อายุรแพทย์สายติสท์ที่มักมีกล้องฟิล์มติดตัว และหนังสือติดกาย
– นพ. ระพีพัฒน์ เหล็กขำ –
หมอเต๋า นพ. ระพีพัฒน์ เหล็กขำ คืออายุรแพทย์โรคไตที่สร้างความประทับใจให้ทั้งคนไข้ชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนไข้จากกัมพูชาที่มายัง ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH เพราะเขามีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายจากหลายมุมโลก และทักษะความเป็นศิลปินจากงานอดิเรกก็ทำให้คุณหมอมีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ช่วยสร้างสมดุลชีวิตให้เขา และเชื่อมโยงเขาเข้ากับคนไข้
จากไทย ไปอเมริกา และมากัมพูชา
“คุณตาของผมคือไอดอล ท่านเป็นคุณหมอที่เก่งมาก จบจากโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกที่เพชรบูรณ์ แล้วก็ย้ายมาเรื่อย ๆ จนมาเปิดคลินิกที่สุโขทัย”
ด.ช.ระพีพัฒน์ เติบโตมาในคลินิกของคุณตาในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เขามีคุณตาเป็นแบบอย่างในชีวิตมาตลอด นานวันไปก็ซึมซับงานของคุณตาจนรู้สึกผูกพันกับอาชีพนี้ แม้ยังไม่ได้มีความรู้สึกหนักแน่นว่าต้องเป็นหมอให้ได้ แต่คุณแม่ที่เป็นอาจารย์แนะแนวก็เห็นแวว จึงพาเขาไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อจบชั้น ม.3 กลายเป็นสมาชิกรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่ได้เรียนในสถาบันแห่งนี้ต่อจากคุณตาและคุณแม่
“ชีวิตที่ต่างจังหวัดมันมีความเงียบ ๆ ที่จริงก็มีความสุขดีอยู่แล้ว เรียนไปไม่ต้องคิดอะไรมาก เพื่อนก็โอเค แต่ที่บ้านเขาคงมองว่าชีวิตเราต้องก้าวไปขั้นต่อไป ก็ต้องไปอยู่กรุงเทพฯ”
จากชีวิตเด็กระดับท็อปในโรงเรียนประจำจังหวัดที่วัน ๆ มักถูกมอบหมายให้ไปแข่งขันวิชาการบ่อยจนไม่ค่อยได้เรียน พอย้ายมาอยู่โรงเรียนที่เป็นที่รวมนักเรียนหัวกะทิแล้ว แม้เขาจะสบายใจกว่ากับการไม่ต้องถูกฝากความหวังให้เป็นตัวแทนโรงเรียนเป็นประจำ แต่การแข่งขันภายในโรงเรียนเองก็สูงมากขึ้นเช่นกัน
สมัยนั้น ระพีพัฒน์เรียนอยู่แผนกวิทย์-คณิต-สถาปัตย์ ที่เพื่อน ๆ ส่วนมากสนใจเรียนต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นหลัก ตามมาด้วยวิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ ในตอนนั้นระพีพัฒน์เองก็พอมีความสนใจด้านสถาปัตย์อยู่บ้าง เพราะเขาเองก็ชอบวาดรูป
“ลูกพี่ลูกน้องของผมเป็นสถาปนิก ตอนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ผมก็อยากเป็นสถาปนิก แต่พอมาเรียนวิทย์-สถาปัตย์ ก็รู้ตัวเองตั้งแต่วันแรกที่อาจารย์ให้ไปดีไซน์อะไรสักอย่าง ปรากฏว่าผมไม่มีความคิดเป็นของตัวเองเลย แค่เป็นคนวาดรูปเก่งเพราะว่าก๊อปรูปเป็น ก็เลยรู้ว่าไม่รอดแน่ถ้าจะเป็นสถาปนิก เพราะเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ดีนะที่คิดได้เร็ว แต่ผมก็แฮปปี้มากตอนเรียนเตรียมฯ เพราะว่านิสัยเพื่อน ๆ ในกลุ่มที่ยังคบหากับอยู่จนทุกวันนี้ มันไปด้วยกันได้จริง ๆ”

เพราะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่ทั้งโรงเรียนมักฝากความหวังด้านงานศิลป์เอาไว้ ระพีพัฒน์เองเลยพลอยได้ทำงานอาร์ต ๆ ไปด้วยหลายอย่าง ทั้งงานทำป้ายคัทเอาท์งานกีฬาสี หรืองานทำหนังสือรุ่น และเพราะอยู่ท่ามกลางคนอาร์ต ๆ เขาจึงค้นพบความชอบในงานอาร์ต ๆ อย่างการถ่ายรูป แม้พอเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว เขาก็ยังประจำอยู่ฝ่ายศิลป์ คอยช่วยจัดแจงทำป้ายเชียร์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ

เมื่อเรียนจบ หมอระพีพัฒน์ได้ไปใช้ทุน 3 ปี ที่โรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลิงและเมืองทหาร ทำให้เขาผ่านเคสคณะทัวร์โดนลิงรุมกัดทั้งคณะ และเคสอุบัติเหตุจากลูกระเบิดมาแล้ว ซึ่งก็เป็นภาพที่ยังติดตาเขาจนถึงวันนี้ และในช่วง 3 ปีนี้ ก็ทำให้เขาเปลี่ยนใจจากความต้องการเป็นหมอกระดูกมาสนใจเรียนอายุรกรรม และตั้งเป้าจะไปเรียนเมืองนอกให้ได้
“ผมไม่ได้ได้ทุน ไปอเมริกานี้ใช้เงินเก็บส่วนตัวทั้งหมด ไม่ได้รบกวนทางบ้านเลย ใช้ทุนจนครบสามปี ไม่ได้ลาออกก่อนเพราะไม่มีเงินจ่ายคืนให้หลวง ชีวิตที่นั่นค่อนข้างจะสนุกนะ แต่ว่าผมไม่มีเงินเก็บเลยเพราะค่าครองชีพมันสูง งานหนัก แต่ก็เป็นช่วงชีวิตที่ดี คุ้ม ภาษาอังกฤษดีขึ้นเยอะมาก เอาตัวรอดได้”
คุณหมอไปเรียนด้านไต ต่อด้วยการปลูกถ่ายไต ที่ Albert Einstein Medical Center ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และทำงานที่สหรัฐอเมริกาต่อ ใช้เวลาอยู่ที่นั่นรวม 8 ปี แต่ช่วงหนึ่งที่เขาต้องต่อ Work Permit กลับประสบปัญหาการดำเนินเอกสารล่าช้ายาวนานล่วงไปถึง 9 เดือน เขาจึงลองหาโอกาสใหม่ และได้ไปทำงานเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคไตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
“ก็เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างเพราะวัฒนธรรมเขาไม่เหมือนบ้านเรา ผมก็ฝึกพูดภาษาเขมรได้บ้างนิดหน่อย พอคนไข้ชาวเขมรมาเห็นว่าหมอพูดเขมรได้ก็ดีใจมาก ตอนนี้ก็ยังมีคนไข้ที่รีเฟอร์มาจากกัมพูชา พอเขาเจอหน้าผมก็ยิ้มเลย ผมเข้าไปสวัสดีเป็นภาษาเขมร ตรวจร่างกายด้วยภาษาเขมรที่ผมพอได้บ้าง เขาก็แฮปปี้มาก”
หมอระพีพัฒน์เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ในประเทศกัมพูชา 6 ปี แต่ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาที่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถสื่อสารกับคนไข้ที่ส่วนมากเป็นชาวท้องถิ่นได้มากเหมือนการใช้ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ทำให้เขาตัดสินใจว่าอยากกลับมามอบการรักษาที่ทำให้คนไข้ได้รับประโยชน์มากที่สุดในบ้านเกิดตัวเอง
“ผมสนิทกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่นี่ตั้งแต่เรียนเมืองนอก พอผมกลับมาจากกัมพูชาก็มาหาแก มากินกาแฟที่นี่ พี่เขาก็ถามว่ามีงานหรือยัง ตอนนั้นผมลาออกแล้วก็เลยว่าง พี่เขาก็ชวนไปสัมภาษณ์งานกับอาจารย์นพรัตน์เดี๋ยวนั้นเลย ตอนนั้นท่านกําลังจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการพอดี วันนั้นผมมาแบบเสื้อยืดเกงยีนส์เลย อาจารย์ท่านก็สไตล์สบาย ๆ เข้าไปเสร็จก็คุยกันถูกคอ ก็แค่นั้นเองแล้วให้ส่ง CV มา ผมมีไปสัมภาษณ์ที่โรงพยาบาลใหญ่กว่านี้ แต่รู้สึกคลิกมากที่นี่ เลยตกลงมาที่โรงพยาบาล BNH”
แต่พอใกล้เริ่มงานใหม่ หมอระพีพัฒน์ก็ประสบอุบัติเหตุกระดูกหักจนต้องพักฟื้นต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งทางโรงพยาบาลก็เข้าใจ และยอมให้เขาเริ่มงานเมื่อร่างกายพร้อม ทำให้คุณหมอประทับใจเป็นอย่างมาก จนถึงตอนนี้ เขาก็เป็นอายุรแพทย์ด้านไตที่โรงพยาบาล BNH มาครบ 2 ปีแล้ว และยังคงสนุกกับงานและเพื่อนร่วมงานในทุกวัน
“นี่ BNH โฟกัสไม่เหมือนโรงพยาบาลอื่น รักษาสมดุลชีวิตให้พนักงานดีมาก ใช้ชีวิตด้วยความแฮปปี้ กับแพทย์ทุกคนนี่คุยแล้วมันคลิกกัน อยู่ด้วยกันแบบครอบครัว ผมทํางานทุกวันก็มีความสุขมาก กับคนไข้ก็เป็นเหมือนญาติเป็นเพื่อน สนิทกันเพราะเจอบ่อยมาก 80-90% ก็คือคนไข้เก่า ทักทายกันเหมือนเป็นคุณปู่คุณย่า เราก็ต้องดูแลเขาให้มันครบจริง ๆ ให้ Complete Care กับเขา อะไรที่ต้องติดต่อกับแผนกอื่นให้ต่อเนื่องกันก็ง่ายในการคุยปรึกษาเคสกับคุณหมอ”

หมอไต โรคที่ใช้ตัวเลขวินิจฉัย
หมอระพีพัฒน์เป็นแพทย์เฉพาะทางเรื่องไต ซึ่งเป็นโรคที่ส่วนมากแล้วมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงระยะที่สาหัสจริง แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็กลายเป็นโรคเรื้อรังที่ทำได้เพียงประคับประคองหรือต้องต้องฟอกเลือดหรือเปลี่ยนไตไปเลย ความผิดปกติของไตเบื้องต้นหลาย ๆ ครั้งก็อาจเห็นได้เเต่เพียงเเค่ตัวเลขที่ผิดปกติเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์อย่างคุณหมอในการวินิจฉัยจากข้อมูลตัวเลขเพียงอย่างเดียว ซึ่งความซับซ้อนก็เยอะมาก
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาสนใจงานด้านไต เพราะสมัยเรียนอายุรกรรมที่สหรัฐอเมริกา เขามีโอกาสทำงานร่วมกับโปรเฟสเซอร์ท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องความผิดปกติของเกลือแร่ที่สามารถวินิจฉัยคนไข้ได้อย่างละเอียดถึงขนาดที่สามารถบอกได้ว่าคนไข้น่าจะมาด้วยอาการอะไร โดยดูย้อนจากผลเลือดที่ผิดปกติ โดยที่ยังไม่ต้องคุยกับคนไข้เลยด้วยซ้ำ
“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีคนดูเคสที่เราดูเป็นประจําด้วยวิธีนี้ เลยได้เห็นว่าคนเชี่ยวชาญกับไม่เชี่ยวชาญต่างกันยังไง แล้วอาจารย์ก็สามารถสอนให้เข้าใจได้ง่ายมาก เลยอยู่กับโปรเฟสเซอร์ท่านนี้ต่ออีก 5 ปี ทําให้ผมเลือกตัดสินใจเรียนต่อด้านโรคไต”

โรคทางไตที่หมอระพีพัฒน์เคยรักษา ในคนไข้บางรายก็แทบบอกไม่ได้เลยว่านี่คือปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติของไต อย่างเคสผู้สูงอายุรายหนึ่งที่เป็นคนไข้ประจำ เขาเคยมีนิสัยดี แต่อยู่มาวันหนึ่งก็กลับค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายและโมโหร้ายใส่คนรอบตัว เมื่อเจาะเลือดดูถึงเห็นค่าตัวเลขว่าเขามีเกลือแร่ต่ำอันเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะหัวใจผิดปกติ ร่างกายจึงพยายามรักษาสมดุลจนส่งผลให้สมองบวม และนำมาซึ่งพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พอคุณหมอเห็นความผิดปกติและสามารถแก้ไขได้ตรงจุด คนไข้ก็กลับมาใจเย็นเช่นเดิม ซึ่งการรักษาโรคทางไตนี้ไม่ใช่เพียงให้ยาเท่านั้น แต่ยังต้องทำความเข้าใจกับคนไข้เยอะมากเพื่อให้คนไข้ยอมร่วมมือในการรักษา
“ถ้าเป็นคนไข้ใหม่ ผมจะให้เวลาเป็นชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมง เพราะถ้าเขาไม่เคยเจอหมอไตเลย มันมีเรื่องต้องรู้เยอะมาก เป็นเรื่องการใช้ชีวิตเป็นหลัก ผมจะลงรายละเอียดทุกอย่าง เขามีปัญหาอะไร ไตมีหน้าที่อะไร ต้องกินอะไรเท่าไร โปรตีน เกลือ โปแตสเซียม เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาอยู่แล้ว ผมจะปูเบสิคให้คนไข้เยอะ คนไข้ออกไปจะมีกระดาษที่ผมวาดรูปให้ดูทุกคน ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ผมว่าคนไข้หลายคนโอเคมาก”
และเพราะว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับไตมักเป็นโรคเรื้อรังที่ทำได้เพียงชะลอการแสดงอาการให้ช้าลง คุณหมอจึงต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนไข้ตั้งแต่แรก เพื่อให้การรักษาดำเนินไปง่ายมากขึ้น และคุณหมอก็จะตั้งเป้าในการรักษาให้ ซึ่งคนไข้มีหน้าที่ทำตามหมุดหมายที่คุณหมอตั้งเอาไว้ แม้ไม่อาจหายขาดตามธรรมชาติของโรค แต่คนไข้ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หากเข้าใจและยอมทำตามคำแนะนำของคุณหมอ
“ผมอ่านหนังสือค่อนข้างหลากหลาย แนวหนึ่งที่ชอบคือปรัชญา มีแนวคิดของปรัชญา Stoicism ข้อนึงที่ผมประทับใจแล้วเอาประยุกต์ใช้อยู่เสมอ เขาบอกว่าทุก ๆ สิ่งบนโลกใบนี้ มันมีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น การกระทำและความคิดของผู้อื่น เรื่องในอดีต การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย พูดอีกอย่างก็คือมีแค่ความคิดของเราเองและการเลือกตอบสนองต่อสิ่งนั้น ๆ ที่เราสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ พอเข้าใจในธรรมชาติข้อนี้จะทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปมาก ผมที่เมื่อก่อนเคยหงุดหงิดหรือไม่พอใจเวลาคนอื่นไม่เห็นด้วยกับเราหรือทำอะไรไม่ได้อย่างใจ หรือคนไข้ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมโรคนี้ต้องเกิดขี้นกับเค้า ขอเเค่เราเข้าใจว่าทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราที่จะคิดหรือตอบสนองต่อเรื่องนั้นอย่างไร ขอให้ทำให้เต็มที่ ส่วนที่เหลือเป็นสิ่งนอกเหนือการควบคุมของเรา ก็ให้เข้าใจสัจธรรมนี้เละปล่อยวาง ไม่ยึดติด ชีวิตก็อยู่ง่ายมากขึ้น”
หนังสือคือเพื่อน

หมอระพีพัฒน์ชอบอ่านหนังสือมาก เขาอ่านได้ทุกแนว แต่มีเล่มหนึ่งที่โปรดปรานเป็นพิเศษ คือ ‘Cutting for Stone’ หนังสือโดย Abraham Verghese นายแพทย์อเมริกันเชื้อสายอินเดียที่เกิดในประเทศเอธิโอเปีย ว่าด้วยเรื่องราวชะตาชีวิตของฝาแฝดแท้ชาวเอธิโอเปีย ที่คนหนึ่งไปเติบโตในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่มีชื่อเสียงระดับโลก ส่วนอีกคนเติบโตในบ้านเกิด และกลายเป็นหมอตำแยพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และวันหนึ่งโชคชะตาก็นำพาทั้งคู่มาเจอกัน
“ที่ผมชอบเพราะว่าผมก็เป็นหมอปลูกถ่ายอวัยวะ แล้วก็รู้ประวัติของคุณหมอที่เขียนเรื่องนี้มาก่อนด้วย ภาษาในเรื่องมันสวยมาก ผูกเรื่องได้แบบคนไม่ใช่หมออ่านก็ยังอ่านสนุก เพราะมันมีทั้งเรื่องความรัก การหักหลัง เรื่องของวิทยาการ การช่วยเหลือ มันค่อนข้างครบ เป็นหนังสือ Book of the Year ที่บารัค โอบามา และบิล เกตส์ แนะนํา เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในหมวดนิยายเลยสำหรับผม”
หนังสือในหมวด Non-fiction ที่คุณหมอกำลังอ่านอยู่ตอนนี้คือเรื่อง ‘Judgment at Tokyo’ ว่าด้วยการพิจารณาคดีของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในโตเกียว ซึ่งก็เป็นหนังสือดีอีกเรื่องที่คุณหมอแนะนำ
“ผมไม่ขับรถ บ้านผมอยู่บางนา ขึ้นรถไฟฟ้าจากต้นทาง ไปกลับก็มีเวลา 2 ชั่วโมงทุกวัน ผมก็ไม่สนใจอะไร อ่านหนังสือไปตลอดทาง ได้ราว 2 สัปดาห์ก็จบเล่มนึง เกือบปีก็อ่านได้ 24-25 เล่มแล้ว ผมเลยอ่านหนังสือเยอะมาก”
หมอกับกล้องฟิล์ม
“ผมแฮปปี้กับการถ่ายรูปมาก ตอนอยู่อเมริกา ผมถ่ายรูป มีเพื่อนฝรั่งก็ขอรูปเอาไปติดบ้าน แล้วให้ผมเซ็นทุกรูป มันก็รู้สึกดีนะ ผมให้รูปเจ้านายที่นั่นเป็นรูปวิวเมืองฟิลาเดลเฟีย เขาก็ติดผนังห้องไว้จนวันเกษียณ”
การถ่ายรูปของหมอระพีพัฒน์เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่เขาไปใช้ทุนที่จังหวัดลพบุรี สมัยนั้นเขายังไม่มีงานอดิเรกอะไร เผอิญว่าเพื่อนสนิทที่นั่นชอบถ่ายรูป เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาชอบถ่ายภาพตามไปด้วย พอไปอยู่สหรัฐอเมริกา เขาก็เริ่มลองใช้กล้องฟิล์มโดยฝึกเรียนรู้ด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ จากหนังสือและการทดลองทำ จนมาเจอภรรยาในสมัยที่ทำงานในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นทันตแพทย์หญิงชาวไทยที่ชอบการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มเหมือนกัน งานอดิเรกนี้จึงยิ่งสนุกมากขึ้น

“ทุกวันนี้พอจะไปต่างประเทศก็ต้องมานั่งคิดว่าจะเอากล้องตัวไหน จะเอาฟิล์มอะไรไป ผมกับภรรยาไปยุโรปมา 2 อาทิตย์ ก็พกกล้องฟิล์มไปกันคนละตัว ไม่ใช้กล้องดิจิทัล กลับมาก็ล้างฟิล์มเอง อัดรูปเอง อัดลงกระดาษเอง ผมมีห้องดําสำหรับอัดรูปที่บ้าน ซื้อกล้องดิจิตอลมาก็ขายทิ้งหมดหลายรอบมากแล้ว ส่วนกล้องฟิล์ม ตอนนี้ผมเล่นไลก้า ตัวอื่นซื้อมาลองแต่ไม่ได้ใช้ก็ขายทิ้งเพราะผมไม่สะสม ของพวกนี้มันเป็นกลไกด้วย ถ้าไม่ใช้บ่อย ๆ ก็พัง”
ก่อนหน้านี้คุณหมอชอบถ่ายรูปแนวสตรีทและภาพบุคคล แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขาก็ไม่สามารถเข้าไปถ่ายผู้คนระยะประชิดได้อีก จึงเปลี่ยนไปถ่ายภาพวิว ภาพภรรยา และข้าวของจิปาถะแทน โชคยังดีที่ช่วงก่อนโควิดเขาซื้อฟิล์มเก็บไว้เยอะมาก จึงยังสามารถสนุกกับการถ่ายรูปกล้องฟิล์มได้แม้ว่าราคาตลาดปัจจุบันจะพุ่งสูงไปมากแล้ว
“ผมยังมีสต๊อกอยู่ในตู้เย็นเต็มเลย ดังนั้นฟิล์มที่ใช้ก็เป็นของตั้งแต่ก่อนที่ราคามันจะขึ้น ผมเลยยังเล่นได้แบบสบาย ๆ ไม่รู้สึกว่าแพงไป เกือบทุกอาทิตย์ก็จะมีโปรเจกต์ต้องไปถ่ายรูป เวลาล้างฟิล์ม ผมจะล็อกประตู เปิดเพลง แล้วก็อยู่ในห้องมืดได้ทั้งคืน แต่ว่าหลัง ๆ พอน้ำยาล้างฟิล์มแพง ก็อัดรูปได้น้อยลง เลยถ่ายอย่างเดียว”
ความหลงใหลในการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มของคุณหมอทำให้เขาชอบลงมือทำไปถึงขั้นตอนการสแกนรูปเองเพื่อเก็บรูปในไฟล์ดิจิทัลสำหรับลงสื่อโซเชียลมีเดีย หรือลงบล็อกที่เขาเริ่มเขียนระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“สแกนรูปนี่มันสนุกมาก ผมไม่ชอบล้างฟิล์มเสร็จแล้วส่งให้ร้านสแกนให้ ผมแฮปปี้กับโมเมนต์ที่ได้เห็นรูปแล้วสแกนทีละรูป สมมติมี 36 รูป ผมสแกนได้หลายชั่วโมงเลย เพราะผมนั่งดูรายละเอียดแต่ละรูป นั่งคัดเอาฝุ่นออกบ้าง บางทีก็มีปรับสีให้เข้ากับเทสเรา”
สำหรับภรรยาของคุณหมอระพีพัฒน์นี้ นอกจากเธอจะเป็นคู่หูถ่ายภาพและนางแบบประจำตัวของคุณหมอแล้ว เธอยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจกลับมาทำงานที่ประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปลี่ยนจากคนจริงจัง หันมาใช้ชีวิตให้ผ่อนคลายและมีสมดุลชีวิตที่ดีมากขึ้นทั้งทางกายและใจ
“ในชีวิตนี้ ผมจะพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด รักษาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น เปิดใจกับทุกความคิดเห็น รักษาสมดุลทุกอย่าง ทุกวันนี้ผมใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุขมาก”
เพราะหมอระพีพัฒน์ดูแลตัวเองได้ดี และมีความสุขในชีวิต เขาจึงพร้อมที่จะมอบการดูแลให้กับผู้อื่น ทั้งครอบครัว คนไข้ และเพื่อนร่วมงาน ด้วยทั้งความสามารถและพลังใจที่ได้จากคนรอบตัวเช่นกัน

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. ระพีพัฒน์ เหล็กขำ
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
อายุรกรรมโรคไต
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– อายุรกรรมโรคไต
– ปลูกถ่ายไต
– ความดันโลหิตสูง
– THAI BOARD OF INTERNAL MEDICINE 2017
– THAI BOARD OF NEPHROLOGY 2022
– AMERICAN BOARD OF INTERNAL MEDICINE 2011
– AMERICAN BOARD OF GERIATRIC MEDICINE 2012
– AMERICAN BOARD OF NEPHROLOGY 2014
– FELLOWSHIP IN TRANSPLANT NEPHROLOGY, USA, 2015
– DOCTOR OF MEDICINE, FIRST CLASS HONOR WITH GOLD MEDAL. FACULTY OF MEDICINE, CHULALONGKORN UNIVERSITY, 2005
– INTERNAL MEDICINE RESIDENCY, ALBERT EINSTEIN MEDICAL CENTER, USA, 2011
– GERIATRIC MEDICINE FELLOWSHIP, ALBERT EINSTEIN MEDICAL CENTER, USA, 2012
– NEPHROLOGY FELLOWSHIP, ALBERT EINSTEIN MEDICAL CENTER, USA, 2014
– TRANSPLANT NEPHROLOGY FELLOWSHIP, ALBERT EINSTEIN MEDICAL CENTER, USA, 2015
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 10:00 – 18:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อังคาร | 10:00 – 18:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
เสาร์ | 08:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |