หมอตาที่รักษาคนไข้แบบไม่เครียด
– พญ. วรรษา รุ่งภูวภัทร –
คนใกล้ตัวนิยามถึง พญ. วรรษา รุ่งภูวภัทร จักษุแพทย์ประจำคลินิกต้อหิน แผนกตา โรงพยาบาล BNH ว่าเป็นคนสบาย ๆ ส่วนคนไข้บอกว่าการรักษากับเธอนั้นไม่เครียดดี ในโรงพยาบาล คุณหมอคือแพทย์ที่ทำให้คนไข้สบายใจที่จะเปิดใจ นอกโรงพยาบาล เธอคือแม่ที่รักลูกแบบไม่ปกป้อง และนี่คือเรื่องราวของคุณหมอ
เด็กพัทลุง
“สมัยก่อนไม่ได้มีของเล่นเยอะ เราก็เอาผักเอาต้นไม้มาเล่นขายของกับธรรมชาติ ญาติเยอะ เด็ก ๆ เยอะ เวลาไปเที่ยวไหนก็นั่งท้ายกระบะเฮกันไปคันนึง”

ชีวิตวัยเด็กของ ด.ญ.วรรษาที่จังหวัดพัทลุงไม่มีคำว่าเหงา เพราะมองไปทางไหนก็เห็นสมาชิกในครอบครัวชาวจีนขนาดใหญ่อยู่รายล้อม คุณหมอมาจากอำเภอเมือง แม้จะมีภาพความเจริญอยู่พอตัว แต่ก็ยังได้อยู่ใกล้ธรรมชาติและใช้ชีวิตเนิบช้ากว่าชีวิตเมืองกรุง และครอบครัวที่ประกอบธุรกิจการค้าทั้งจากฝั่งพ่อและฝั่งแม่นี้ไม่มีใครเป็นหมอ
ขึ้นชั้น ม.4 เธอย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ จากคนที่มีญาติมิตรมากหน้าคอยช่วยเหลือ กลายเป็นต้องเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ซึ่งก็ทำให้คุณหมอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นแบบก้าวกระโดด
ตั้งแต่เด็ก หากมีคนถามว่าเธอโตไปอยากเป็นอะไร คำตอบของเธอก็คือหมอ แต่ผลการสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกสมัย ม.5 ไม่เป็นไปตามหวัง เธอจึงรอสอบอีกครั้งใน ม.6 และได้เรียนแพทย์สมใจที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ชีวิตการเรียนแพทย์ มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัว แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ นศพ. วรรษา ที่ผ่านการปรับตัวมาแล้วหลายครั้ง และเคยชินกับชีวิตต่างจังหวัดที่อาจไม่ได้มีอะไรเพียบพร้อมเหมือนในเมือง บางครั้งคณะนักศึกษาแพทย์ก็ต้องไปออกหน่วยต่างจังหวัด นอนในเพิงไร้ผนัง ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าไม่ถึง
“แต่ก็ทำให้เราเข้าใจคนไข้มากขึ้น มี Empathy ให้เขา”
จบจากคณะแพทย์แล้ว คุณหมอก็ย้ายที่อีกครั้งไปอยู่โรงพยาบาลในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้งได้สนุกสนานใกล้ชิดกลุ่มเพื่อน ทั้งได้ลองงานหนัก ทั้งได้หัดพูดภาษาเขมรซึ่งคนในพื้นที่ใช้กัน และที่สำคัญคือเธอได้ค้นพบความสนใจของตัวเอง
“เป็นคนชอบผ่าตัด ซึ่งก็จะมีผ่าตัดใหญ่ พวกสูติเวช ศัลยกรรม หมอกระดูก และผ่าตัดเล็กอย่างหมอตา หมอหูคอจมูก เนื่องจากเป็นผู้หญิง เราก็เอาอะไรที่ไม่ซับซ้อนนัก ไม่เอาต้องผ่าตัดใหญ่ อยากมาโฟกัสที่อะไรเล็ก ๆ ก็ตัดสินใจมาเป็นหมอตาหลังจากจบใช้ทุน”
คุณหมอมาต่อเฉพาะทางที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งโดดเด่นด้านจักษุแพทย์ และยังต่อสาขาย่อยต้อหิน เพราะเธอต้องการดูแลผู้ป่วยในระยะยาว และโรคนี้มักเป็นเรื้อรัง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
โรงพยาบาล BNH เป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกหลังเรียนจบเฉพาะทาง นับจนวันนี้ คุณหมอก็อยู่ที่นี่มา 15 ปีแล้ว โดยไม่เคยคิดจะย้ายไปทำงานที่อื่น
“ที่นี่เป็นเหมือนครอบครัว หมอทุกคนบุคลิกคล้ายกัน เป็นคนแบบเดียวกัน เราเลยอยู่ด้วยกันสบายเหมือนพี่น้อง มีอะไรก็ปรึกษากันได้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เราก็เลยมีความสุขกับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน”

เปิดตาและเปิดใจ
“ดวงตาเป็นส่วนที่มีโครงสร้างเล็ก มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดเยอะ ขนาดคุยกับหมอที่ไม่ใช่จักษุแพทย์ยังต้องใช้ภาษาธรรมดาเลย ฉะนั้นกับคนไข้ทั่วไป กว่าจะอธิบายบางทีเราก็ต้องวาดรูป ต้องเอาโมเดลมาชี้กันว่าตรงไหนคือส่วนไหน ให้คําอธิบายบรรยายให้เข้าใจก่อน

“ถ้าเขาไม่เข้าใจ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีวินัย หยอดยาบ้างไม่หยอดยาบ้าง การรักษาก็ไม่สําเร็จ คนไหนที่เราดูแล้วว่าเขาอาจจะจําที่แนะนำไม่ได้ทั้งหมด ก็ต้องเชิญญาติเขามาฟัง ซึ่งสําคัญมากเพราะบางคนหยอดยาเองยังทำไม่เป็นเลย อาจต้องพึ่งคนรอบข้าง ฉะนั้นครอบครัวต้องเข้าใจด้วย”
การรักษาคนไข้ของคุณหมอวรรษา จะเริ่มจากทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้เข้าใจโรคก่อน เพื่อให้คนไข้ให้ความร่วมมือมากที่สุด โดยเฉพาะครั้งแรกที่พบกัน คุณหมอจะให้เวลานานเป็นพิเศษ เมื่อคนไข้เข้าใจและรับรู้ว่าแนวทางรักษามีอะไรบ้าง เขาถึงจะทําตามที่หมอแนะนําแล้วยอมมาตรวจติดตาม โดยระหว่างนี้ เธอต้องคอยรับฟังปัญหาของคนไข้ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา บอกข้อเท็จจริงกับคนไข้ตลอดการรักษา ทําอะไรถึงขั้นตอนไหนแล้ว ตอนนี้เป็นเยอะแค่ไหน แล้วถ้าเกิดรักษาจนสุดทางแล้วก็ต้องแจ้งคนไข้ตามตรง แต่ส่วนมากคนไข้กลุ่มนี้มักรักษาเรื้อรังและรับรู้ข้อมูลอาการของตัวเองมาโดยตลอด ทำให้พวกเขาไม่ตกใจเกินไปในวันที่รู้ข่าวร้าย
คนไข้นิยามการดูแลในแบบของเธอว่า “ไม่เครียด”
มีคนไข้หญิงชราคนหนึ่ง เธอไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตรวจตา ความเสื่อมที่มีอยู่ก็สะสมจนการมองเห็นลดลงไปเรื่อย ๆ กว่าจะยอมมาพบหมอ โรคต้อกระจกก็ทำให้การมองเห็นเลือนรางเต็มที ในตอนนั้น ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวของเธอคือการได้เห็นหน้าลูกอีกสักครั้ง หมอวรรษาก็ช่วยสุดความสามารถ และในวินาทีที่คุณหมอหมอเปิดผ้าปิดตาให้คนไข้ และเขาได้เห็นลูกสาวตรงหน้าแจ่มชัดอีกครั้ง น้ำตาแห่งความปลื้มปีติก็ไหลออกมาเอง

“ความประทับใจของการรักษาตา คือการทำให้คนที่มองไม่เห็นกลับมามองเห็นได้”
โรคต้อกระจกสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด และคนไข้ส่วนมากก็จะกลับมาเห็นได้ชัดเจนอีกครั้งหากจอประสาทตายังคงสภาพดีอยู่ ต่างจากโรคต้อหินที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้นในอาการต้อหินเฉียบพลันที่รักษาให้หายขาดได้ กลุ่มต้อหินทั่วไปนี้ จักษุแพทย์จะสามารถทำได้เพียงประคองอาการให้ความเสื่อมเกิดขึ้นช้าลง คนไข้กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามผลระยะยาว และสนิทกับคุณหมอมากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ต้อกระจกมักเป็นไปตามวัย แต่ต้อหิน หากไม่ใช่ชนิดเฉียบพลันแล้ว คนไข้จะค่อย ๆ มีอาการเพิ่มมากขึ้นทีละนิดโดยไม่รู้ตัว และกว่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติ ดวงตาก็มีปัญหาไปมากแล้ว แต่ต้อหินก็ป้องกันได้โดยการหมั่นตรวจตาเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เพราะโรคมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรม
“บางคนไม่เคยตรวจตา แต่วันหนึ่งอยากจะทําเลสิกเลยไปตรวจ แล้วเจอต้อหิน ก็ทําไม่ได้แล้วเพราะต้องมารักษาก่อน”
ด้วยเหตุนี้ หมอวรรษาจึงมอบการดูแลแบบ Complete Care ดูแลองค์รวมรอบด้าน ไม่เจาะจงเพียงการรักษาตามอาการ ตามคติที่ว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เช่น มาตรวจวัดสายตา ก็ได้รับการดูแลความดันตาไปด้วย หรือโรคอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับอาการที่ตา เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หากคุณหมอพบความผิดปกติที่ตา ก็จะประสานงานกับแพทย์เฉพาะทางได้ทันท่วงทีเพื่อดูแลคนไข้ในวันที่ยังไม่สายเกินไป
ครอบครัวหมอ
การผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์จะเริ่มต้นช่วงชั้นปีที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาแพทย์ต้องก้าวผ่านความกลัวในเลือดเนื้อ อวัยวะภายใน โครงกระดูก และกลิ่นไม่พึงประสงค์ทางชีวภาพและสารเคมีที่ปะปนกัน ที่โต๊ะแล๊บกรอสนั้น ความเข้าใจในศาสตร์แห่งกายวิภาคของอาจารย์วรรษาได้เริ่มต้น และชีวิตครอบครัวก็เริ่มต้นตรงนี้เช่นกัน
สามีของอาจารย์คือเพื่อนนักศึกษาที่รู้จักกันครั้งแรกผ่านการร่วมโต๊ะผ่าอาจารย์ใหญ่ ผ่านร้อนด้วยกันในคณะแพทย์ ผ่านหนาวด้วยกันตอนไปใช้ทุนที่ร้อยเอ็ด กลับมาเรียนต่อเฉพาะทางของตัวเองที่กรุงเทพฯ และแต่งงานสร้างครอบครัวไปพร้อมกัน คุณหมอเป็นจักษุแพทย์ สามีเป็นอาจารย์แพทย์ด้านหูคอจมูก ที่คณะแพทยศาสตร์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีลูกสาววัยใกล้วัยรุ่น 2 คน

“เราต่างเข้าใจในสายอาชีพ เรื่องครอบครัวมันก็อยู่ง่ายขึ้นด้วย สามีไม่ค่อยมีเวลา เขาทํางานเยอะ เราก็ให้เขาทํางานตามสบาย อะไรที่ทําแทนเขาได้เราก็ทําหมด อย่างเอารถไปซ่อม หรือไปธนาคารที่เป็นธุระของเขาเราก็ไปให้ เราก็แบ่งเวลาของเรามาดูลูก เขาก็ไม่ต้องห่วงทั้งเราและลูก ก็สบาย ๆ นะ”
บทบาทที่โรงพยาบาลของคุณหมอคือการรักษาคนไข้ แต่บทบาทในครอบครัว เธอยังคงเป็นแม่และภรรยาที่ไม่ขาดตกบกพร่อง โชคดีที่ลูกเริ่มโตจนมีความคิดแบบผู้ใหญ่แล้ว ทำให้คุณหมอสบายใจมากขึ้น

“ลูกคนโตไปเรียนซัมเมอร์แคมป์ด้านแฟชั่นดีไซน์ เขาก็ตัดกระเป๋ามาให้เราสองใบโดยที่เราไม่ได้ขอ ก็ประทับใจ ดีใจที่ลูกคิดได้อย่างนี้
“วันก่อนลูกคนเล็กกําลังจะย้ายห้องเรียน เราก็เลยถามว่าปีหน้าหนูอยากอยู่กับใคร คำตอบคือเขาอยู่กับใครก็ได้ เพราะเดี๋ยวค่อยไปหาเพื่อนใหม่เอา เราก็คิดได้ว่ามันหมายถึงเขาจะได้ไปเรียนรู้กับคนใหม่ ๆ ไม่มีเรียกร้องว่าชอบไม่ชอบใคร ในขณะที่เด็กบางคนจะอยากอยู่กับคนที่สนิทด้วย คำตอบเขาทำให้เรารู้สึกดีที่เขาคิดได้เองว่าจะสร้างเพื่อนใหม่ได้อีก”
การเลี้ยงลูกในแบบคุณหมอ คือจะไม่ปกป้องเด็กจนเกินไป ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้และผิดพลาดด้วยตัวเอง โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนของลูกที่เด็กวัยนี้มักมีกัน แม้ว่าบางครั้งจะได้รับคำค่อนขอดจากลูกว่าแม่ไม่ยอมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แต่คุณหมอก็ขอเป็นคนนอกที่คอยรับฟังและแนะนำ โดยไม่มีการขอพบคุณครูเพื่อแทรกแซงปัญหาของเด็ก และปล่อยให้ลูกจัดการปัญหาของตัวเองด้วยตัวเอง
“เด็กทะเลาะกัน วันรุ่งขึ้นก็เล่นปกติแล้ว แต่พ่อแม่กลับไปคิดเยอะเพราะห่วงลูก คิดว่าลูกจะอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงไม่ได้มีอะไรเลย”
หนึ่งในวิธีเลี้ยงเด็กให้เป็นคนมีวินัย คือการมอบชีวิตให้เขารับผิดชอบ จากเดิมที่หมอวรรษาอยากทุ่มเทเวลาให้ลูกจึงเลือกไม่เลี้ยงสัตว์ พอลูกเริ่มโต ‘น้องมิวมิว’ สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนจึงเข้ามาเติมเต็มความรับผิดชอบของลูกสาวทั้งสอง ทั้งให้ข้าวเช้าเย็น อาบน้ำ ทำความสะอาด ใช้เวลากับเขา ในวันที่น้องหมาเติบโต ลูกทั้งสองก็เติบโตขึ้นด้วย และบรรยากาศในบ้านก็ยังอบอุ่นขึ้นเมื่อมีสัตว์เลี้ยงเข้ามาเป็นศูนย์กลาง
“หมอไม่รู้ว่าเขาจะโตไปเป็นคนง่าย ๆ มั้ย แต่เราพยายามเลี้ยงลูกให้เขาเป็นคนง่าย ๆ พาไปเรียนรู้จากโลกจริง ชวนทำกิจกรรม ให้เขาได้ปรับตัว ได้เรียนรู้ว่าชีวิตจริงเป็นยังไง”

“คุณแฮปปี้กับผลงานมั้ย ถ้าคุณแฮปปี้ฉันก็แฮปปี้ด้วย คนไข้เคยบอกแบบนี้กับหมอเมื่อเขาได้เห็นผลงานการรักษาของเรา หมอก็เหมือนกัน เรามาทำงานเพื่ออยากให้คนไข้หาย ถ้าเกิดคนไข้มีความสุข เราก็มีความสุขด้วย”
ชีวิตแต่ละวันของคุณหมอที่มีทั้งหน้าที่ของหมอ ของภรรยา และของแม่ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นงานสบายไปตลอด แต่พอทำตัวให้สบาย มองโลกให้สบาย ในความหนักหนาของหน้าที่ก็ยังมีความสบายซุกซ่อนอยู่ในนั้นที่หมอวรรษามองเห็นมันตลอด ทำให้การรักษาของเธอช่วยคนไข้ให้ได้สบายทั้งกายและทั้งใจ
Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Diploma in Ophthalmology, Rajavithi University
– Certificate in Glaucoma (2011)
– M.D., Mahidol University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 07:30 – 12:30 | แผนกตา, คลินิกต้อหิน |
อังคาร | 07:30 – 16:30 | แผนกตา, คลินิกต้อหิน |
พฤหัสบดี | 07:30 – 16:30 | แผนกตา, คลินิกต้อหิน |
ศุกร์ | 07:30 – 16:30 | แผนกตา, คลินิกต้อหิน |
เสาร์ | 08:00 – 16:00 | แผนกตา, คลินิกต้อหิน |