาะผ่านหน้าท้องนิดนึงแล้วก็เจาะทางด้านหลัง เสียเลือดน้อยเพียง 20 ซีซี ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ ทำเสร็จประมาณเที่ยง แล้วพอตอนเย็นไปดูคนไข้ในห้องพักฟื้น ท่านลุกขึ้นนั่งยิ้ม บอกว่าไม่เจ็บเลยไม่รู้สึกว่าได้รับการผ่าตัด แล้วถามว่าเมื่อไหร่จะไปขี่จักรยานได้ วันรุ่งขึ้นท่านก็เดินไปเดินมาได้แล้ว”
เมื่อคนเราถึงวัยหนึ่ง สภาพร่างกายก็เสื่อมไปตามกาลเวลา ข้อกระดูก เช่น กระดูกสันหลัง ข้อเข่า คือส่วนของร่างกายที่ไม่อาจรักษาหายด้วยยา และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่สุขภาพด้านอื่นยังดีอยู่ จะเดินจะเคลื่อนไหวก็เจ็บร้าว นอกจากนี้ ปัญหาของคนไข้ยังไม่ได้กระทบแค่กับคนไข้ แต่เป็นคนใกล้ตัวด้วย
“สามีภรรยาอายุ 60 กว่า ลูกทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิต อยู่ๆภรรยามีอาการเจ็บหลังทับเส้นประสาท ปกติครอบครัวนี้ไปเที่ยวกันทุกปี แต่พอภรรยาป่วยเขาก็ไม่อยากไป พอครอบครัวบังคับให้ไปก็ยอมไป พอไปแล้วก็ทรมาน สุดท้ายก็ไม่อยากไปไหนแล้ว ในขณะที่ครอบครัวยังอยากจะไปทุกปี แต่ไปแล้วทิ้งคนป่วยไว้ก็รู้สึกผิด ภรรยาก็ไม่ยอมรักษา สามีทนไม่ไหวก็มาหาหมอให้ช่วยคุยให้ ทุกข์มันไม่ใช่ของเขาคนเดียว มันมีผลกับคนในครอบครัว เราก็ช่วยคุยจนภรรยายอมผ่าตัด ผ่าตัดแล้วความกลัวก็ยังมี ไม่ยอมไปไหนเพราะกลัวเจ็บ สุดท้ายเราก็ต้องบอกเขาว่ามีอะไรให้มาหาเดี๋ยวจัดการให้ เขาถึงยอมไป”
“พอไปเสร็จ เข้าปีที่ 4 สามีกลับมาหา ให้หมอช่วยคุยกับภรรยาให้หน่อยเพราะเขาเที่ยวไม่รู้จักหยุดเลย”
โรคทางกระดูกจึงเป็นโรคที่รักษาได้ทันทีเมื่อมีอาการ และทำให้คนไข้ที่ทุกข์ทรมานได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง พร้อมนำพาความสุขกลับมาสู่ครอบครัว แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น อ.วิชาญ ต้องทำความเข้าใจกับตัวคนไข้ และยิ่งไปกว่าการคลายความกังวลของผู้ป่วย คือทำอย่างไรให้เขาเข้าใจความทุกข์ที่ครอบครัวกำลังเผชิญ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที เพราะอาการเจ็บป่วยทางกระดูกนี้ไม่เหมือนโรคอื่นๆ ส่วนมากแค่รับการผ่าตัดก็แก้ปัญหาได้เลย
“การรักษาด้วยการผ่าตัดมันมีจุดที่ถ้าเลยไปแล้วก็จะไม่กลับมาดีเหมือนเดิม เหมือนรถยนต์ ถ้าเราดูแลเครื่องยนต์ดี แต่ล้อมีปัญหา แล้วดันฝืนวิ่งไปเรื่อยๆจนเครื่องยนต์ร้อน สุดท้ายจะมาเปลี่ยนล้อ แต่มันไม่ทันแล้ว”
ดังนั้นแล้ว ในการรักษาอาการป่วยของคุณหมอจึงไม่ได้มองแค่ตัวอาการ แต่เป็นการรักษาแบบองค์รวมที่มองลึกลงไปถึงปูมหลังของคนไข้ เหตุผล ความกลัว และเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ เพื่อคลายปมในใจ และบางครั้งปัญหาเหล่านั้นกลับมีต้นเหตุมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว หน้าที่ของหมอกระดูกจึงต้องเข้าไปช่วยจัดการปัญหาเหล่านั้นด้วย
“คนไข้รายหนึ่งมีอาการน้อยแต่กลับรู้สึกป่วยตลอดเวลา หมอสังเกตพฤติกรรมเขา พอป่วยหนักทีลูกคนโปรดก็จะมาเยี่ยม สุดท้ายป่วยการเมือง ก็ต้องคุยกับลูกคนนี้ เราเจอแบบนี้เยอะเลย การดูแลคนไข้บางทีแก้ปัญหาเรื่องโรคอย่างเดียวไม่พอ”

