การเดินทางกว่า 40 ปี ในวงการสูตินรีเวชของ
ศ.นพ. เยื้อน อากงหมอที่เหล่าคนดังและเซเลบไว้ใจ
กับชีวิตที่ไม่มีวันไหนไม่ออกกำลังกาย
– ศ.นพ. เยื้อน ตันนิรันดร –
คำว่า ‘อากงหมอ’ ที่คนไข้ใช้เรียก ศ. นพ. เยื้อน ตันนิรันดร สูตินรีแพทย์อาวุโส ผู้เคยสร้างคุโณปการให้วงการเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์มามากมายก่อนมาประจำที่โรงพยาบาล BNH ไม่เพียงบ่งบอกประสบการณ์ชั้นครูกว่า 40 ปี แต่ยังมีที่มาจากทารกบางรายที่คุณหมอเคยพาจากครรภ์มารดาออกสู่โลกกว้างในวันนั้น หลายท่านยังกลับมาเป็นคุณแม่ที่ผูกพันไว้ใจให้คุณหมอทำคลอดแก่ทารกรุ่นหลานในวันนี้
จากสำเพ็งสู่ลอนดอน
“คุณพ่อไม่อยากให้เรียนหมอ อยากให้ช่วยค้าขาย”
ครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในเมืองไทยแต่เก่าก่อนนั้นขึ้นชื่อเรื่องการค้าขาย และนิยมให้ลูกหลานสานต่อกิจการในครอบครัว ครอบครัวของ ด.ช.เยื้อน ก็เช่นกัน ชีวิตของเขาและพี่น้องอีก 7 คนในวัยเด็กวนเวียนอยู่กับการขายผ้าในตรอกหัวเม็ดย่านสำเพ็ง ช่วงปิดเทอมคือช่วงเวลาสั่งสมประสบการณ์ทางการค้าไม่ใช่เวลาเที่ยวเล่น แม้จะค้าขายจนชำนาญ แต่ ด.ช.เยื้อนกลับรู้สึกไม่สนุกกับการเก็บเงินจากลูกค้าและเฝ้าร้าน เขาอยากทำอาชีพที่มีประโยชน์และมีอิสรภาพมากกว่านี้

แล้ววันหนึ่งเมื่อพี่น้องในครอบครัวป่วยลง ครอบครัวก็พากันไปคลินิกของ ศ.นพ. ประสงค์ ตู้จินดา หมอเด็กที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น สิ่งที่ ด.ช.เยื้อน ได้เห็นไม่เพียงการรักษา แต่เป็นความศรัทธาที่คนไข้มอบให้ จำนวนรองเท้าที่เรียงเป็นแถวยาวหน้าคลินิกคือจำนวนคนไข้ที่มารอคิวจำนวนมาก และคุณหมอก็พูดดีปฏิบัติดีกับคนไข้ทุกคน ความประทับใจในวันนั้นได้จุดประกายให้เขาอยากเป็นหมอ แม้จะเป็นคนละเส้นทางกับอนาคตที่ครอบครัววางไว้ให้
ก่อนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายเยื้อนและเพื่อนอีกคนได้แอบที่บ้านไปเรียนพิเศษเพื่อจะสอบเข้าเรียนหมอ แล้วก็ทำสำเร็จ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชคดีที่ในบรรดาพี่น้องที่เหลือ มีคนยินดีสานต่อกิจการของครอบครัว คุณพ่อจึงยอมให้เขาได้เรียนในสิ่งที่สนใจ ซึ่งนิสิตแพทย์เยื้อน ไม่เพียงทำได้ดี แต่ทำได้ดีที่สุดในรุ่น คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ทั้งตอนเรียนจบปี 4 และปี 6 ไปพร้อมกับทักษะการใช้ชีวิตของนักศึกษารั้วจามจุรี เวลาว่างก็เฮฮากับเพื่อน กลับมาก็ตั้งใจเรียน เก็บประสบการณ์ได้ครบทั้งในและนอกตำรา
หลังจากเรียนจบเป็นสูตินรีแพทย์ นายแพทย์เยื้อนก็ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ลัดฟ้าไปศึกษาต่อด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ที่ University of London โดยมีความในใจว่าอยากวินิจฉัยทารกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ชีวิตในต่างแดนของคนเอเชียสมัยที่กระแสความหลากหลายยังไม่แพร่หลายนั้นไม่ง่าย คุณหมอโดนดูถูกจากชาวตะวันตก แต่ระยะเวลาและความสามารถก็ทำให้คนต่างชาติยอมรับ และร่วมกันผลิตงานวิจัยทางการแพทย์กับทีมงานนานาชาติอีก 5 คน รวม 19 เรื่อง ภายในระยะเวลา 2 ปี บทเรียนที่ลอนดอนของคุณหมอทั้งองค์ความรู้ทางการแพทย์และการทำงานเป็นทีมได้ถูกส่งต่อประโยชน์สู่วงการแพทย์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน
“ไปอยู่นู่นได้รู้หลักคิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม ตอนนั้นส่วนใหญ่มีแต่คนต่างชาติ ทุกคนปากกัดตีนถีบมาเรียน เราเป็นทีมที่ดี และผลิตผลงานวิจัยสู้กับทางอเมริกา ทุกเย็นมาเขียนงานวิจัยกัน เสาร์อาทิตย์ก็ไปเฮฮา กลับมาวันจันทร์ก็เขียนงานวิจัยร่วมกันต่อ”
คุณหมอผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง
“การวินิจฉัยและรักษาทารกในครรภ์เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง แล้วเราคิดว่าน่าจะริเริ่มหน่วยงานนี้ในไทยได้แล้วเพื่อให้ทัดเทียมกับต่างชาติ”
นายแพทย์เยื้อนกลับจากลอนดอนมาเป็นอาจารย์หมอประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีหน่วยย่อยเฉพาะทางเพื่อดูแลรักษามารดาและทารกในครรภ์โดยเฉพาะ อาจารย์เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรนี้ที่จุฬาฯเป็นที่แรก และต่อมาก็เปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ
สมัยทำงานวิจัยที่ลอนดอน ทีมงานของอาจารย์มีผลงานเด่นคืองานวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์และการรักษาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สิ่งนี้ก็ถูกนำมาต่อยอดเป็นเทคโนโลยีการเจาะเลือดมารดาเพื่อบอกความผิดปกติของโครโมโซมทารกได้อย่างปลอดภัย รวดเร็วและแม่นยำ (Noninvasive prenatal testing : NIPT) โดยเริ่มใช้ครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และคุณหมอเยื้อนยังเป็นผู้นำคลื่นเสียงความถี่สูงมาใช้ในการวินิจฉัยทารกในครรภ์ร่วมกับการรักษาทารกในครรภ์ในภาวะต่างๆ ด้วยข้อมูลวิจัยกับตัวเลขทางสถิติที่เก็บรวบรวมมานาน ทำให้คนค่อยๆเปิดใจยอมรับนวัตกรรมใหม่นี้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในการดูแลมารดาและทารกเป็นอย่างมาก
“สมัยก่อนเจอทารกผิดปกติในครรภ์ก็ส่งมาที่โรงเรียนแพทย์ ก็คิดว่าทำให้คนไข้สิ้นเปลือง ปัจจุบันเราก็สอนและผลิตแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) แล้วก็ส่งไปประจำตามจังหวัดต่างๆ ให้รักษาคนไข้ได้กว้างขวางขึ้น”

อาจารย์เยื้อนสร้างบุคลากรทางการแพทย์มานับไม่ถ้วนนับแต่วันที่กลับจากอังกฤษจนวันเกษียณในวัย 60 ปี แม้ในปัจจุบันอาจารย์ยังคงใช้ประสบการณ์และความสามารถของแพทย์รุ่นใหญ่เพื่อสร้างแพทย์รุ่นใหม่ ในฐานะอาจารย์พิเศษที่สถาบันเดิม ควบคู่กับงานดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ทั้งทางกายและใจร่วมกับทีมงานคุณภาพจากโรงพยาบาล BNH
ผลงานที่อาจารย์เยื้อนได้มอบแก่โรงเรียนแพทย์ยังนำมาสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ที่พิสูจน์ความสามารถจนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งศาสตราจารย์ในวัยต้นสี่สิบ ซึ่งนับเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น และสู่เกียรติภูมิสูงสุดในวัยต้นห้าสิบ คือการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ในปี พ.ศ. 2551 ที่มอบให้แก่ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน
คุณหมอของคนดัง
“เราดูแลคนไข้ทุกคนเหมือนกัน ไม่ค่อยชอบสืบประวัติคนไข้ พอพยาบาลบอกว่าคนนี้เป็นคนดัง เราก็โอเคคุยกับเขาตามปกติ แต่เราไม่ได้เลือกปฏิบัติ”
ด้วยประสบการณ์ในการดูแลแม่และเด็กมายาวนาน ทำให้คุณแม่กว่าหมื่นรายไว้ใจในการทำคลอดกับคุณหมอเยื้อน ความพอใจและเชื่อในฝีมือจากคนไข้สะท้อนมาในรูปของคำแนะนำจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีบุคคลในวงสังคมที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ทั้งครอบครัวนักธุรกิจใหญ่ นักแสดงชื่อดัง ได้เจาะจงเลือกฝากครรภ์กับคุณหมอ คนไข้บางรายที่อาจารย์เยื้อนเคยทำคลอดให้ พอโตขึ้นเป็นคุณแม่ ก็ยังกลับมาให้คุณหมอดูแล
อย่างไรก็ตาม การได้ดูแลคนดังไม่ใช่สิ่งซึ่งคุณหมอมองว่าเป็นความสำเร็จ ในฐานะสูตินรีแพทย์นั้น เพียงได้เห็นคนไข้มีความสุข คลอดลูกออกมาแล้วลูกแข็งแรงและคุณแม่ปลอดภัย เท่านี้ก็สร้างความภาคภูมิใจให้ชีวิตคุณหมอมากเหลือเกิน
“เราจะรู้ได้ไงว่าใกล้ชิดกับคนไข้มาก ก็เวลาเราไปข้างนอกแล้วคนไข้มักวิ่งเข้ามาทักเหมือนญาติสนิท มาถามว่าหมอจำหนูได้ไหม หมอทำคลอดให้หนูไง ตอนนี้ลูกหนูโตแล้ว ตอนนี้ลูกเขาเติบโตมาเป็นยังไง ก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่เห็นเขาได้โตมาทำประโยชน์ให้สังคม”
สิ่งที่อาจารย์เยื้อนยึดถือและทำให้ทุกคนยอมรับในการทำงานมาอย่างยาวนาน คือความตรงต่อเวลา เพราะสูตินรีแพทย์ต้องดูแลคนสองคนคือแม่และเด็ก ทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลาแม้ว่าคนไข้จะไม่ถือฤกษ์ยามในการคลอดก็ตาม และการทำคลอดคือการทำงานเป็นทีม ในห้องคลอดนั้นมีทั้งกุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ พยาบาล ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมจึงมาสายไม่ได้ ความตรงต่อเวลาของคุณหมอนั้นยังสะท้อนออกมาในการใช้ชีวิตด้านอื่นด้วย ไม่ว่าในฐานะสามี พ่อ อาจารย์ หรือกรรมการสมาคมต่างๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นวินัยในการดำรงชีวิตที่สร้างสมดุลชีวิตให้คุณหมอสามารถจัดการงานทุกอย่างได้รวดเร็ว และจัดสรรเวลาเพื่อเรื่องส่วนตัวได้เป็นอย่างดี
“เพราะเวลาเรียกคืนไม่ได้ ผ่านไปแล้วก็หายไป”

ส่วนหนึ่งของการเดินทางในอาชีพสูตินรีแพทย์ของอาจารย์เยื้อน คือการทำงานในโรงพยาบาล BNH ซึ่งคุณหมอผูกพันกับโรงพยาบาลนี้ตั้งแต่เป็นแพทย์นอกเวลาควบคู่กับงานอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ จนถึงวันนี้คุณหมอมาประจำที่โรงพยาบาล BNH รวมแล้วนานกว่า 30 ปี อาจารย์เยื้อนจึงเป็นทั้งผู้เห็นการเปลี่ยนแปลงและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยที่โรงพยาบาลยังเป็นอาคารหลังเก่ามีห้องคลอดบนชั้น 2 สู่ปัจจุบันที่อยู่ในแถวหน้าของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ และแผนกสูตินรีเวชได้เปิดศูนย์สุขภาพสตรี เพื่อดูแลผู้หญิงอย่างครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัยและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลายท่านคือลูกศิษย์ที่คุณหมอเป็นผู้สร้างมากับมือ

ครอบครัวผู้เป็นลมใต้ปีก
“สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือได้ทำคลอดหลานตัวเอง”
อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจารย์เยื้อนกลายเป็น ‘อากงหมอ’ เพราะได้ทำคลอดให้หลานตัวเอง และยังมีโอกาสได้ทำคลอดให้ลูกหลานของพี่น้องในครอบครัวทั้งหมด
แต่ผู้อยู่เบื้องหลังบทบาทของคุณหมอคนดังและสูตินรีแพทย์ประจำตระกูลนั้น คือภรรยาที่อยู่เคียงข้างและสนับสนุนการทำงานของสามีมาเกือบครึ่งศตวรรษ แม้หน้าที่แพทย์นั้นไม่อาจมอบเวลาให้ครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่งได้ แต่ความเข้าใจจากครอบครัวนี้ทำให้อาจารย์เยื้อนได้ทุ่มเทในการดูแลคนไข้ได้อย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ตั้งแต่สมัยรับราชการงานสอนจนถึงทุกวันนี้ที่เกษียณอายุราชการมาประจำโรงพยาบาล BNH
“บางทีเราดูหนังกันอยู่ ถูกตามก็ต้องวิ่งออกมาแล้ว ภรรยาก็เข้าใจว่าเรามีหน้าที่ เวลาไปกินข้าวต้องมีรถ 2 คัน ถ้าถูกตามต้องรีบกลับก่อน”
ถึงแม้สถาบันครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุดของคุณหมอเยื้อน แต่ในวันที่คุณหมอต้องเสียสละเพื่อผู้ป่วย ภรรยาคือผู้เสียสละเพื่อครอบครัว สวมหมวกเป็นทั้งพ่อและแม่ดูแลลูกๆทั้งสามอย่างไม่ขาดตกบกพร่องจนเติบโตเป็นคนดีของสังคม จนตอนนี้แม้ในช่วงที่ภาระงานมากที่สุด ตารางชีวิตของคุณหมอยังคงมีกำหนดการทานข้าวพร้อมหน้ากับลูกหลานทุกสุดสัปดาห์ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ของครอบครัวอันเป็นกำลังใจสำคัญในชีวิต
“ครอบครัวต้องมาก่อน ถ้าครอบครัวแตกสลาย เราก็ดูแลคนไข้ให้ดีไม่ได้”
หุ่นดี หน้าเด็ก เพราะออกกำลังกาย
“ยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องออกกำลังกาย การออกกำลังกายมวลกล้ามเนื้อสำคัญมาก ทำให้เราดูหนุ่มอยู่เสมอ”
คนไข้มักทักว่าคุณหมอดูหนุ่มกว่าวัยแม้จะมีอายุถึง 66 ปี แล้วก็ตาม ความลับที่เปิดเผยได้คือการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย ในแต่ละวัน คุณหมอเยื้อนจะจัดเวลาให้ตัวเองได้ออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง มีเวทเทรนนิ่ง คาร์ดิโอ แล้วจบด้วยการยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย ควบคู่กับการกินอาหารให้เหมาะสม เลือกทานสิ่งที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดมาก เพียงเท่านี้ก็ทำให้สุขภาพดีและผิวพรรณดีตามมา
“ถ้าสุขภาพไม่ดี ก็มาทำงานดูแลคนไข้ไม่ได้”


เรื่องราวการเดินทางในวงการสูตินรีเวชของ ศ.นพ.เยื้อนนั้นอาจยาวนานเกินกว่าทั้งชีวิตของใครหลายคน และขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดทั้งตำแหน่งและชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคุณหมอนั้นไม่ใช่เพียงคุณวุฒิและวัยวุฒิ แต่คือจิตวิญญาณ ที่หลอมรวมทั้งประสบการณ์ในฐานะแพทย์ ฐานะอาจารย์ และฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ใส่ใจคน ใส่ใจครอบครัว และใส่ใจตัวเอง
“ถึงตอนนี้ เราคงเป็นคนต้นแบบให้ใครไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ไม่ต้องรวยมาก มีพอกินพอใช้ สุขภาพสำคัญที่สุด ครอบครัวสำคัญที่สุด ทำงานให้ดีที่สุดในกำลังที่เราทำไหว”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

ศ. นพ. เยื้อน ตันนิรันดร
ศูนย์สุขภาพสตรี
ความชำนาญพิเศษ
เวชศาสตร์มารดาและทารก
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
Maternal Fetal Medicine
– สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, ประเทศไทย, 2528
– Certificate in subspecialty training in MaternalFetal Medicine, University of London
– แพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2523
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
พฤหัสบดี | 15:00 – 18:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
เสาร์ | 09:00 – 11:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อาทิตย์ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |