ผู้ริเริ่มสารพัดกิจกรรมสร้างสายสัมพันธ์ให้เพื่อนหมอ
– นพ. จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ –
หากตารับภาพได้ไม่ชัดเจน สมองก็รับภาพได้ไม่ดีตามไป ตาที่มองไม่ชัดของเด็กจึงส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆไปด้วย นพ. จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาล BNH หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในเด็ก จึงทุ่มเทดูแลให้เด็กได้ป้องกันโรคทางตาตั้งแต่วันที่ยังไม่สาย นอกจากการทำเพื่อคนไข้แล้ว กิจกรรมยามว่างของคุณหมอยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนรอบตัว รวมถึงเหล่าเพื่อนหมอในโรงพยาบาล
จดหมายจากอากง
นานมาแล้วยังมีหมอจีนคนหนึ่ง ล่องเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่สู่เมืองสยาม และลงหลักปักฐาน ณ จังหวัดนครสวรรค์ หมอจีนช่วยเหลือคนไปทั่วด้วยจิตกุศล เขาไม่เคยคิดเงินค่ารักษา ลูก 10 คน ของหมอจีนก็เติบโตมากับการได้เห็นผู้เป็นพ่อรักษาคน ในชั่วชีวิตของหมอจีนนั้น ไม่มีโอกาสได้เห็นลูกหลานคนไหนได้เรียนหมอ เขาจึงฝากจดหมายที่สั่งสอนและให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตดีๆทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน
“ผมไม่ได้เจออากง เพราะแกเสียไปก่อน แต่เคยเห็นจดหมายที่อากงเขียนฝากถึงลูกหลานเป็นภาษาจีน แล้วพ่อแปลมาให้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็นหมอ”
ด.ช. จรินทร์ ฉายแววเรียนดีมาแต่เด็ก ทำให้ผู้เป็นพ่อฝากความหวังของอากงไว้ที่เขา แต่ชีวิตเด็กเรียนดีจากครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลก็ไม่ได้ราบรื่น คุณพ่อของเขาเป็นชนชั้นแรงงานที่ประกอบอาชีพรับจ้าง แม้ไม่ได้เรียนหนังสือสูง แต่ก็อาศัยทักษะฝีมือควบคู่กับการทำงานอย่างหนักจนเก็บเงินเปิดธุรกิจเล็กๆได้ในวัยเพียงยี่สิบตอนกลาง ความยากจนในอดีตยังเป็นแรงผลักดันให้พ่อยอมทุ่มเทเพื่อมอบการศึกษาในโรงเรียนชั้นนำให้ลูกทั้ง 5 คน
ความที่พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งต้องส่งเสียพี่น้องและดูแลหลานๆ ด้วย คุณแม่ของ ด.ช. จรินทร์ จึงเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว เพื่อหารายได้มาช่วยจุนเจือครอบครัว ในวันหยุด หากมีเวลาว่าง ด.ช.จรินทร์ จึงได้มีโอกาสติดตามคุณแม่ไปจ่ายตลาดบ้าง ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ในร้านบ้าง เช่น ล้างจาน เก็บชาม เช็ดโต๊ะ
“ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกลำบาก ก็ช่วยงานที่บ้านเป็นเรื่องปกติ ช่วงประถมเรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล นั่งรถเมล์ 2 ต่อไปโรงเรียน ผมรู้ว่าบ้านไม่ได้ร่ำรวย เพื่อนเอาของเล่นมาให้ดู เขามีวีดีโอเกมแต่เราไม่มี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกขาด เพราะรู้ว่าพ่อแม่เขาก็ทำเต็มที่ อันนี้เราคิดได้ตั้งแต่เด็ก”
“ชีวิตที่เคยผ่านความลำบากมาบ้าง ก็เลยทำให้ทุกวันนี้มีความอดทนต่ออะไรได้ค่อนข้างดี เวลามีสถานการณ์อะไรเข้ามาก็ช่วยให้ผมไม่ใจร้อนครับ”
พอย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นายจรินทร์เป็นเด็กที่เรียนได้ค่อนข้างดี อนาคตเดียวที่อยากเป็นคือแพทย์ตามที่ได้ตั้งใจมาแต่ยังเล็ก
“ด้วยความเป็นคนที่มีความขี้เกียจ และรักสนุก ทำให้ผลสอบกลางภาคตอน ม. 5 ได้ที่โหล่ของห้อง (หัวเราะ) เครียดเลย มีเวลาเหลืออยู่ 4 เดือน ที่จะต้องสอบเข้าคณะแพทย์ให้ได้ สมัยนั้นผมรู้ว่าเพื่อนทุกคนจะสอบติดแน่นอน แล้วถ้าผมสอบไม่ติดก็จะอายมาก (หัวเราะ) ”
“วันนั้นคิดได้ว่าควรตั้งใจเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว จึงเริ่มอ่านหนังสือจริงจัง วางแผนไว้ว่าวันหนึ่งต้องอ่านให้ได้เท่าไหร่ ตอนนั้นอ่านหนังสือตั้งแต่ 1 ทุ่ม ถึงตี 1 เกือบทุกวัน ตื่นบ้าง ง่วงบ้าง หลับบ้าง (หัวเราะ) พอตั้งใจมันก็ทำได้นะ ผมสอบติดคณะแพทย์ จุฬาฯ ตอน ม.5”

นายจรินทร์จึงได้เป็นลูกหลานในตระกูลคนแรกที่สามารถสืบสานความตั้งใจของอากงในการเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้คน ตอนเรียนหมอปีห้า เขารู้สึกชอบและประทับใจการรักษาโรคทางตา จึงเลือกเรียนต่อในสาขานี้
“ช่วงเวลาที่เปิดตาให้คนไข้ หลังผ่าตัดตา แล้วเขาได้กลับมาเห็นชัดได้ปกติอีกครั้ง มองเห็นหน้าลูกหลาน กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ช่วงเวลานั้นเห็นแล้วก็มีความสุขนะครับ (ยิ้ม)”
Jarino Bistro
“เรียนจบหมอ ก็ไปใช้ทุนที่จังหวัดน่าน ตอนใช้ทุนปีที่สองได้มีโอกาสเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำอำเภอ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก มีแค่ 10 เตียง มีหมอ 2 คน”

ในสมัยก่อนการได้ทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากรยังมีไม่มาก งานบางส่วนคุณหมอจึงต้องฝึกทำด้วยตัวเอง เช่น ถ่ายและล้างฟิล์มเอกซเรย์ ขับรถพยาบาลส่งคนไข้ ประชุมกับหน่วยราชการอื่นๆในอำเภอ นับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯอย่างเขา แต่อีกทักษะที่พัฒนาได้เยอะจากชีวิตไกลปืนเที่ยงนี้คือ การทำอาหาร
“ที่นั่นเป็นอำเภอเล็กมากครับ มีคนอยู่แค่หลักพัน ทั้งอำเภอมีร้านอาหารอยู่ 2 ร้าน ทุ่มนึงก็ปิดแล้ว เลยต้องทำกินเองเป็นส่วนใหญ่”
ช่วงที่ได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา การทำงานและการเรียนค่อนข้างหนัก ในเวลาว่างหมอจรินทร์จึงหาโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆอย่างการถ่ายรูป และการทำอาหาร เพื่อใช้พักผ่อนและคลายเครียดจากงาน
“การทำอาหารและการถ่ายรูป มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เราอยากได้รูปแบบไหน อาหารแบบไหน เราต้องคิดและออกแบบขั้นตอนก่อน แล้วลองลงมือทำ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็ปรับแก้กันไป ทำไปเรื่อยๆก็ดีขึ้นเอง มันสนุกดีครับ”
พอทำอาหารไปสักพัก หมอจรินทร์เคยคิดเล่นๆว่า อนาคตถ้าเปิดร้านอาหาร จะให้ชื่อว่า Jarino Bistro เป็นการผสมคำมาจากชื่อจริง และ ‘โอ’ ซึ่งเป็นชื่อเล่น หลังจากนั้นเวลาโพสต์รูปอาหารลง Facebook ก็เลย tag #jarinobistro ไปสนุกๆ
ต่อมาหมอจรินทร์เริ่มสนใจการดื่มกาแฟ พบว่าเป็นเครื่องดื่มที่น่าสนใจ จึงลองกาแฟ ลองหยิบเล็กผสมน้อยทำเมนูใหม่จากของว่างที่มีเสิร์ฟแต่ละวันในห้องพักแพทย์ หากมีไอศกรีม เพื่อนหมอก็จะได้ทาน Affogato หากมีถั่วเขียวต้มน้ำลำไย เพื่อนหมอก็จะได้ทานอเมริกาโนน้ำลำไย มีเมนูอะไรอยู่ใกล้มือเขาก็ประยุกต์ไปตามเรื่อง จนเกิดเป็น ‘ชมรมกาแฟ BNH’ ซึ่งมีคุณหมอจรินทร์เป็นผู้ริเริ่ม ชมรมนี้ได้สร้างพื้นที่ของคุณหมอสายคาเฟอีนที่ได้มาร่วมกันชิมและอัปเดตความรู้ด้านกาแฟ และยังทำให้ห้องอาหารของแพทย์โรงพยาบาล BNH ไม่เคยขาดบทสนทนา สร้างมิตรภาพในหมู่คนทำงานแม้จะไม่ใช่คอกาแฟ อาจกล่าวได้ว่าสายสัมพันธ์ในหมู่หมอที่ส่งผลดีต่อความร่วมมือในการรักษาคนไข้ ส่วนหนึ่งก็มาจากแก้วกาแฟนี่เอง
“เคยมีคนบอกให้ผมลองเปิดร้านกาแฟ แต่ผมรู้ว่าเราเป็นหมอดีที่สุด เรื่องกาแฟและอาหารขอเป็นงานอดิเรกดีกว่า พอเป็นธุรกิจแล้วมันเหนื่อย ใครอยากจะกินอาหารที่ผมทำ ก็ทำให้เขากิน ใครอยากชิมกินกาแฟ ก็ชงให้ แบบนี้มีความสุขและสนุกกว่าครับ”
มาออกกำลังกายกันเถิด
“เดือนนึงผมมีวันหยุดแค่ 2 วัน การทำงานมันก็มีความเครียดบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่เราก็ใช้วิธีหาอะไรทำที่เราชอบมาสอดแทรกในกิจวัตรประจำวัน ให้ชีวิตมันมีสมดุล เล็กๆน้อยๆก็แทรกเข้าไปเท่าที่ทำได้”
นอกจากอาหารและกาแฟที่หมอจรินทร์นำมายกระดับมิตรภาพระหว่างแพทย์โรงพยาบาล BNH เขายังเป็นคนจัดกิจกรรมแข่งขันออกกำลังกายแบบ virtual ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้จากพื้นที่ของตัวเอง สร้างแรงผลักดันให้คุณหมอได้หันกลับมาดูแลสุขภาพ มอบ Complete Care ให้ตัวเอง ในแบบที่ได้พร่ำบอกคนไข้
“ผมมีเพื่อนที่เก่งทำซอฟต์แวร์สำหรับลงคะแนนการออกกำลังกาย จึงขอให้มาช่วยจัดกิจกรรม Virtual Sports แล้วแบ่งทีมกัน มีการลงคะแนนแข่งกัน ใครจะเล่นกีฬาอะไรก็ได้ พอลงปุ๊บระบบจะคำนวณคะแนนเก็บไว้ ผมพยายามคิดวิธีให้คุณหมอทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรม อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายไม่ไหวผมก็ให้เขานับก้าวเดินเอา เดี๋ยวนี้บางวันคุณหมอเขาก็ชวนกันไปออกกำลังกายกันครับ”

ดวงตาคือหน้าต่างของทุกสิ่ง

“ผมมองเห็นกระดานที่โรงเรียนไม่ชัด”
คำพูดของเด็กชายวัย 8 ขวบ ที่คุณแม่เข้าใจว่าเป็นข้ออ้างในการไม่ตั้งใจเรียนจนคุณครูต้องเขียนจดหมายมารายงาน ลูกจะมีปัญหาสายตาได้อย่างไรในเมื่อพ่อกับแม่สายตาดี จนวันหนึ่งคุณแม่พาน้องมาตรวจที่โรงพยาบาล BNH แล้วผลคือเด็กมีอาการตามัวจริง น้องเป็นตาขี้เกียจ ที่เป็นผลจากสายตาเอียงมากทั้งสองข้าง และเพื่อความเข้าใจของคุณแม่ หมอจรินทร์จึงปรับเลนส์แว่นอีกตัวตามค่าสายตาของลูกให้คุณแม่ลองสวม เพื่อให้เขาลองมองเห็นในแบบที่ลูกเห็นมาโดยตลอด
“คุณแม่รู้สึกผิดมากเพราะว่าเขาเข้าใจผิดมาตลอดว่าลูกไม่ตั้งใจเรียน จึงมีผลการเรียนที่ไม่ดี”
มองเห็นภาพมัว ภาพไม่ชัด ไม่ใช่สิ่งที่จะรู้สึกแทนกันได้ โดยเฉพาะการมองเห็นที่ผิดปกติในเด็ก ซึ่งเขาจะไม่สามารถอธิบายความผิดปกตินั้นออกมาได้ เพียงสามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ ผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าเด็กไม่มีปัญหาอะไร แต่ภาพที่ไม่ชัดนั้นมันส่งผลต่อพัฒนาการและการใช้ชีวิตของเขา คุณหมอจรินทร์จึงมาสนใจงานรักษาสายตาเด็ก เพราะอยากแก้ไขความผิดปกติในช่วงต้นของชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อไปอีกทั้งชีวิต
“การวัดสายตาและตรวจตาเด็กจะใช้วิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่พอสมควร เช่น อาจจะมีการหยอดยาขยายม่านตา ตรวจการเคลื่อนไหวของตา การมองเห็นสี การมองภาพสามมิติ ฯลฯ เด็กที่ตามัว อาจจะไม่ได้เกิดจากแค่สายตาผิดปกติ แต่อาจมีโรคอื่นๆในตาที่ทำให้ตามองไม่ชัดอื่นๆด้วย ที่เราต้องตรวจให้เจอ และให้การรักษา”
เพื่อป้องกันและรักษาความผิดปกติก่อนจะสายเกินแก้ หมอจรินทร์จึงร่วมมือกับคุณหมอเด็กในโรงพยาบาล จัดทำโปรแกรมตรวจสุขภาพตาเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 4-6 ขวบ ซึ่งต้องใช้ทักษะเพื่อเข้าใจอาการของเด็กที่ไม่สามารถอธิบายภาพที่ตัวเองมองเห็นได้
“โรงพยาบาล BNH เราเป็น โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงด้านการดูแลเด็กมากๆครับ คุณหมอกุมารแพทย์ที่เราเก่งกันมาก การประสานงานจึงค่อนข้างง่าย นอกจากนี้ผู้บริหารก็ให้การสนับสนุนงานต่างๆมากครับ ช่วยให้ผมสามารถทำงานได้เต็มที่ การทำงานที่นี่จึงมีความสุขและได้ผลงานที่ดี”
การทำงานกับเด็กนั้น อันดับแรกต้องสร้างความเป็นกันเอง หมอจรินทร์ชื่นชอบและฝึกฝนมายากลด้วยตัวเองมาแต่เด็ก จนทุกวันนี้ มายากลเหรียญแบบง่ายๆ กลายเป็นของเด็ดที่คุณหมอใช้มัดใจคนไข้เด็ก จนเด็กบางคนทวงถามหามายากลทุกครั้งที่มาพบคุณหมอ
นอกจากนี้ คุณหมอจรินทร์ยังจัดทำ Facebook Page ส่วนตัว เพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไปเกี่ยวกับโรคตาในเด็ก ในชื่อ ‘คุยกับหมอตาเด็ก’ อีกด้วย
ดวงตาเป็นอวัยวะที่หมอสามารถมองเข้าไปเห็นเส้นเลือดของคนไข้ได้ ในบางครั้ง การตรวจเส้นเลือดในตาสามารถบอกถึงโรคอื่นๆของคนไข้ได้ เช่น เส้นเลือดที่ตาแข็งจากไขมันพอกบ่งบอกโรคความดันโลหิตสูงหรือหลอดเลือดตีบจากไขมัน หรือเส้นเลือดผิดปกติในโรคเบาหวาน ดังนั้นการตรวจดวงตาเป็นประจำจึงมีความสำคัญ นอกจากจะตรวจหาความผิดปกติของตาทั่วไป อย่างต้อหินหรือต้อกระจกแล้ว ยังช่วยประเมินสุขภาพด้านอื่นของคนไข้ได้ด้วย
“ผมแนะนำคนอายุ 40 ขึ้นไป ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ตรวจความสามารถในการมองเห็น ค่าสายตา ความดันลูกตา ตรวจตาทั้งส่วนหน้าและในลูกตาอย่างละเอียด ถ้าเจอความผิดปกติ การรักษาแต่เนิ่นๆจะช่วยป้องกันหรือชะลอการสูญเสียการมองเห็นได้มาก ”

การได้ลงมือทำในสิ่งที่สนใจไม่เพียงมอบความสุขและความสนุกให้กับคุณหมอจรินทร์ แต่ผลนั้นยังเป็นดังคลื่นกระเพื่อมที่ส่งแรงบันดาลใจไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนรอบตัว และสร้างสายสัมพันธ์ที่ก่อประโยชน์ทั้งต่อคนไข้และต่อตัวผู้คนเหล่านั้นเอง
“สมัยเด็กๆ ผมเคยคิดเล่นๆว่าตัวเองอาจมีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น แต่พอเวลาผ่านไป ผมก็รู้สึกว่าผมเป็นคนธรรมดามากๆคนหนึ่งนี่เอง มีแนวทางการดำเนินชีวิตคือต้องไม่โลภ ความโลภทำให้ทุกอย่างเสียหาย ทำให้เราไม่ซื่อสัตย์ ไม่ตรงไปตรงมา การคิดถึงคนอื่นให้เยอะ เยอะกว่าคิดถึงตัวเอง จะทำให้สังคมมันน่าอยู่ ผมช่วยเหลือใครได้ก็พยายามจะช่วย แค่เราไม่ได้เป็นภาระกับใครก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีใครมาจดจำผมก็ได้”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ
แผนกตา
ความชำนาญพิเศษ
จักษุวิทยาอนุสาขาจักษุวิทยาเด็กและตาเข
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– MD, Chulalongkorn University ( 2001)
– Thai Board of Ophthalmology, Rajavithi Hospital, Mahidol University (2012)
– Sub-Board of Pediatric Ophthalmology &Strabismus, Siriraj Hospital (2013)
– Research Fellow in Ocular Oncology, Wills Eye Hospital, Philadelphia,Pennsylvania (2014)
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
พุธ | 08:00 – 17:00 | แผนกตา |
พฤหัสบดี | 08:00 – 12:00 | แผนกตา |
ศุกร์ | 09:00 – 19:00 | แผนกตา (เฉพาะศุกร์ที่ 1, 3, 5 ของเดือน(Only 1st, 3rd, 5th Friday of the month)) |
ศุกร์ | 13:00 – 19:00 | แผนกตา (เฉพาะศุกร์ที่ 2, 4 ของเดือน(Only 2nd, 4th Friday of the month)) |
เสาร์ | 09:00 – 17:00 | แผนกตา |