นพ.นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล อดีตเด็กเกเรที่มาเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล สรรค์สร้างบริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ และเป้าหมายต่อไปในเส้นทางธรรม

สรรค์สร้างบริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้

นพ.นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล

ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล BNH อาจทำให้ผู้คนคิดว่า นพ.นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล เติบโตมากับความเพียบพร้อมที่ปูทางสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เรื่องราวชีวิตของคุณหมอที่จริงมีทั้งขึ้นและลง มีจุดหักเหเฉกเช่นบุคคลทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งลิขิตฟ้าและมานะตนที่นำพา นพ.นพรัตน์ เข้าใจภาพรวมของทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแพทย์ และขึ้นสู่การเป็นผู้นำในสายบริหารที่ไม่หยุดพัฒนาเพื่อประโยชน์อันสูงสุดของคนไข้

เด็กเกเร

“ผมเกิดมาในบ้านสวน ที่บ้านทำโรงงานน้ำตาลในอำเภอพานทอง ชลบุรี ตอนเด็กก็ทำปืนวิ่งเล่นไล่ยิงกับน้องชายอยู่ในไร่อ้อย เก็บมะม่วง เก็บผักกัน”

เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว การเลี้ยงดูครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีลูกถึง 9 คน ต้องอาศัยความพยายามและกำลังทรัพย์เป็นอย่างมาก แม้ว่าสถานภาพจะเป็นเพียงชาวสวนที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงหรือมีรายได้มากมาย แต่คุณพ่อคุณแม่ของคุณหมอนพรัตน์ก็เลี้ยงดูลูกโดยให้ความสำคัญกับการศึกษา และผลักดันลูกๆให้ไปได้ไกลที่สุดตามแต่ที่จะไปไหว

“พี่ชายคนนึงสอบเข้าคณะแพทย์ได้เป็นคนแรกของครอบครัว แม่ก็ดีใจมาก”

ในตอนนั้น พ่อแม่ก็อยากให้ ด.ช. นพรัตน์ได้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีเช่นกัน จึงส่งไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่กรุงเทพฯ แต่มันกลับเป็นจุดหักเหในชีวิตของเด็กต่างจังหวัดที่เคยชินกับความอิสระเสรี มีเพียงมอเตอร์ไซค์คู่ใจก็พาตัวเองออกเดินทางไปได้ทุกที่

“ผมไม่ได้คุ้นเคยกับชีวิตกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถเมล์ 2 ต่อไปโรงเรียน กลับบ้านก็นั่งรถเมล์อีก 2 ต่อ อากาศก็ร้อน รถก็ติด เสียเวลามาก และต้องไปอยู่บ้านคนไม่สนิทอีก”

แล้ว ด.ช. นพรัตน์จึงออกจากโรงเรียน แล้วหนีกลับมาชลบุรีโดยไม่ได้บอกใคร พ่อแม่ก็ต้องรีบเป็นธุระจัดหาสถานที่เรียนให้ใหม่กลางคันในอำเภอเมืองโดยให้พักกับพี่สาว แต่ประสบการณ์ชั่วคราวในกรุงเทพฯได้ทิ้งความบอบช้ำไว้ในใจของเขาจนกลายเป็นเด็กเกเรที่ไม่มีใครเอาอยู่ ไม่ยอมเรียนหนังสือ แค่ไปโรงเรียนในระดับที่จะไม่โดนไล่ออก จนในที่สุดก็ขาดเรียนไปหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ พี่น้องก็จนปัญญาจะพูดด้วย คุณแม่ของเขาจึงต้องเดินทางมาคุยด้วยตัวเอง

“แม่ไม่มีอะไรให้นะ มีแต่เรื่องการศึกษา”

“แม่ไม่ต้องมาบอกหรอก ถ้าอยากไปเรียนจะไปเอง”

ถึงแม้เขาจะโต้เถียงกลับไปเช่นนั้น แต่ก็ยังกลับไปเรียนเพราะไม่อยากทำให้แม่เสียใจ ยังไม่ทันจบชั้น ม.4 คุณแม่ก็เกิดเส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตลงกะทันหัน

“ก็เลยมานั่งนึกว่าจะทำยังไงดี แก้สิ่งที่ทำไม่ดีไว้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าได้เรียนหมอ แม่ก็คงดีใจ”

นายนพรัตน์จึงใช้เวลา 2 ปีที่เหลือก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งใจเรียนหนังสือ แต่การที่เขาเสียเวลาไปกับความเกเรอยู่หนึ่งปี เส้นทางนี้จึงไม่ง่ายนัก ตอนนั้นพี่ชายก็เพิ่งได้เป็นอาจารย์หมอที่คณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงชวนเขามาอยู่ขอนแก่นด้วยกัน แล้วเขาก็ทำสำเร็จ ได้เรียนในสถาบันเดียวกับพี่ชาย ทำความหวังของแม่เป็นจริงแม้ท่านจะไม่มีโอกาสได้เห็นแล้วก็ตาม

“แรงบันดาลใจแรกเลย คืออยากให้คุณแม่ได้เห็น ความสุขในชีวิตของผู้หญิงชาวบ้านที่ทำงานทั้งวันเนี่ยมันไม่ได้มีอะไรมาก ท่านมีความสุขมากเวลาพูดถึงพี่ชายที่เป็นหมอ ผมก็เลยคิดว่าผมจะเป็นหมอเพื่อให้แม่มีความสุข”

พรหมลิขิตสู่แพทย์โรคหัวใจ

ท่ามกลางภาวะสงครามในประเทศกัมพูชาช่วงปี พ.ศ. 2533-2535  คลื่นผู้อพยพได้หลั่งไหลเข้ามาลี้ภัยในจังหวัดตราด นพ.นพรัตน์ ซึ่งกำลังใช้ทุนในโรงพยาบาลชายแดนจึงได้รับเคสชาวกัมพูชาจากค่ายผู้ลี้ภัยอยู่บ่อยครั้ง แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กนั้นต้องทำทุกหน้าที่แม้ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร บางครั้งคุณหมอยังเคยถูกตามให้ไปทำคลอดในเรือผู้อพยพที่มาถึงฝั่งไม่ทันการณ์ ประสบการณ์ที่ได้ลองงานหลากหลายในวันนั้นทำให้ นพ.นพรัตน์ ได้ตัดสินใจว่างานอายุรกรรมเป็นสายเฉพาะทางที่เหมาะสมกับตัวเอง

“สาขาที่ชอบที่สุดคือโรคหัวใจ เป็นงานที่ตื่นเต้น ต้องใช้เวลาสั้นที่สุดในการกู้ชีวิตกลับมา ต้องแข่งกับเวลาเป็นวินาที”

พอมาเรียนต่อด้านอายุรกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอไม่ทราบว่าสาขาหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาขายอดนิยมที่คนลงทะเบียนเรียนจนเต็มไปล่วงหน้าถึง 3 ปี เมื่อคงเรียนต่อสาขาย่อยที่ต้องการไม่ได้ นพ.นพรัตน์ ก็ตั้งใจจะกลับไปทำงานที่โรงพยาบาลในจังหวัดตราดหลังเรียนจบ

“อาจารย์ผู้มีพระคุณได้มาหาตอนผมเข้าเวรแผนกฉุกเฉิน แล้วบอกว่าปีที่จะถึงนี้ ตำแหน่งของคนที่จะมาเรียนสาขาหัวใจและหลอดเลือดว่าง 1 ตำแหน่ง ถามผมว่าจะเอาไหม ผมก็บอกว่าขอไปคิดหนึ่งเดือน”

อาจเป็นชะตาฟ้าลิขิตให้เขาได้เป็นหมอโรคหัวใจ เมื่อแพทย์ที่ลงทะเบียนเรียนสาขานี้ล่วงหน้าไว้จำเป็นต้องยุติการเรียนต่อเพื่อไปทำหน้าที่พ่อของลูก แต่ นพ. นพรัตน์ ก็ยังลังเลเพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ ทั้งเงินก้อนใหญ่ที่ต้องไปใช้คืนโรงพยาบาลต้นสังกัดที่รับทุนมาเรียนต่อ ทั้งหนทางการเป็นแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ที่สุดท้ายต้องทำทุกอย่างเหมือนเดิม

“วันรุ่งขึ้นก็บอกอาจารย์ว่าผมเอา”

ผ่านไป 2 ปี นพ.นพรัตน์ กำลังใกล้จะเรียนจบสาขาหัวใจและหลอดเลือด ทางโรงพยาบาล BNH ได้แสดงความประสงค์ไปยังอาจารย์แพทย์ที่ รพ.จุฬาฯ ว่าต้องการแพทย์โรคหัวใจเพิ่ม ด้วยความที่คุณหมอตั้งใจเรียนและทุ่มเททำงานโดยไม่ได้สนใจอย่างอื่น จึงไม่ได้รู้จักโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้มากนักแม้ว่าจะอยู่ในละแวกเดียวกับสถาบันที่กำลังเรียนอยู่

“สนใจจะมาไหม ถ้าเธอไม่ไป ฉันก็จะไม่ส่งใครไป”

เพราะคำพูดของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพในแผนกหัวใจ นพ.นพรัตน์ จึงลองมาสัมภาษณ์ และได้เริ่มงานประจำในโรงพยาบาล BNH จากเดิมที่ตั้งใจจะอยู่ไม่นานนัก แต่ผ่านมากว่า 25 ปีที่แล้ว คุณหมอยังไม่เคยย้ายไปไหน พร้อมช่วยพัฒนาระบบการแพทย์ภายในของโรงพยาบาลให้ก้าวสู่ชั้นแนวหน้า มอบบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการดูแลสุขภาพที่คนไข้ได้ประโยชน์จริง จากมุมมองของแพทย์ที่เข้าใจโรค และเข้าใจคนไข้

ธุรกิจที่มีคนไข้เป็นศูนย์กลาง

“ผมคิดไว้ตลอดเวลาว่าต้องดูแลคนไข้เหมือนญาติเรา เพื่อนหมอบางท่านบอกว่าคนไข้ผมเหมือนเป็นสาวกของอาจารย์นพรัตน์ คือมาแล้วถ้าไม่เจอก็กลับบ้านเลย ผมก็คิดว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเหมือนกับเราได้รับความไว้วางใจให้ดูแลเขา ดังนั้นต้องทำงานเต็มที่ให้เขามีชีวิตที่มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เขาเกิดโรคในวันข้างหน้า”

การได้ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด ทำให้แพทย์โรคหัวใจอย่าง นพ. นพรัตน์ สังเกตเห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งเมื่อคนไข้มารักษากับแพทย์เฉพาะทาง เมื่อเหตุแห่งความเจ็บป่วยที่อันตรายกว่าไม่ใช่อาการที่เกี่ยวข้องกับโรคที่กำลังรักษา คนไข้เองก็ไม่ทราบ และนอกเหนือขอบเขตที่หมอเฉพาะทางเจ้าของไข้ต้องสนใจ เช่น คนไข้มาหาหมอต่อเนื่องด้วยอาการความดันโลหิตสูง แต่ผ่านไปกลับพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้ายเพราะไม่เคยส่องกล้องตรวจ หรือคนไข้ไม่เคยรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรควรฉีด ทั้งๆที่มาพบแพทย์เป็นประจำ แล้วสุดท้ายต้องรักษาตัวในห้องไอซียูเพราะโรคไข้หวัดใหญ่

“ถามว่าคนไข้จะรู้ไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง เขาก็ไม่รู้ แพทย์นี่แหละควรให้คำแนะนำ แล้วก็มีทีมวางแผนให้คนไข้ว่าเขาต้องทำอะไรเพื่อป้องกันโรคในเวลาที่เหมาะสมและทันต่อการดูแลรักษา เขาก็จะมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง ถ้าเราไม่ดูให้ครบ สุดท้ายคนไข้ก็แย่”

“บางทีสิ่งที่เราดูก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเขามาก แต่ว่าเรื่องที่เราไม่ได้ดูนี่แหละทำให้เขาเสียชีวิต”

เมื่อ 5 ปีก่อน นพ.นพรัตน์ มีโอกาสไปเรียนรู้การป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือดจากไขมันอุดตันในหลอดเลือดที่สหรัฐอเมริกา โดยการสแกนดูไขมันในหลอดเลือด จึงนำวิธีการนั้นมาใช้ในโรงพยาบาล BNH ควบคู่กับการดูแลโดยควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างระดับไขมัน น้ำตาล ความดัน และการสูบบุหรี่ ซึ่งช่วยชะลอโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

“คนไข้ที่หลอดเลือดอุดตันแล้วต้องทำบอลลูนหรือบายพาสยังต้องกินยาอีกเยอะ แล้วยาก็มีความเสี่ยง คนไข้ที่เข้าไปผ่าตัดก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ผมคิดว่ามันอาจจะสายเกินไปในการดูแลชีวิตคนไข้”

จากความตั้งใจที่จะให้คนไข้ลดความเสี่ยงของโรคในเวลาที่เหมาะสม นำไปสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Complete Care อันเป็นแนวทางการดูแลของโรงพยาบาล BNH ที่ไม่เพียงมอบบริการทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตรอบด้านของผู้ป่วย แต่ยังมอบการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นเพื่อการรักษาทันเวลาในแบบ personalise โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติของโรคทั่วไปที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต และประวัติของคนไข้ สร้างมาตรฐานใหม่ในการดูแล แม้ว่าแพทย์เจ้าของไข้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น แต่สามารถแจ้งกับคนไข้ได้ว่าเวลานี้เขาควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ หรือถึงเวลารับวัคซีนตัวนี้แล้ว โดยร่วมกับทีมบริการลูกค้าเพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับโรคร้ายอื่นๆ

“เราเริ่มมีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆว่าจะทำยังไงถึงป้องกันได้ มีข้อมูลแล้วให้คนไข้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกบริการนี้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมา 90% เขาก็อยากทำ แล้วก็ไปชวนเพื่อนมาทำอีก เอาครอบครัวมาทำอีก เราก็มีคนจำนวนมากเข้ามาทำแต่ละปี เพราะว่าเราทำให้เห็นว่ามันมีประโยชน์จริง”

“ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องระมัดระวังว่า ไม่ทำจนเกินไปจนกลายเป็นการพาณิชย์ เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์แบบนั้น”

เพราะความตั้งใจที่จะสร้างให้โรงพยาบาล BNH เป็นโรงพยาบาลที่ดี ตั้งแต่สมัยที่ นพ.นพรัตน์ ยังเป็นเพียงอายุรแพทย์โรคหัวใจคนหนึ่งที่ไม่มีตำแหน่งด้านงานบริหารเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว เขาก็อาสาช่วยงานของโรงพยาบาลหลายอย่าง จนผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสามารถที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างการแพทย์และธุรกิจ โดยมีจรรยาบรรณที่ถือผลประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญเป็นกรอบครอบทุกอย่างไว้ดังเช่นนโยบายของโรงพยาบาล คุณหมอจึงได้เข้าร่วมกับทีมบริหารตั้งแต่นั้น จนขึ้นถึงจุดสูงสุดในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล BNH ในปัจจุบัน

“ตอนนี้ผมก็ยังดูคนไข้อยู่ แต่ว่าทำงานบริหารเป็นหลัก เราอยากให้โรงพยาบาลบีเอ็นเอชสร้างประโยชน์ให้คนไข้ เวลาที่เราพูดว่าจะไปข้างหน้าอย่างไร เราจะคิดว่าเราควรจะสร้างอะไรให้คนไข้ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ปีนี้เรามีรายได้เท่านี้ ปีหน้าเราต้องได้เท่านี้ อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง”

หากได้เห็นสีหน้าและแววตาของคุณหมอแต่ละท่านในโรงพยาบาล BNH จะรับรู้ถึงความสบายใจในการทำงานที่สามารถทุ่มเทเพื่อคนไข้ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มองที่รายได้จากการรักษา ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรที่คนไข้ก็สามารถรับรู้ได้ และในฐานะผู้นำองค์กร นพ.นพรัตน์ ยังคงสานต่อปณิธานนี้ เพื่อสร้างโรงพยาบาลที่มอบมิตรภาพและการบริการให้คนไข้ดุจญาติมิตร

ตั้งแต่ นพ. นพรัตน์ ได้เข้าร่วมทีมบริหาร โรงพยาบาล BNH ได้ริเริ่มบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ ทำให้คนไข้จำนวนมากตรวจพบโรคร้ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่สามารถรักษาให้หายขาด ปลดล็อกความกังวลจากโรคทางพันธุกรรมที่ค้างคาอยู่ในใจ และดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อลดโอกาสเกิดโรค บริการทั้งหมดคือทางเลือกที่คนไข้สนใจลงทุนเพื่อสุขภาพของตนเอง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำในเวลาที่เหมาะสม

คำตอบของชีวิต

ความเข้าใจธรรม คืออีกหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและสร้างความสำเร็จให้ นพ.นพรัตน์ หลังจากได้ใช้ชีวิตเที่ยวกินดื่มอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความหลงใหลในอาหารและเครื่องดื่มชั้นเลิศมาสักระยะ

“ตอนนั้นกำลังจะเริ่มเรียนรู้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ มีเพื่อนที่เป็นซอมเมอลิเยร์ในไทย ก็ไปกินไวน์ดินเนอร์สนุกสนานกันทุกอาทิตย์”

แล้ววันหนึ่ง รุ่นพี่ที่สนิทกันสมัยประจำอยู่โรงพยาบาลในจังหวัดตราดได้มาหา รุ่นพี่ท่านนี้เป็นอดีตพ่อค้านักเที่ยว แต่ต่อมากลับเลือกละทิ้งเรื่องทางโลก และอุปสมบทเป็นพระ จำพรรษาอยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือห่างไกล

“ท่านมาหาที่โรงพยาบาล เอาหนังสือธรรมะมาให้ ผมเปิดดูก็ไม่ได้รู้สึกอยากอ่าน รู้สึกไม่เข้าใจ แล้วท่านก็มาอีกรอบ บอกว่าไม่ต้องอ่านหนังสือก็ได้ แต่จะให้เข้าคอร์สปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ที่อยู่เชียงใหม่ ท่านไปมาแล้วดีมาก ก็อยากให้ไป”

คุณหมอนพรัตน์เห็นแก่หลวงพี่จึงไม่ได้ปฏิเสธไป แต่ก็ไม่ได้หาเวลาไปปฏิบัติธรรมอยู่ดี จนหลวงพี่กลับมาถามอีกครั้ง พร้อมมอบตารางค่ายธรรมะทั่วประเทศให้เลือกไปสักที่ พอหลวงพี่โทรมาถามอีก เขาจึงจำเป็นต้องเลือกตอบไป

“ผมก็ลางานไปปฏิบัติธรรมที่ระยอง 8 วัน 7 คืน แต่ก็มีงานด่วนที่หัวหน้าพยาบาลขอให้อยู่สแตนด์บาย เลยไปได้แค่ 4 วัน 3 คืน”

กว่าจะจัดการงานจนเสร็จและเดินทางไปถึงที่วัดก็ 2 ทุ่ม กิจกรรมคือการนั่งสมาธิทั้งวัน ชนิดที่หลังห้ามแตะพื้นหรือพิงผนัง ตื่นแต่ตีสี่ เข้านอนสามทุ่ม และมีอาหารต่อวันเพียง 2 มื้อ นพ.นพรัตน์ นั่งสมาธิด้วยความรู้สึกทรมานมากเพราะไม่ได้นั่งกับพื้นมานาน เป็นอย่างนี้ทุกวันจนเข้าบ่ายวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย

“ไม่ไหว จะเลิก จะกลับละ แต่ก็คิดอยู่ว่าถ้าผมเลิก จะทำได้อะไรได้สำเร็จหรือ ผมอุตส่าห์มา สุดท้ายบอกตัวเองว่าถ้าทนไม่ได้ 10 รอบ ก็จะเลิก รอบที่ 1 ปวดเข่าข้างซ้ายมาก ผมก็เห็นการเพิ่มขึ้นของความเจ็บปวด

จนถึงที่สุดมันก็คลายไปโดยที่ไม่ได้ขยับ ก็นั่งต่อไปเรื่อยๆ รอบที่ 2,3,4 พอรอบที่ 5 รู้สึกว่าจิตมันคลายลงอยู่ในสมาธิก็สว่างอยู่อย่างนั้น เริ่มรู้สึกว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมอยู่ๆถึงหายปวดไปเฉยๆ ก็นั่งไปเรื่อยๆ ยิ่งนานยิ่งรู้สึกเบาสบาย และมีความสุข”

แม้ก่อนกลับกรุงเทพฯ คุณหมอพบว่าโทรศัพท์มือถือหายไป แต่ความรู้สึกข้างในกลับสงบและสบาย ไม่ขุ่นเคืองเหมือนอย่างที่เคยเป็น หลังจากนั้นเขาก็มุ่งศึกษาหลักธรรม อ่านหนังสือธรรมะมากมายได้เข้าใจทั้งหมด ทั้งที่ก่อนหน้านี้อ่านอะไรไม่เคยเข้าถึง แม้แต่การร่วมสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อสายไวน์ก็ยังไม่มีความอยาก พอไปร่วมงานตามคำคะยั้นคะยอ คุณหมอกลับรู้สึกเหมือนไวน์ในแก้วมีรสราวน้ำเปล่า

“ผมก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไป เพราะจิตมันหยุดปรุงแต่งไปชั่วคราว ตอนนั้นก็คิดว่าชีวิตมีเป้าหมายแล้ว จากที่จะเรียนอีกสาขาหรือมาทำวิจัย ก็ไม่ได้ทำแล้ว ถ้าจะเรียนอะไรในชีวิตนี้ ก็คือเรียนรู้ว่าสมาธิวิปัสสนาคืออะไร”

“นั่นคือเรื่องที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผม”

แต่แล้ววันหนึ่ง หลวงพี่ที่พาคุณหมอมาสู่เส้นทางธรรมเกิดอาพาธด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกกะทันหัน นพ.นพรัตน์ ได้พาท่านมารักษาในโรงพยาบาลบีเอ็นเอช แต่อาการสมองตายที่ตามมานั้น ในทางการแพทย์นั้นถือว่าท่านได้มรณภาพลงแล้วแม้ยังคงมีลมหายใจ หลังผ่านไป 2 คืน ในห้องไอซียูตามคำขอของโยมแม่ที่ต้องการใช้เวลาสุดท้ายกับลูกให้นานที่สุด คุณหมอนพรัตน์ก็เป็นผู้ถอดเครื่องช่วยหายใจให้ท่านหัวใจหยุดเต้นและจากไปอย่างสงบ พร้อมกับนั่งในรถพยาบาลเพื่อไปส่งร่างของท่านกลับบ้านเกิดในจังหวัดตราดอย่างสมเกียรติที่สุด

“ด้วยความระลึกถึงบุญคุณที่ท่านมีต่อผม”

หลักธรรมในวันนั้นไม่เพียงพา นพ.นพรัตน์ ออกห่างจากความลุ่มหลงทางโลก แต่ยังทำให้คุณหมอเข้าใจธรรมชาติของคน ทั้งคนทำงานและคนไข้ นำพาโรงพยาบาลบีเอ็นเอชก้าวหน้าไปพร้อมกับคุณธรรมที่สำคัญไม่น้อยกว่าเทคโนโลยีการแพทย์ใดๆ

“ผมอยากสร้างทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงสามารถดูแลคนไข้ได้ดี ต่อมาถ้าดูเฉพาะของตนเองมันก็ไม่พอ ต้องดูแลคนไข้ให้ครบเป็นองค์รวม ทีมต้องดูแลคนไข้ร่วมกันได้ การบริการมีมาตรฐาน เข้าใจและสื่อสารกับคนไข้ต่างชาติได้ ยาและอุปกรณ์ต้องทันสมัย นี่คือความคิดของผมที่ต้องการจะทำ”

ธุรกิจการแพทย์ภายใต้การนำทางของคุณหมอนพรัตน์นี้ เกิดขึ้นจากความปรารถนาดีที่อยากให้คนไข้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันที่ยังไม่สาย และการน้อมนำเอาหลักธรรมมาใช้ในการบริหาร ด้วยประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ทั้งในสนามชีวิต สนามธุรกิจ และโลกการแพทย์ ไม่ได้เกิดจากตำราหรือหลักสูตรบริหารธุรกิจจากสถาบันการศึกษาใด

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์​ | Appointment

นพ. นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล

ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม

ความชำนาญพิเศษ

โรคหัวใจ

ภาษา

ไทย, อังกฤษ

ทำนัดหมาย


– แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น
– หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขา อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
– หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขา อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
– หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขา อายุรศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 สถาบันพระปกเกล้า


– หลักสูตรวิทยาศาสต์มหาบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
– หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ คลินิก สาขาวิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
– แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตารางออกตรวจแพทย์
วัน เวลา แผนก
อังคาร 09:00 – 12:00 ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
พฤหัสบดี 09:00 – 12:00 ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
อาทิตย์ 09:00 – 12:00 ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็งปอด

ดูแล 3 ส่วนสำคัญของร่างกายที่รับบทหนักในทุกวัน ด้วยแพ็กเกจตรวจราคาพิเศษโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็งปอด 

หัวใจ สมอง และปอด 3 อวัยวะที่ทำงานสัมพันธ์กันมาโดยตลอด 

รายการตรวจ

  • ตรวจสุขภาพโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ (CT Chest Low Dose)
  • ตรวจคัดกรองค้นหาภาวะความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)
  • ตรวจคัดกรองค้นหาภาวะความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Ultrasound Carotid for Stroke)

แพ็กเกจตรวจ สมอง ปอด

ดูแล 2 ส่วนสำคัญของร่างกายที่รับบทหนักในทุกวัน ด้วยแพ็กเกจตรวจราคาพิเศษโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แพ็กเกจตรวจ สมอง ปอด 

ดูแล 2 ส่วนสำคัญของร่างกายที่รับบทหนักในทุกวัน ด้วยแพ็กเกจตรวจราคาพิเศษโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

  • คัดกรองภาวะโรคหลอดเลือดสมอง : Carotid Doppler Ultrasound
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด : CT Chest Low Dose

แพ็กเกจตรวจแคลเซียมในหัวใจ CT Calcium Score Screening

CT calcium score เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจหา แคลเซียมหรือหินปูนที่หัวใจ ที่อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน การตรวจ CT Calcium นี้ ไม่ต้องเจาะ ไม่ต้องสวนหัวใจ และไม่เจ็บตัวแม้แต่นิดเดียว

ผู้ที่ควรตรวจ CT Calcium Score

  • อายุมากว่า 50 ปีขึ้นไป
  • โรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่

เตรียมตัวอย่างไร? เมื่อต้องไปตรวจ CT Calcium Score

1. สามารถรับประทานอาหาร ดื่มนํ้าได้ตามปกติ
2. สามารถปฏิบัติตนได้ตามปรกติ โดยไม่มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ
3. สามารถตรวจควบคู่กันกับ Low-dose CT Scan เพื่อประโยชน์สูงสุดของคุณ

แพ็กเกจตรวจโรคหลอดเลือดสมอง Carotid Doppler Ultrasound Package

เทคโนโลยี Carotid Doppler Ultrasound ช่วยพยากรณ์อาการได้อย่างแม่นยำ ตรวจง่าย รวดเร็ว และไม่แพง เหมาะสำหรับการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

แพ็กเกจตรวจโรคหลอดเลือดสมอง Carotid Doppler Ultrasound Package

ใครบ้างที่ควรตรวจ

  • มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ระดับไขมันในเลือดสูง
  • มีประวัติญาติสายตรงเคยเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนไปตรวจ Carotid Doppler Ultrasound

1. สามารถรับประทานอาหาร ดื่มนํ้าได้ตามปกติ
2. สามารถปฏิบัติตนได้ตามปรกติ โดยไม่มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก