หมอสรีระไฟฟ้าหัวใจที่มีคุณพ่อเป็นโรคหัวใจ
– นพ. ธัชชาวุฒิ เทียนสันติสุข –
โรคหัวใจว่าซับซ้อนแล้ว แต่สรีระไฟฟ้าหัวใจนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะมันบ่งบอกว่าปัญหาสุขภาพที่คนไข้กำลังเผชิญได้มากมาย และนี่คือหน้าที่ของ นพ. ธัชชาวุฒิ เทียนสันติสุข อายุรแพทย์โรคหัวใจประจำศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH ในการสืบหาสาเหตุความเจ็บป่วยจากกราฟหน้าตาประหลาดนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เขาเป็นหมอโรคหัวใจที่เข้าใจคนไข้ได้ดีก็ไม่ใช่เพียงความสามารถเฉพาะทางนี้ แต่เพราะเขาคือคนในครอบครัวของคนไข้โรคหัวใจเช่นกัน
ชีวิตของหมอหัวใจ
“สมัยอยู่ ม.2 คุณพ่อผมป่วยหนัก เส้นเลือดในสมองแตกและตับอักเสบติดเชื้อรุนแรง ช่วงนั้นผมก็จิตตกมาก ทุกอย่างแย่ไปหมดครับ คุณแม่ก็ต้องมาทำงานดูแลลูกทุกอย่างแทน คุณพ่อรักษาตัวอยู่เกือบปีกว่าจะดีขึ้น จากตอนนั้นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเป็นหมอ”
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ธัชชาวุฒิเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนถึงปี 4 เขาก็แน่ใจแล้วว่าคงชอบงานทางสาขาหัวใจแล้วแน่ ๆ พอเรียนจบเขาจึงได้เข้าหลักสูตรพิเศษ ไปใช้ทุน 1 ปี โดยประจำในแผนกอายุรกรรมที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี แล้วเข้าเรียนเฉพาะทางอายุรกรรมต่อทันทีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และตัดสินใจที่จะศึกษาต่อในสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นสาขาที่ชอบและสนใจมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4
“หมอหัวใจจะมีโมเมนต์ที่เปลี่ยนวันที่ร้ายมาก ๆ ให้เป็นวันที่ดีมาก ๆ ได้ เพราะมันเป็นโรคที่ฉุกเฉิน ถ้ามันแย่มาก คนไข้ก็เสียชีวิตได้ แต่ถ้าช่วยเขาได้ ก็ทําให้เขารอดตายได้”
หนึ่งในเคสที่คุณหมอได้มีส่วนเปลี่ยนวันที่ร้ายที่สุดของคนไข้ให้กลายเป็นวันที่ดีที่สุดร่วมกับคณะแพทย์ คือคนไข้ชายสูงอายุที่มีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น จนหัวใจหยุดเต้น ถึงปั๊มหัวใจให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ ก็ยังคงต้องใส่ปอดเทียมและหัวใจเทียมอยู่นานเกือบเดือน ระหว่างนั้นก็มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะมาตลอด ผ่านการผ่าตัดรักษาและให้ยาโดยต้องแอดมิทรวมกว่าเดือนครึ่งถึงมีอาการทรงตัว และเมื่อออกจากโรงพยาบาลได้ ก็ยังต้องให้คนไข้ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจติดตัวตลอด
“ผมเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่เป็นคนฟังได้ดี ถ้าจะเปิดใจคนไข้ ก็จะให้เขาเล่าให้ฟังก่อน แล้วฟังเขาเยอะ ๆ ให้เวลากับเขามาก ๆ จนเขารู้สึกว่าเราใส่ใจ และเวลารักษา ก็ตรวจคนไข้โดยละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ รักษาแบบ Complete Care คือมองเขาเป็นคน ไม่ได้เป็นแค่โรคนี้ ๆ และดูให้รอบด้าน หลายอย่างก็ต้องดูแลกันเป็นทีม กับทั้งศัลยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ เพื่อให้เหมือนชีวิตของคนไข้คนนั้นเนี่ยได้รับการดูแลที่ดีที่สุด”

หมอธัชชาวุฒิมาทำงานเป็นแพทย์นอกเวลาที่โรงพยาบาล BNH ตั้งแต่กำลังเรียนเฉพาะทางเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ และเฉพาะทางต่อยอดด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นสาขาย่อยที่สามารถใช้หัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยคลื่นวิทยุ ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ และอ่านค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคนไข้ได้ หรือที่เรียกว่า Electrocardiogram (ECG) เพื่อหาจุดที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ

“หน้าที่เราเหมือนกับถอดรหัสลับ กระดาษผลคลื่นไฟฟ้าแค่แผ่นเดียวบอกอะไรได้เยอะมาก เราต้องดูว่าหน้าตาแบบนี้เป็นเพราะอะไร แล้วมีโรคอะไรซ่อนอยู่”
หลังจากเรียนจบสรีระไฟฟ้าหัวใจ หมอธัชชาวุฒิก็มาเป็นแพทย์เต็มเวลาที่โรงพยาบาล BNH เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
“พอมาอยู่ที่นี่ก็ไม่ผิดหวังเลย อยู่แล้วสบายใจมาก ๆ ทีมดี ทุกคนช่วยกันดูแลคนไข้ มีอะไรก็คุยกันได้สบาย ๆ เหมือนเป็นพี่น้อง บางทีเราไม่แน่ใจอะไรก็โทรไปหาได้เลย ทําให้การทํางานราบรื่นมาก สถานที่ก็ดี อุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง ก็เลยตัดสินใจมาอยู่ประจำที่โรงพยาบาล BNH”
วันที่พ่อป่วย
จุดเริ่มต้นของการเป็นหมอของหมอธัชชาวุฒิ คือตอนที่พ่อของเขาป่วยเมื่อเขาอยู่มัธยม 2 แม้ว่าจะผ่านวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนกลับมาเป็นเกือบปกติ แต่คุณพ่อของเขาก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักอีกครั้ง และมันก็เพิ่งไม่นานมานี้เองที่คุณพ่อเข้ารับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจมาใหม่ ซึ่งหมอธัชชาวุฒิก็ดูแลปรับยา โดยทำงานร่วมกับศัลยแพทย์โรคหัวใจ จนการผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี และคุณพ่อก็ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง
“พอได้ดูแลคุณพ่อเองก็อุ่นใจระดับหนึ่ง เพราะเรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับโรคของเขา จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ทําแบบนี้จะเป็นยังไง หากไม่ทําแบบนี้จะเป็นยังไง”
แต่การดูแลคนในครอบครัวก็มีความกดดันอีกแบบ ทั้งเรื่องปกติที่พ่อแม่มักยอมฟังคนอื่นมากกว่าลูกตัวเอง ซึ่งคุณหมอก็จะต้องให้อาจารย์แพทย์มาช่วยคุยให้ในบางครั้ง หรือความกดดันที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อต้องมาดูแลคนใกล้ตัว ที่หมอธัชชาวุฒิมักไปปรึกษาอาจารย์อีกทีหนึ่ง ซึ่งแนวทางการดูแลที่เขาเลือกให้คุณพ่อก็มักไปในแนวทางเดียวกันกับคำแนะนำจากอาจารย์ของเขา

“ผมว่าครอบครัวคนไข้ก็เป็นเหมือนผมกับคุณพ่อ คือลูกบางคนดูแลคุณพ่อคุณแม่ดีมากเลยนะ แต่แล้วก็ทะเลาะกัน ส่วนใหญ่เพราะคุณพ่อคุณแม่มักมีความรู้สึกว่าอันนี้เขาน่าจะรู้ดีกว่า ทําไมถึงต้องไปบังคับเขาด้วย แต่เราที่เป็นคนนอกก็ต้องให้ความมั่นใจกับคนไข้ ว่าที่จริงแล้วที่ลูกพูดมาเนี่ยถูกหมดเลยนะ แล้วเขาไม่ได้อยากบังคับ แต่แค่เป็นห่วง คนในครอบครัวก็จะเข้าใจกันมากขึ้น”
การที่คุณหมอได้ดูแลคุณพ่อที่ป่วย ยังช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกของทั้งคนไข้และคนใกล้ตัวคนไข้มากขึ้น ยิ่งบุคลิกของเขาเป็นนักฟังชั้นยอดอยู่แล้ว หลายครั้งจึงช่วยบรรเทาปัญหาทางใจให้คนไข้ได้เป็นอย่างดี
“ส่วนใหญ่สถานการณ์ที่เจอบ่อย ๆ คือทําไมคนไข้ไม่ค่อยดีขึ้น ทําไมมันถึงเป็นหนัก ทําไมถึงยังไม่หาย เพราะว่าคุณพ่อของผมเคยป่วยหนักมาก ๆ เราเคยรู้สึกแบบนั้นมาก่อน เคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันมาก่อน มันเลยเรียกว่าเข้าใจครอบครัวคนไข้มาก ๆ สำหรับผม สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อเจอญาติคนไข้คือการรับฟังแบบเข้าใจ มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามใช้กับคนไข้ของผมทุกคน”
อ่านหนังสือ ดูหนัง เพิ่มพลังตัวเอง

หมอธัชชาวุฒินิยามตัวเองว่าเป็นอินโทรเวิร์ตสายฟัง งานอดิเรกของเขาคือการได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง อ่านหนังสือดูภาพยนตร์เงียบ ๆ
“หนังสือนี่ชอบเยอะมากเลยครับ ผมอ่านเรื่อย ๆ เปลี่ยนไปตามเวลา แต่ว่าถ้าในช่วง 5 ปีนี้ เล่มที่ผมว๊าวที่สุดน่าจะเป็น ‘เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ’ เป็นแนวสารคดีว่าด้วยมนุษย์เรามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทําไมเราถึงพัฒนามันได้มาจนถึงขณะนี้ ซึ่งผมคิดว่าผู้เขียนเขาเขียนได้ดีมาก เล่มต่อ ๆ มาก็ดี แต่ว่าไม่เท่าเล่มนี้ เพึ่งมีเล่มล่าสุดออกมา ผมยังไม่ได้อ่าน แต่คิดว่ากําลังจะอ่านเร็ว ๆ นี้”
คุณหมอยังชอบอ่านหนังสือแนว How-to เพื่อการพัฒนาตัวเอง และทำให้ได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น
“ปัจจุบันแนว How-to มันเยอะมาก ตั้งแต่แนว Perfectionist ต้องทําเหมือนทุกวินาทีมีค่า พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ไปถึงแนวไม่ต้องทําเยอะไป มีเวลาให้ตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองได้มีความสุขบ้าง ผมก็ได้อ่านเยอะพอสมควร เห็นความคิดของคนทุกแนว แล้วเราก็พอรู้ว่าคนแต่ละแบบเขาคิดยังไง ถึงเราจะคิดไม่เหมือนเขา แต่ว่าถ้าลองมองในมุมเขา ก็จะเข้าใจเขามากขึ้น ซึ่งคนไข้ของผมเองก็มีหลายแนว ถึงเราไม่เคยเจอแบบนั้นมาก่อน แต่ก็พอรู้แนวทางการพูดคุยกับเขาจากการอ่านหนังสือ”

นอกจากหนังสือแล้ว วันว่างที่แสนสงบของหมอธัชชาวุฒิก็จะหมดไปกับภาพยนตร์ เรื่องโปรดของเขาคือ ‘The Shawshank Redemption’ ที่เขาเคยดูมาแล้วหลายรอบ
“ที่ชอบเพราะว่ามันเป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่รู้สึกว่าดูแล้วชีวิตมีความหมายได้ขนาดนี้ ตัวเอกของเรื่องค่อย ๆ ขุดกําแพงคุกทีละนิด เป็นเรื่องของความพยายามไม่ย่อท้อ แม้ว่าเขาจะเจอปัญหา แต่เขาก็ทำต่อไปเพื่อความฝันของเขาเอง จนกระทั่งออกจากคุกได้ มันเป็นฉากที่ประทับใจมากเลย บางทีเวลาชีวิตผมมีปัญหา ก็จะนึกถึงเรื่องนี้ ว่าให้พยายามทีละนิดต่อไป เราก็จะผ่านไปได้เหมือนกัน”
แนวทางในการใช้ชีวิตของคุณหมอเองก็มาจากข้อความของ ‘นิ้วกลม’ นักเขียนคนโปรด ที่กล่าวไว้ว่า ‘ทำบางสิ่ง รักบางคน ทนบางอย่าง’
“เราคงทําทุกอย่างไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถทําบางสิ่งที่เราทําได้ดีให้ดีที่สุด แล้วเราต้องให้ความรักที่เหมาะสมกับคนบางคนที่มีคุณค่ากับชีวิตของเรา ในชีวิตนี้ ทุกคนต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ แต่บางปัญหาเราก็ต้องทนมันให้ได้ ถ้าทํา 3 สิ่งนี้ได้ ชีวิตเรามันจะมีคุณค่ามาก ๆ เลย”
“จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังคิดว่าผมต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ พยายามทําทุกอย่างให้ดีที่สุด หากมันยังดีไม่พอ หรือว่าเรายังมีข้อบกพร่อง ผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วก็ทําให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมอยากให้คนจดจําว่าคุณหมอคนนี้ตั้งใจมากเลย ใส่ใจคนไข้มากเลย”

หากได้มีโอกาสตรวจรักษากับหมอธัชชาวุฒิ คุณจะได้เห็นความตั้งใจที่จะรับฟัง และเมื่อมาตรวจซ้ำ คุณจะเห็นความพยายามที่มากขึ้นกว่าเดิมในการเข้าใจทั้งคนไข้และครอบครัว เพราะคุณหมอเองก็เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้วเช่นกัน
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. ธัชชาวุฒิ เทียนสันติสุข
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
สรีระไฟฟ้าหัวใจ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด สรีระไฟฟ้าหัวใจ
– แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับที่ 1 2558
– วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2562
– วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2564
– วุฒิบัตรอนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2566
– แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับที่ 1 2552-2558
– แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2559-2562
– แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด 2562-2564
– แพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ 2564-2566
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
พุธ | 07:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 07:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 07:00 – 19:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
เสาร์ | 07:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อาทิตย์ | 07:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม (เฉพาะสัปดาห์ที่ 1, 4 ของเดือน(Only 1st, 4th week of the month)) |