แพทย์ทางเดินอาหาร ที่มีไม้ปิงปองเป็นของคู่ใจ
– นพ. สุเทพ วนิชผล –
การรับฟังเป็นหนทางสู่ความสำเร็จหลาย ๆ อย่าง และคนเป็นหมอ การเปิดใจรับฟังประเด็นจากรอบด้านที่มากไปกว่าปัญหาของคนไข้ ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อย่าง นพ. สุเทพ วนิชผล อายุรแพทย์ประจำศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล BNH ซึ่งเป็นอดีตประธานองค์กรแพทย์ 2 สมัย ที่เพื่อนหมอไว้ใจให้ดูแล้วคุณหมอด้วยกัน จนทำให้งานบริการของโรงพยาบาลเร็วขึ้น คนไข้ประทับใจมากขึ้น แพทย์ก็ทำงานง่ายขึ้น

เริ่มมาจากการแข่งขัน
“ผมมาจากครอบครัวคนจีน เป็นครอบครัวใหญ่มีหลายรุ่น มีการแข่งขันกันในครอบครัว พี่คนโตเป็นเภสัชกร คนถัดมาก็ต้องไม่น้อยหน้า พี่คนรองเป็นวิศวกร คนถัดไปก็เป็นหมอ พอใครเป็นหมอขึ้นมาก็เหมือนหอคอย แล้วเราก็เลยจำเป็นต้องเป็นหมอ
“แต่ใจผมเองก็อยากจะเป็นอย่างนั้นด้วย”
เพราะค่านิยมของครอบครัวชาวจีน ความสามารถและความปรารถนาที่นำพา คุณหมอสุเทพซึ่งเป็นลูกคนที่ 6 จึงเลือกเป็นแพทย์ ทำให้ในบรรดาพี่น้อง 7 คน มี 3 คน แล้วที่มาเป็นหมอตามกัน ทั้งที่ญาติผู้ใหญ่ก็อยู่ในวงการค้าขาย ไม่มีใครเป็นแพทย์มาก่อน
ในสมัยก่อนที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังใช้ระบบเอนทรานซ์ เลือกได้ 6 อันดับ นายสุเทพซึ่งอยู่เพียง ม.5 ก็แบกความตั้งใจที่จะสอบเทียบและเรียนหมอ เลือกคณะแพทยศาสตร์ไปถึง 5 อันดับ และได้เรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเพิ่งเปิดการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ 4 และเรียนต่ออายุรกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะต้องการดูแลคนไข้ให้ได้กว้างขวางมากที่สุด
“แล้วก็มาสนใจโรคทางเดินอาหาร เพราะว่ามันได้ทำงานประสานกับแพทย์ด้านอื่น งานไม่จบที่เราคนเดียว ผมไปสมัครเป็นแพทย์อายุรกรรมต่อยอดทางเดินอาหารที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ตั้งแต่ที่ภาควิชายังไม่ดังมาก มีคนสมัครมาสัมภาษณ์ 3 คน แต่ว่ารับ 4 คน พอไปสัมภาษณ์จริง ๆ เหลืออยู่ 2 คน อาจารย์ก็บอกตรง ๆ ว่าไม่แน่ใจว่าเราจะอยู่กันได้มั้ย เพราะงานมันหนัก แล้วเหลือกันแค่ 2 คน
“ซึ่งที่ศิริราชงานหนักก็จริง แต่ว่าก็ให้หลายสิ่งหลายอย่างที่คุ้มค่ามาก”
เสียงจากหมอ
โรงพยาบาล BNH เป็นที่ทำงานแห่งแรกหลังเรียนจบเฉพาะทางของหมอสุเทพ และคงเป็นที่ทำงานแห่งสุดท้ายเช่นเดียวกัน คุณหมออยู่ที่นี่มาร่วม 20 ปีแล้ว นั่งรถไฟฟ้ามาทำงาน ใช้ชีวิตแต่วันอย่างเรียบง่าย จนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือชีวิตของอดีตประธานองค์กรแพทย์ 2 สมัย
“ก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจที่ได้รับเลือก พอสวมหมวกใบนี้ปุ๊บ ก็ต้องรับรู้ปัญหาของคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเราเองอย่างเดียว บางทีก็แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีก็อาจจะต้องอาศัยอาจารย์ท่านอื่นมาช่วยให้คำปรึกษาเพื่อช่วยผมในการแก้ไข”
หน้าที่ของประธานองค์กรแพทย์ในโรงพยาบาล คือการกำกับดูแลแพทย์ให้อยู่ตามทำนองคลองธรรม ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่เกิดปัญหาที่นำไปสู่ปัญหาระดับองค์กร รวมถึงรับโจทย์จากฝ่ายบริหารมาดำเนินการเพื่อประสิทธิภาพในการบริการคนไข้ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นการดูแลแพทย์เพื่อให้แพทย์เหล่านั้นไปดูแลคนไข้ให้ดีขึ้น
“ผมรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านเรา อยู่แล้วมีความสุข ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ผมไม่มีหัวโขนด้วย เลยรู้จักเจ้าหน้าที่เยอะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเวรเปล เภสัชกร พนักงานผู้ช่วย พอรู้จักคนเยอะก็ได้รับคำชี้แนะ หรือไม่ก็ได้คนมาดูแลในเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของหมอ”
หมอสุเทพกล่าวไว้ถึงเหตุผลที่ทำงานประธานองค์กรแพทย์ได้เป็นอย่างดี หากมารับบริการที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช แล้วรู้สึกถึงการบริการที่รวดเร็วแม้เป็นการประสานงานข้ามแผนก นั่นคือมรดกจากยุคสมัยที่หมอสุเทพเป็นประธานองค์กรแพทย์ ก่อนเปลี่ยนมือสู่อาจารย์หมอท่านอื่นเมื่อทำงานครบวาระ
“ปัญหาที่มีมากจริง ๆ คือ Process ในการบริหารจัดการ ซึ่งทุกปัญหา ผมต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขที่ระบบ หากไปแก้ที่ตัวบุคคลมันก็ไม่เสถียร เช่น การรับคนไข้ คนไข้หนึ่งคนจะมาแอดมิตทีก็ยาก ต้องตรวจสอบหลายขั้นตอน ใบออเดอร์ต้องครบ ต้องนู่นนี่ พอมีคอมพิวเตอร์เข้ามาใหม่ ก็ไปกระทบกระเทือนกับ ขั้นตอนบางอย่างทำให้ช้า หากระบบมันไม่ดีต่อคนไข้ กว่าจะได้รับการรักษาก็ช้า แล้วจะทำอย่างไรได้บ้างให้คนไข้ได้ยาเดี๋ยวนั้น ต่อไปเราจึงมีตัวเลข คนไข้ไปถึงหมอในกี่นาที หรือตั้งแต่คนไข้มีปัญหาจนเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงตัวคนไข้ต้องไม่เกิน 1 นาที จะมีตัวเลขที่จะคอยวัดแล้วดูว่าทำขั้นตอนยังไงบ้างให้มันเร็ว ดูเป็นภาพรวม”
ความภูมิใจต่อมา คุณหมอยังได้ตำแหน่ง ‘Good Doctor’ จากความสามารถและการร่วมคัดเลือกโดยแพทย์และคนไข้ ซึ่งในส่วนของคนไข้นั้น หมอสุเทพระบุว่าจุดเด่นในการทำงานของเขา คือการได้ยินเสียงของคนไข้

เสียงจากคนไข้
“ต้องฟังคนไข้ให้มาก ต้องตอบคำถามที่ตรงใจ เป้าหมายของคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจขอแค่วินิจฉัยได้ แต่บางคนต้องรู้ลึกถึงรายละเอียดว่าการรักษาเป็นยังไง มีภาวะแทรกซ้อนแบบไหนบ้าง ต้องวินิจฉัยเพิ่มตรงไหน คนไข้ของผมต้องได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพียงพอ แล้วสามารถไปบอกต่อให้ญาติพี่น้องเข้าใจได้ด้วยศัพท์ธรรมดา เขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้ และป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวเป็นโรคที่เขาเป็น ผมดูแลไปถึงครอบครัวเขา ถ้าไม่ได้ดูแลเองก็ต้องให้แนวทางกับเขา

“ภาษากายและวาจา ต้อง Warm welcome ให้คนไข้รู้สึกว่าผมเป็นที่ที่เขาสามารถที่จะระบาย หรือพูดคุยได้ ทำให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ได้ประวัติบางอย่างเขาที่เขายอมเปิดเผย ถ้าเรามุ่งเน้นเป็นคำถามปลายเปิดจะดีมาก เขาจะเห็นว่าผมเปิดให้เขาบอกสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เขามีปัญหา ซึ่งมันดีในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย Body language ต่าง ๆ ก็สำคัญ เราจะคุยกันแบบยิ้ม ๆ”
ความใส่ใจของคุณหมอ ถึงขั้นที่คนไข้บอกว่าง่ายต่อการเข้าถึง คนใกล้ตัวก็บอกว่าหมอสุเทพมัก Available อยู่ตลอด หากวันไหนไม่อยู่บ้านก็อยู่โรงพยาบาลแค่สองที่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณหมอปราศจากชีวิตส่วนตัวของตัวเอง แต่เมื่อไรที่ปลีกเวลามาได้ การตอบคำถามคนไข้ที่ส่งข้อความมาจากต่างประเทศ หรือไปช่วยดูอาการให้ญาติพี่น้องที่รู้สึกไม่สบาย กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่คุณหมอทำประจำไปแล้ว
คนไข้หลายเคสที่คุณหมอได้ดูแล ไป ๆ มา ๆ ที่ใกล้ชิดกันจนได้ดูแลทั้งครอบครัว ทั้งจากการมอบคำแนะนำแบบ Complete care ให้ญาติคนไข้ได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการรักษากับคนไข้ ที่นำมาสู่ความไว้ใจให้คุณหมอช่วยดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ของบ้าน ในบางครั้งคนไข้ก็พาคนในครอบครัวมาเพียงเพื่อให้หมอสุเทพช่วยฝากญาติคนไข้ไปให้หมอท่านที่เหมาะสมได้ดูแลต่อ
“ผมอาจจะเป็น Family doctor ไปแล้ว เป็นคนที่คอยกระจายว่าคนไข้คนนี้ควรจะไปอยู่กับแพทย์คนไหนหากไม่ใช่เรื่องในสายเฉพาะทางของเรา แต่ถ้าเขาตามมาให้ดู แล้วเราสะดวก เราก็ไปคุย”
ฝึกสมาธิด้วยปิงปอง
ถึงงานแพทย์จะทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่นิ่ง ๆ แต่ที่จริงแล้วหมอสุเทพชอบการอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ กับตัวเองเพียงลำพัง หากมีเวลาก็สามารถอยู่เฉย ๆ ได้ 5-6 ชั่วโมงโดยไม่เบื่อ นอกจากนั้นแล้ว งานอดิเรกเดียวที่คุณหมอยังคงทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดคือ ปิงปอง

“การมองลูกก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง ตีเพื่อให้เราได้มีสมาธิ โฟกัสกับสิ่งที่เราถนัด ที่จริงผมเป็นสมาชิกของสมาคมปิงปองสมัครเล่นด้วย แต่ก็ไม่ได้แข่งอะไรจริงจัง ในโรงพยาบาลก็มีอาจารย์ท่านที่ตีปิงปองด้วย เป็นหมอโรคหัวใจกับหมอฟัน แล้วก็ตีกับนักกีฬาทีมชาติด้วย
“หลังจากที่ตีปิงปอง วันรุ่งขึ้นผมจะรู้สึกสดชื่น ผมไม่ต้องไปนั่งคิดว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีเคสยากอีกมั้ย แค่หาช่วงเวลาที่จะระบายออกหรือผ่อนคลายหลังจากที่เหนื่อยกับงาน มันก็ทำให้การทำงานดีขึ้น อย่างปัญหาบางเรื่องไม่สามารถจบได้ในช่วงนั้น พอได้ตีปิงปองก็ทำให้ไม่ไปคิดกังวล ให้เวลาตัวเองได้พักสมองบ้าง มันก็มีประโยชน์ไม่ว่าจะทางด้านร่างกาย หรือทางใจ”
ครอบครัวหมอ
ว่ากันว่าหากมีคนในครอบครัวเป็นหมอแล้ว ลูก ๆ ก็จะเป็นหมอตาม
ในครอบครัวของหมอสุเทพเองก็คงไม่เว้น เพราะตั้งแต่รุ่นคุณหมอแล้วที่การแข่งขันทำให้ทางเลือกของเขาเหลือแค่การเป็นแพทย์เท่านั้น โดยมีพี่สาวเป็นไอดอลสำคัญ

“พี่สาวคนโตที่เป็นเภสัชกรทำงานหนักมาก ดูแลน้อง ๆ แล้วเขาเองก็เป็นผู้นำ ทำทุกอย่างแม้กระทั่งส่งน้องเรียน จนพี่สาวอีกคนที่เป็นหมอคนแรกเห็นความพยายาม เขาก็ทำตาม ส่วนตัวผมก็มองพี่ทั้งสองคนเป็นไอดอล แต่ก็พยายามถีบตัวเองขึ้นมา ทำไงก็ได้ที่จะไปให้สูงที่สุด”
ภรรยาของอาจารย์สุเทพก็เป็นหมอ ทำให้ลูก ๆ เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีต้นแบบเป็นหมอ จนลูกคนโตก็สอบเข้าเรียนเป็นหมออีกคนของครอบครัว โดยที่อาจารย์เองก็ไม่ได้คาดหวังหรือชี้นำอะไร
“ผมว่าตัวเองเป็นคุณพ่อที่ไม่ได้ดุ แล้วก็ไม่ได้ชี้นำเลย ส่วนใหญ่ก็จะให้อิสระเขา เขาอยากทำอะไรก็ให้ทำ อยากเรียนเปียโนก็ให้เรียน พอเขาเบื่อแล้วก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ให้เขาหาจุดของเขาเอง ผมแค่เป็นพ่อที่คอย Support เขามากกว่า
“ที่ชอบทำกับลูกก็คือการเล่นบอร์ดเกม สมัยก่อนมีเกมงู แต่เดี๋ยวนี้บอร์ดเกมมันเยอะมาก มีอะไรที่หลากหลายจนต้องให้ลูกมาสอนว่าเล่นยังไง”
ชีวิตของหมอสุเทพคือการอุทิศเวลาฟังเสียงของคนอื่นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด จนนำมาสู่หน้าที่สำคัญที่ทั้งหมอและคนไข้ต่างยอมรับ และมอบรางวัลให้เป็นผลตอบแทน แต่คุณหมอก็ยังคงบริหารเวลาในฐานะคนที่ต้องฟังเสียงของครอบครัว และฟังเสียงของตัวเองด้วย ตามคติที่เชื่อว่าชีวิตต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด และวันนี้ของคุณหมอคือส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างโรงพยาบาล บ้าน และภายในของตัวเอง

“วันนี้คือเหตุเฉพาะหน้า และนี่แหละจะเป็นผลในอนาคตที่ตามมา ถ้าเราทำตอนนี้ไม่ดี ในอนาคตก็ไม่ดีแน่ เพราะฉะนั้นทำให้ดีที่สุด แล้วถ้าเป็นไปได้ก็พยายามอย่ายอมแพ้ ถ้ามันไม่ได้ผลในวันนี้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เหมือนรางวัล ‘Good Doctor’ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าผมจะได้ปีไหน ผมจะได้จริงมั้ยก็ไม่รู้ แต่ผมก็แค่ทำทุกวันให้มันดี เราให้คนอื่น แต่ยังตอบโจทย์เรื่องความสุขของเราด้วย”
Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Diplomate Thai Board of Internal Medicine, Chulalongkorn University
– Diplomate Thai Board of Family Medicine
– Diplomate Thai Board of Gastroenterology, Siriraj Hospital, Mahidol University
– M.D., Faculty of Medicine, Srinakarintaravirot Prasanmit
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
พุธ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |
อาทิตย์ | 08:00 – 15:00 | ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร |