หมอหัวใจที่ชอบดูกีฬา ปลาตู้ และพระเครื่อง
– นพ. เสก ปัญญสังข์ –
เมื่อคนไข้ได้พบกับ นพ. เสก ปัญญสังข์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำศูนย์หัวใจ ไต และเมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH ผู้มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของโรคความดันโลหิตสูง พวกเขามักที่จะสัมผัสได้ถึงความใจเย็นและความมีอัธยาศัยของคุณหมอ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนไข้ได้อย่างลึกซึ้ง
ฟังเสียงของหัวใจ
เด็กชายเสกเติบโตขึ้นพร้อมกับแรงบันดาลใจที่ได้รับและซึมซับมาจากการได้เป็นคนไข้ของอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งที่เปิดคลินิกอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับเขา ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาอันดับต้นๆของเมืองไทย อีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย และท่านก็เป็นเสมือนหมอประจำตัวของเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆจนกระทั่งเติบโตเป็นวัยรุ่น
“การที่ผมได้เป็นคนไข้ของท่านมาตั้งแต่เด็ก และได้ไปที่คลินิกของท่านอยู่บ่อยๆ ทำให้ผมได้ซึมซับบรรยากาศของอาชีพแพทย์ทีละเล็กละน้อย โดยมีท่านเป็นต้นแบบของแพทย์ที่ดีให้ได้เห็น ทําให้ผมรู้สึกชอบและรักในอาชีพแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงผมยังได้รับการปลูกฝังจากทางบ้านด้วย ทำให้ผมฝันอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ โดยที่ไม่ได้มองอาชีพอื่นเลยตั้งแต่จําความได้”

ย้อนกลับไปในช่วงยุคสงครามเวียดนามซึ่งกินเวลานานเกือบ 20 ปี ผู้คนในยุคนั้นมีความเชื่อประการหนึ่งที่ว่าหากประเทศไทยถูกครอบงำและเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว ลูกหลานบ้านใดที่เป็นหมอก็จะมีโอกาสย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศได้โดยง่าย แม้ว่าโชคดีที่ประเทศนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่เด็กชายตัวน้อยผู้ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงปลายของยุคดังกล่าวก็ได้เกิดความหลงใหลในอาชีพนี้หยั่งรากฝังลึกลงในใจเสียแล้ว ทำให้เขาก็ยังเลือกที่จะเข้าเรียนและมีอาชีพเป็นหมออยู่ดี
ท่ามกลางเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในในช่วงเวลานั้น ที่ส่วนใหญ่ผู้ชายมักเลือกที่จะสอบเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เสกคือหนึ่งในไม่กี่คนที่เลือกจะเดินไปในเส้นทางของอาชีพหมอ และเขาก็ได้เริ่มต้นเส้นทางสายนี้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ในสมัยนั้นยังคงมีทางโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นสถาบันหลักในการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ในชั้นคลินิก
และตั้งแต่เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 เสกก็ได้ค้นพบว่าเขาเองรู้สึกสนุกและมีความสุขทุก ๆ ครั้งที่ได้ฟังเสียงหัวใจของคนไข้ เนื่องจากเขาสามารถที่จะจำแนกแยกแยะเสียงทั้งที่ปกติและไม่ปกติได้ค่อนข้างดี นอกจากนั้นแล้วเขายังเกิดความประทับใจและชื่นชมในตัวอาจารย์แพทย์หนุ่มท่านหนึ่งของหน่วยโรคหัวใจ ที่คอยพร่ำสอนนิสิตแพทย์ด้วยความใจเย็น อีกทั้งยังมีวิธีปฏิบัติวางตัวที่ดีและอบอุ่นต่อคนไข้ ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเส้นทางสู่อาชีพแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจนั้นก็คือสิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุดอย่างแน่นอน

ก้าวแรกในชีวิตการทำงานอาชีพแพทย์ของเขานั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตแพทย์ในปีพุทธศักราช 2537 หลังจากจับฉลากได้เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีที่หนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลแห่งแรกที่เขาได้เริ่มงานในฐานะแพทย์อย่างเต็มตัวก็คือโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยานั่นเอง และเมื่อครบ 6 เดือนเขาก็ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลเสนา อันเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดต่ออีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นจึงได้รับมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางซ้าย โรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ และมีเขาเป็นแพทย์ประจำเพียงคนเดียวเท่านั้นในขณะนั้น โดยหลังจากที่ทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้นาน 6 เดือน เมื่อมีเพื่อนแพทย์อีกท่านเข้ามารับหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลแทนตน เขาจึงตัดสินใจที่จะกลับมาทำงานใกล้ๆ กับครอบครัวในกรุงเทพมหานคร เพื่อรอเวลาศึกษาต่อเป็นหมอหัวใจให้ได้ตามที่เคยตั้งเป้าเอาไว้ แต่เนื่องจากเขาจะต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาต่อในสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไปเพิ่มเติมเสียก่อน และในขณะนั้นสาขานี้ก็มักที่จะรับแพทย์ประจำบ้านที่ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบ 3 ปีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาระหว่างนั้นทำงานหาประสบการณ์ด้วยการทำงานเป็นแพทย์ประจำคลินิกแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะได้เข้ารับการอบรมและศึกษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยการเป็นแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาอายุรศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงได้สมัครเข้าศึกษาในอนุสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของหน่วยโรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพิ่มเติมอีก 2 ปีเต็ม
หลังจากเติมเต็มตนเองด้วยการเป็นหมอหัวใจอย่างที่เคยใฝ่ฝันได้สำเร็จแล้ว เขาก็ได้เริ่มต้นบทบาทของการทำงานในอาชีพนี้ที่โรงพยาบาล BNH เป็นที่แรกในฐานะแพทย์ประจำศูนย์หัวใจ ไต และเมตาบอลิซึม และทำงานที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลารวมกว่า 23 ปีแล้ว ที่คุณหมอไว้วางใจให้โรงพยาบาล BNH เป็นเสมือนกับบ้านหลังที่สอง เพราะบรรยากาศในการทำงานร่วมกับเพื่อนแพทย์ที่นี่นั้นเป็นไปอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้ยังทำให้การปรึกษาหรือส่งต่อเคสคนไข้ซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่ไม่ยาก หมอเสกจึงรู้สึกลงตัวและสบายใจที่จะอยู่ร่วมทีมแพทย์ของโรงพยาบาล BNH ต่อไปในระยะยาว
เมื่อหมอป่วย
การเป็นหมอหัวใจที่ดีไม่ได้หมายถึงแค่การรักษาโรคในระบบที่เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลคนไข้แบบองค์รวม หรือที่เรียกว่า Complete Care เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาการจะกำเริบได้ตลอดเวลา แม้ในวันที่คนไข้ต้องเข้ารับการทำหัตถการอื่นๆในห้องผ่าตัด ซึ่งจำเป็นต้องใช้การวางยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์ บ่อยครั้งเขาก็ยังเข้าร่วมทีมรักษาเพื่อเฝ้าระวังเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นตามที่ญาติของคนไข้ร้องขอ อีกทั้งยังช่วยให้ครอบครัวคนไข้รู้สึกสบายใจขึ้นและมั่นใจในกระบวนการรักษาของโรงพยาบาล
แต่สิ่งที่คุณหมอทำให้คนไข้ด้วยความเต็มใจแบบนั้น ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของคุณหมอเช่นกัน…
“ในห้องผ่าตัดวันนั้นผมก็ได้นั่งสแตนด์บายอยู่ที่มุมหนึ่งของห้องซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามกับคุณหมอวิสัญญีพอดี ซึ่งพี่เขาก็คงจะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างในตัวผม เพราะเมื่อการทำหัตถการเสร็จแล้ว พี่เขาก็เดินมาบอกว่าเหมือนผมจะคอโตๆนะ”

โดยปกติแล้วการแต่งกายของแพทย์เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนนั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวและผูกเน็กไทกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยากที่ใครจะสังเกตเห็นความผิดปกติที่คอได้ แม้กระทั่งตัวของหมอเสกเองก็ไม่ได้สังเกตเห็นเช่นกัน ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าขนาดที่อาจจะไม่ได้ใหญ่ไปกว่าปกติมากนัก รวมไปถึงการคุ้นชินเพราะเห็นลำคอตัวเองทุกวัน ดังนั้นเมื่อพี่หมอดมยาสังเกตเห็นและเข้ามาทัก หมอเสกจึงรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยกับอายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง และก็พบว่าต่อมไทรอยด์มีก้อนจริงๆ ดังนั้นการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อทำการส่งตรวจจึงเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา
“ตอนแรกผลออกมาว่าเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่อันตราย ผมก็สบายใจ แต่อีกประมาณ 3 วัน อาจารย์ที่เจาะและอ่านผลชิ้นเนื้อท่านก็โทรมาแจ้งว่าให้ผมผ่าออกเลยก็ดีนะ ซึ่งผมก็ยังแปลกใจอยู่จนทุกวันนี้เพราะท่านไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไม แต่ผมก็เข้าใจว่าท่านคงจะไปรีวิวดูและน่าจะเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสงสัย และเมื่ออาจารย์ท่านแนะนำอย่างนั้น ผมจึงตัดสินที่จะเข้ารับการผ่าตัดโดยไม่รอช้า เนื่องจากผมทราบมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนิสิตแพทย์แล้วว่าคุณย่าของผมท่านเคยผ่าตัดเนื้องอกของต่อมไทรอยด์มาก่อนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และก็ยังต้องกลืนแร่รักษาต่อด้วย ดังนั้นผมจึงมีโอกาสเป็นโรคเดียวกับท่านได้”
“พี่หมอผู้ที่จะทำการผ่าตัดให้ผมได้วางแผนการรักษาว่าจะผ่าตัดต่อมไทรอยด์ฝั่งที่มีก้อนเนื้องอกออกก่อน และจะส่งตรวจชิ้นเนื้อแบบด่วนในระหว่างที่ผมยังคงดมยาให้หลับอยู่ และผลชิ้นเนื้อที่ได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้จะถูกแจ้งกลับมาให้แพทย์ผู้ผ่าตัดทราบภายใน 1 ชั่วโมง โดยถ้าหากเป็นแค่เนื้องอกธรรมดา การผ่าตัดก็จะจบลงทันที แต่หากว่าเป็นเนื้อไม่ดี พี่หมอเขาก็จะตัดต่อมไทรอยด์ที่เหลืออยู่อีกส่วนออกทั้งหมด พอผมตื่นและมีสติพอที่จะรับรู้ได้หลังผ่าตัด คุณหมอก็แจ้งว่าต่อมไทรอยด์ของผมถูกผ่าออกทั้งหมด และจะต้องรักษาด้วยการกลืนแร่ (การรับประทานสารกัมมันตรังสีไอโอดีน) ต่อ เนื่องจากผมมีก้อนเนื้ออยู่ 2 ก้อนซ้อนกัน ผลตรวจชิ้นเนื้อจากการเจาะก้อนแรกที่ใหญ่กว่าที่อยู่ด้านหน้าในครั้งแรกนั้นได้ออกมาว่าเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่อันตราย แต่ก้อนเล็กเจ้าปัญหานั้นมันซ่อนอยู่ด้านหลังของก้อนใหญ่อีกที แต่ก็เป็นโชคดีของผมที่เนื้องอกชนิดนี้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดครั้งเดียวแล้วตามด้วยการกลืนแร่รักษาต่อเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา ปัจจุบันผมตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอมานาน 10 ปีแล้ว และทำให้ผมรู้ว่าผมได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว เหมือนกับที่คุณย่าของผมได้หายขาดจากโรคเดียวกันนี้ เพราะผมเห็นท่านไปติดตามอาการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์หลังผ่าตัดและกลืนแร่มาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก นับรวมก็ได้ราวๆ 26 ปีเห็นจะได้ ก่อนที่ท่านจะจากไปจากโรคอื่นๆในวัยชรา”

ก่อนหน้านั้นหมอเสกเคยสนใจที่จะเรียนต่อยอดทางด้านการสวนหัวใจและการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด ซึ่งแน่นอนว่าในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจนั้นจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีพร้อมกับการถ่ายภาพรังสีแบบเรียลไทม์เป็นระยะๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งแม้ว่าจะมีชุดป้องกันที่มีอุปกรณ์กำบังป้องกันรังสีบริเวณลำคอ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหากับต่อมไทรอยด์เช่นเขา เขาเองก็กังวลว่าอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงหากต้องสัมผัสรังสีอยู่เป็นประจำ
“ผมก็เลยเปิดใจคุยกับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งที่หน่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่า ตั้งแต่รู้ตรงนี้ผมก็คงที่จะไม่เหมาะกับการเรียนต่อในด้านนี้อีกแล้ว พร้อมทั้งคิดว่าอยากที่จะมาโฟกัสกับการดูแลคนไข้รอบนอกมากกว่า เพราะผมอยากหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นให้มากที่สุด ซึ่งท่านก็เข้าใจดีและเห็นด้วยว่าผมควรเซฟตัวเองไว้ก่อนดีที่สุด และยังให้กำลังใจว่าผมยังสามารถไปโฟกัสกับการดูแลรักษาคนไข้โรคหัวใจในแบบอื่นๆได้อีกมาก”
และตลอด 10 ปีหลังจากที่พบความผิดปกติของตัวเอง หมอเสกก็หันมาทุ่มเทรักษาคนไข้ในส่วนงานที่เขาสามารถรับผิดชอบได้อย่างดีที่สุด โดยมีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือความเข้าใจในมุมมองของผู้ป่วย และการใช้ชีวิตอยู่กับความปกติที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นความไม่ปกติได้ทุกเมื่อหากมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น…ไม่ต่างกับสิ่งที่คนไข้โรคหัวใจต้องเผชิญอยู่ในทุกวันของชีวิต
“ต้องมองว่าโรคหัวใจบางอย่างอาจเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่เรายังสามารถควบคุมไม่ให้มันแย่ลงได้ และถ้าใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นเวลาเจอคนไข้แบบนี้ ผมก็จะค่อย ๆ อธิบายพื้นฐานของโรคที่เขาเป็นว่ามีโอกาสหายขาดมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสควบคุมได้มั้ย หรืออาการจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงช้าเร็วแค่ไหน แล้วก็ร่วมกันคิดและตัดสินใจกับคนไข้และครอบครัวว่าเราจะเลือกรักษาไปในแนวทางไหนได้บ้าง ซึ่งบางครั้งการรักษาในแบบที่คนไข้และครอบครัวเลือกนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางการรักษาที่ดีที่สุดในแง่ของความสำเร็จ แต่สิ่งที่เขาเลือกนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเขา ซึ่งบางครั้งเราอาจต้องนั่งคุยเรื่องเดิมซ้ำๆอยู่เป็นชั่วโมง บางทีก็หลายครั้งหลายหน ผมเองก็จะค่อยๆอธิบายไปทีละส่วนหลายๆรอบไปจนกว่าเขาจะเข้าใจ แม้ว่าอาจกินเวลานานไปบ้าง แต่ผมคิดว่ามันคุ้มถ้าคนไข้เข้าใจในสารที่เราอยากสื่อ และร่วมกันเลือกแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับตนเอง”
นอกจากความมุ่งมั่นในการอธิบายทุกเรื่องให้คนไข้และครอบครัวเข้าใจอย่างชัดเจน โดยไม่คำนึงว่าจะต้องใช้เวลานานหรือบ่อยแค่ไหน หมอเสกยังมีอุปนิสัยที่และอ่อนโยนกับทุกคน ซึ่งอาจเป็นเพราะความอบอุ่นและท่าทีที่เป็นมิตรในการสื่อสารที่ทำให้คนไข้ที่เขาดูแลและครอบครัวเกิดความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ และไว้วางใจในกระบวนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
คนชอบดูกีฬา ปลาตู้ และพระเครื่อง
ช่วงเวลาระหว่างออกไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัดและก่อนกลับมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง คุณหมอเสกมีภาพจำที่ทำให้เขายิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง คือการที่เขาจะต้องพกหนังสือ 3 เล่มติดตัวไปทุกที่ ได้แก่ นิตยสารปลาสวยงาม กีฬา และพระเครื่อง ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่าทั้งสามสิ่งนี้ไม่น่าที่จะมีความเกี่ยวข้องกันได้เลยสักนิด และก็ไม่เกี่ยวกับอาชีพแพทย์ของเขาเลยแม้แต่น้อย
เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คุณหมอเสกมักจะใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ไปเดินเล่นที่โซนปลาสวยงามในตลาดนัดสวนจตุจักรเพื่อหาปลามาเลี้ยง เขาชื่นชอบปลาในกลุ่มปลาหนังไร้เกล็ด (Catfish) ที่มีสีสันสวยงามหลายเฉด และยังสนใจปลาที่มีลักษณะแปลกๆ เช่น ปลากระเบนน้ำจืดที่มีลายจุดสวยงาม แต่ไม่ว่าจะเลือกเลี้ยงปลาชนิดใดเขาก็จะยึดถือเงื่อนไขที่สำคัญ คือจะไม่ใช้สัตว์ที่ยังมีชีวิตเป็นอาหารของปลาอย่างเด็ดขาด ต้องเป็นอาหารเม็ดเท่านั้น

“ผมไม่อยากทำบาปโดยการซื้อแมลง หนอน ไร หรือปลาตัวเล็กๆ มาเป็นอาหารของปลาที่ผมเลี้ยง ซึ่งจริงๆแล้วปลาหลายชนิดจากธรรมชาติไม่ยอมกินอาหารเม็ดหรอก แต่คนขายปลาก็มักจะบอกว่ามันกินได้ สุดท้ายผมจึงได้เรียนรู้ว่าถ้าไม่เลี้ยงด้วยอาหารสดเป็นๆ มันก็เลี้ยงไม่รอดแน่นอน ผมก็เลยไม่เลี้ยงปลาแปลกๆพวกนั้นอีก”
ในเรื่องกีฬานั้น คุณหมอเสกชอบดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะศิลปะการต่อสู้ต่างๆ แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสไปดูการแข่งขันที่สนามจริงๆ เนื่องจากเขาไม่ค่อยมีเวลามากนัก เขาจึงเลือกที่จะอ่านและหาข้อมูลจากนิตยสารต่างๆมากกว่า ซึ่งเขาจะชอบหาข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาและนักกีฬาที่เขาชื่นชอบอย่างสม่ำเสมอ และยังชอบที่จะหาเกร็ดน่ารู้ในเชิงลึกอีกด้วย ซึ่งนิสัยในการค้นคว้าหาข้อมูลนี้ เขาเชื่อว่าได้ถูกหล่อหลอมมาจากโรงเรียนแพทย์ทั้งสองแห่งตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด นั่นเอง

ส่วนความชื่นชอบในพระเครื่องนั้น คุณหมอเสกบอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากคุณปู่ของเขาที่มีความหลงใหลในพระเครื่องมาตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นหนุ่ม
“คุณปู่ของผมท่านสะสมพระเครื่องพระบูชาเอาไว้มากมาย ผมจำได้ว่าเวลาผมไปเยี่ยมท่านที่บ้านก็จะชอบไปเปิดดูหนังสือพระเครื่องของท่านบ่อยๆ และยังได้เห็นของจริงที่ท่านสะสมเอาไว้อีกด้วย ผมเองชอบในพุทธศิลป์และศิลปะบนองค์พระ รวมถึงการหล่อและแกะแม่พิมพ์แบบโบราณ และก็ยังชอบที่จะศึกษาประวัติของเกจิอาจารย์ในสมัยก่อนอีกด้วย แต่ผมก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นเซียนพระหรอก แยกแยะพระแท้พระปลอมก็ยังไม่เป็น ผมแค่รู้ว่าการดูพระทำให้ผมรู้สึกใจเย็นและสงบขึ้นเท่านั้น”
ถึงแม้ปัจจุบันคุณหมอจะไม่มีเวลาเลี้ยงปลาสวยงามเหมือนในอดีต แต่ความชื่นชอบนั้นยังคงอยู่ เพราะแทบทุกครั้งที่เขาพบเห็นร้านขายปลาสวยงาม เขาก็มักเข้าไปเดินดูอยู่เป็นนาน เพราะเขารู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้เห็นปลาสวยๆกำลังแหวกว่ายอยู่ ส่วนเรื่องกีฬา ปัจจุบันการหาข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมากจากสื่อออนไลน์ ทำให้กิจกรรมผ่อนคลายอีกอย่างหนึ่งของเขาก็คือการอ่านข่าวและค้นคว้าข้อมูลกีฬาจากสื่อออนไลน์เป็นประจำทุกวัน แต่สำหรับพระเครื่องนั้น ปัจจุบันคุณหมอไม่ค่อยได้ตามอะไรมากเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่ก็ยังนำเอาพระเครื่องที่คุณปู่ให้ไว้จำนวนมากมาส่องดูบ้างเป็นครั้งคราว
“เดี๋ยวนี้ผมไม่ต้องพกหนังสือ 3 เล่มติดตัวเวลาไปไหนมาไหนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะมือถือเครื่องเดียวก็สามารถหาข้อมูลทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน อีกอย่าง การหานิตยสารมาอ่านก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นทุกวัน เพราะคนผลิตเลิกพิมพ์กันไปแทบจะหมดแล้ว แต่หากว่าผมเจอหนังสือเกี่ยวกับสิ่งที่ผมชอบที่ไหน ผมก็จะซื้อมาเก็บสะสมเอาไว้เป็นการส่วนตัวอย่างแน่นอน”
“ผมเองพยายามมองสิ่งรอบตัวให้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปเครียดอะไรกับมันให้มากนัก มองข้ามแล้วเดินต่อไปจะดีกว่า ทุกวันนี้ผมจึงขออยู่กับปัจจุบันและทำมันให้ดีที่สุด โดยที่ไม่ต้องไปซีเรียสอะไรกับตัวเองมากนัก แล้วก็จะพยายามทำให้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ เพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะครอบครัว ให้มีความสุขให้มากที่สุด เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว”
ชีวิตที่เรียบง่ายของหมอเสกในวันนี้ เกิดจากการตกผลึกของประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ทั้งเรื่องเล็กน้อยและเรื่องใหญ่ในชีวิต ไม่ว่าความเจ็บป่วยที่ผ่านมาได้ การเลือกเส้นทางชีวิตในสิ่งที่สามารถจะทำได้ หรือความสุขเล็กๆจากงานอดิเรกที่ชอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีความสุขในแบบเรียบง่ายในทุกๆช่วงชีวิต เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อหมอมีความสุข คนไข้ก็จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเช่นกัน

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. เสก ปัญญสังข์
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
อายุรศาสตร์โรคหัวใจ,อายุรศาสตร์
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ, 2545
– วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์, 2543
– แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขา อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545
– แพทย์ประจำบ้าน สาขา อายุรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
– แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2537
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 07:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อังคาร | 07:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 07:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 07:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 07:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |