หมอภูมิคุ้มกันวิทยา รักษาคนไข้ด้วย 4 ภาษา
– นพ. ยุทธนา บุษยวิทย์ –
เสื้อกาวน์แพทย์คลุมทับเสื้อเชิ้ตสีสุภาพ แต่โดดเด่นด้วยเนกไทหรือหูกระต่ายสีสันสดใส เป็นเครื่องแบบที่ใครเห็นก็จดจำได้ของ นพ. ยุทธนา บุษยวิทย์ แพทย์ภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคภูมิแพ้ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาล BNH บุคลิกของคุณหมอก็ให้ความรู้สึกเหมือนชาวตะวันตก จนเป็นหนึ่งในคุณหมอที่คนไข้ต่างชาติไว้ใจ เพราะเขาสามารถรักษาคนไข้ได้โดยไม่มีกำแพงทางภาษาและวัฒนธรรม
ฝันให้ไกล แล้วไปเมืองนอก
ยุทธนาใฝ่ฝันมาแต่เด็กว่าต้องได้ไปเรียนที่ยุโรป
ภูมิลำเนาเดิมของเขาอยู่ที่ชุมพร แต่ก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนหนังสือ ในยุคสมัยเมื่อกว่า 50 ปีก่อน การเรียนภาษาอังกฤษยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย แต่ยุทธนาโตมาในโรงเรียนคาทอลิกที่ให้ความสำคัญกับภาษา ถึงขนาดริเริ่มนำเอา Sound Lab มาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศ ทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของยุทธนาอยู่ในเกณฑ์ดี
หากฝันจะได้ไปต่างประเทศ การเรียนเศรษฐศาสตร์น่าจะเหมาะ นี่คือความตั้งใจเดิมของเขา แต่สุดท้าย ยุทธนาก็เลือกเรียนหมอตามความต้องการของครอบครัว ทางเลือกนี้ทำให้เขาย้ายที่อยู่อีกครั้งไปไกลถึงเชียงใหม่

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีการแพทย์ในทวีปยุโรป ประเทศเยอรมนีอยู่ระดับต้น ๆ ที่นี่จึงเป็นหมุดหมายที่ นศพ.ยุทธนา จะต้องไปให้ถึง เขาตั้งเป้าคว้าทุนรัฐบาลเยอรมนีโดยจ้างครูชาวเยอรมันมาสอนภาษาตั้งแต่เริ่มเรียนแพทย์ปี 1 ไปพร้อมกับเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่สถานสอนภาษาเอยูเอหลังเลิกเรียน
“ถ้าต้องการทําอะไร เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองไว้ก่อน เมื่อมีโชคมาถึงเราก็สามารถรับได้ทันที แต่ถ้าภาษาไม่ดี มันก็ได้ทุนไม่ได้ อย่างน้อยภาษาอังกฤษเราต้องดีเยี่ยมใช่มั้ย”
เมื่อเรียนจบแล้วออกไปใช้ทุนที่จังหวัดพิษณุโลก หมอยุทธนาก็ใช้เวลา 3 ปีนี้เพื่อเตรียมตัวคว้าทุนรัฐบาลเยอรมันไปเรียนต่อ
“ทุนนี้มันไม่มีโควตาประเทศไทย เพราะฉะนั้นผมต้องแข่งกับคนจากทั่วโลก ต้องไปสอบภาษาเยอรมันด้วย แล้วผมก็สอบวัดระดับทางภาษาได้ระดับสูงกว่าที่มีสอนที่สถาบันเกอเธ่เมื่อตอนนั้นอีก”
หมอยุทธนาได้ทุนไปเรียนต่อที่ University of Erlangen Nurnberg ทางตอนใต้ของเยอรมนี เมื่อไปถึงใหม่ ๆ มีบ่อยครั้งที่เขาอยากเก็บกระเป๋ากลับบ้าน แต่ก็ทำใจดีสู้เสืออดทนเรียนต่อไป 2 ปีแรกเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวของเขา เขายังไม่ค่อยได้มีเพื่อน ยังไม่ได้ไปเที่ยวไหน และยังไม่ได้กลับบ้านเลยสักครั้ง
“2 ปีแรก เป็นช่วงที่ยากที่สุดเพราะเราจะต้องปรับตัว ไม่ค่อยมีใครยอมพูดกับผม กว่าคนที่นั่นจะเข้ามาสนิทก็ต้องใช้เวลา แล้วค่อยเป็นทีมเดียวกับเขาได้ ภาษาเราต้องดีด้วยไม่งั้นโดนคนที่นั่นแกล้งเอาได้”
หมอยุทธนาเลือกเรียนด้านภูมิต้านทานวิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้จักกัน และเป็นอีกสาเหตุให้เขาได้ทุนเรียนต่อง่ายขึ้นด้วย จนเมื่อเรียนจบ เขาก็ได้รับการทาบทามให้อยู่ทำงานต่อที่นั่นในแผนกภูมิแพ้
ชีวิตในเยอรมนีของหมอยุทธนาคือการทำงานหนัก เที่ยวบ้าง และต้องดื่มให้เป็นตามแบบวัฒนธรรมและผู้คนของเขา ในเมืองที่คุณหมออยู่แทบไม่มีคนไทยเลย ร้านอาหารเอเชียก็มีเพียงอาหารจีนและอินเดีย จึงแทบไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ในวันที่เขาคิดถึงบ้าน
ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนีรวม 8 ปี หมอยุทธนาพาตัวเป็นขึ้นไปได้ไกลถึงระดับแพทย์ประจำบ้าน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่อง Work Permit ที่ต้องต่อแบบปีต่อปีตามการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา ทำให้เขายากที่จะวางแผนชีวิตในระยะยาว แม้ว่าหัวหน้างานในขณะนั้นจะชื่นชอบเขามาก แต่หมอยุทธนาก็ตัดสินใจย้ายกลับประเทศไทยอย่างถาวรในที่สุด
“ยังจําได้เลยในวันเลี้ยงส่งเรา อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าสายตรงเอาธงชาติไทยมาติดในงาน ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ คือเขายกย่องประเทศเรา”
หมอยุทธนากลับจากประเทศเยอรมนีแล้วก็มาทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะมาร่วมงานกับโรงพยาบาล BNH ใน พ.ศ.2544 จนถึงตอนนี้ก็กว่า 20 ปีแล้ว

เยอรมนีสอนให้ประหยัด

สิ่งสำคัญที่หมอยุทธนาได้มาจากการใช้ชีวิตที่เยอรมนี คือ ความประหยัด
“เราไปดูหนังแล้วเห็นว่าชาวตะวันตกเขาฟุ้งเฟ้อ ที่จริงแล้วไม่ใช่ เขาไม่ได้ถูกสอนกันอย่างนั้น เขาประหยัด ทำทุกอย่างกันด้วยตัวเอง”
เมื่ออาศัยอยู่ในวัฒนธรรมเช่นนั้นนาน หมอยุทธนาจึงทำหลายอย่างได้ด้วยตัวเอง อย่างอาหาร อยู่ที่นั่นเขาเข้าครัวทำอาหารไทยเองเพราะหาซื้อทานไม่ได้ พอทำเลี้ยงเพื่อนต่างชาติ เพื่อน ๆ ก็ชอบ เขายังได้ฝึกทำเมนูอาหารเยอรมัน และจำติดตัวมาถึงทุกวันนี้ รวมถึงพวกขนมหลายอย่าง พอปัจจุบันมี YouTube เข้ามา เขาก็ไปหาคลิปเรียนรู้เทคนิคเพิ่มเติม และปรับเป็นสไตล์ของตัวเอง
“ทุกวันนี้ ทำอาหารเยอรมันกินเองเพราะคิดถึงความหลังด้วย ชอบทำขาหมูเยอรมันที่สุดแล้ว ปกติทำอาหารอาทิตย์ละครั้งเดียวแล้วก็ใส่ตู้เย็นไว้กินทั้งอาทิตย์เลย”
ภายในคอนโดของคุณหมอมีเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร ในบรรยากาศการตกแต่งที่ไม่มีใครเหมือน เพราะทั้งหมดนั้น เขาก็ทำเองอีกเช่นกัน
“คอนโดผมก็แต่งเองจัดเอง ออกมาเป็นสไตล์ยุโรปเลย ดูแล้วก็ภูมิใจว่าทําเองนะ พวกเฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ต้องซื้อใหม่ เอาของเก่าอย่างเฟอร์นิเจอร์หวายของแม่มาพ่นสีใหม่ เป็นสีแดงเหมือนศาลเจ้า แกมสีดํานิดนึง ออกมาสวยมาก ๆ”
หมอยุทธนายังมีบ้านอีกหลังในสวนปาล์มของครอบครัวที่จังหวัดชุมพร ซึ่งเขาและพี่น้องลงขันกันสร้างสำหรับไว้อยู่ด้วยกันยามเกษียณ นอกจากงานโครงสร้างและหลังคาที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำแล้ว ผนังกับสีสันของบ้าน ก็มีหมอยุทธนาเป็นคนดูแลเอง แบบค่อย ๆ ปรับ แต่ง เติม มากับมือ
“ผมทําเองหมด รวมทั้งเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เอง ไม่เคยจ้างอินทีเรียดีไซน์ แต่ตอนนี้ทําต่อไม่ได้แล้ว ปีนบันไดลิงไม่ไหว เดี๋ยวตกลงมา”
บ้านอีกหลังของหมอยุทธนาอยู่ชานเมืองกรุง ซึ่งเขามักกลับไปอยู่ทุกวันหยุด บ้านหลังนี้มีพื้นที่เพียงพอให้คุณหมอได้ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว และพืชผักหลายอย่างก็เป็นวัตถุดิบในอาหารและขนมที่เขาทำทานเอง
“ผมปลูกได้ทุกอย่าง มีทั้งต้นไม้ใหญ่เล็ก ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษ แต่ว่าต้องเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก เพราะผมไปได้เฉพาะวันหยุด”
สารพัดสิ่งที่ลงมือทำเองของคุณหมอ ไม่ใช่เพียงเพื่อความประหยัด แต่มันคือสมดุลความสุขตามประสาคนอินโทรเวิร์ตอย่างเขา ที่สุขกับการได้อยู่กับตัวเอง
“เราสบายใจกับการไม่ต้องมีอะไรเยอะ เมื่อมีความเพียงพอและพอดีอยู่ในตัว ก็เป็นชีวิตที่มีสงบ และมีความสุขที่แท้จริง โดยไม่จําเป็นต้องไปเที่ยว ไปช้อปปิ้ง อันนั้นมันเป็นเรื่องอดีตที่เราเคยผ่านมาแล้ว ตอนนี้แค่อยู่กับตัวเองได้ ก็ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข”

ภาษาไม่ใช่อุปสรรค
ภาษาที่หมอยุทธนาสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว คือภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส
“ผมมีพรสวรรค์ด้านนี้ เรียนภาษาได้เร็ว แต่ภาษามันเป็นอะไรที่เราต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ก็จะลืม”

จุดเริ่มต้นของภาษาอังกฤษและเยอรมันนั้น คงทราบได้จากประวัติของคุณหมออยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ชอบภาษามาก เขาจึงเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพเมื่อกลับมาเมืองไทย จนถึงตอนนี้ก็เรียนจนจบระดับสูงสุด และสามารถแต่งบทกวีในภาษาฝรั่งเศสได้แล้ว
“การเรียนภาษาเนี่ย เราได้เรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนต่างชาติด้วยจากบทเรียนภาษานี่แหละ เพราะรูปประโยค เรื่องราวที่เราเรียน มันสะท้อนวิถีชีวิตประจําวันของเขา คําพูดที่เขาใช้ประจําวัน พอเรามีความรู้มากขึ้น เราก็เข้าใจเขาได้มากขึ้น”
ด้วยโรงพยาบาล BNH มีจำนวนคนไข้ต่างชาติเยอะ การได้ดูแลคนไข้ที่นี่จึงเหมาะสมกับทักษะทางภาษาของคุณหมอ เมื่อภาษาไม่ใช่อุปสรรค คนไข้หลายคนจึงพูดคุยกับคุณหมอได้อย่างสบายใจ สะดวกใจที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เขาฟังด้วยภาษาที่ตนเองถนัด เมื่อได้รู้จักคนไข้มากขึ้น ก็ได้เห็นแนวโน้มความผิดปกติในด้านต่าง ๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงคนใกล้ตัว ซึ่งนำไปสู่การรักษาที่ครบถ้วนและครอบคลุมรอบด้าน หรือ Complete Care ตามแนวทางของโรงพยาบาล BNH
“บางทีคนไข้เขาก็อธิบายไม่ถูกหรอก โดยเฉพาะคนมีอายุหน่อยที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจํา ถ้าเขาได้อธิบายเป็นภาษาของเขาเองได้ มันก็ดีกว่า”
หมอยุทธนายังเคยเรียนภาษาจีนอยู่ 2 ปี ภาษาจีนมีหลักไวยากรณ์ใกล้เคียงกับภาษาไทย เขาจึงเรียนได้ไม่ยาก แต่เขาบอกว่าทักษะตอนนี้ยังไม่สามารถสื่อสารประเด็นยาก ๆ ได้มากเหมือนภาษาอื่น ๆ
“ยิ่งเราเป็นที่ไว้วางใจจากคนไข้มากเท่าไร เขาก็จะเปิดใจให้เราได้รับฟังมากเท่านั้น เราก็จะรู้เรื่องของเขา ครอบครัวเขา ผมดีใจที่ได้รับความเชื่อใจจากคนไข้จนมีคนไข้ประจำหลายคน”
เมื่อลดกำแพงทางภาษาและวัฒนธรรมลง และเพิ่มความจริงใจและเห็นใจ ความเข้าใจคนไข้ก็เกิดได้ไม่ยาก นำมาซึ่งผลลัพธ์ทางการรักษาที่มากกว่า แบบที่หมอยุทธนามอบให้คนไข้เป็นประจำ
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. ยุทธนา บุษยวิทย์
แผนกอายุรกรรม
ความชำนาญพิเศษ
โรคภูมิแพ้
ภาษา
ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส,เยอรมัน
– Internist, Allergology, Clinical Immunology
– University of Erlangen Nurnberg, Germany
– M.D., Chiangmai University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 16:00 | แผนกอายุรกรรม |
อังคาร | 08:00 – 16:00 | แผนกอายุรกรรม |
พุธ | 08:00 – 16:00 | แผนกอายุรกรรม |
พฤหัสบดี | 08:00 – 16:00 | แผนกอายุรกรรม |
อาทิตย์ | 08:00 – 16:00 | แผนกอายุรกรรม |