โลกยานยนต์

“เราเป็นคนชอบรถ รุ่นไหนรู้หมด รู้จนกระทั่งลูกศิษย์มาบอกว่าอาจารย์รู้ได้ไง เอาเวลาที่ไหนไปรู้ คือถ้ามันเป็นสิ่งที่เราชอบก็ไม่ต้องบอกเลย ไม่ต้องโดนบังคับด้วย มันจะอินเอง”
ในบรรดารถ 5 คัน ของ อ.วิชาญ ซึ่งมีไว้เพื่อแต่ละวัตถุประสงค์ เช่น ขับในเมือง ขับท่องเที่ยว หรือใช้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งแต่ละวันคุณหมอจะเลือกรถที่ขับออกมาสับเปลี่ยนกันไปแล้วแต่อารมณ์
“เราอยากได้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็เอาเลย เราตั้งใจทำงาน มันเหมือนให้รางวัลตัวเอง ถึงแม้จะใช้ไม่ใช้มันคือความสุขทางใจ แต่พอเวลาผ่านไปก็คิดว่าเราฟุ่มเฟือยนะ ซื้อมาจอดแล้วไม่ได้ใช้ แต่ว่าในความฟุ่มเฟือยมันเติมเต็มอะไรในชีวิตเรา เป็นคุณค่าที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจได้”
สำหรับอาจารย์ การได้ครอบครองรถที่ถูกใจ คือการลงทุนในความสุข และสร้าง Motivation ให้ชีวิตในทุกวัน
บทบาทของ นพ. วิชาญ นับว่าขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วในทุกด้าน แต่อาจารย์ยังไม่หยุดมุ่งมั่นที่จะมอบความท้าทายใหม่ให้ตัวเอง ภายใต้ความสุขจากความรักในสิ่งที่ทำ
“เคล็ดลับในการทำงาน อย่างแรกต้องเป็นคนดีก่อน เราไม่ค่อยหวังผลอะไร ช่วยได้ก็ช่วย มีความสุขกับงานเราไม่ได้สนใจรายได้ มันไม่มีความหมาย ถ้าเราไปกำหนดตัวเองว่าปีนึงต้องได้เงินเท่าไหร่แล้วก็จะเป็นทุกข์มาก แข่งขันกับตัวเองไม่มีวันชนะ เราต้องรู้ว่าเรามี Passion กับอะไร แล้วทำงานเพื่ออะไร ผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าที่เราคิดเยอะ”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

ศ. นพ. วิชาญ ยิ่งศักดิ์มงคล
ศูนย์กระดูกสันหลัง
ความชำนาญพิเศษ
ศัลยกรรมกระดูก และ โรคกระดูกสันหลัง
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
Spinal surgery, Spinal deformity, Scoliosis, Total Artificial Disc Replacement (Lumbar & Cervical Regions)
– Certified Thai Specialty Board of Orthopedic Surgery
– Certified Surgical Spine Fellowship (2years programme), University of MissouriColumbia, USA
– Fellowship in Spine Surgery, Columbia Spine Center, USA
– Fellowship in Pediatric Orthopedic and Spinal Deformity Surgery, Delaware, USA
– M.D., Chulalongkorn University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
อังคาร | 17:30 – 20:00 | ศูนย์กระดูกสันหลัง (เฉพาะนัด (Only for the scheduled appointment)) |
เสาร์ | 08:30 – 13:00 | ศูนย์กระดูกสันหลัง (เฉพาะนัด (Only for the scheduled appointment)) |