หมอวี อาจารย์หมอที่คนไข้ชมว่าทำอัลตราซาวด์ 4 มิติได้สวยที่สุด กับหมวกอีกใบในฐานะเกษตรกรไร่โกโก้

หมอวี คุณหมอที่คนไข้ชมว่า
ทำอัลตราซาวด์ 4 มิติได้สวยที่สุด
กับหมวกอีกใบในฐานะเกษตรกรไร่โกโก้

– นพ. วีรภัทร สมชิต –

บนขุนเขาในจังหวัดน่าน ชาวบ้านอาจคุ้นเคยกับภาพชายคนหนึ่งที่มีบุคลิกน่าเชื่อถือ พยายามสอนวิธีการปลูกต้นโกโก้แก่คนในชุมชน ชายผู้นั้นคือหมอวี นพ. วีรภัทร สมชิต สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอช สาขาย่อยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และได้รับคำนิยมในด้านการวินิจฉัยครรภ์อาการทารกก่อนคลอด ผู้มีความสุขทั้งในบทบาทแพทย์และชาวไร่

ฝันจะเป็นครู

ด.ช. วีรภัทร เติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็นครู แต่เขาไม่เคยคิดเป็นครูมาก่อน ด้วยความที่เป็นเด็กที่มีผลการเรียนระดับต้นๆของโรงเรียนในจังหวัดชลบุรีมาตลอด บวกกับความคิดขณะนั้นว่าหมอคืออาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ เขาจึงเลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นเด็กจากชลบุรีหนึ่งในสองคนของรุ่น

“เราเป็นคนจำไม่เก่ง ที่เขาบอกว่าเป็นหมอเนี่ยไม่ต้องจำมากเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องจริงเลย ก่อนที่คุณจะเข้าใจได้ คุณต้องจำให้ได้ก่อน”

ผ่านชีวิตนักเรียนแพทย์สามปีแรกมาได้ในระดับกลางๆ แต่สามปีสุดท้ายคือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้จริงโดยอาศัยความเข้าใจมากกว่าความจำ สูตินรีเวชเป็นวอร์ดแรกของ นศพ.วี ซึ่งเขารู้สึกสนุกและทำคะแนนได้ดีมาก ช่ำชองจนจัดสอนติวเพื่อนหมอ พอได้ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลในจังหวัดตราด คงเป็นโชคชะตาที่วอร์ดแรกที่ได้รับมอบหมายก็ยังคงเป็นสูตินรีเวช หมอวีรู้สึกว่าสายนี้ใช่ จึงขอทุนจากโรงพยาบาลมาเรียนเฉพาะทางด้านสูตินรีเวชที่โรงพยาบาลรามาฯ ก่อนจะกลับไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลตราดอีกครั้ง

“กลับไปถึงปุ๊บ ก็เหลือหมอสูติหนึ่งคนคือเราคนเดียว เราอยู่เวร 4 เดือนติดไม่มีพัก ได้พัก 4 วัน เพราะมารับปริญญา”

เพราะเป็นคุณหมอคนสำคัญที่ดูแลทารกแทบทุกคน ทำให้หมอวีรู้สึกผูกพันกับชุมชนแห่งนี้มาก มากจนคิดจะเปิดคลินิกลงหลักปักฐานที่นี่ แต่ชะตาก็ไม่เป็นเช่นนั้น

 

“ถ้าอยู่ที่นั่น คุณก็จะสร้างการพัฒนาที่นั่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้ายังมีโอกาสกลับมาเป็นอาจารย์ที่ รพ.รามาฯ คุณจะสร้างคนที่ไปสร้างความพัฒนาให้กับบ้านเมืองได้อีก ไม่ใช่แค่ที่ตราด แต่มันจะ

เป็นทั่วประเทศ”

ผศ. นพ. อดิเทพ เชาว์วิศิษฐ อาจารย์หมอที่เป็นคนต้นแบบของหมอวีได้พูดกับเขาไว้เมื่อจบเป็นสูตินรีแพทย์เต็มตัว ทำให้หมอวีตัดสินใจกลับมาเรียนต่อด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกเพื่อเป็นอาจารย์ในสถาบันที่จบมา พร้อมแรงบันดาลใจที่จะสร้างคนแบบอาจารย์อดิเทพขึ้นมาให้วงการแพทย์

“ตอนสอนสนุกมากๆ อย่างที่อาจารย์บอกเลยว่า ‘วันที่เราไปยืนสอนคน มันจะรู้สึกในอีกรูปแบบที่ไม่เหมือนการดูแลคนไข้’ แล้วพอเราเห็นนักเรียนของเราทำในสิ่งที่เราทำได้ หรือคิดในแบบที่เราคิดได้ มันเป็นความภูมิใจ จนถึงทุกวันนี้ เด็กๆที่เขาจบไปอยู่ต่างจังหวัดต่างๆ เขายังไลน์มาบอกว่าวันนั้นวันนี้เขาได้ทำอะไรบ้างเขายังจำในสิ่งที่เราเคยพูด ก็เลยรู้สึกว่าดีจังเลย”

ถ้ามีองค์ความรู้ที่ดี มันจะทำให้เขาดูแลคนไข้ได้ดีที่สุด

นี่สิ่งที่อยากจะให้นักศึกษาแพทย์พึงระลึกไว้เสมอ เวลาเราจะรักษาใคร คนไข้ต้องได้รับผลประโยชน์ดีที่สุด สิ่งที่ทำให้หมออยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันก็คือความรู้และทัศนคติเช่นนี้

อาจารย์วีมักสอนแนวทางการใช้ชีวิตในฐานะแพทย์ให้นักศึกษา ยิ่งได้สอนเขายิ่งรักในการสร้างคนที่จะออกไปช่วยคน แต่ภาระงานของอาจารย์หมอในความเป็นจริงไม่ได้มีเพียงหน้าที่สอน คุณหมอเริ่มไม่มีความสุขกับการทุ่มเทเวลาให้ภาระอื่นมากกว่างานสอน จึงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำหลังจากที่ทำงานได้ 4 ปี และรักษาความชอบในการสอนไว้เพียงตำแหน่งอาจารย์พิเศษ

 

“เราอยากเอาความรู้ที่มีออกมาดูแลคนไข้มากกว่า”

หมอในโรงพยาบาลเอกชน

“เวลาอยู่โรงเรียนแพทย์นานๆ จะติดกับความครบครัน เช่นอยากจะส่งผลแล็บอันนึง ทุกอย่างจะว่องไว เพราะว่ามีทุกอย่างพร้อม”

 

หมอวีเล่าถึงความกังวลแรกเมื่อออกจากรั้วโรงเรียนแพทย์มาประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของเขามีต้องออกจากงานสอนอันเป็น passion ของชีวิต มาเป็นคุณหมอเต็มเวลา

 

“แต่พอมาอยู่แล้ว ทำให้เราได้เห็นโลกใหม่ เลยรู้สึกว่าการทำงานในโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้น่ากลัว ผลแล็บก็ไม่นาน ทีมก็ดี”

ในโรงพยาบาลนี้ ทีมสำคัญมาก

เราคนเดียวก็ดูแลใครไม่ได้ ต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน ปรึกษากัน มันก็เลยได้แนวความคิดหลากหลาย บางทีเราไม่มีทางออกกับเคสนี้ แต่พอไปถามหรือให้เพื่อนๆมาช่วยดู กลับได้ทางออกที่ไม่เคยคิดถึง

คำว่าทีมงานที่คุณหมอกล่าวถึงนั้น รวมถึงทีมพยาบาล ซึ่งช่วยงานคุณหมอได้มากในการเสาะหาความต้องการที่ซุกซ่อนอยู่ภายในของคนไข้ กระตุ้นเตือน และให้ความแนะนำในการดูแลในส่วนของงานพยาบาลซึ่งคุณหมออาจไม่ชำนาญเท่า ทำให้การทำงานแบบสหวิชาชีพของโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมอบความรู้สึกไม่แตกต่างกับโรงเรียนแพทย์ที่ทุกฝ่านประสานงานกันเป็นทีมเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้ 

อยู่เคียงข้างทุกการตัดสินใจ

“เวลาเราเจอเด็กที่ผิดปกติ สำคัญคือเราต้องให้ข้อมูลให้ครบโดยไม่เอาความคิดของเราใส่เข้าไป เช่นบางทีคนไข้ถามกลับมาว่าถ้าเป็นเราจะทำยังไง ซึ่งมันตอบแทนกันไม่ได้ บริบทของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน กำลังจ่ายก็ไม่เหมือนกัน”

หมอวีเล่าถึงเคสหนึ่งที่เคยตรวจเจอทารกในครรภ์ที่มีอาการหัวใจพิการแต่กำเนิด ตอนอยู่ในครรภ์เด็กยังรับเลือดจากมารดา แต่เมื่อคลอดออกมาแล้วทารกจะมีอาการตัวเขียว คนไข้สามาถตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์หรือรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากให้ลูกเกิดมาและต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง

“เราก็ให้ทางเลือกเขา ถ้าจะตั้งครรภ์ต่อก็ตรวจติดตามกัน หลังคลอดก็ค่อยๆดูแลรักษา หรือจะยุติการตั้งครรภ์ด้วยสุขภาพของเด็ก เขาใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน 2 อาทิตย์ ทั้งเขาและครอบครัวก็มาคุยกันอีกรอบ ความยากคือเราไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง อาจมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้ เราเป็นแพทย์ก็ให้ข้อมูลได้เท่านั้น เลือกแล้วไปทางไหน ไม่ต้องมองย้อนกลับมา”

ครอบครัวเลือกทางให้ตั้งครรภ์ต่อไป และโชคดีที่การผ่าตัดหัวใจของทารกรายนั้นประสบความสำเร็จ และเด็กสามารถเติบโตได้เหมือนคนปกติ แต่ในทางการแพทย์ ไม่มีอะไรสามารถรับรองโอกาสรอดได้ 100 % การทำความเข้าใจและอยู่เคียงข้างทุกการตัดสินใจของคนไข้จึงเป็นสิ่งที่สูตินรีแพทย์เช่นหมอวีต้องยึดถือเอาไว้เป็นหลักสำคัญ

“การตั้งครรภ์มันคือสิ่งที่เขาคิดว่าจะมีความสุข เขามองว่าไม่ใช่โรค มันคือการมาฝากครรภ์ ทำให้เขาได้ของขวัญชิ้นนึงของชีวิต แต่เวลาต้องแจ้งข่าวร้ายที่เจอ มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายกับการทำงานมากๆ”

อีกเคสยากที่คุณหมอเคยดูแลคือคุณแม่ที่ประสบภาวะรกเกาะติดแน่น อันเป็นผลจากการผ่าตัดก่อนหน้าหลายครั้ง หากทำการคลอดปกติแล้วรกจะไม่ตามออกมา หนทางรักษาคือต้องตัดมดลูกทิ้งหลังคลอด แต่ในกรณีของคุณแม่รายนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะรกเกาะยึดเข้าไปถึงกระเพาะปัสสาวะ หากจะตัดรกและมดลูกออกมาพร้อมกันก็มีโอกาสสูงที่จะกระทบอวัยวะภายในข้างเคียง

“ก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่าจะต้องมีขั้นตอนแบบไหนและกำหนดวันผ่าคลอด แต่ปรากฏว่าเขาเจ็บท้องคลอดก่อนในตอนกลางคืน ซึ่งการเตรียมตัวตามแผนที่วางไว้จะค่อนข้างยาก ต้องหยุดเลือดฉุกเฉิน มีการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ แล้วก็เสียเลือดเยอะกว่าที่วางแผนไว้ จากเดิมที่คาดว่า 1,200 cc แต่คนไข้เสียเลือดไปเกือบ 10,000 cc ด้วยความที่เขามีเลือดออกมาจากบ้านอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว”

ด้วยปณิธานของการเป็นแพทย์
ที่มอบความปรารถนาดีสูงสุดให้คนไข้

หมอวีจึงทุ่มเท่กับการผ่าตัดที่กินเวลายาวนานถึง 6-7 ชั่วโมง แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาดี แม่และเด็กแข็งแรงปลอดภัยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

“แล้วเขาก็เดินมาขอบคุณ ทำให้รู้ว่าการที่ได้พูดคุยกับเขาก่อนนั้นทำให้เขาเตรียมตัวรับกับสิ่งที่วินิจฉัยและการรักษาที่ได้วางแผนไว้”

ข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นจริงและอัปเดตจากหมอวีมีผลต่อการเปิดใจ และการตัดสินใจของคนไข้ ซึ่งทักษะในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาคือจุดเด่นของคุณหมอ หากเพื่อนหมอประสบปัญหาในการรับมือกับคนไข้ที่ไม่เปิดใจ ก็มักขอให้เขาเข้าไปช่วยพูดคุย ทำให้การรักษาดำเนินไปโดยสะดวกขึ้น

กว่าที่หมอวีจะทำให้คนไข้เชื่อใจได้นั้น เขาก็เคยเป็นคุณหมอที่ดุมาก่อน ทำทุกอย่างตามระเบียบขั้นตอนในตำรา โดยลืมไปว่าคนไข้คือมนุษย์ที่มีหลากมิติหลายเหตุผลในการกระทำ แล้ววันหนึ่งเมื่อได้ตรวจครรภ์ให้ภรรยาของเพื่อน ความใกล้ชิดทำให้คุณหมอมอบคำแนะนำในอีกรูปแบบ

“ในความรู้สึกเป็นเพื่อนกัน มันสบายใจกว่าไปบังคับให้เขาต้องทำตามขั้นตอน เลยอยากให้เขารู้สึกว่าการมาหาเราเหมือนมาหาเพื่อน ไม่ได้มาหาหมอ พูดคุยได้ว่าวันนี้เป็นยังไง ลูกไม่ดิ้นเลยทำไง เหมือนมาเล่าอาการให้ฟัง น่าจะรู้สึกสบายใจกว่า พอถึงจุดที่ต้องให้ข้อมูลก็ทำได้ง่าย เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเขาที่สุด”

นพ. วีรภัทร สมชิต สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ผู้ชำนาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ดีกว่าการรักษา คือการป้องกัน

อาจารย์วีสนใจเรื่องการป้องกันภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับแม่และเด็กเป็นพิเศษ เพราะหากวินิจฉัยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ คนไข้จะได้รับการรักษาทันท่วงที และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน

“เดี๋ยวนี้คำว่า ‘ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย’ อาจไม่พอ ลูกต้องเกิดรอดและแข็งแรงสมบูรณ์ แม่ต้องปลอดภัยโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน เทคโนโลยีอัลตราซาวด์จึงเข้ามาช่วย”

เทคโนโลยีการอัลตราซาวด์ในปัจจุบันพัฒนาไปไกลมากแล้ว สมัยนี้ทำได้ถึง 4 มิติ ซึ่งมิติที่สี่คือเรื่องของเวลา อาจเรียกว่าเป็นวิดีโอแสดงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ 8-9 สัปดาห์ แต่อาจยังไม่เห็นใบหน้าชัดเจน วัตถุประสงค์จึงเป็นไปเพื่อตรวจสอบสุขภาพทารกในครรภ์ สามารถวัดการทำงานของรก วัดเส้นเลือดต่างๆได้ ทำให้ประเมินสุขภาพได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

การเจาะเลือด การอัลตราซาวด์เพื่อคัดกรองการคลอดก่อนกำหนด คัดกรองครรภ์เป็นพิษ

ข้อมูลการแพทย์เดี๋ยวนี้ ตรวจสอบได้ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ อาการดาวน์ซินโดรม สามารถตรวจได้ตั้งแต่ 10-11 สัปดาห์ คนไข้จึงไม่ควรเสียประโยชน์ ถ้าเลยไปมันย้อนกลับมาทำไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงพยายามแนะนำสิ่งเหล่านี้ เพราะที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชก็ทำได้

“หลายคนบอกว่าเราทำอัลตราซาวด์ 4 มิติได้สวยที่สุดไม่ว่าลูกจะอยู่ในท่าใดก็ตาม นี่คนไข้เขาก็ชื่นชม เราไม่ได้ไปพูดเอง”

อาจารย์วีรีบบอกอย่างถ่อมตัว

เมื่อก่อนการตรวจดูโครงสร้างของหัวใจอาจเห็นเพียงการเต้นของหัวใจทารก แต่สมัยนี้ สามารถดูห้องหัวใจ เส้นเลือดที่เข้าออกหัวใจ การเปิดปิดลิ้นหัวใจ หรือแม้กระทั่งวัดการทำงานของหัวใจ เรียกว่าเทคโนโลยี Fetal Echocardiography ช่วยคัดกรองภาวะหัวใจผิดปกติในเด็ก เพื่อการวางแผนรักษาหรือรับมืออย่างทันท่วงที

หรือแม้ภาวะ Baby Blue ก็อยู่ในขอบเขตงานตรงนี้เช่นกัน อาการซึมเศร้าหลังคลอดคือภาวะความผิดปกติของฮอร์โมน

ไม่ใช่อาการทางจิต หน้าที่ของเราก็คือต้องคัดกรองให้ได้แล้วก็รักษา เคยมีข่าวของคนที่คลอดที่ รพ.รามาฯ แล้วพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ตอนนั้นก็จุดประกายให้คนในภาคว่าต้องจริงจังกับเรื่องนี้ ก็เลยมีการคัดกรองเกิดขึ้น”

ดังนั้นคุณหมอวีจึงให้ความสำคัญกับภาวะการอารมณ์และสุขภาพจิตของคุณแม่หลังคลอดมาก เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด complete care ที่คุณหมอมอบให้คนไข้ 

 

“ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชมีการคัดกรองเหมือนกัน ใช้ตามมาตรฐานเลย ถ้าคะแนนสูงๆที่เสี่ยงซึมเศร้า เราก็มีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มาช่วยให้ข้อมูล เราดูแลคุณแม่หลังคลอดไปจนถึงท้องครั้งหน้าด้วยซ้ำ เพราะบางอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นในท้องหน้า เช่นเป็นเบาหวานหรือครรภ์เป็นพิษ”

เกษตรกรไร่โกโก้

“เราชอบกินดาร์กช็อกโกแลต”

นอกเหนือจากเป็นเด็กติดเกม และติ่ง SUGA แรปเปอร์จากวง BTS แล้ว อาจารย์วียังชื่นชอบช็อกโกแลตเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจคือหมวกอีกใบที่คุณหมอสวมอยู่นอกเหนือจากอาชีพแพทย์ 

“เรามีไร่โกโก้อยู่ที่น่าน คุณพ่อคุณแม่เขาเป็นคนน่านอยู่แล้ว แล้วมีพื้นที่อยู่ซึ่งเดิมเป็นไร้ส้ม แต่ส้มดูแลยากมาก”

ด้วยความชอบในช็อกโกแลตและโอกาสบนพื้นที่ของครอบครัว หมอวีเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการทำไร่โกโก้อย่างจริงจัง ทั้งการลงเวิร์กชอปและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ จนเริ่มมาลงมือปลูกต้นโกโก้เองแซมไปในไร่ส้ม แล้วค่อยๆปรับพืชพันธุ์บนพื้นที่มาสู่ไร่โกโก้ทั้งหมด ใช้เวลา 4-5 ปี กว่าจะได้ออกผลให้เก็บเกี่ยว ในตอนนี้เมื่อผลผลิตในไร่ของตัวเองสร้างผลลัพธ์ดี หมอวีเริ่มได้หันหน้าสู่การทำวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างเส้นทางอาชีพใหม่ให้คนท้องถิ่นหันมาปลูกโกโก้มากขึ้น

“ซึ่งยากมาก เพราะหลายคนยังไม่เคยเห็นเลยว่าโกโก้มันเป็นยังไง แต่เราก็เริ่มทำให้เขาดูก่อน แล้วด้วยเศรษฐกิจ สิ่งที่เขาปลูกมันได้ไม่ค่อยดี เขาก็จะหาอย่างอื่นที่ทำให้เขามีรายได้ เราไม่ได้บอกให้เขารื้อทั้งหมด แต่แค่แซมไปก่อน หลังๆเขาก็เริ่มปลูกกันเยอะขึ้น แล้วเราก็เข้าไปช่วยควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์”

“ตอนนี้จะเรียกตัวเองว่าเป็นเกษตรกรก็ได้”

ผลโกโก้นอกจากจะส่งขายตามร้านค้าแล้ว หมอวียังทดลองนำมาแปรรูปเป็นคราฟต์ช็อกโกแลตด้วยตัวเองเล็กๆน้อยๆ ตอนนี้คุณหมอพัฒนาธุรกิจช็อกโกแลตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความรู้เก่าที่เคยตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทางอาหารสมัยมัธยมปลายได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของช็อกโกแลตจากพื้นที่ที่มีจุลินทรีย์ดั้งเดิมของไร่ส้ม และในอนาคตเราอาจได้เห็นแบรนด์ช็อกโกแลตที่ใช้ความรู้ทางการแพทย์มาพัฒนาผลิตภัณฑ์

“ในฐานะที่เราก็เป็นแพทย์ เราก็อาจจะใช้ผลผลิตบางอย่างมาทำเป็นยา กับพวกโพรไบโอติกต่างๆที่มันได้จากตัวโกโก้”

“สิ่งที่ทำให้มีความสุขที่สุดก็คือคนไข้ เวลาที่เราเห็นเขาคลอดแล้วเอาลูกมาเข้าเต้า มันมีความสุขที่เราดูแลมาตลอด 9 เดือน แล้วมันเห็นผล เวลาเรานัดเจอเขาอีกหนึ่งปีถัดไป เขาพาลูกมาแล้วบอกว่าคุณหมอทำคลอดให้ มันเป็นกำลังใจที่ดีมาก

ที่เขายังจำได้ ถึงแม้ว่าบางทีมีการตั้งครรภ์มีปัญหา แต่ถ้าเขาผ่านช่วงเวลายากลำบากไปแล้ว เขาฟื้นกลับมาเป็นปกติ มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี นี่คือกำลังใจให้เราดูแลคนไข้ต่อไป”

ชีวิตปัจจุบันของหมอวีอาจไม่ได้ทำตาม passion ในการเป็นอาจารย์แพทย์เต็มเวลา แต่คุณหมอยังคงเต็มที่ในบทบาทของผู้ดูแลชีวิตแม่และเด็ก ที่มอบความใส่ใจให้ทั้งการป้องกันและรักษาเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของคนไข้ โดยไม่ลืมเติมเต็มความสนใจของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต้องมีความชำนาญเพียงด้านเดียว

Articles & Published Content

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์​ | Appointment

นพ. วีรภัทร สมชิต

ศูนย์สุขภาพสตรี

ความชำนาญพิเศษ

เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ภาษา

ไทย, อังกฤษ

ทำนัดหมาย


– General Obstetrics and Gynecology
– Maternal and Fetal medicine
– Fetal Anomal Screening
– Fetal Ecchocardiography
– Fetal 3D and 4D Ultrasonography


– Obstetrics and Gynecology, 2014
– Maternal and Fetal medicine, 2018


– Faculty of Medicine Ramathibodi hospital, Mahidol university, Bangkok, Thailand, 2003-2009
– Department of Obstetrics and gynecology, Faculty of Medicine Ramathibodi hospital, Mahidol university, Bangkok, Thailand, 2011-2014
– Maternal and fetal medicine, Obstetrics and gynecology, Faculty of Medicine Ramathibodi hospital, Mahidol university, Bangkok, Thailand, 2016-2018

ตารางออกตรวจแพทย์
วัน เวลา แผนก
พุธ 13:00 – 19:00 ศูนย์สุขภาพสตรี
ศุกร์ 10:00 – 19:00 ศูนย์สุขภาพสตรี
เสาร์ 08:00 – 19:00 ศูนย์สุขภาพสตรี
ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก