หมอหัวใจที่เคยผ่านหลายบทบาทในชีวิต
– พญ. วรวรรณ เหลืองจามีกร –
คนใกล้ชิดส่วนมากจำได้ถึงเสียงหัวเราะสดใสและความยิ้มง่ายของ พญ. วรวรรณ เหลืองจามีกร (เจริญอัตถะศีล) หรือหมอท้อป อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH เบื้องหลังเสียงหัวเราะนี้คือภาระงานแพทย์ หน้าที่แม่ หน้าที่ลูก ดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราเจ็บป่วยไม่สบาย โดยมีเสียงหัวเราะเพิ่มพลังกาย และความสุขเมื่อคนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นสิ่งเพิ่มพลังใจ
จุดเริ่มต้น
ด.ญ.วรวรรณ เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เป็นน้องเล็กของบ้าน เธอเติบโตมาจากครอบครัวคนจีนที่คนในบ้านต่างคาดหวังให้เธอเป็นหมอ พอมีคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เธอก็ไม่ได้มีคำตอบอื่นใดนอกไปจากการได้เป็นหมอ

“แต่ที่จริง ตอนเด็ก ๆ ชอบพวกเครื่องกลมากกว่า ยังจําได้ว่าชอบเอาของที่บ้านมารื้อออกแล้วต่อใหม่”
จับพลัดจับผลูไปตอนสมัยมัธยมปลาย วรวรรณได้เรียนในแผนกวิทย์-วิศวะ ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเพื่อนร่วมห้องเกินครึ่งอยากเป็นวิศวกร ตอนนั้นเธอก็คิดว่าคงเรียนวิศวะไปด้วยแน่ ๆ เพราะยังคงชอบเครื่องกล และวิชาที่เรียนได้ดีก็คือวิชาฟิสิกส์กับเคมี
“ตอนนั้นผ่านรอบคัดเลือก ได้ไปเข้าค่ายเคมีโอลิมปิก ของ สสวท.ด้วย”
แต่พอขึ้น ม.6 วรวรรณก็ได้ลองไปเข้าค่ายอยากเป็นหมอที่โรงพยาบาลศิริราช
“มีคนไม่สบายมาโรงพยาบาลเยอะ ได้เห็นการทำงานของคุณหมอและคุณพยาบาลอย่างใกล้ชิด เห็นว่าการรักษาทําให้เขาดีขึ้น เห็นแล้วเราก็รู้สึกดีกับอาชีพนี้ ร่วมกับอยากรู้ว่าระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานอย่างไร ความอยากเป็นหมอในวัยเด็กเริ่มกลับมา ตอนสอบเอ็นทรานซ์ก็เลยเลือกหมอเป็นตัวเลือกแรก”
แล้วเธอก็ได้มาเป็นนิสิตแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากเด็กขี้อายที่เคยร่วมแต่กิจกรรมเชิงวิชาการ นศพ.วรวรรณ หาโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่มากขึ้น ในงานกีฬาเฟรชชี่ เธออยู่ในสนามบอลในฐานะเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ ในต่างจังหวัดห่างไกล เธอนั่งล้อมวงรอบกองไฟเล่นดนตรีร้องเพลงเฮฮากับเพื่อนใหม่ต่างคณะหลังหมดวันของค่ายพัฒนาชนบท ไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรของคณะ เธอก็พยายามมีส่วนร่วมเต็มที่
“รู้ว่าตัวเองเป็นคนขี้อาย แต่อยากเปลี่ยน อยากชาเลนจ์ตัวเอง ถ้ามีโอกาสเราเลยลองพยายามทําอะไรใหม่ ๆดู ถึงตอนนี้จะยังเขิน ๆ อยู่ แต่ก็ภูมิใจว่าเราทําได้”
แม้มาเรียนแพทย์ แต่ความชื่นชอบในกลไกของหมอวรวรรณยังคงมีอยู่ หลังจบเฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์แล้ว เธอก็เลือกเรียนต่อด้านหัวใจและหลอดเลือด เพราะเป็นอวัยวะที่มีกลไกมาเกี่ยวข้องเยอะ และต้องใช้ความรู้ทางฟิสิกส์ที่ชอบอยู่มาก
หมอหัวใจที่ใช้ใจฟัง
“เคสที่ทําให้รู้สึกใจฟู คือบางทีคนไข้ก็ไม่ได้เป็นโรคที่มีความซับซ้อนอะไร แต่คําแนะนําของเรา นอกเหนือจากรักษาตัวโรคของเขาแล้ว มันยังเปลี่ยนชีวิตของเขาไปในทางที่ดีขึ้นด้วย”

ขึ้นชื่อว่าแพทย์ เคสรักษาที่น่าประทับใจคือเมื่อได้เห็นคนไข้หายป่วยจากโรค แต่บางทีก็ต่อเนื่องจากการรักษาไปได้ไกลกว่านั้น อย่างคนไข้รายหนึ่งที่มาปรึกษาด้วยภาวะไขมันในเลือดสูง แต่พอได้คุยกับหมอวรวรรณ ก็พบว่าปัญหาคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเขา ไม่มีเวลาให้กับอาหารที่ดีมีประโยชน์ การออกกําลังกาย หรือการพักผ่อนที่เพียงพอ
“คนไข้คุยกับหมอไปเรื่อย ๆ เขาก็คิดได้ว่าโรคที่เขาเป็นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกดดันจากงาน ทำให้แบ่งเวลาได้ไม่ดี เขาก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนงาน ซึ่งตรงนั้นหมอก็ไม่ได้แนะนํา แต่ตัวคนไข้เขาคิดว่าอยากจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น ก็เลยหันไปทําธุรกิจของตัวเอง แบ่งเวลาได้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ธุรกิจเขาก็ไปได้ดีมาก สุขภาพของเขาก็ดีขึ้น เวลาเขามาเล่าให้ฟังหมอก็รู้สึกดีใจ มาตรวจติดตามทีก็เหมือนอัปเดตชีวิตซึ่งกันและกัน ก็รักษากันมาเกิน 5 ปีแล้ว อยู่กันจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
จุดเด่นของคุณหมอวรวรรณ คือการเป็นผู้รับฟังที่ดี เนื่องจากคนไข้หลายคนที่มีปัญหามาปรึกษาหมอ แต่บางคนก็อธิบายอาการได้ไม่ถูก หมอก็จะให้เวลากับคนไข้ ค่อย ๆ ฟังไปเรื่อย ๆ จนจับประเด็นได้ แล้วลองถามคร่าว ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไข้ ซึ่งก็มักมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอาการป่วยอยู่ในนั้น หากคนไข้เริ่มสบายใจ เปิดใจที่จะพูดคุยกับหมอ เธอก็จะชวนคุยในเชิงลึกต่อไป
“เป็นหมอก็ต้องเข้าใจคนไข้ด้วย ไม่ไปบังคับเขาในสิ่งเขาอาจทำไม่ได้ เช่น บางคนหยุดบุหรี่ไม่ได้จริง ๆ เราก็ได้แค่แนะนำให้ลดลงหน่อย หรือเข้าโปรแกรมลดบุหรี่ดูมั้ย ถ้าสุดท้ายเขายังเลิกบุหรี่ไม่ได้ ก็คงแนะนำให้คัดกรองมะเร็งปอดทุกปี อย่างน้อยก็ตรวจสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ”
“ตัวหมอเองก็มีคุณพ่อและคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว ตอนนี้คุณพ่อก็เสียชีวิตไปแล้วเหลือแต่คุณแม่ เราก็เคยอยู่ในจุดที่เป็นญาติคนไข้ ต้องคอยจัดยา พาไปพบแพทย์เป็นประจำ ก็เข้าใจคนไข้และญาติว่ารู้สึกอย่างไรเวลามาโรงพยาบาล”
แน่นอนว่าหมอหัวใจ ก็ต้องเน้นการดูแลหัวใจให้คนไข้ ด้วยนโยบาย Complete Care ของโรงพยาบาล BNH ซึ่งคุณหมอทำงานมาร่วม 8 ปีแล้ว โดยเน้นการดูแลแบบบูรณาการรอบด้าน หมอวรวรรณก็จะไม่ได้มองแค่ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แต่ดูไปถึงการป้องกันโรค เช่น วัคซีนที่คนไข้ควรได้รับในปีนี้ หรือความผิดปกติที่สะท้อนออกมาบนอวัยวะอื่นด้วย หากจำเป็นก็จะส่งปรึกษาเคสกับหมอเฉพาะทางท่านอื่น ซึ่งโรงพยาบาลบีเอ็นเอชโดดเด่นด้านความสนิทสนมในหมู่บุคลากร การส่งต่อเคสจึงทำได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เมื่อคุณหมอปฏิบัติกับคนไข้เหมือนญาติมิตร คนไข้ก็เปิดใจเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต และปัญหาบางอย่างเป็นปัญหาทางใจ หรือปัญหาของคนในครอบครัวที่มีผลต่อคนไข้ หมอวรวรรณก็ไม่ละเลยในจุดนี้ เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลที่ครบถ้วนที่สุดทั้งทางกายและใจ
คนไข้โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่กลับมาตรวจติดตามอยู่เรื่อย ๆ จึงคุ้นเคยกับคุณหมอมาก ในจำนวนนี้ กลุ่มที่สนิทกับหมอวรวรรณมากเป็นพิเศษก็คือกลุ่มคนไข้ที่มีลูก เพราะคุณหมอเองก็เป็นคุณแม่คนหนึ่ง

มนุษย์แม่

“หมอก็พยายามทำเต็มที่ให้ลูก อย่างตอนคลอด ก็เลือกคลอดตามธรรมชาติ แม้รู้ว่ามันจะเจ็บมาก แต่เราก็เรียนหมอมา ก็รู้ว่าคลอดเองมีข้อดี อย่างเรื่องภูมิคุ้มกันของลูก แล้วก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้นมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ตอนแรก ๆ นี่เหนื่อยมาก เพราะว่าทั้งปั๊มนมด้วย ออกตรวจด้วย แต่ว่าก็พยายามยื้อให้นมแม่กับเขาให้นานที่สุด”
ช่วงที่คุณหมอใกล้คลอดยังอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก แม้ช่วงนั้นจะปิดเมือง แต่โรงพยาบาลไม่ได้ปิดไปด้วย และหมอวรวรรณก็ยังคงทำงานจนนาทีสุดท้ายก่อนคลอด
“ตอนนั้นจำได้ว่ามาออกตรวจที่นี่วันศุกร์ แล้วก็เจ็บท้องตอนกลางคืน คลอดเช้าวันเสาร์ ช่วงนั้นล็อกดาวน์ ให้ใครมาเยี่ยมก็ไม่ได้”
หมอวรวรรณเป็นทั้งคุณหมอและคนไข้ของโรงพยาบาล BNH เพราะคุณหมอเลือกคลอดที่นี่ ในวันที่คลอดน้อง น้ำนมของคุณหมอก็ยังไม่มีมา ก็ได้กำลังใจจากทีมพยาบาลที่มาคอยปลอบ เมื่อคุณหมอเกิดภาวะผิดปกติหลังการคลอดจนต้องเข้าแอดมิท ก็ได้ทีมพยาบาลแผนกเนอร์สเซอรี่คอยดูแลทารกน้อยให้

“ประทับใจจริง ๆ ตอนแอดมิทเราเครียด ปรับตัวหลายอย่าง ร้องไห้อยู่ในห้อง คุณพยาบาลก็มายืนเป็นเพื่อนเงียบ ๆ มาให้กําลังใจ ที่จริงมันนอกเหนือจากหน้าที่เขาแล้ว แต่เขาก็ยังมาดูเรื่องจิตใจด้วย พอแอดมิทรอบสองน้องเพิ่งอาทิตย์เดียวเอง ตอนนั้นก็รู้สึกจิตตก โควิดระบาดมากเลยไม่กล้าจ้างพี่เลี้ยง ก็ต้องเอามาเลี้ยงที่นี่ ก็ได้คุณพยาบาลตรงเคาน์เตอร์ช่วยเลี้ยงน้องให้”
6 เดือนแรกของการเลี้ยงลูก เป็น 6 เดือนเต็มที่หมอวรวรรณให้ลูกทานแค่นมแม่โดยไม่มีนมผงมาผสม ซึ่งก็ได้คำแนะนำจากกุมารแพทย์และพยาบาลที่นี่จนทำได้สำเร็จ
“พอคลอดเสร็จเพราะโควิดระบาดก็ปิดเมือง ลางานไป 3 เดือน ก็ต้องอยู่ในห้องคอนโด เลี้ยงน้องทั้งวันทั้งคืน ปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมง บางทีได้นอนแค่ 1-2 ชั่วโมง แต่ผ่านมาได้ด้วยคนรอบข้าง หลัก ๆ ก็สามี เขารู้ว่าเราเหนื่อยมากก็พยายามให้ออกไปทําอะไรบ้าง ไปเดินเล่นพักใจ แล้วเขาก็ดูลูกให้ แล้วตัวเองเราเองด้วยที่พยายามอ่านหนังสือ ทําใจให้สบายใจ พอผ่านมาแล้วลูกแข็งแรงดี เติบโตสมวัย เราก็ดีใจที่ได้ทำเต็มที่ในฐานะแม่คนหนึ่ง”
วิ่งสู้ฟัด

“หมอหัวใจ เราต้องให้คนไข้วิ่งสายพาน แล้วคนไข้ก็มักถามว่าหมอออกกำลังกายอะไร เราก็ต้องมีประสบการณ์ตรงนี้ จะมาน้ำหนักขึ้น ความดันขึ้น เป็นเบาหวานก็ไม่ได้ ต้องทำเป็นตัวอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพื่อสุขภาพตัวเองในระยะยาวด้วย”
หมอวรวรรณเพิ่งมาออกกำลังกายจริงจังเมื่อเรียนต่อเฉพาะทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เธอมาวิ่งในสวนลุมพินีที่อยู่ไม่ไกล โดยมีแรงบันดาลใจคือสามีซึ่งเป็นคุณหมอที่ชอบออกกำลังกาย เคยลงวิ่งมาราธอน ไตรกีฬา
“เริ่มวิ่งระยะสั้น 10 กิโล จากนั้นก็เป็น 21 กิโล ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ทําให้หมอมีเรื่องคุยกับคนไข้ได้ด้วย บางคนเขาแข่งวิ่งมาราธอน เราพอคุ้นเคยโปรแกรมวิ่งพวกนี้มาบ้าง ก็พอให้คำแนะนำได้ว่าเขาจะต้องเตรียมตัวอย่างไร”
สมัยก่อนถ้ามีเวลาว่างหมอวรวรรณจะไปวิ่งออกกำลังกาย และลงแข่งจำพวกวิ่งระยะสั้น ซึ่งระยะทางไกลที่สุดที่เคยผ่าน คือ ฮาล์ฟ มาราธอน ซึ่งเธอเล่าถึงความประทับใจเอาไว้ว่า
“10 กิโลแรกก็ท้อแท้ มันเหมือนวิ่งไปก็ยังอีกไกลเลย ยังไม่ถึงครึ่งสักที จนกิโลท้าย ๆ ก็เหนื่อยมาก แฟนก็วิ่งไปด้วยกัน เขาก็ให้กําลังใจเรา แต่ตอนนั้นก็วัดใจเหมือนกัน แฟนก็บอกว่าหรือจะพักอยู่ตรงนี้แล้วให้รถมาเก็บไปมั้ย มันจะมีรถที่ตามเก็บคนที่วิ่งไม่สําเร็จ แต่ก็จะไม่ได้เหรียญ ไม่ได้เสื้อ เราก็คิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิต บอกตัวเองว่ายังไงมันก็ไม่ตายหรอก ทําได้อยู่แล้ว สุดท้ายก็ไปถึงเส้นชัย”

“คนไข้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Disease (NCDs) มักต้องมาติดตามอาการกันอย่างน้อยทุกปี หมอก็อยากให้คนไข้มองเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา อยากเป็นความโชคดีของคนไข้ที่ได้มาเจอเรา ได้อยู่ติดตามกันไปเรื่อย ๆ 5 ปี 10 ปี แก่ไปด้วยกันโดยไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ให้เขามีสุขภาพที่ดี และให้เขาเห็นเราเป็นพี่น้อง เป็นญาติ หรือเป็นลูกเป็นหลานไปเลย”
จากวันที่ตอบว่าอยากเป็นหมอตามการหล่อหลอมของทางบ้าน จนถึงวันนี้ที่หมอวรวรรณมีความสุขที่ได้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนไข้ ไม่ว่าจากการรักษา ป้องกัน หรือพูดคุย เธอยังคงทุ่มเททำงานเพื่อรักษาความสุขนั้นของคนไข้ไว้ให้นานที่สุด โดยมองคนไข้เหมือนเป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัว
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

พญ. วรวรรณ เหลืองจามีกร (เจริญอัตถะศีล)
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
โรคหัวใจ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
Cardiology
– Doctor of Medicine, Chulalongkorn University (2006)
– Diplomate of the Thai Board of Internal Medicine, Chulalongkorn University (2012)
– Diplomate of the Thai Board of Cardiology, Chulalongkorn University(2014)
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 12:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อังคาร | 08:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 08:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 08:00 – 12:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 08:00 – 19:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |