อายุรแพทย์ผู้เตรียมความพร้อมให้คนเดินทาง
– พญ. เรขา หาญเวสสะกุล –
ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 การรับวัคซีนก่อนเดินทางไปต่างประเทศก็กลายเป็นข้อบังคับที่หากไม่ทำ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง แต่การเตรียมความพร้อมต่อโรคท้องถิ่นหากต้องเดินทางไปบางประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ผู้เดินทางหลายคนใส่ใจดูแลตัวเองมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ที่โรงพยาบาล BNH ก็มี พญ. เรขา หาญเวสสะกุล อายุแพทย์ด้านเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและวัคซีน ประจำแผนกอายุรกรรม เป็นผู้ให้คำปรึกษา สิ่งที่คุณหมอมอบให้คนไข้ไม่เพียงการป้องกันด้านสุชภาพ แต่ยังรวมไปถึงการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง เพราะคุณหมอเองที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ทั้งมีสีสันและเสี่ยงตายในหลายมุมโลกมาแล้ว
นักเรียนแพทย์จากไทยในต่างประเทศ
“หมอเกิดที่เมือง Jaipur ประเทศอินเดีย พ่อแม่เป็นคนอินเดีย แล้วมาเมืองไทยตอนอายุ 1 ขวบ ค่อยได้สัญชาติไทยทีหลัง เรียนโรงเรียนนานาชาติจนถึงเกรด12 ”
สมัยเด็ก ด.ญ.เรขา เป็นเด็กซนแต่ก็ยังเรียนดี พอเริ่มโตหน่อย ทางโรงเรียนมีแบ่งห้องเด็กเก่งออกมา แล้วเธอก็เป็นหนึ่งในเด็กที่ถูกคัดเลือกให้ไปอยู่ห้องเด็กเรียนดี
“ตอนนั้นเราอยู่ในช่วงที่ติดเพื่อน พอโดนจับแยกไปก็เริ่มรู้สึกไม่อยากเรียน ผลการเรียนแย่ลงจนเกือบสอบตก คุณครูก็กังวล มาคุยกับคุณพ่อคุณแม่แล้วก็คุยกับเรา เขาถึงเข้าใจว่ามันเกิดจากไปแยกเราจากสิ่งที่คุ้นเคย มีจิตแพทย์มาใช้เราเป็น Case Study ให้เขาเรียนรู้ปัญหาของเด็กด้วย”
ปัญหาขาดแรงกระตุ้นในการเรียนของ ด.ญ.เรขา คลี่คลายลงในหนึ่งปีเมื่อเธอเริ่มปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงได้แม้ไม่ได้กลับไปห้องเรียนเดิม เธอยังค้นพบความชอบในวิชาชีววิทยา และอยากดูแลผู้คน ตั้งแต่เด็ก เธอก็รู้ตัวว่าการเป็นหมอน่าจะเป็นหนทางที่ใช่
“แต่ภาษาไทยของเราไม่แข็งแรง พูดได้ อ่านได้บ้าง แต่เขียนไม่ได้เลย ก็เลยเรียนแพทย์ที่ไทยไม่ได้ ยุคนั้นยังไม่มีการเรียนวิชาแพทย์เป็นภาษาอังกฤษ”
อุปสรรคด้านภาษาไม่ได้หยุดความมานะที่จะได้เป็นหมอ ความท้าทายครั้งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของเรขาจึงเกิดขึ้นเมื่อเธอตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนแพทย์ที่ต่างแดน
และปลายทางแรกที่ตั้งใจไว้ คืออินเดีย
“ตอนขึ้นเครื่องจะไปอินเดีย ไปกับคุณป้า อยู่ดี ๆ ไฟก็ไหม้ปีกเครื่องบิน มองไปนี่คือเห็นไฟลุกเลย ตอนนั้นอายุ 17 ปี ก็คิดว่าไม่รอดแน่งานนี้ โชคดีที่นักบินเก่ง เขาเอาน้ำมันไปปล่อยทิ้งที่อ่าวไทยแล้วก็บินกลับมาดอนเมือง พอเครื่องลง รถดับเพลิงก็รีบมาดับไฟ แล้วเราก็ลื่นสไลเดอร์ฉุกเฉินลงมาจนเท้าบวม ต้องรีบวิ่งไปอีกฝั่งนึงของรันเวย์ ตอนนั้นเป็นห่วงคุณป้าที่มีทั้งโรคหัวใจโรคความดันมาก แต่ก็ผ่านมาได้ วันต่อไปก็ขึ้นเครื่องไปอินเดียใหม่”
รอบนี้ชะตาลิขิตให้เรขาเดินทางไปถึงอินเดียโดยสวัสดิภาพ แต่เส้นทางสู่อาชีพนี้ก็ยังมีอุปสรรค เมื่อโรงเรียนแพทย์ที่อินเดียที่ตั้งใจไปเรียน สมัยนั้นเลือกรับเฉพาะผู้สมัครที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษาในประเทศ
“เขาไม่ให้เราสอบด้วยซ้ำ เพราะเป็นกฎของโรงเรียนแพทย์ในรัฐนั้น แต่โรงเรียนแพทย์ของเอกชนในอีกรัฐนั้นรับเรา แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เราไม่สามารถไปเรียนที่นั่นได้”

ประจวบเหมาะว่าเพื่อนของคุณพ่อที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ไปเรียนที่นั่น และก็เข้าทางเรขาที่กำลังสนใจอยากไปใช้ชีวิตใต้แสงสีในโลกตะวันตก
“แต่เราไปถึงแล้วตกใจมาก จากกรุงเทพฯ ที่มีทุกสิ่ง พอมาอยู่ในเมือง Clarksville ในรัฐอาร์คันซอ กลับไม่มีแม้แต่โรงหนังหรือชอปปิ้งมอลล์ มีแค่ Walmart ที่อารมณ์ประมาณ BigC คนที่นู่นก็ไม่รู้จักเมืองไทย เขาคิดว่าเราเป็นคนไม่มีศาสนา ไม่มีรถขับ อาศัยอยู่บนต้นไม้ เราตกใจมาก Culture Shock อย่างแรง”
เมืองนี้เป็นเมืองที่คุณพ่อของเธอเลือกให้ เพราะการส่งลูกสาวคนโตที่ไม่เคยใช้ชีวิตตามลำพังเลย นั้นเป็นเรื่องที่ทำใจยาก แต่คุณพ่อก็ยังอยากสนับสนุนแม้จะค้านต่อค่านิยมของคนอินเดียในสมัยนั้น
“ถ้าไม่มีคุณพ่อและคุณป้า เราก็อาจจะไม่ได้เรียนแพทย์ เพราะว่าสังคมอินเดียในตอนนั้นจะบอกว่าผู้หญิงไม่ต้องเรียนหนังสือสูง จบมัธยมปลายก็ให้แต่งงาน”
พอตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเต็มที่แล้ว คุณพ่อของเรขาจึงได้เลือกสถานที่ที่เชื่อว่าปลอดภัยที่สุด เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองเล็ก ๆ ที่เคร่งศาสนา การจำหน่ายแอลกอฮอล์ยังผิดกฎหมาย และมีหอพักหญิงล้วนที่ต้องกลับก่อนสี่ทุ่ม กลายเป็นจุดหมายที่ครอบครัวสบายใจ แต่เรขาไม่มีความสุข
“ก็เลยทําใจอยู่ปีนึง แล้วก็ขอย้ายไปรัฐแอริโซนา เพราะถ้าไปอยู่มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ขึ้น ก็จะมีโอกาสเข้าโรงเรียนแพทย์มากขึ้นด้วย”

ชีวิตนักศึกษาในเมือง Flagstaff ในรัฐแอริโซนา เรขาต้องปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวเหน็บที่มีหิมะตกยาวไปครึ่งปี หัดขับรถบนพื้นน้ำแข็งจนได้ประสบการณ์เฉียดตายเมื่อเบรครถผิดจังหวะบนพื้นหิมะทำให้รถหมุนเสียหลักไป 360 องศา เธอต้องดูแลตัวเองให้ได้ เอาตัวรอดให้เป็น และทำงานอาสาสมัครเพื่อเตรียมตัวสมัครเรียนหมอ แล้วเธอก็ทำได้…ที่หมู่เกาะกลางทะเลแคริบเบียน
“St.George’s University School of Medicine เป็นโรงเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกา แต่ 2 ปีแรกให้ไปเรียนที่เกาะ Grenada อยู่ในทะเลแคริบเบียน อีก 2 ปีไปเรียนที่นิวยอร์ก”
ชีวิตในหอพักริมทะเลบนเกาะกลางทะเลแคริบเบียน แค่จินตนาการภาพก็ชวนเคลิบเคลิ้มไปกับความสวยงามของธรรมชาติราวเกาะสวรรค์ ซึ่งก็สวยจริง แต่ความท้าทายอื่นก็แทบกลบบรรยากาศชวนหลงใหลนั้นไปได้เลย
“ในหอไม่มีทีวีให้ดู โทรศัพท์จะติดต่อพ่อแม่ก็ไม่มี อาหารการกินทุกอย่างก็ท้าทายมาก ความปลอดภัยเป็นปัญหา เราต้องอยู่แค่ในโรงเรียน ถ้าจะไปข้างนอกก็ต้องไปกันหลายคน เพราะคนที่นั่นไม่ธรรมดา”
ถึงหมอเรขาจะมองว่าคนท้องถิ่นส่วนใหญ่นิสัยดี แต่การออกนอกรั้วมหาวิทยาลัยทีก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเรื่อง ครั้งหนึ่ง เธอมีธุระต้องออกไปในเมืองกับเพื่อน 6 คน แล้วดันไปเจอโจรท้องถิ่น 3 คน ถือมีดยาวมาไล่ปล้น คุณหมอพยายามเจรจาว่าพวกเธอเป็นแค่นักศึกษาที่ไม่มีทรัพย์สินมีค่า โจรถึงยอมปล่อยตัวไป
ภายในสังคมปิดที่มีกันแค่เพื่อนนักเรียนแพทย์ในต่างถิ่น ความใกล้ชิดและมิตรภาพที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นสิ่งประเมินค่าไม่ได้
จบ 2 ปี บนเกาะในทะเลแคริบเบียน นศพ.เรขา ย้ายมาสู่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีทั้งความศิวิไลน์และความเสื่อมโทรมที่อยู่ไม่ไกลกัน
“ที่พักของเราอยู่ในโซนปลอดภัย แต่โรงพยาบาลที่เขาส่งเราไปไม่ได้อยู่ในโซนปลอดภัย รถเมล์แถวนั้นก็น่ากังวลจนเราไม่ค่อยกล้าใช้ คนนิวยอร์กก็มีอารมณ์ร้อน ใช้คําพูดไม่ค่อยเพราะ และดุมาก ดุจริง เราต้องใจเย็น ต้องใช้ความอดทนมาก”
หมอเรขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และเติบโตมาในสังคมพหุวัฒนธรรม จึงไม่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมที่นั่น เธอยังโชคดีที่มักมีเพื่อนที่ดีอยู่รอบตัว นานไปเธอก็ไม่ต่างจากคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนหนึ่ง คุณหมอเรียนจบแพทย์และเรียนต่อสาขาอายุรกรรมเพราะชื่นชอบเนื้อหาที่หลากหลาย เมื่อชีวิตในสหรัฐอเมริกากำลังเริ่มจะลงตัว เธอก็ต้องเลือกอีกครั้ง
“เราเป็นแพทย์ประจำบ้านเรียนเฉพาะทางมา 3 ปี ที่จริงเรามีทางเลือกว่าจะขอ Work Permit และอยู่ทำงานต่อที่นู่นเลย แต่ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยสบาย เราเป็นลูกคนโตก็เลยต้องกลับมาไทย”
หมอจากต่างประเทศในไทย
และเมื่อการสอบใบประกอบโรคศิลป์ในประเทศไทย จำเป็นต้องใช้ภาษาไทยเท่านั้น หมอเรขาก็กลับมาเผชิญปัญหาเดิมอีกครั้ง
“ตอนที่กลับมาแล้วต้องเรียนภาษาไทย สําเนียงภาษาไทยเราไม่เป็นปัญหา แต่เราพูดไม่คล่อง พออ่านได้บ้าง เราก็พยายามเอาหนังสืออ่านเล่นมาอ่าน เริ่มจากตรงนั้นก่อน แล้วค่อยขยับมาอ่านหนังสือแพทย์เพื่อเตรียมสอบ ศัพท์การแพทย์ก็ต้องใช้เป็นศัพท์ภาษาไทย เป็นอะไรที่ยากมาก จากที่จบเฉพาะทางแล้วต้องกลับมาเริ่มใหม่
เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาการแพทย์ในภาษาไทยมากขึ้น หมอเรขาเลยไปศึกษางานในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เธอประทับใจในความใจดีและให้โอกาสคนของคนไทย

“มีช่วงหนึ่งไปดูงานกับนักศึกษาแพทย์ที่นี่ ทุกคนก็น่ารัก ถึงแม้ตอนนั้นเราจะจบเฉพาะทางมาแล้ว แต่เราไม่ได้ทําตัวว่ารู้ทุกอย่าง เราพยายามฟังเขา เรียนรู้จากเขา”
คุณหมอพยายามเปิดใจให้กว้าง เรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ สิ่งที่หลักสูตรแพทย์จากสหรัฐอเมริกายังมีไม่เท่าในไทย คือเรื่องเวชศาสตร์เขตร้อนซึ่งเป็นโรคประจำภูมิภาค ไม่ได้พบบ่อยในสหรัฐอเมริกา
ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในการเตรียมตัวจนผ่านการสอบใบประกอบโรคศิลป์ คุณหมอรู้ตัวแล้วว่าจุดแข็งของเธอคือประสบการณ์จากหลากวัฒนธรรม เธอจึงอยากทำงานด้านเวชศาสตร์การท่องเที่ยวที่ได้พบปะพูดคุยกับคนไข้เรื่องการใช้ชีวิตในต่างแดน
“พอสอบผ่านแล้ว เราเลยมาสมัครงานที่โรงพยาบาล BNH ที่นี่มีคนจากทุกประเทศเดินเข้ามา ตัวเองชอบที่จะคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องท่องเที่ยว เรื่องวัฒนธรรม เลยเป็นอะไรที่สนุกและมีความสุข”

โรงพยาบาล BNH ยังเป็นสถานที่ในความทรงจำของหมอเรขา
“เรามาวิ่งเล่นที่โรงพยาบาล BNH ตั้งแต่สมัยยังเป็นตึกเก่าเมื่อตอนเรา 3-4 ขวบ เพราะว่าคุณแม่มาคลอดน้อง 2 คนที่นี่ จำได้ว่าอาคารสวยมาก เหมือนบ้านฝรั่งที่เคยเห็นในทีวี แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้ทำงานที่นี่ พอได้งานก็ไม่อยากเชื่อว่าเราได้กลับมาที่ที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็ก จนตอนนี้ก็อยู่มา 24 ปีแล้ว
“ตอนแรกพอมาเมืองไทยก็ไม่ได้รู้จักโรคเขตร้อนเท่าไร และโชคดีที่ได้ไปเจออาจารย์อาวุโสผู้ใจดี ได้ให้ความรู้เรื่องโรคเขตร้อน แล้วก็โชคดีมาก ๆ ที่อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน เขาก็สอนพื้นฐานเรื่องวัคซีนให้ เราสนใจเลยไปลงเรียนเกี่ยวกับเวชศาสตร์การท่องเที่ยวต่อ”
งานเวชศาสตร์การท่องเที่ยวที่คุณหมอดูแลไม่ใช่แค่การเตรียมวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง แต่หมายถึงการเปิดใจให้คนไข้เข้าใจ และยอมลงทุนเพื่อป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น อาทิ โรคระบาด โรคท้องถิ่น อาหารการกิน ปัจจัยที่อาจนำมาสู่โรคทั้งหลาย และหากคนไข้สนใจ คุณหมอก็ยินดีแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัวในต่างแดนที่เธอเคยผ่านมา
“เราก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด อัปเดตตัวเองตลอด เพื่อไปแนะนําคนไข้ได้”
หมอเรขาไม่ได้ดูแลคนไข้แค่เรื่องวัคซีคเพื่อการเดินทาง เธอยังเป็นอายุรแพทย์ที่ดูแลโรคทั่วไป รวมถึงวัคซีนที่คนในพื้นที่ควรได้รับเป็นประจำ Complete Care ดูแลแบบบูรณาการครบถ้วนรอบด้านเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นซึ่งดีกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมารักษา จึงเป็นแนวทางการดูแลที่เธอให้กับคนไข้มาโดยตลอด
“สิ่งสำคัญคือความเชื่อใจ เราไม่ได้ดูแลคนไข้แค่เรื่องสุขภาพ เราต้องเรียนรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง รับอะไรได้อะไรไม่ได้ ต้องปรับการดูแลเพราะคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องเปิดโอกาสให้เขาคุยซักถาม ห้ามสั่งเขา มันเป็นการดูแลให้เขามีส่วนร่วม พอเราสนิทกับคนไข้แล้วเขาก็จะเชื่อใจเรา แล้วถ้าเขาอยากคุยเรื่องความเครียดหรือปัญหาส่วนตัว เราก็พร้อมรับฟัง หากวันไหนเขามาหาเราแล้วเราช่วยเขาไม่ได้ เราก็พร้อมแนะนําคนที่เราคิดว่าจะช่วยเขาได้ด้วย”
ต้องขยับ ต้องกระฉับกระเฉง
“เราเป็นคนทํางานเยอะ ทุ่มเทกับงาน เลยต้องคอยเตือนตัวเองให้ดูแลตัวเองด้วย เพราะไม่งั้นเราจะดูแลคนอื่นไม่ได้ ไปออกกําลังกายบ้าง ไปพักผ่อนบ้าง ซึ่งบางทีก็ลืมจุดนี้ไปจริง ๆ”

คนทั่วไปจะติดภาพว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบเล่นโยคะ แต่หมอเรขากลับนิยมกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวเร็ว ๆ มากกว่า
“ชอบเต้นซุมบ้า โยคะมันช้าเกินไป เรานี่ถ้าอยู่นิ่งจะรู้สึกเพลียแล้วก็ง่วงมากเลย”
วันไหนที่ว่างจากการดูแลคนไข้หรืออัปเดตความรู้ในวงการแพทย์ หมอเรขาจะเข้ายิมออกกำลังกาย โดยเลือกคลาสที่มีดนตรีประกอบสนุกสนานรวมไปถึงละครเวที เธอนิยมละครบรอดเวย์ และชอบ Comedy Club ที่นำเสนอเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้เราผ่อนคลายและมีความสุข
สิ่งที่หมอเรขาโปรดปรานทั้งหลาย มีจุดร่วมเดียวกัน คือความเป็นพหุวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังกิจกรรมเหล่านั้น รวมไปถึงอาหารหลายแบบ ประเทศหลายประเทศ หนังสือเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างบนโลกใบนี้ ซึ่งก็ทำให้คุณหมอรักษาสมดุลชีวิต ไปพร้อมกับได้รู้จักเรื่องราวใหม่ ๆ ที่นำมาเชื่อมโยงกับคนไข้ที่มาจากนานาประเทศและที่กำลังจะเดินทางไปยังนานาประเทศ
“กว่าจะเข้าใจคนแต่ละคน เราต้องรู้ว่าวัฒนธรรมเขาเป็นยังไง ต้องรู้ว่าเขาคิดกันยังไง ถ้าจะดูแลรักษาเขา เราต้องเข้าถึงเขาได้ เมื่อเราทำได้ เขาก็จะฟังเรา ถึงตอนนั้น เขาจะได้ประโยชน์ เราเองก็ได้ประโยชน์”
มิตรภาพรอบโลก

“เราเป็นคนที่รักเพื่อนนะ มี Loyalty สูงมาก และโชคดีที่มักได้เจอเพื่อนที่ดี”
ชีวิตที่ผ่านมาหลายสังคมจากหลายมุมโลก ทำให้หมอเรขารู้จักคนมากมายจากต่างพื้นเพ และความเป็นคนจริงใจ ทำให้เธอรักษามิตรภาพเหล่านั้นไว้ได้ยาวนานในระดับไว้ใจกัน สนับสนุนส่งเสริมกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ผจญความลำบากมาด้วยกันสมัยอยู่เกาะแคริบเบียน เพื่อนเก่าสมัยมัธยมที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเมื่อคุณหมอกลับมาเมืองไทย หรือเพื่อนหมอจากโรงพยาบาล BNH ที่ใกล้ชิด จนสามารถปรึกษาเคส หรือส่งต่อเคสกันได้อย่างสบายใจ
“แม้แต่คนไข้ เราจะถือว่าเขาเป็นเพื่อน ให้กําลังใจเขา จะทำให้เขารู้ว่าเราจะไม่ทิ้งเขา”
มิตรภาพที่เกิดขึ้นในทุกช่วงของชีวิต ไม่ใช่ได้มาแค่เพราะโชคช่วย แต่การวางตัวอย่างถ่อมตัว ทำให้คนที่อยู่ใกล้อยากสนับสนุนช่วยเหลือ ก็ทำให้เธอผ่านช่วงเวลาลำบากมาได้หลายครั้งด้วยความเอ็นดูจากคนรอบตัว และเธอก็ตอบแทนมิตรภาพเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
“เราอยากให้คนรู้ว่าเราเป็นคนที่ไว้ใจได้ แล้วถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือ ก็ให้เขามาหาเรา”
“เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ถ้าเราไม่เปลี่ยนตามยุคสมัยก็จะลำบาก เราต้องเปิดใจรับคําติชมให้ได้ ถ้ามั่นใจว่าวันนี้รู้ทุกอย่าง พรุ่งนี้เราจะพลาด เราต้องไม่ยึดติด พร้อมปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็จะเปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งทำให้เราเติบโตก้าวหน้าไปได้”
ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมายพาตัวเองไปอยู่ในหลายสังคม หลากวัฒนธรรม หากไม่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง หมอเรขาก็คงไม่มีวันนี้ที่เธอได้สวมเสื้อกาวน์รักษาคนไข้ตามที่เคยฝันเอาไว้ และเป็นพลเมืองไทย ที่พูดอ่านเขียนภาษาไทย โดยได้รับการยอมรับจากทั้งคนในประเทศและนอกประเทศจนถึงทุกวันนี้

Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Internal Medicine, New York Hospital B.Sc. Northern Arizona University
– Postgraduate Neurophysiology California State University (Fullerton)
– M.D.St.George’s University School of Medicine
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 10:00 – 18:00 | แผนกอายุรกรรม |
อังคาร | 10:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม |
พุธ | 10:00 – 18:00 | แผนกอายุรกรรม |
พฤหัสบดี | 10:00 – 18:00 | แผนกอายุรกรรม |
ศุกร์ | 10:00 – 18:00 | แผนกอายุรกรรม |
เสาร์ | 10:00 – 14:00 | แผนกอายุรกรรม |