จากเด็กติดเกมสู่แพทย์โรคเกาต์ที่คนไข้ยอมรับ
– นพ. สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ –
นพ. สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาล BNH เคยเป็นเด็กไม่ชอบเรียนมาก่อน แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้เป็นหมอ และช่วงชีวิตที่ทำให้ได้เป็นหมอที่เข้าใจคนไข้ นี่คือเรื่องราวของเขา
ชีวิตหมอที่เริ่มจาก ‘ใกล้หมอ’
“เราไม่มีคนในครอบครัวเป็นหมอเลย จะมีก็แต่อากงที่ไม่แน่ใจว่าจะเรียกแพทย์แผนจีนได้มั้ย แต่ว่าท่านสนใจพวกยาจีนสมุนไพร”
สิทธิ์ไม่ได้เจริญรอยตามใครในบ้านมาเป็นหมอ เมื่อตอนเด็ก เขาไม่ชอบเรียน ทำคะแนนได้ไม่ดี แถมติดเกมจนต้องใส่แว่นหนาเตอะ แต่อยู่ดี ๆ เขาก็อยากเข้าห้องสมุดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล และหันมาอ่านหนังสือทุกประเภท โดยเฉพาะ ‘ใกล้หมอ’ นิตยสารความรู้ทางการแพทย์สำหรับคนทั่วไป

“ตอนนั้นก็อ่านไม่รู้เรื่องหรอก แต่ว่าชอบอ่าน ติดตามอยู่ตลอด แล้วเราก็รู้สึกว่าเป็นหมอนี่ดูดี ทำให้ตั้งแต่มัธยม 1 เราก็ตั้งใจเรียนมาตลอดเลย อยู่ดี ๆ ก็ชอบเรียนขึ้นมา โดยเฉพาะเวลาที่เราได้เรียนวิชาที่ชอบมากอย่างคณิตศาสตร์ เราจะมีความสุขมาก รู้สึกเหมือนกำลังเล่นเกม”
สิทธิ์สนุกกับการเรียนมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็สอบเข้าได้ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบแล้ว เขาเลือกเรียนต่อสาขาเฉพาะทางด้านอายุรกรรมที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นที่ซึ่งได้ใช้ทุนไปด้วย และเรียนต่อไปด้วย ที่ซึ่งเขาพบอาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจโรคข้อ จนตัดสินใจมาเรียนต่อสาขานี้ และทำงานที่ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่ออีก 2 ปี หลังเรียนจบ
8 ปี ที่อยู่ที่เชียงใหม่ หมอสิทธิ์ได้รู้จักชีวิตการเป็นหมอที่อยู่นอกตำราหลายอย่าง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการรับคนไข้ของภาคเหนือตอนบน หากมีเคสที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดรับมือไม่ไหวก็มักถูกส่งต่อมาที่นี่ เขาจึงได้เจอเคสคนไข้ท้าทายหลายแบบมาก และเคยเข้าร่วมกับโครงการแพทย์อาสา เดินทางขึ้นเขาไปรักษาคนไข้ในหมู่บ้านตามดอยสูง

“พอเราลงรถมา พวกชาวบ้านก็ดีใจมากเลย บอกหมอมาแล้ว ๆ เขานั่งรออยู่เพียบเลย เราตรวจกันทั้งวัน ทั้งเหนื่อยทั้งชื่นใจ เพราะรู้ว่าคนไข้ที่นั่นเข้าถึงการรักษาพยาบาลยาก”
การได้ไปเห็นกับตา ทำให้หมอสิทธิ์เข้าใจถึงความลำบากและความไม่เท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ คนจากดอยนั้นกว่าจะได้มาหาหมอที ถ้าไม่รอหมอไปหา ก็ต้องรอคนในหมู่บ้านรวมตัวกันเหมารถลงมาโรงพยาบาลในเมือง คุณหมอจึงต้องคอยคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญเมื่อนัดตรวจหรือคำนวณปริมาณยาให้คนไข้
แม้จะชอบเชียงใหม่มากแค่ไหน แต่บ้านของหมอสิทธิ์ก็คือกรุงเทพฯ ในที่สุดเขาก็ต้องย้ายกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว และได้เริ่มงานแรกในโรงพยาบาล BNH จากคำชักชวนของแพทย์รุ่นพี่ จนถึงตอนนี้เขาก็ทำงานที่นี่รวม 12 ปีแล้ว
“BNH เป็นโรงพยาบาลขนาดไม่ใหญ่ หมอทุกคนน่ารัก สบายใจที่จะคุยกัน ตอนเที่ยงไปกินข้าวก็เจอหมอคนนั้นคนนี้ เวลามีอะไรจะบอกจะถามกันก็ง่ายมาก ผมว่ามันเป็นผลดีกับคนไข้ด้วยนะที่หมอคุยกันง่าย ทำงานประสานกันก็ง่าย ได้ดูแลคนไข้ครบทุกด้าน”
หมอโรคเกาต์
การดูแลคนไข้ครบทุกด้านที่คุณหมอสิทธิ์หมายถึง คือ Complete Care การดูแลคนไข้แบบองค์รวมตามแนวนโยบายของโรงพยาบาล BNH โดยเฉพาะในคนไข้โรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคหลักที่คุณหมอดูแลนั้นต้องใช้การบูรณาการเป็นพิเศษในการดูแล

“เราต้องทำ Complete Care อยู่แล้ว เพราะโรคเกาต์ไม่ใช่แค่อาการปวดข้อ พอรักษาให้หายปวดแล้วก็จบกัน แต่เราต้องมาดูแลโรคร่วมอื่น ๆ อีกเยอะแยะ ทั้งโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ไขมันเกาะตับ ไตเสื่อม โรคนิ่วในไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เราจึงต้องดูให้ครบ ให้เขาได้ตรวจสิ่งที่ควรได้ตรวจในเกณฑ์อายุเขา เพราะเราจะเจอคนไข้บ่อยที่สุด ถึงแม้หลายอย่างอาจดูเหมือนไม่ใช่ขอบเขตของโรคข้อ แต่ถ้าทิ้งไว้เขาก็มีโอกาสเกิดพวกโรคร้ายแรง อย่างอัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจขาดเลือด หรือไตวาย ถ้ารักษาแต่ต้นทางมันก็ช่วยได้ หลายครั้งก็ต้องทำงานร่วมกับแผนกอื่น”
นิยามของการดูแลคนไข้ให้รอบด้านของหมอสิทธิ์ ยังรวมไปถึงการดูแลจิตใจของคนไข้ เพราะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจนั้น บ่อยครั้งก็แยกกันไม่ได้
“ผมต้องทำให้คนไข้สบายใจที่จะเล่าความทุกข์ของตัวเอง แล้วก็พยายามช่วยเขา รับฟังเขา บางรายมีอาการคลุมเครือ เราก็ต้องมาซักประวัติให้ละเอียด ตรวจร่างกายให้ละเอียด เพื่อให้รู้ว่าควรส่งตรวจอะไรบ้าง บางรายไม่ได้มีโรคร้ายแรง แต่ว่าวิตกกังวลเยอะ แค่เราได้ตรวจให้ละเอียดเพื่อให้เขามั่นใจว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง เขาก็สบายใจขึ้นเยอะโดยไม่ต้องใช้ยาก็มี หรือบางคนกังวลว่ายาที่เราให้จะเป็นพิษต่อไตเพราะเขาไปฟังคนอื่นมา จนเขากลัวไม่ยอมกิน เราก็ต้องตรวจค่าไตให้ เพื่อให้เขามั่นใจยอมกินยาที่หมอสั่งให้เป็นประจํา เพราะกุญแจสำคัญของการรักษาโรคเกาต์คือการกินยาลดยูริคอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ”

ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวอื่นนอกเหนือจากโรคทางข้อ การสั่งยาของคุณหมอก็ต้องมีข้อควรระวังอีกว่า ต้องไม่ไปส่งผลกระทบต่อโรคที่กำลังเป็นอื่น ๆ เช่น หากคนไข้เป็นโรคไต ก็ต้องหลีกเลี่ยงยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เป็นต้น
โรคเกาต์และรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง หมอสิทธิ์จึงมีคนไข้ประจำจำนวนมาก และหลายคนก็รักษากันจนสนิทกัน คำพูดจากคนไข้เมื่อการรักษามีแนวโน้มดีขึ้นนี้เป็นกำลังใจสำคัญให้คุณหมอยังอยากรักษาคนไข้ต่อไป
“คนไข้โรคเกาต์เคยมาด้วยอาการปวดมาก เดินไม่ได้ แต่เจอกันรอบนี้เขาเดินได้ แล้วเขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ปวดตลอด แต่พอรักษากับเราแล้วกลับมาเดินได้สบาย หรือคนไข้โรครูมาตอยด์ที่วินิจฉัยโรคได้ยากในตอนแรก พอได้รักษามาจนดีขึ้น มาบอกเราว่าเขาเหมือนได้ชีวิตใหม่เพราะว่ามาเจอเรา คำพูดพวกนี้ทำให้เรามีกําลังใจที่จะทํางานต่อ”
คุณหมอได้ฝากความห่วงใยไปถึงกลุ่มคนไข้โรคเกาต์ ซึ่งพบมากที่สุดในกลุ่มโรคข้อที่เขาดูแล ว่าโรคเกาต์เป็นโรคที่เป็นแล้วไม่มีทางหายขาด แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้โดยการกินยาลดยูริคอย่างสม่ำเสมอและมาตรวจเลือดประจำตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเช่นหยุดสุรา, ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักเกิน และดื่มน้ำมาก ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนก็ยังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเกาต์ ว่าหากมีอาการปวดกำเริบเมื่อไรค่อยมารักษาเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นจุดที่คุณหมอเป็นห่วง เพราะการกินยาหรือฉีดยาแก้ปวดแก้อักเสบ จะช่วยได้แค่ชั่วคราว แต่หากไม่ดูแลตัวเอง ความเจ็บปวดก็จะกลับมาอีก และจะหนักกว่าเดิม รวมถึงส่งผลต่ออวัยวะอื่นของร่างกาย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
“ช่วงแรกที่ปวด คนไข้ได้ยาแก้ปวดเป็นครั้งคราวแล้วมันหาย พอหายปวดเขาก็คิดว่าหายจากโรคแล้ว ซึ่งเขาเข้าใจผิด เลยไม่ดูแลตัวเอง จนอาการกำเริบรุนแรง มันน่าเสียดาย ทั้งที่โรคเกาต์มีทางรักษาได้ถ้ากินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง”
สมดุลชีวิตคุณหมอ
เพราะดูแลคนไข้โรคข้อ ตัวเองจะมีปัญหากับข้อก็ไม่ได้ ทั้งความคิดที่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนไข้ ทั้งต้องแข็งแรงก่อนถึงไปดูแลคนอื่นได้ หมอสิทธิ์จึงพยายามมีวินัยกับการออกกำลังกายอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงต่อวัน ส่วนเวลาของเขานอกเหนือจากนั้น ส่วนมากจะหมดไปกับการอ่านหนังสือ
หมอสิทธิ์ชอบหาความรู้มาแต่เด็ก เมื่อก่อนเขาจะไปขลุกอยู่ในห้องสมุด แต่ทุกวันนี้ที่ความรู้ใหม่ ๆ อยู่ใกล้แค่จอมือถือ คุณหมอจึงใช้เวลาว่างส่วนมากไปกับการเรียนรู้ในโลกออนไลน์

“ผมหมดเวลาไปกับพวกนี้เยอะเลย จนตอนนี้ดูไม่ทันแล้ว นอกจากฟังข่าวเช้าแล้ว ผมชอบดูคอนเทนต์ทั้งวิชาการและความรู้อื่น ๆ ที่ไม่เชิงวิชาการซะทีเดียว แต่ว่ามันเป็นประโยชน์กับเรา เช่นเรื่องภัยจากมิจฉาชีพ หรือพวกสารคดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ เขาบอกว่าจักรวาลนี้กำเนิดขึ้นเมื่อหนึ่งหมื่นสามพันล้านปีก่อน ประกอบด้วยกี่ล้านล้านกาแล็กซี่ไม่รู้ ชอบอะไรทำนองนี้มาก ดูแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวและความทุกข์ของเราหดเหลือเล็กนิดเดียว”

เพื่อดูแลสุขภาพให้ครบ คุณหมอก็ต้องดูแลสุขภาพการนอนและการกินของตัวเองให้ดีด้วย เขามักเน้นทานอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างข้าวไรซ์เบอร์รี ผักและผลไม้ เพราะเขาเห็นภาพสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองหากตามใจปากมากเกินไป แต่ถึงกระนั้นคุณหมอก็ยอมให้รางวัลตัวเองบ้างในบางครั้งด้วยของโปรดอย่างชีสเค้ก และดาร์กช็อกโกแลต
ในฐานะคนเป็นแพทย์ เขาฝากคำแนะนำให้คนทั่วไปไว้ด้วยว่า
“ทุกวันนี้รูปแบบการกินการใช้ชีวิตของคนเราและปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเพิ่มโอกาสการเป็นโรคต่าง ๆ เยอะมาก อยากแนะนำให้หมั่นตรวจสุขภาพประจําปี คอยมอนิเตอร์น้ำหนัก ทําให้รู้ว่าของที่กินอยู่ทุกวันนี้มันโอเคหรือยัง ของพวกนี้มันสะสม ใช้เวลานานกว่าจะเกิดโรค ถ้าเราไม่ตระหนักรู้ ใช้ชีวิตตามใจ ก็จะเกิดโรคจนยากที่จะรักษา”
“เป็นหมอ จะเก่งอย่างเดียวไม่พอ เราอยากให้คนไข้คลายทุกข์มากที่สุดพอออกจากห้องตรวจไป เลยต้องใส่ใจมาก ๆ และรับฟังเขามาก ๆ”
จากคนอ่าน ‘ใกล้หมอ’ จนได้มาเป็นหมอเต็มตัว ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ ‘เข้าใจ’ และวางตัวให้คนไข้ ‘เข้าถึง’ ทั้งยังไม่หยุดเรียนรู้เพื่อเป็นหมอที่ดีรอบด้าน ความประทับใจที่คนไข้มอบให้นี้คือรางวัลแห่งความสำเร็จของหมอสิทธิ์

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ
แผนกอายุรกรรม
ความชำนาญพิเศษ
โรคข้อและรูมาตอยด์
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
โรคเก๊าท์ (Gout)
– Board of Internal Medicine, Chiang Mai University
– Board of Rheumatology, Chiang Mai University
– MD. (First class honors), Chulalongkorn University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
อังคาร | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
พุธ | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
พฤหัสบดี | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
ศุกร์ | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
เสาร์ | 10:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |