อายุรแพทย์ผู้มีกีฬาในหัวใจ
– นพ. วิวัฒน์ แสงเลิศศิลปชัย –
ในวัยกว่า 60 ปี นายแพทย์ วิวัฒน์ แสงเลิศศิลปชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประจำศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาล BNH ยังมีรูปร่างดีและหัวใจที่แข็งแรง ส่วนหนึ่งมาจากการออกกำลังกายเป็นประจำ และอีกส่วนมาจากความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะหัวใจ ที่ใช้ประยุกต์ควบคู่กับการออกกำลังกาย
กีฬาในหัวใจ
ด.ช.วิวัฒน์ โตมากับการว่ายน้ำในลำคลองย่านตลิ่งชัน หากจินตนาการฉากในหนังย้อนยุคที่มีกลุ่มเด็กกระโดดจากสะพานลงไปเล่นน้ำในคลอง ภาพวัยเด็กของคุณหมอในบ้านสวนชานเมืองกรุงเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้วก็เป็นเช่นนั้น ต่างเพียงแต่ว่าไม่มีฉากออกไปยิงนกตกปลา
“ที่จริงก็เคยทำ แต่ไม่ชอบ เพราะยิงนกก็ไม่โดน ตกปลาก็ไม่ค่อยได้ เรียกว่าทำบาปไม่ขึ้น”

เขาเรียนในโรงเรียนจีนจนถึง ป. 4 คุณหมอในวัยเด็กพูดจีนกลางได้ฉะฉาน แต่หลังจากย้ายมาเรียนโรงเรียนไทยก็ไม่ได้มีโอกาสใช้ภาษาจีนกลางอีกเลยจนหลงลืมไปตามกาลเวลา เหลือแต่ภาษาจีนแต้จิ๋วที่ใช้ตามครอบครัวชาวจีน ซึ่งเขาก็บอกว่าน่าเสียดายเหมือนกันที่รู้ภาษาที่มีประโยชน์แต่ไม่ได้สานต่อ
หมอวิวัฒน์ชื่นชอบกีฬามาก เขามีกีฬาที่ชอบและถนัดอยู่หลายอย่างโดยเฉพาะพวกที่ต้องใช้ไม้ตีโต้ อย่างแบตมินตัน เทนนิส ปิงปอง ตั้งแต่เด็ก แม้ว่าอุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวย เขาก็จะยกเอาเตียงไม้มาต่อขาแล้วตี แม้ว่าผู้เล่นไม่เอื้ออำนวย เขาก็จะตีโต้กับฝาบ้านเพียงลำพัง
หนึ่งในความฝันวัยเด็กของเขา คือได้โตไปเป็นนักกีฬา โดยที่อาชีพแพทย์ไม่เคยอยู่ในรายการเป้าหมายอนาคตเลย แต่สุดท้ายเขาก็ได้เป็นประธานชมรมกีฬา ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนามกีฬาถัดไปหลังเรียนจบของเขาคือโรงพยาบาลอำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ที่ซึ่งเขาจับฉลากได้ไปใช้ทุน และก็กลายเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาด 10 เตียงนี้ทันทีที่ไปถึง
“เพราะทั้งโรงพยาบาลมีหมอแค่ 2 คน และหมอที่เป็นผู้อํานวยการคนก่อนเขาใช้ทุนครบแล้ว”
เนื่องจากชุมชนมีขนาดเล็ก โรงพยาบาลก็มีงานไม่มาก วันว่างของเขาก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการชวนชาวบ้านมาตีปิงปอง เล่นวอลเลย์บอลด้วยกัน และขับรถมาตีแบตมินตันในอำเภอเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก
ชีวิต 3 ปีที่ใช้ทุนในจังหวัดสุรินทร์ของคุณหมอเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรหวือหวามากไปกว่าการได้ค้นพบความสนใจในการดูแลคนไข้โรคหัวใจ และค้นพบพยาบาลสาวที่เอาหัวใจคุณหมอไปครอง
กลับมาเรียนต่ออายุรแพทย์โรคหัวใจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มชีวิตครอบครัว และเริ่มงานแพทย์เฉพาะทางครั้งแรกที่โรงพยาบาล BNH ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ 27 ปีแล้ว ที่หมอวิวัฒน์ให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นบ้านหลังที่สองโดยไม่มีความคิดเปลี่ยนใจไปอยู่ที่ไหน และในทุกจังหวะของชีวิต หมอวิวัฒน์ก็ยังมีกีฬาเป็นเพื่อนคู่กาย จนกลายเป็นหมอหัวใจที่เข้าใจคนเล่นกีฬา
ด้วยความสนใจเรื่อง Preventive Cardiology และได้มีโอกาสไปอบรมเรื่องนี้ที่รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ นพ.นพรัตน์ พานทองวิริยะกุล (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล BNH ในปัจจุบัน) ก่อนกลับมาทำโปรแกรม Preventive Cardiology อย่างจริงจัง
“เราสามารถป้องกันและลดโอกาสเป็นโรคหัวใจในคนทั่วไป (Primary Prevention) และลดโอกาสเป็นซ้ำในคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจแล้ว (Secondary Prevention) ลงได้เป็นอย่างมาก ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นมากร่วมกับการปรับไลฟ์สไตล์และการใช้ยาอย่างเหมาะสม”

หัวใจกับกีฬา
“เอาความรู้เรื่องหัวใจและกีฬามาใช้ทั้งสองทาง ใช้กับตัวเองได้ กับครอบครัวได้ กับใครก็ได้ ทุกคนเหมือนกัน ต้องมีเรื่องสุขภาพและเรื่องหัวใจ”
หมอวิวัฒน์มีลูกชายหนึ่งคน ซึ่งก็เล่นกีฬากับคุณพ่อมาแต่เด็ก คุณหมอเห็นว่าลูกมีแววและทักษะใช้ได้ ก็คอยส่งเสริมผลักดันอยู่ตลอดทั้งด้านการเงินและเวลา งานอดิเรกของคุณหมอกับลูกชายคือการเล่นปิงปอง ซึ่งหมอวิวัฒน์หันมาเล่นจริงจังที่สุดเพราะเป็นความชอบของลูกชาย ลูกของเขามีทักษะถึงระดับนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมีพ่อเป็นคู่ซ้อม และอีกส่วนคือการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจโดยใช้ความรู้ทางการแพทย์เข้ามาช่วยอยู่เบื้องหลัง
“ถ้าออกกําลังกายเยอะขึ้น หัวใจทํางานหนักมากขึ้น ถ้าออกกำลังกายแรงมาก ๆ มันจะทําได้ไม่นาน เราจะทนไม่ได้ก็ต้องลดลง ถ้าสูงมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้ ก็ใช้ความรู้ด้านหัวใจนี่แหละมาฝึกความทนในการออกกําลังกาย”

หมอวิวัฒน์แนะนำผู้ที่ต้องการบริหารหัวใจและหลอดเลือด ให้หันมาเน้นเล่นคาร์ดิโอ แต่ไม่ควรเล่นเพียงอย่างเดียว ต้องรวมการออกกำลังกายด้านอื่น ๆ เข้ามาด้วย
“ทําร่วมกันมันก็มีประโยชน์กันคนละอย่าง แต่การออกกําลังกายที่เป็นเกม มันก็มีการใช้แรงใช้กําลังทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้น มีประโยชน์เหมือนกัน แล้วก็ทำให้เพลิดเพลินกับมัน
“การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุก ๆ คนควรจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือออกกำลังกายแล้วต้องไม่บาดเจ็บ คนอายุ 60 อย่างผมเนี่ย อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดจะเหลือแค่ประมาณ 160 ก็ออกกําลังกายให้อยู่ในโซนสั้น ๆ ไม่ต้องหนักมาก แต่สามารถทําได้เรื่อย ๆ แล้วเพิ่มความทนต่อการออกกําลังเอา ตอนนี้ผมก็ยังตีปิงปองบ้าง ตีแบตมินตันบ้างสลับกัน แต่แบตมินตันมันเป็นกีฬาที่หนัก อายุมากแล้วเล่นเยอะไม่ไหว หรือว่าถ้าไหวก็เป็นระดับที่มันไม่สูง ถ้าเล่นระดับสูงจะมีโอกาสบาดเจ็บสูงมาก เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกชนิดการออกกำลังกาย และระดับการเล่นให้เหมาะสมกับตัวเราเอง”
หากในคนอายุน้อยที่ไม่มีข้อจำกัดทางสุขภาพอะไร ก็ออกกำลังกายได้ทุกแบบ แต่ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าเริ่มอายุเยอะแล้ว คุณหมอก็แนะนำให้รับการตรวจสุขภาพ เพื่อที่จะได้รู้ข้อจำกัดของตัวเอง
“ผู้ชายอายุ 45 ปี ผู้หญิง 50 ปี หรือหมดประจําเดือนแล้ว ก็เริ่มมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ก็ควรตรวจก่อนไปออกกําลังกาย แล้วคนที่มีปัญหาหัวใจ กีฬาที่ไม่อยากให้เล่นคือกีฬาแนวยกเวท พอออกแรงต้านสุด ๆ มีความกดดันต่อหัวใจเยอะก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ถ้าทําคาร์ดิโอแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องกัน ยกเวทเบา ๆ เน้นเคลื่อนไหวแต่ไม่เน้นหนัก ยืดร่างกายได้ บาลานซ์ได้ พวกนี้ไม่มีปัญหา”
ในวัย 60 กว่า หมอวิวัฒน์ยังคงออกกำลังกายเกือบทุกวัน ว่ายน้ำเป็นประจำ เล่นแบตมินตันอาทิตย์ละครั้ง ตีปิงปองอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง โดยมีกลุ่มเพื่อนที่ชวนกันไปออกกำลังกายด้วยกัน
ออกกำลังกายอะไรดีที่สุด

การออกกำลังกายอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
ฝึกกล้ามเนื้อและน้ำหนัก (Resistance Training หรือWeight Training) ออกแรงต้านโดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย เพิ่มพละกำลังและมวลกล้ามเนื้อ
คาร์ดิโอ (Cardio) เน้นไปที่การขยับเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใหญ่ๆของร่างกายอย่างต่อเนื่องและไม่หนักเกินไป ที่มีผลต่ออัตราการเต้นหัวใจที่เร็วขึ้น แต่ไม่เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และหัวใจได้ดี
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) ช่วยคงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
ฝึกการทรงตัว (Balancing) ช่วยในการยืนและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมั่นคง
การเล่นกีฬาเช่นตีแบด ตีปิงปอง เทนนิส ฟุตบอล ไม่จัดเป็นการออกกำลังกายแบบใดแบบหนึ่งใน 4 แบบนี้ แต่ก็มีส่วนของการออกกำลังกายต่าง ๆ ผสมกัน
“ไม่มีคำตอบว่าการออกกำลังกายแบบใดดีที่สุด ถ้าทำผสมผสานได้ทุกอย่างคงดีที่สุด อย่างผมก็ทำอยู่หลายอย่างทั้งตีแบด ตีปิงปอง ว่ายน้ำ Weight บ้าง Stretching บ้าง ตอนหลังได้มาเรียนกอล์ฟบ้าง ก็ได้เรียนรู้กีฬาในมิติใหม่ ได้เจอผู้คนที่หลากหลายแตกต่างเพิ่มขึ้น”
หัวใจของคนไข้
ด้วยความที่โรคทางหัวใจและหลอดเลือดมักเรื้อรัง และต้องติดตามอาการกันอยู่ตลอด หมอวิวัฒน์จึงมีคนไข้ที่รักษาจนสนิทสนมกันหลายคน บางคนก็ทำบายพาสและดูแลกันมาจนคนไข้อายุใกล้ 100 ปี บางคนเป็นชาวต่างชาติที่กลับมาขอบคุณทุกครั้งที่ได้กลับมาเมืองไทย บางคนก็สนิทกันเพราะความรักในกีฬาที่เหมือนกัน
“แต่คนไข้ก็จะแอบไปกระซิบกับพยาบาลบอกว่าคุณหมอดุจัง”

ถึงจะมีมุมที่ดุบ้าง แต่คนไข้หลายคนก็ยังบอกว่าคุณหมอวิวัฒน์ใจดี
“บ้างก็บอกว่ารูปหล่อนะ”
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คุณหมอมีคนไข้สนิทหลายราย คงเป็นเพราะความถูกจริต ทั้งคนป่วยโรคหัวใจที่ยังอยากแสดงความรักในกีฬา และความเข้าใจคนไข้ เพียงแค่รับฟังและรู้จักว่าธรรมชาติของเขาเป็นคนยังไง พยายามช่วยเหลือโดยไม่ไปฝีนนิสัยตามธรรมชาติของคนไข้ในทุกคำแนะนำ
พร้อมกันนั้น การป้องกันโดยไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนถึงมารักษา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีของหมอวิวัฒน์ให้คนไข้ได้รับ Complete Care การดูแลแบบองค์รวมครบถ้วนรอบด้านทั้งก่อนป่วย ระหว่างป่วย และหลังป่วย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การเช็กว่าคนไข้ได้รับวัคซีนที่จำเป็นแล้วหรือยัง แม้ว่าจะอยู่นอกเหนือขอบเขตของโรคหัวใจ แต่ก็ทำให้ลดโอกาสการเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของโรงพยาบาลบีเอ็นเอชในการดูแลคนไข้
ชีวิตแต่ละวันของหมอวิวัฒน์ นอกเหนือจากการพยายามบรรเทาปัญหาของคนไข้แล้ว เขายังพยายามทำให้ตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกวัน
“วันนี้เรายังเป็นคนที่มีข้อเสียมีข้อบกพร่อง ซึ่งผมเชื่อว่ายังพัฒนาตัวเองได้ ก็ต้องเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้ดีกว่าเมื่อวานนี้หน่อยก็ยังดี”
หัวใจไม่ฝืนธรรม “รู้ ตื่น นั้นเบิกบานจริงๆ”
ว่ากันว่า หากจะสอนคนอื่นได้ ตัวเองต้องทำให้ได้ก่อน ชีวิตและการออกกำลังกายของหมอวิวัฒน์ก็คงเป็นเช่นนั้น การเป็นตัวอย่างที่ดีทำให้คุณหมอมีมากกว่าความรู้เพื่อโน้มน้าวและแนะนำคนไข้ จนคนไข้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
โรคหัวใจก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ซึ่งมีอยู่มากมาย หลายปัจจัยก็อยู่เหนือความควบคุมของเราและเราไม่สามารถจัดการมันได้ เช่น กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ อายุ เพศ แต่อีกหลาย ๆ ปัจจัยที่เราสามารถปรับปรุง จัดการให้ดีขึ้นได้เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การนอน การจัดการความเครียด การแสวงหาความรู้และเจริญสติปัญญา การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษ เช่น บุหรี่ PM2.5 ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจก็ต้องแก้ไข และรับการรักษาที่ถูกต้อง เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน
ชีวิตนั้นไม่แน่นอน ยิ่งความเจ็บป่วยยิ่งมีความไม่แน่นอนสูงมากเนื่องจากเหตุปัจจัยมีเยอะ มีทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่วิธีรับมือกับความไม่แน่นอนนั้นยังทำได้อยู่โดยการแยกปัจจัยที่เราสามารถควบคุมจัดการได้ แล้วจัดการปัจจัยนั้นให้ดีที่สุด ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดีที่สุดแล้ว

การได้เรียนแพทย์ ได้เรียนเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการได้ดูลูกชายแข่งขันกีฬาในระดับสูง ทำให้ได้ศึกษาเรื่อง สมาธิ การโฟกัส ความละเอียดของจิต และการมีสติ ประกอบกับการได้ฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์ต่าง ๆ อยู่บ้าง ทำให้มีความเข้าใจเรื่อง ศีล สมาธิ สติ ปัญญา ไตรลักษณ์ และอริยสัจ4 ซึ่งสอดคล้องกับพุทธวิถี นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ทำให้ใจสงบ และเป็นสุข
“ร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่สงบ เป็นสุข = สุขภาพดี”

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. วิวัฒน์ แสงเลิศศิลปชัย
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
โรคหัวใจ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
– Diplomate Thai Boad of Internal Medicine
– Diplomate Thai Boad of Clinical Cardiology
– M.D., Chulalongkorn University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 09:00 – 13:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |