พญ. นิวัน กลิ่นงาม คุณหมอไอซียูนักสู้เพื่อผู้ป่วยวิกฤติ
และส่งมอบการเดินทางสุดท้ายของชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี

พญ. นิวัน คุณหมอไอซียูนักสู้เพื่อผู้ป่วยวิกฤติ

– พญ. นิวัน กลิ่นงาม –

ในห้องไอซียูที่ไม่มีใครอยากย่างกรายเข้าไปหากไม่จำเป็น ยังมีคุณหมอที่ใช้เวลาเกือบทั้งปีอยู่กับความท้าทายของผู้ป่วยวิกฤติ เคสที่ยากจะรักษา และเคสที่ปรารถนาจะจบความทรมานลงอย่างสงบ นี่คือชีวิตประจำวันของ พญ. นิวัน กลิ่นงาม อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ผู้บุกเบิกการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ และดูแลความเป็นไปในห้องไอซียูประจำโรงพยาบาล BNH

ก้าวแรก

“พอมาอยู่ในเมืองก็ปรับตัวยาก เราเป็นเด็กท็อปจากต่างจังหวัดที่เรียนได้คะแนนดี แต่พอมาเรียนหมอ เจอเด็กกรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าฉันเหลือตัวนิดเดียว”

จังหวัดเพชรบุรีคือบ้านเกิดของคุณหมอนิวัน เธอเป็นอดีตเด็กกิจกรรมที่มักได้ไปยืนอยู่หน้าเสาธง เป็นตัวแทนโรงเรียนร่วมสารพัดงานประกวด และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานนักเรียนในท้ายที่สุด คุณหมอเติบโตมาในสังคมการศึกษาที่มีคุณพ่อเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และคุณแม่เป็นอาจารย์ในสถาบันเดียวกัน แต่คำสอนสำคัญที่พ่อแม่ปลูกฝังมาแต่เด็กคือ ‘ความอ่อนน้อมความถ่อมตน’

“พ่อแม่สอนให้คุยกับคนงาน คุยกับแม่บ้านด้วยความเคารพ ให้ยกมือไหว้ เข้าไปเรียกคุณลุง คุณป้า ทำให้เราไม่ได้รู้สึกโดดเด่นว่าเป็นลูกอาจารย์หรือมีความแตกต่างจากคนอื่น ของใช้ก็ไม่ให้ซื้อของใหม่ เอาของคนนั้นคนนี้มาใช้ ของเสียก็ให้รู้จักซ่อม พยายามให้เราประหยัด”

“รถแพงขับแล้วบินได้มั้ย คือประโยคที่มักได้ยินจากพ่อกับแม่ เราก็เลยรู้สึกว่าราคาของสิ่งของไม่ได้สำคัญ ปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช้ของแบรนด์เนม ไม่ได้รู้สึกว่ามันแตกต่าง”

กว่าจะเป็นแพทย์

แม้หนทางของเด็กหน้าห้องจะหนีไม่พ้นหมอหรือวิศวะตามกระแสนิยมของเด็กต่างจังหวัดยุคนั้น แต่การได้มาทดลองฝึกงานที่โรงพยาบาลศิริราชทำให้นางสาวนิวันรู้ว่าการได้ช่วยเหลือคนคือ ‘ความสุข’ และเธอก็ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการแพทย์ชนบทรุ่นแรกๆ ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมาพบการปรับตัวครั้งใหญ่ในสังคมใหม่ไกลบ้าน

“จากเดิมที่เคยได้เกรดสี่ ตอนเรียนปีหนึ่งมีครั้งนึงได้ C ก็เศร้าไปเลย เสียใจร้องไห้ว่าจะเราจะเรียนหมอไหวมั้ย จากนั้นก็กลับมาตั้งหลักใหม่แล้วก็พยายามค่อยๆปรับตัว สุดท้ายก็จบมาได้ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ตามที่ตั้งใจ”

เมื่อเรียนจบ คุณหมอนิวันก็กลับไปใช้ทุนที่บ้านเกิดตามเงื่อนไขของโครงการแพทย์ชนบท จังหวัดเพชรบุรีนั่นเป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายหาดหัวหินและมีชายหาดชะอำแหล่งท่องเที่ยวอันลือชื่อ แต่ไกลออกไปยังมีชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามขุนเขาทุรกันดาร หน่วยแพทย์อาสาคือความหวังเดียวให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา คุณหมอนิวันก็เข้าร่วมกับหน่วยอาสาในทุกปีที่ประจำอยู่เพชรบุรี

“เราเห็นสีหน้า และแววตาของพวกเขา แล้วรู้สึกว่าชาวบ้านเขารอคอยให้พวกเราไปถึง เราไปแล้วเราก็ช่วยเขาได้ มันมีความสุข”

“หมอยังทันในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเฮลิคอปเตอร์เสด็จมาดู เราก็ได้ไปถ่ายรูปกับพระองค์ท่านด้วย เป็นความปลื้มปีติในใจของหมอตัวเล็กๆคนหนึ่ง”

อันที่จริง พญ.นิวัน ต้องการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเดิมเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามโครงการแพทย์ชนบทที่ได้มอบโอกาสให้ได้ร่ำเรียนมาจนจบ และอยากเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการแพทย์มากขึ้น แต่ทั้งข้อจำกัดด้านครอบครัว และตำแหน่งแพทย์เฉพาะทางที่สนใจศึกษาต่อนั้น ไม่มีการเปิดให้ทุนจากโรงพยาบาลในบ้านเกิด สุดท้ายเธอต้องตัดสินใจลาออกจากราชการมาเรียนสาขาที่สนใจด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว แต่เธอยังคงให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรี ให้สมกับความตั้งใจเดิมในฐานะ ‘แพทย์ชนบท’

เคียงข้างผู้ป่วยวิกฤติ

“ตอนนั้นไปฟังบรรยายของ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ แล้วรู้สึกว่าอาจารย์พูดเรื่องยากๆได้ดูง่ายไปหมด การได้ฟังบรรยายในวันนั้นเหมือนได้ปลดล็อกข้อสงสัยในใจ ทำให้มั่นใจว่าสามารถศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมได้ และเห็นท่านเป็น Role Model จึงอยากเรียนรู้จากอาจารย์และถ่ายทอดให้ได้เก่งแบบนี้บ้าง”

แพทย์หญิงนิวันชอบดูแลภาพรวมของคนไข้ จึงมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านอายุรกรรมหลังสิ้นสุดการใช้ทุน แต่ระหว่างนั้นเอง คุณตาเกิดล้มป่วยกะทันหันด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หลานที่เป็นหมออย่างเธอกลับไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอจึงตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต

“ตอนนั้นเหมือนเรายังมีความรู้ไม่เพียงพอ รู้สึกว่ามันน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้”  

สุดท้ายคุณตาก็เสียชีวิตลง พร้อมกับข้อสงสัยที่ติดค้างอยู่ในใจมากมายหลากหลายความรู้สึก ทั้งในฐานะหมอคนนึงและฐานะผู้สูญเสียคนในครอบครัว หลังจากวันนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนและแรงผลักดันสำคัญให้ศึกษามากขึ้นและลึกขึ้น และค้นพบว่านอกเหนือจากการรักษาโรค การเข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยคือหัวใจในการรักษาอย่างแท้จริง

“ถ้าอยากทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ก็ต้องเรียนรู้เอง ทำเอง”   

ถึงแม้ว่าแทบทุกโรงพยาบาลจะมีห้องไอซียู แต่ทั้งประเทศกลับมีแพทย์เฉพาะทางเวชบำบัดวิกฤตจำนวนน้อยมาก ปีนึงจะมีคุณหมอที่จบสาขานี้เพียงประมาณ 20 คน งานส่วนนี้คือต้องดูแลทุกอย่างเหมือนแพทย์ประจำบ้านในห้องไอซียู เป็นคนที่ต้องมองภาพรวมคนไข้  คอยประเมิน มอนิเตอร์ และเก็บปัญหาจากทุกระบบเพื่อนำเสนอแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งในหลายโรงพยาบาลก็ให้หมอเฉพาะทางแต่ละระบบดูแลผู้ป่วยวิกฤติกันเองโดยไม่มีหมอประจำห้องไอซียู

สำหรับห้องไอซียูของโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ก็ได้คุณหมอนิวันมาเป็นผู้บุกเบิกและวางระบบการทำงานของห้องไอซียูให้สามารถรองรับผู้ป่วยในขั้นวิกฤติที่ได้มาตรฐานตามแนวทางของโรงเรียนแพทย์

“ตอนมาใหม่ๆ เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ไอซียูที่นี่แทบไม่มีอะไรเลย รับได้แค่เคสที่ไม่หนัก เรามาสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะหนึ่ง อุปกรณ์ต้องทันต่อโรค รองรับการรักษาที่ซับซ้อน และสอง บุคลากรต้องเก่ง ต้องตื่นตัว ต้องพร้อมเรียนรู้ไปกับเรา เราต้องสอนพยาบาลให้มีความรู้ที่จะดูแลคนไข้วิกฤตที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น เขาจะต้องคอยมอนิเตอร์ และเขาจะต้องดูแลคนไข้ด้วยมาตรฐานในระดับสูง”

“ตอนนี้เรามีอุปกรณ์เยอะขึ้น เรามีเคสผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดปอดได้ เราใส่เครื่องพยุงปอดและหัวใจเทียมได้ เรามีระบบต่างๆที่ครบถ้วน ถ้ามีอุปกรณ์เครื่องมือใหม่ที่เราสนใจ ก็สามารถนำเสนอโรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีเคสก่อน และสร้างขึ้นมาเป็นระบบได้”

สิ่งที่สำคัญนอกจากอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว การพัฒนาบุคลากรในห้องไอซียู เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้ทักษะสูงและมีความตื่นรู้ตื่นตัวตลอดเวลา เพื่อการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้

ด้วยนโยบายของโรงพยาบาล BNH ที่เปิดกว้างในการรักษา การพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้ก็ดำเนินการได้อย่างสะดวกด้วยความเป็นองค์กรเอกชน แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมอบอิสระในการรักษาให้คุณหมอสามารถทำงานได้อย่างสบายใจโดยไม่ถูกผูกมัดกับเงื่อนไขทางธุรกิจ แม้ในบางครั้งผู้ป่วยจะประสบปัญหาทางการเงิน โรงพยาบาลจะมอบการรักษาอย่างเต็มที่ก่อน แล้วปัญหาอื่นก็ค่อยๆช่วยคนไข้หาทางออกไปด้วยกัน

คนไข้ในภาวะวิกฤติครึ่งหนึ่งที่คุณหมอนิวันพบ คือชาวต่างชาติที่ประสบเหตุการณ์ไม่คาดคิดในประเทศไทย และไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาล จึงเลือกมารักษาในโรงพยาบาล BNH ซึ่งมีชื่อเสียงในกลุ่มคนต่างชาติ

“บางคนไม่มีประกันการเดินทาง เราก็พยายามติดต่อสถานทูต ติดต่อญาติ หรือบริษัทที่เขามาทำงานด้วยในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เขาเข้ามาเป็นแบบไหน สิ่งสำคัญที่ทำงานแล้วมีความสุข คือโรงพยาบาล BNH ให้ความช่วยเหลือตามมาตรฐานการรักษาเต็มที่ก่อน ไม่ว่าคนไข้ที่เข้ามาจะเป็นใครก็ตาม ที่เหลือค่อยว่ากัน ซึ่งเป็นโยบายที่ทำให้คนเป็นหมออย่างเราทำงานได้เต็มที่ ไม่มีใครมาบังคับว่าเราต้องจัดการในแง่ไหน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเกิดขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีขั้นตอนปฏิบัติสำหรับการดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี”

การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

เวชบำบัดวิกฤติ ส่วนหนึ่งคือการร่วมต่อสู้ทุกหนทางเพื่อให้ภาวะวิกฤติของผู้ป่วยบรรเทาลง แต่อีกส่วนหนึ่งคือการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายให้เขาจากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรีที่สุด หรือ Palliative Care ซึ่งการดูแลจะไม่ใช่แค่ตัวผู้ป่วย แต่รวมถึงคนข้างหลังที่ยังคงรู้สึกทุกข์ใจต่อการจากไปของผู้ป่วย

“สิ่งหนึ่งที่หมอจะคำนึงถึงเสมอ นอกจากตัวผู้ป่วยแล้ว คืออย่าให้ญาติรู้สึกผิดต่อการรักษาแบบประคับประคอง เพราะมันจะติดใจเขาไปตลอดชีวิต โดยที่เราจะต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ อย่างเช่น การถอนการรักษาที่ไม่จำเป็นในกรณีที่การรักษาไม่มีความคืบหน้าแล้ว มันเป็นการทำให้คนไข้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติอย่างสมศักดิ์ศรี ถ้าคนไข้มีความประสงค์จะกลับไปรักษาที่บ้านในระยะสุดท้าย เขาต้องอยู่ในภาวะที่ไม่ทุกข์ทรมาน เช่น หลับไปเฉยๆ และครอบครัวต้องรับกับสภาพนั้นได้ เพราะสำหรับบางคน การที่ไปเสียชีวิตที่บ้านอาจเป็นภาพที่ฝังใจ ดังนั้นต้องมองเป็นภาพรวมทั้งหมด ทั้งผู้อยู่และผู้จาก”

“แต่บางทีหมอก็รู้สึกเศร้า อยากจะร้องไห้นะ แต่ก็ต้องพยายามกลับมาตั้งสติอยู่กับตัวเอง เพราะเรากำลังเป็นผู้นำในการรักษา ถ้าเราร้องไห้ก็ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างดำเนินไปถึงขั้นที่ต้องการได้ มันก็มีเคสที่เราสู้แล้วไม่สำเร็จ ก็พยายามบอกตัวเองว่าทำดีที่สุดแล้ว ส่วนเคสที่เป็นระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่ก็มีอารมณ์ร่วมตอนอยู่ตรงนั้น แต่สุดท้ายแล้วก็รู้ว่าเราทำทุกอย่างให้คนไข้จากไปอย่างสวยงามตามเจตจำนงของเขาแล้ว”

โควิดและแพทย์ที่ตั้งครรภ์

“ตอนนั้นท้อง แล้วโควิดก็ระบาดพอดี”

เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี พ.ศ. 2564 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในวงการแพทย์ทั่วโลกทั้งด้านการรักษาและการป้องกันตัวเองจากโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักดี ตอนนั้นคนไข้ก็มารักษายังโรงพยาบาลบีเอ็นเอช จำนวนมาก ทางโรงพยาบาลต้องเร่งสร้างห้องความดันลบให้เสร็จภายใน 2 อาทิตย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และไอซียู เพื่อไม่ให้คนไข้เหล่านี้ไปแพร่เชื้อให้คนไข้ปกติ และสร้างพื้นที่แยกส่วนในโรงพยาบาลเพื่อรองรับคนไข้โรคอื่นๆ โดยคุณหมอนิวัน ผู้เป็นแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดผู้ป่วยวิกฤติซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรับมือรักษาโรคระบาดร่วมกับคุณหมอหลายๆท่าน ทั้งคุณหมอโรคติดเชื้อและคุณหมอโรคไต

“ช่วงนั้นเราพยายามช่วยกันเป็นทีมวางแผนระดมยา โรงพยาบาล BNH ให้ยาเต็มที่โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องจ่ายเงินหรือไม่ ตอนโควิดมีคนไข้รักษาตัวในไอซียูนานถึง 3-4 เดือน แต่ในช่วงนั้นโรงพยาบาลเราก็ไม่มีใครเสียชีวิตเลย”

และสำหรับคุณหมอนิวัน ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติโรคระบาดตรงกับช่วงเวลาที่เธอกำลังตั้งครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด และพอคลอดลูกกลับมา ก็เป็นช่วงที่โควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก คุณหมอจำเป็นต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาไม่ว่าอยู่ที่ไหนเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะไม่มีใครในครอบครัวรับเชื้อไวรัสจากการทำงานไปจากเธอ

“เวลา Swab ที ก็ลุ้นตลอดเวลา อยู่โรงพยาบาลหมอก็จะใส่หน้ากากตลอด กินข้าวก็ไม่กินกับใคร กลับบ้านไปก็รีบอาบน้ำแต่งตัว เราไม่กลัวเราป่วยเป็นโควิด แต่สิ่งที่กลัวคือการเอาไปติดลูก แต่ถึงวันนี้ลูกก็ยังไม่ติด ก็หวังว่าเขามีภูมิต้านทานจะได้แข็งแรง”

ฟิล์มเอกซเรย์แผ่นนั้น

พญ.นิวัน เป็นคุณหมอระบบทางเดินหายใจที่คลุกคลีกับการดูฟิล์มเอกซเรย์ทรวงอกของคนไข้ บนแผ่นฟิล์มปกติจะมีซี่โครง ปอด หัวใจ แต่มีฟิล์มแผ่นหนึ่งที่มีบางสิ่งต่างออกไป

“Will you marry me?”

คือข้อความประทับบนแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ทรวงอกของสามีคุณหมอในวันขอแต่งงาน จากเพื่อนร่วมรุ่นสมัยมัธยมปลายสู่คนรักช่วงมหาวิทยาลัย แล้วก็ต่างแยกย้ายกันไปเติบโตในเส้นทางของตัวเอง ก่อนโคจรมาเจอกันใหม่ในวันที่ทั้งคู่ต่างพร้อมสร้างทางเดินร่วมกัน

แต่สำหรับแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยวิกฤติที่อะไรก็เกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน ทำให้หมอนิวันไม่สามารถถือประโยชน์ของครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสุด เธอต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนแปลงของคนไข้อยู่ตลอดเวลา เกือบทุกวันที่คุณหมอต้องเข้าโรงพยาบาล บางคราวก็ต้องหายตัวออกจากบ้านตอนดึกเพื่อมาใส่ท่อช่วยหายใจและปรับเครื่องช่วยหายใจ บางทีก็ต้องหายตัวไปในวันหยุดเพื่อมาดูคนไข้ และบางครั้งก็ไม่อาจสลัดความหดหู่จากการสูญเสียคนไข้ที่เคยดูแลมายาวนาน

“เราไปเอาท่อช่วยหายใจออก พอกลับมาบ้าน ลูกก็ถามว่าคนไข้หม่าม้าเป็นไง เอาท่อช่วยหายใจออกแล้วดีขึ้นหรือยัง เวลาไปเที่ยว ลูกก็จะถามว่าใครดูแลคนไข้หม่าม้า เราก็บอกว่าเราฝากหมอคนอื่นช่วยดู เขาก็จะโอเคแล้ว ไปเที่ยวได้อย่างสบายใจ”

“สามีก็เข้าใจ เขาเห็นเรามานานแล้วตั้งแต่สมัยเป็นแฟน ถ้าเรากังวลในบางเคส เขาก็จะคอยให้กำลังใจว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว ก็ชวนกันไปวัด ไปทำบุญ ไปทำอะไรที่ผ่อนคลาย”

เพราะความเข้าใจจากครอบครัวที่เผื่อแผ่ไปถึงคนไข้ ทำให้หมอนิวันมีพลังในการทุ่มเททำงาน และที่เหลือคือเวลาที่มอบให้กับครอบครัวเพื่อสร้างความผูกพัน และปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจให้ลูกเล็กทั้ง 2 คน ได้รับรู้ถึงบทบาทสำคัญของคนเป็นหมอ

“ต่อให้ทำงานเหนื่อยยังไง กลับไปบ้านก็ต้องไปเล่น ไปนอนด้วยกัน ต้องดูแลเขาในช่วงเวลาที่เขาต้องการ พยายามใช้เวลากับช่วงวัยเด็กของเขาให้มากที่สุด ลูกก็เริ่มเข้าใจว่าเราต้องไปทำอะไร เราพยายามบอกเขาและมาเล่าให้เขาฟังว่าคนไข้ดีขึ้นแบบนี้เพราะว่าหนูให้แม่ได้ออกไปทำงาน ไปทำหน้าที่ของหมอ เขาก็เลยรู้สึกมีส่วนในการดูแล เขามีความเอื้ออาทรใส่ใจ ไม่ได้รู้สึกว่าโดนแย่งเวลาไป เราก็มีความสุขที่ลูกเข้าใจ”

เด็กหญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาจากต่างจังหวัด ใช้ชีวิตเรียบง่าย เลือกใช้ชีวิตในเส้นทางที่ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้ในทุกวัน และยังสอนคนรุ่นต่อไปให้มีความเห็นใจและมอบความโอบอ้อมอารีที่จรรโลงโลก คุณหมอนิวันอาจไม่สามารถหยุดผลของธรรมชาติได้ในทุกกรณี แต่ในทุกวินาทีที่เธอได้ดูแลคนไข้ เธอจะทำทุกอย่างเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อพวกเขา

“เรามองคนไข้ที่มาหาเราเป็นคนคนนึง มีจิตใจ มีความรู้สึก เพียงแค่มีเหตุแห่งโรคทุกข์กาย ทำให้ทุกข์ใจตามมา เราไม่ได้มองที่ตัวโรคเพียงอย่างเดียว มองว่าเขาคือญาติพี่น้องของเรา เราจะรู้สึกใส่ใจในการดูแลเขา พยายามทุ่มเททุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ให้เขาหาย เราไม่ได้อยากให้ใครจดจำ แต่อยากให้มองในสิ่งที่เราทำ เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เขาก็จะรู้ว่าเราตั้งใจดูแลคนไข้ ตั้งใจดูแลคนในครอบครัวของเขา และอยากให้เขาหายกลับบ้านอย่างมีความสุข เท่าที่หมอคนหนึ่งจะทำได้”

Articles & Published Content

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์​ | Appointment

พญ. นิวัน กลิ่นงาม

แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต

ความชำนาญพิเศษ

อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต

ภาษา

ไทย, อังกฤษ

ทำนัดหมาย


– Diplomate, Thai Board of Critical Care Medicine, 2015
– Diplomate, Thai Board of Pulmonary Medicine & Pulmonary Critical Care, Chulalongkorn University, 2014
– Diplomate, Thai Board of Internal Medicine, Chulalongkorn University, 2011


– Clinical Fellowship in Critical Care Medicine, Department of Anesthesiology, Chulalongkorn Hospital, 2015
– Clinical Fellowship in Pulmonary and Critical Care Medicine, Chulalongkorn Hospital, 2014
– Residency Training in Internal Medicine, Chulalongkorn Hospital, 2011
– M.S., Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, 2014
– M.D. (First Class Honors), Chulalongkorn University, 2005

ตารางออกตรวจแพทย์
วัน เวลา แผนก
พุธ 12:00 – 16:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
พฤหัสบดี 08:00 – 16:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
ศุกร์ 10:00 – 12:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
จันทร์ 07:00 – 19:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
อังคาร 07:00 – 19:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
พุธ 07:00 – 12:00 แผนกอายุรกรรม, แผนกผู้ป่วยวิกฤต
ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก