หมอวิบูลย์ แพทย์ผู้อยู่หน้าประวัติศาสตร์
ของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเมืองไทย
และทุกลมหายใจที่มีธรรมนำทาง
– นพ. วิบูลย์ กมลพรวิจิตร –
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ของไทยได้บันทึกเรื่องราวของการทำหมันไร้แผลครั้งแรกของประเทศไทย ณ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คือ อาจารย์หมอวิบูลย์ กมลพรวิจิตร สูตินรีแพทย์ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช คุณหมออารมณ์ดีผู้มักแจกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มแก่ผู้คน กับวิถีชีวิตที่มีแสงธรรมนำทางในทุกลมหายใจ
อดีตเด็กซิ่วผู้ไม่เคยคิดจะเป็นหมอ
“ได้ไปเรียนหินทรายเชื่อมเหล็กมาปีนึงแล้วไม่ถูกใจ เลยข้าม ถ.อังรีดูนังต์มาเรียนหมอแทน ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่พอมาทำงานแล้วถึงได้รู้สึกว่าอาชีพเรามีคุณค่า ชีวิตเราก็มีคุณค่า”
เฉกเช่นเดียวกับเด็กห้องคิงของโรงเรียนที่รวมนักเรียนหัวกะทิเอาไว้เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว สภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัวมักปูทางอนาคตไปสู่วิชาชีพแพทย์หรือวิศวกร ดช.วิบูลย์ในสมัยนั้นก็ทำตามเพื่อน เลือกก้าวไปยังคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้ในหนึ่งปีแรกกลับไม่ถูกจริต เขาจึงยอมเลือกทางเดินใหม่สู่คณะแพทยศาสตร์ในสถาบันเดิม โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทางเลือกนี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ทางเลือกใหม่นี้แม้จะยากลำบากแต่ก็ได้ก็พบสิ่งสำคัญ นสพ. วิบูลย์ ทำกิจกรรมมากมายในรั้วจามจุรี เป็นผู้จัดการและนักดนตรี MDCU Band, สมาชิกสภานิสิตตัวแทนคณะแพทยศาสตร์, กรรมการจัดงานจุฬาวิชาการ และประธานนิสิตแพทย์ชั้นปี6 ส่วนการเรียนนั้นค่อนข้างหนัก เมื่อไปฝึกงานที่โรงพยาบาลระยอง ได้มีโอกาสดูแลเด็กอาการหนัก ใน ICU เขาอยู่กับเด็กคนนั้นเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดสัปดาห์ ด้วยความเชื่อว่า เขาน่าจะช่วยชีวิตเด็กน้อยคนนั้นได้ แต่ด้วยความตั้งใจที่ไม่เป็นผลคนไข้จากไปต่อหน้าต่อตา เขากลับบ้านที่กรุงเทพฯทันที เพื่อกลับไปหาที่พักใจที่แตกสลายและเติมพลังแม้จะเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม แต่ความผิดหวังในคราวนั้นทำให้คุณหมอรู้จักสัจธรรมและความหวังก้อนใหม่
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าความเป็นหมอมีค่า แต่เราก็ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง ทว่าหากเรามีความรู้ที่มากพอ เราก็น่าจะสามารถช่วยเขาได้ และจะได้เป็นที่พึ่งแก่คนอื่นๆ”
ความหลากหลายของงานไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การดูแลรักษา ความสุขของคุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัวที่ได้สมาชิกใหม่ที่น่ารัก
นำนายแพทย์วิบูลย์มาสู่คุณหมอเฉพาะทางด้านสูตินรีเวชประจำโรงพยาบาลราชวิถี แต่ทั้งโชคชะตาและมานะตนพาคุณหมอไปไกลกว่านั้น ไกลถึงประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนจากรัฐบาลไทยไปศึกษาเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชที่ Tokyo Medical University และทุนระดับปริญญาโทที่ Monash University ประเทศออสเตรเลีย จนจบด้านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนMaster in Clinical Embryology เป็นคนแรกของประเทศไทยจากสถาบันนี้ซึ่งภายหลังมีคุณหมอจบจากที่นี่อีกหลายท่าน และด้วยเป็นสถาบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผลิตงานวิจัยที่สร้างคุณูปการแก่ผู้คนมากมาย คุณหมอจึงได้มีโอกาสรู้จักบุคคลสำคัญในวงการที่มีอิทธิพลต่อเส้นทางวิชาการของเขาต่อไป
นอกเหนือจากวิทยาการทางการแพทย์ที่เหนือกว่าความรู้ที่มีในไทยขณะนั้น ประสบการณ์ต่างแดนได้เปิดโลกใบใหม่แก่คุณหมอวิบูลย์ โลกที่ได้รู้ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้ใจดีและเข้าถึงง่ายเหมือนประเทศเรา ลำดับขั้นตอนการรักษาจะต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าอาการไม่สาหัสที่จะต้องไป ER โดยประสบกับตัวเองเมื่อกระดูกสันหลังเคลื่อนจากการทำงานที่ออสเตรเลีย แม้การบาดเจ็บจะหนักจนถึงกับเดินแทบไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้ต้องนอนพักเป็นเดือนโดยมีเพื่อนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ แต่การรักษาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยต้องเริ่มที่แพทย์ทั่วไปก่อน หากมีตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ก็ต้องนัดเจาะเลือด, Xray กว่าจะได้ผล จึงส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป ซึ่งกว่าจะครบขั้นตอนได้นั้นใช้เวลาหลายสัปดาห์เลยทีเดียว
และพบว่านการทำงานของแพทย์ที่ต่างประเทศนั้น จำนวนคนไข้ต่อแพทย์ต่อวันน้อยกว่าเรามาก หมอสามารถใช้เวลากับคนไข้แต่ละรายได้นานกว่ามาก เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทย คุณหมอก็ได้นำประสบการณ์มาปรับใช้ภายใต้ข้อจำกัดและบริบทของเมืองไทย
ผู้เป็นหนึ่งในตำนานของการผ่าตัดผ่านกล้อง

เมื่อเรียนจบจากต่างประเทศนายแพทย์วิบูลย์กลับมาเป็นผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดผ่านกล้องที่โรงพยาบาลราชวิถี สมัยนั้นเทคโนโลยีที่มอบแผลผ่าตัดขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ยังไม่แพร่หลายมากนักในวงการนรีเวช แพทย์ส่วนใหญ่ในไทยยังมองว่าเทคโนโลยีที่ใช้กล้องนี้อาจไม่ดีเท่าผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ทั้งที่ความจริงแล้วมีการผ่าตัดผ่านกล้องมานาน และมีการผ่าตัดมดลูกด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่ปี 1978 โดยตั้งแต่ ปี2000 สถาบันของเขาก็สร้างสถิติการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องถึงกว่า 100 เคสในช่วงปีนั้นซึ่งมากที่สุดในไทย หมอวิบูลย์เล็งเห็นว่าสิ่งนี้จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับคนไข้ จึงได้ผลักดันให้เกิดหลักสูตรวิชาผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชขึ้นเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นแห่งที่ 2 ในประเทศไทยที่โรงพยาบาลราชวิถีในปี 2006 (โรงพยาบาลศิริราชเปิดสอนเป็นแห่งแรก)
“เราทำได้แค่สองมือ ผ่าได้ทีละคน และเราก็มีแต่เสื่อมถอยลง เราต้องสร้างคนใหม่”
เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเชื่อดั้งเดิมของใครได้ คุณหมอจึงเลือกการสร้างแพทย์รุ่นใหม่ให้ทำเป็น แม้ว่างานสอนผ่าตัดผ่านกล้องไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคอยประกบแพทย์ Fellow ทุกขั้นตอนและทุกการผ่าตัด ในแต่ละวันอาจารย์วิบูลย์ก็สาละวนอยู่ในห้องผ่าตัดจนมืด แต่แม้เป็นการสอนที่ต้องทุ่มเททั้งพลังกายและพลังใจเพียงใด ในปีนึงก็สามารถผลิตแพทย์ชำนาญการได้เพียง 2 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชรุ่นใหม่นั้น ก็ได้ค่อยๆทลายข้อจำกัดด้านต่างๆลงมาก มีอาจารย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปทำงานตามภูมิภาค ทำให้คนไข้ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีต่อชีวิตของเขาเช่นคนเมือง นวัตกรรมการรักษาที่หมอวิบูลย์ใช้แม้มีเสียงคัดค้านมากมายในตอนนั้น เช่น การลงแผลในสะดือ ซึ่งแพทย์หลายท่านมองว่าสกปรกและสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปัจจุบันก็กลายเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลาย เช่นเดียวกับการผ่าตัดผ่านกล้องในวันนี้ที่เป็นอีกทางเลือกที่สำคัญของการทำหัตถการทุกสาขาในเมืองไทย และปัจจุบัน(2023-2025)อาจารย์หมอวิบูลย์ก็ดำรงตำแหน่งรองประธานชมรมนรีแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องแห่งประเทศไทย
และเมื่อมาประจำที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช คุณหมอวิบูลย์ได้ดำเนินการผ่าตัดผ่านกล้องครั้งประวัติศาสตร์ คือการทำหมันไร้แผลครั้งแรกในประเทศไทยซึ่งขณะนั้นมีเพียงในตำราแพทย์ยังไม่เคยมีเคสจริงเลย โดยเทคนิคนี้นอกจากมอบผลลัพธ์ที่ดีกว่าเพราะไม่ทิ้งร่องรอยใดๆกับคนไข้ ความสำเร็จนั้นยังสร้างวิวัฒนาการทางการแพทย์ไปอีกขั้น โรงพยาบาลบีเอ็นเอชร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัด การประชุมวิชาการทางการแพทย์ครั้งใหญ่ในปี2012 เรื่องการทำหมันไร้แผลขึ้น โดยมีแพทย์จากทั่วประเทศให้เกียรติมาร่วมงาน และที่สำคัญถือเป็นความก้าวหน้าในวงการสูตินรีแพทย์ของไทย จากที่เคยได้เห็นเพียงในตำรามานาน
ความประทับใจ
เมื่อไม่นานมานี้มีคนไข้ชาวต่างชาติวัย 30 ปี มารักษาที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชเพราะความทรมานจากอาการ Steven-Johnson Syndrome หรือกลุ่มอาการที่มีผลมาจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองผิดปกติ เกิดการแพ้อย่างรุนแรง ตาเกือบบอด เยื่อบุผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อชีวิตและผลสืบเนื่องที่น่ากลัวหลายประการ โชคดีที่เธอรอดมาได้แต่ต้องปลุกถ่ายกระจกตาที่อเมริกา ทำให้พอมองเห็นได้ แต่อีกปัญหาหนักคือช่องคลอดที่ตีบตันเหลือเพียงขนาดเท่าปลายปากกา ทำให้เกิดโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) จากประจำเดือนก็ยังไหลย้อนกลับเข้าไปภายในช่องท้อง ปวดท้องมากทุกเดือน นับเป็นเคสผู้ป่วยที่ยาก และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ความฝันในชีวิตสำหรับผู้หญิง คือ การได้เป็นแม่คน ยิ่งเป็นไปได้ยากมาก ทำให้อาจารย์วิบูลย์ทุ่มเทรักษาโดยใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องและสร้างช่องคลอดใหม่ จนทุกวันนี้คนไข้กลับมามีชีวิตครอบครัวที่ปกติ สามารถสานฝันสร้างครอบครัวได้ต่อไป

เมื่อเข้าใจธรรม ก็เข้าใจคน
เบื้องหลังเสียงหัวเราะและรอยยิ้มชื่นบานของอาจารย์วิบูลย์ที่ทำให้คนไข้อารมณ์ดีตามไปด้วย คือหลักธรรมที่ได้น้อมนำมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งในการดำเนินชีวิตและในยามรักษาคนไข้
“คนไข้ที่มาหาเราเขามีทุกข์แน่ ถ้าเราช่วยรักษาแก้ไขให้เขาคลายยทุกข์ ทั้งทางกายและทางใจ นั่นก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของแพทย์อย่างแท้จริง”

วิธีการปฏิบัติตัวกับคนไข้
หลักพรหมวิหารสี่ที่คุณหมอยึดมั่น ความเมตตาอยากให้เขาเป็นสุข ความกรุณาอยากให้เขาพ้นทุกข์ ได้ถ่ายทอดออกมาใน วิธีการปฏิบัติตัวกับคนไข้ การกระทำที่ทำให้รู้สึกได้ว่าคุณหมอจะดูแลเขาอย่างดีประหนึ่งญาติมิตร สู้ไม่ถอยเพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นแม้ว่าการต่อสู้นั้นจะไม่มีใครมารับรู้ “เพราะเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าแผลผ่าตัดภายในที่เราตั้งใจทำนั้นเป็นอย่างไร ยากเย็นเพียงใด แต่เรารู้อยู่แก่ใจเรา” ความพยายามทำความเข้าใจในปัญหาของคนไข้ไม่ว่าความกังวลนั้นจะมาจากอาการป่วยทางกายหรือสัมพันธ์กับทางใจ คือวิธีทำให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลาย เชื่อใจ เปิดใจกล้าพูดคุยกับหมอ ยังผลให้การวินิจฉัยโรคทำได้ตรงจุดขึ้น การรักษาก็ทำได้ดีมากขึ้น ซึ่งเป็นประสบการณ์รับมือกับความรู้สึกของคนไข้ที่คุณหมอสั่งสมมาตั้งแต่เป็นอาจารย์แพทย์ จนถึงวันนี้ที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอช
แต่สุดท้ายแล้วชีวิตคือสิ่งไม่เที่ยง บทเรียนจากช่วงแรกของชีวิตแพทย์มอบความเข้าใจในสัจธรรม สถิติทางการแพทย์มอบตัวเลขแสดงโอกาสสำเร็จทางการรักษาซึ่งแน่นอนโอกาสไม่สำเร็จก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงนั้น เมื่อใดที่ความตั้งใจได้ถูกถ่ายทอดไปจนหมดสิ้นแล้ว ผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง หลักมุทิตายินดีกับผลสำเร็จ และอุเบกขาปล่อยวางกับสิ่งที่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ไม่มีสุขเกินไปหรือทุกข์เกินไป คือความเข้าใจในธรรมที่ทำให้คุณหมอมีพลังต่อสู้เพื่อคนไข้รายต่อไป
ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ปรารถนาดีต่อตนเอง
“ผมพยายามสวดมนต์ไหว้พระทุกวัน มีโอกาสก็ต้องนั่งภาวนา”
ชีวิตนอกโรงพยาบาลของอาจารย์วิบูลย์อุทิศให้พระพุทธศาสนา คุณหมอมักหาโอกาสปฏิบัติธรรม ซึ่งส่งผลดีต่ออาชีพสูตินรีแพทย์ที่ต้องข้องแวะกับการเกิดแก่เจ็บตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือมีโอกาสก็ทำหน้าที่ของอุบาสกที่ดี ด้วยทุนทรัพย์จากการรักษาคนไข้นั้น คุณหมอได้ส่งต่อปัจจัยส่วนนี้เพื่อทำนุบำรุงศาสนา ออกเดินทาง ธุดงห์ ทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สนับสนุนวัดและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ยึดมั่นในธรรมและนำทางผู้คนให้พ้นทุกข์ เพื่อมอบความปรารถนาดีแก่ผู้อื่นด้วยเส้นทางสายธรรม

หลักธรรมะที่คุณหมอเชื่อถือศรัทธาได้มอบความสุขสว่างทางใจ พร้อมกับความปรารถนาดีต่อร่างกายตัวเองด้วย
คุณหมอจึง วิ่ง ว่ายน้ำ กอล์ฟ ออกกำลังกายอยู่เป็นนิตย์ ดูแลอาหารการกินให้พอดี เพื่อให้ร่างกายนั้นแข็งแรงเพียงพอที่จะไปดูผ็อื่นต่อไปได้
“ร่างกายคือที่เกาะของจิตวิญญาณ จิตวิญญาณต้องการอะไรก็ต้องอาศัยร่างกายไปทำ ถ้าร่างกายไม่ดีก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นต้องดูแลตัวเอง”
นับจากวันที่จับพลัดจับผลูมาเป็นหมอเพราะไม่ชอบวิศวะ จนถึงวันนี้คุณหมอวิบูลย์ได้ฝากผลงานไว้กับวงการแพทย์ของไทยจำนวนมาก และอาจารย์ยังคงเดินหน้ามอบความปรารถนาดีให้ทุกคนได้สุขกายสุขใจสุขภาพดีต่อไปที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ด้วยวิธีการทั้งทางโลกและทางธรรม
“เป็นหมอแล้วได้บุญมันไม่จริงหรอก มันคือหน้าที่การทำงาน แต่ใจที่ปรารถนาดี อยากให้เขาหายป่วย พ้นทุกข์ มีความสุขต่างหาก ที่เป็น บุญ”
Customer’s Story

Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. วิบูลย์ กมลพรวิจิตร
ศูนย์สุขภาพสตรี
ความชำนาญพิเศษ
สูติ – นรีแพทย์ เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
– เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ภาวะมีบุตรยาก
– ต่อมไร้ท่อทางนรีเวช
– Diplomate Thai Board of Obstetrics and Gynecology
– Master of Clinical Embryology, Monash University, Melbourne, Australia
– Certificate Gynecological Endoscopic Surgery, Tokyo Medical University, Japan
– Certificate Gynecological Endoscopic Surgery, Asia Pacific Association of Gynecologic Endoscopy
– Certificate of medical proficiency in Gynaecological Endoscopy
– M.D., Chulalongkorn University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 19:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อังคาร | 08:00 – 16:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
พฤหัสบดี | 08:00 – 19:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อาทิตย์ | 08:00 – 15:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |