ชีวิตนี้ไม่ขาดความท้าทายของหมอแอน
ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งในสตรีสายลุย
ที่ตั้งเป้าจะไปโตเกียวมาราธอน
– พญ.วิภาดา บิณฑวิหค –
หากนึกภาพคุณหมอในจินตนาการแล้ว สิ่งที่หลายคนคิดอาจห่างไกลจากภาพผู้หญิงสายลุย แบกเป้ เดินป่า ท่องเที่ยวเพียงลำพัง ปล่อยมุขฮาเป็นประจำ แต่นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังที่สร้างหมอแอน พญ. วิภาดา บิณฑวิหค สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา ประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ให้เป็นคุณหมอที่ผู้ป่วยมะเร็งชื่นชมในความใกล้ชิดและเข้าอกเข้าใจคนไข้
ความฝันของพ่อ

ประสบการณ์ในฐานะแพทย์เต็มตัวของหมอแอน เริ่มขึ้นที่โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนนั้นคนทั้งอำเภอรู้จักเธอหมด ไปร้านกาแฟคนก็ทักว่าคุณหมอมาแล้ว เดินตลาดชาวบ้านก็ชวนเธอติดรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วยกัน
“เราก็รู้สึกว่าอบอุ่นดีจัง เป็นหมอนี่เข้ากับคนอื่นได้ง่ายจังเลย”
แต่ในพื้นที่ห่างไกลนั้นไม่ได้มีเพียงความอบอุ่นที่ผู้คนมอบให้ ความขาดแคลนทำให้เธอต้องอยู่เวรเพียงลำพังบ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งที่เธอปั๊มหัวใจให้คนไข้อยู่คนเดียวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บนเตียงในโรงพยาบาลยันบนรถพยาบาลเพื่อพาคนไข้เดินทางไปยังโรงพยาบาลศูนย์ จนถึงที่สุดคนไข้ก็รอดชีวิต และหมอแอนก็ได้รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิตการเป็นหมอเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ดญ. แอน ชื่นชอบศิลปะและวาดฝันว่าโตขึ้นจะเป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบตกแต่งภายใน แต่สุดท้ายแล้วกลับเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสานฝันของผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นสัตวแพทย์ เก็บความชอบในศิลปะไว้เพียงกิจกรรมยามว่างโดยไม่รู้สึกเสียใจหรือเสียดายกับเส้นทางที่พ่อเลือกให้
“หลายคนบอกว่าชีวิตไม่ต้องตาม passion ขนาดนั้นก็ได้ เป็นหมอก็ดี หนึ่งคือมีความมั่นคง สองคือเราได้ช่วยเหลือคนอื่นเยอะ ที่ผ่านมารู้สึกว่าการเป็นหมอมันมีคุณค่ามาก ก็เป็นความภาคภูมิใจของตัวเองและครอบครัว”
งานสูตินรีเวชคือการได้เห็นทุกช่วงชีวิตของคน
หมอแอนจึงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านนี้ และเมื่อครั้งประจำโรงพยาบาลรัฐ มีคนไข้มะเร็งในสตรีมารักษามาก ความตั้งใจอยากช่วยคนไข้จึงพาเธอมาศึกษาต่อสาขามะเร็งนรีเวชวิทยาเพื่อทลายข้อจำกัดในการรักษาของตัวเอง
เมื่อเรียนจบกลับสู่การเป็นหมอเต็มตัวอีกครั้ง คุณหมอทุ่มเททำงานอย่างหนัก ถึงขั้นอยู่เวรมากกว่าอยู่บ้าน เป็นเช่นนี้นานเข้า รู้ตัวอีกทีหมอแอนก็พบว่าสมาชิกในครอบครัวทยอยล้มป่วยลงทีละคนทั้งที่มีเธอเป็นหมออยู่ในบ้าน
“ก็รู้สึกขอบคุณที่พ่อให้มาเป็นหมอ แต่ก็รู้สึกผิดที่เรายุ่งจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว พอเจอเรื่องร้ายๆก็รู้ว่าชีวิตคนมันสั้น พ่อแม่แก่ลงทุกวัน เวลาทุกนาทีมีค่า ต้องบริหารให้เหมาะสม งานอย่าให้เสีย ครอบครัวก็ต้องพร้อมหน้า”
นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หมอแอนกลับมามองตัวเอง มองคนใกล้ตัว จัดลำดับใหม่ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด และมองหาสถานที่ที่เธอสามารถจัดสมดุลชีวิต ทุ่มเททำหน้าที่หมอและหน้าที่ลูกไปได้พร้อมกัน…สถานที่นั้นคือโรงพยาบาลบีเอ็นเอช
หมอนักฟัง ผู้อยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็งแล้ว ใครได้ยินก็จิตตก แม้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่จะมีทางรักษาให้หายขาด แต่กระบวนการรักษาที่ไม่อาจระบุระยะเวลาและผลสำเร็จได้นั้นมักทำให้คนไข้เสียกำลังใจ ทำให้เรื่องท้าทายที่สุดสำหรับหมอมะเร็งอย่างหมอแอน คือการรับมือกับความรู้สึกทางใจของคนไข้
“ไม่ว่าปลายทางมันจะหายหรือจะไม่หาย”
หมอแอนขึ้นชื่อเรื่องเทคนิคการสื่อสาร ในวันที่ผู้ป่วยมะเร็งเข้ามาหาด้วยความกลัว เธอจะอยู่กับคนไข้ ฟัง ฟัง และฟัง อย่างตั้งใจและใจเย็น ให้คนไข้เล่าเรื่องราวของเขา ความกังวลของเขา ความเชื่อที่ติดอยู่ในใจเขา และค่อยๆคลายปมในใจไปด้วยกัน จนถึงนาทีที่คนไข้เปิดใจยอมรับแนวทางรักษา โอกาสหายจากโรคร้ายก็มากขึ้น
กำลังใจจากแพทย์ที่ดูแลก็ส่วนหนึ่ง แต่ไม่อาจเทียบเท่ากำลังใจจากคนใกล้ตัวได้ ทักษะการสื่อสารของหมอแอนจึงถูกส่งไปยังญาติผู้ป่วยเพื่อชวนมาเป็นแนวร่วมสำคัญในกระบวนการรักษา การคุยนั้นยังรวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะมะเร็งทางนรีเวชมีโอกาสเกิดได้กับผู้หญิงที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็ง บางทีแล้วความกังวลก้อนใหญ่ของคนไข้ไม่ใช่แค่อาการป่วยของตัวเอง แต่เพราะความเป็นห่วงคนในครอบครัว การพยายามทำความเข้าใจกับภาพรวมของคนไข้ ทั้งปัญหาทางกาย ใจ และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องรอบตัว คือการดูแลอย่างสมบูรณ์ ที่หมอแอนมอบให้กับผู้ป่วยตลอดการทำงาน 6 ปี ในโรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยทั้งหมดนี้เริ่มจากการฟัง
เราอยากเป็นหมอที่คนไข้เข้าถึงได้มากกว่าในแง่ของความเชื่อใจ
พอมีอะไรก็บอกมาจะได้เข้าใจกัน บางทีคนไข้กลัวหมอก็มีนะ กินยาไม่กินยาก็ไม่กล้าบอกเรา เราไม่อยากให้เป็นความสัมพันธ์ที่มีกำแพง อยากให้เปิดใจมากกว่า สบายๆ เข้าใจกัน
ชีวิตมันต้องท้าทาย
“เพื่อนๆรู้จักว่าเป็นเราคนร่าเริง ตลก สบายๆ ไม่เครียดอะไรมากมาย ชอบปล่อยมุก ชอบหาอะไรทำสนุกๆ ไม่ชอบอยู่เฉยๆ”
บุคลิกกระตือรือร้น สนุก เป็นกันเอง ของหมอแอนยังส่งต่อไปยังความรู้สึกที่คนไข้มีเมื่อทำการรักษา
เธอมักมองโลกในแง่บวก ทำให้คนไข้ได้ผ่อนคลายตาม สร้างความสัมพันธ์ให้คนไข้รู้สึกประหนึ่งได้คุยกับเพื่อนมากกว่าคุยกับหมอ และเรื่องราวการผจญภัยสุดขอบฟ้าคือสิ่งสำคัญที่สร้างตัวตนของคุณหมอสายลุยผู้มอบความใกล้ชิดและเชื่อใจ ให้คนไข้รับรู้ว่าคุณหมอพร้อมลุยไปด้วยกัน
“การได้เปิดโลกใหม่ ได้ทำนู่นทำนี่ มันคือกำไรชีวิตที่ย้อนกลับไม่ได้ ถ้าไม่ทำตอนนี้ พอเราแก่ตัวลงก็ไม่ได้ทำ”
ที่สุดของความประทับใจคือการเดินทางในเนปาล หมอแอนและเพื่อนเดินขึ้นลงเขากันทั้งวันท่ามกลางสภาพทุรกันดาร ไฟฟ้าและอาหารไม่ได้มีตลอดทาง เมื่อถึงจุดหมายบนยอดดอยแล้วเธอถึงกลับนอนกลิ้งกับพื้นด้วยความเหนื่อยอ่อน นับเป็นการเดินเท้าที่ยาวนานที่สุดในชีวิต แต่เมื่อตะวันลับลงเผยให้เห็นหมู่ดาวเกลื่อนฟ้า ความรู้สึกของเธอก็เปลี่ยนไป

เรารู้สึกว่าความสุขเกิดง่ายจัง
การผจญภัยของเธอยังไม่ได้จำกัดแค่กิจกรรมที่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ นานมาแล้วสมัยเรียนเฉพาะทาง เธอมีโอกาสไปฝึกงานที่เกาหลี เพราะไม่มีใครมาด้วยกันและสภาวะทางการเงินขณะนั้น นศพ.แอน จึงเลือกพักในที่พักแบบ dormitory ที่มีเตียงเยอะๆให้แขกพักรวมกันหลายคนในห้องเดียว พอเวลาว่างก็นั่งรถประจำทาง นั่งรถไฟ ออกเดินทางตามใจไปเรื่อยเปื่อยตามลำพัง หลงทางบ้าง ถูกทางบ้าง แต่พอได้อยู่กับตัวเองและฟังเสียงของตัวเอง เธอรู้สึกว่าการท่องเที่ยวเพียงลำพังนั้นสนุกและยืดหยุ่นมาก หลังจากนั้นการอยู่ลำพังก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะริเริ่มสิ่งใหม่อีกต่อไป
“ปกติเราชอบตามใจคนอื่น ไม่ได้สนใจความต้องการของตัวเองขนาดนั้น แต่พอไปเที่ยวคนเดียวแล้ว เราเข้าใจภาวะอารมณ์ของตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น เลยรู้สึกว่าเที่ยวคนเดียวสนุกมาก”

ประสบการณ์จากการทำงานในต่างแดนยังมอบทักษะสำคัญของคนเป็นแพทย์ให้หมอแอน เธอเห็นว่าหมอที่เกาหลีทำทุกอย่างรวดเร็วและกระตือรือร้นกับงานมากแค่ไหน หมอญี่ปุ่น work hard play hard จริงจังในเวลางาน เลิกงานก็สนุกสนานเต็มที่ แต่พอมีโจทย์เข้ามาก็ฝึกหนัก หมอที่สหรัฐอเมริการักษาสมดุลชีวิตดีมาก มอบความเท่าเทียมให้ทุกคน ไม่ว่าหมออาวุโส หมอใหม่ หรือพยาบาล และใกล้ชิดกับคนไข้มาก สิ่งที่เธอพบเจอมาจากคุณหมอไกลบ้านนั้นเป็นแบบอย่างบนเส้นทางการเป็นหมอของเธอจนถึงวันนี้
ในช่วงปี 2563 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ๆ หมอแอนได้เปิดรับความท้าทายใหม่ในวงการวิ่งมาราธอน เธอไปเข้ากลุ่มกับก๊วนคุณหมอนักวิ่ง แม้ว่าที่ผ่านมาเธอไม่ชอบออกกำลังกายและไม่เคยออกกำลังกาย แค่คราวนี้คุณหมอตั้งใจแล้วว่าต้องทำให้สำเร็จกับสนามแรกที่บางแสนมาราธอน เธอเข้าค่ายฝึกวิ่งกับเหล่ารุ่นพี่ท่ามกลางสายตาที่อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าเธอจะไหวหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว หมอแอนสามารถผ่านงานแข่งสนามแรกที่ระยะทาง 42 กิโลเมตร ไปได้ตั้งแต่เริ่มวิ่งมาราธอนได้ไม่ถึงปี ทุกวันนี้เธอยังคงออกวิ่ง และตั้งเป้าว่าอีก 2 ปี จะไปให้ถึงสนามโตเกียวมาราธอน
“ตอนวิ่งไป 30 กิโล 35 กิโล จิตใจเริ่มไม่เข้มแข็ง แต่ก็ผ่านไปได้ ยิ่งย้ำความเชื่อที่ว่า ถ้าใจเราเชื่อว่ามันได้มันก็จะทำได้ ดังนั้นอะไรที่รู้สึกว่ามันยากก็จะสะกดจิตตัวเองก่อน ว่ามันได้ มันก็ได้จริง จิตใจมันนำร่างกายมาก ชีวิตเราก็ได้ก้าวข้ามอีกบันไดนึงแล้ว”

โรงพยาบาลบีเอ็นเอชเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนไข้ชาวจีนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด 19 และยังเพิ่มความนิยมขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งที่มีผู้ป่วยชาวจีนมาเป็นคนไข้ของหมอแอน แต่กำแพงทางภาษาคืออุปสรรคที่ทำให้เธอเข้าไม่ถึงใจผู้ป่วย เธอจึงมอบความท้าทายใหม่ให้ตัวเองด้วยการเรียนภาษาจีน มีตัวละครในซี่รี่จีนเป็นเหล่าซือคนสำคัญ จนถึงตอนนี้หมอแอนสามารถสื่อสารภาษาจีนขั้นต้นได้ ถึงแม้เธอยังคงต้องการล่ามคอยช่วยเหลือ แต่ความพยายามที่จะเข้าใจคนไข้โดยลดช่องว่างทางภาษา ก็ทำให้คนไข้ต่างชาติเปิดใจและสนุกกับการพูดคุยกับเธอมากขึ้น เป็นอีกขั้นหนึ่งของการไม่หยุดพัฒนาตัวเองเพื่อผู้ป่วยของหมอแอน
“เราเป็น Adventure type ชอบความท้าทาย ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆตลอดเวลา การไม่หยุดเรียนรู้คือแนวคิดที่เราบอกกับตัวเอง จึงไม่หยุดพัฒนาตัวเอง แล้วมันก็ดีกับการรักษา”
ความกลมกล่อมของงานรักษาและงานศิลป์
การรักษาคนไข้ก็เหมือนศิลปะ เพราะแต่ละคนมีความเห็นความเชี่ยวชาญที่ต่างกันไป
ซึ่งโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมอบอิสระในการรักษาคนไข้ภายใต้มาตรฐาน ทำให้เราออกแบบการรักษาได้เต็มที่ พร้อมทีมที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือเมื่อต้องการ
ศิลปะที่หมอแอนในวัยเด็กโปรดปราน ทุกวันนี้ยังคงสอดแทรกอยู่ในขั้นตอนการดูแลที่เธอมอบให้คนไข้ ตั้งแต่ศิลปะการสื่อสารยันการรักษา รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ศิลปะได้สร้างความเบิกบานต่อสุขภาพจิตของคนเป็นหมอ แม้การวาดรูปจะห่างออกไปจากชีวิตแพทย์ แต่เธอมักไปตามแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เสพงานศิลป์เพื่อผ่อนคลาย เวลาว่างก็เล่นเปียโน ดีดกีตาร์ ใช้ดนตรีบำบัดตน ออกไปเดินป่าเขาให้ธรรมชาติบำบัดใจ หรือซึมซับบรรยากาศงานออกแบบตกแต่งร้านค้าที่ครั้งนึงเคยเป็นฝันวัยเยาว์ด้วยกิจกรรม Cafe hopping
ศิลปะการใช้ชีวิตอีกอย่าง คือการบริหารเวลาเพื่อจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่จำกัด และเหลือเวลาเพื่อไปจัดการตัวเอง โดยเฉพาะงานของแพทย์ที่ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนแล้ว จึงต้องอาศัยการวางแผนชีวิตให้สามารถจัดสมดุลทำสิ่งที่ต้องทำและสิ่งที่อยากทำได้ในวันเดียว โดยที่ยังคงรู้สึกสนุกและมีพลังในการใช้ชีวิต
“แต่ถ้าวันนี้รู้สึกว่าชีวิตมันไม่สมดุล พรุ่งนี้ค่อยสมดุลก็ได้ ไม่ต้องซีเรียสเกินไป”
หมอแอนกล่าวปิดท้ายเพื่อยืนยันความเป็นคนสบายๆของเธอ

ไม่เพียงความสามารถในการรักษาที่คนไข้ยอมรับและวางใจ ตัวตนของคุณหมอยังสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้อันเป็นแก่นสำคัญของกระบวนการรักษา และความปรารถนาที่จะได้ปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่นคือสิ่งที่หมอแอนอยากให้คนได้จดจำ ทั้งในฐานะของหมอ และคนธรรมดาคนนึง
“ชื่อของเรา วิภาดา แปลว่าแสงสว่าง เรารู้สึกว่าอยากเป็นแสงสว่างให้ผู้อื่น เหมือนเพื่อนมีทุกข์หรือคนไข้มีทุกข์ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนน้ำตาเป็นรอยยิ้มได้ ก็เป็นเรื่องดี”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Gynecologic Oncology
– Obstetrics and Gynecology, Gynecologic oncology
– M.D. Chulalongkorn University 2006
– Diploma of Thai board of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University 2012
– Gynecologic Oncology, King Chulalongkorn Memorial Hospital 2017
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 10:00 – 19:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
ศุกร์ | 10:00 – 19:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
เสาร์ | 08:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อาทิตย์ | 09:00 – 12:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |