หมอเบาหวานผู้ถือคติ Health Life Balance
– นพ. พิมุข เทพมงคล –
ชีวิตที่มีการเดินทางเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ นพ. พิมุข เทพมงคล อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ประจำศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH ให้ความสำคัญกับ Health Life Balance สุขภาพดีต้องมาพร้อมความสุขในชีวิต และกลายเป็นแนวทางในการดูแลคนไข้ ที่พวกเขายังคงสนุกกับการใช้ชีวิตไปได้ควบคู่กับการรักษาโรค
เห็นโลกเมื่อจบหมอ

“ตอนเด็ก ๆ เห็นพ่อแม่ทําแต่งาน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทํางานวิชาการ เลยรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบชีวิตแบบนี้”
ถึงจะไม่ได้ชอบวิถีชีวิตที่เคยเห็นเป็นแบบอย่างสักเท่าไร แต่อาจด้วยความคุ้นชินที่ซึมซับงานด้านนี้มาแต่เด็ก พิมุขก็เลือกเจริญรอยตามพ่อแม่มาเป็นหมอ สิ่งที่ต่างออกไปคือเขาจะไม่ใช้ชีวิตให้หมดไปกับงานโดยไม่เหลือเวลาให้อย่างอื่น
พิมุขไม่ใช่เด็กกิจกรรมตัวยง ในสมัยเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาขึ้นสแตนด์เชียร์งานกีฬาบ้าง ไปออกค่ายอาสาบ้าง แต่ช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักนิยามของชีวิตจริงคือเมื่อเรียนจบแล้วออกไปใช้ทุนที่จังหวัดยโสธร
“ผมไปอยู่โรงพยาบาลในอําเภอป่าติ้ว มีแค่ 10 เตียง ทั้งอําเภอมีร้านขายอาหารอยู่แค่หนึ่งร้านในตลาดเล็ก ๆ ชาวบ้านมีอาชีพทํานาจึงไม่นิยมซื้อของ มีร้านค้าเล็ก ๆ อยู่ร้านเดียว โทรศัพท์ทั้งอำเภอก็มีแค่เครื่องเดียวเป็นของร้านขายของ ใครจะโทรมาก็ต้องโทรมาบ้านนี้ แล้วเขาก็จะบอกให้โทรมาใหม่ในอีก 10 นาที ระหว่างนี้ก็วิ่งมอเตอร์ไซค์ไปรับผมมาจากโรงพยาบาล เพราะที่โรงพยาบาลเองก็ไม่มีโทรศัพท์ ติดต่อกับที่อื่นผ่านทางวิทยุสื่อสารเอา”
อยู่กับข้อจำกัดในการสื่อสารกับโลกภายนอกมาสักพัก หมอพิมุขจึงไปขอเบอร์โทรศัพท์ให้โรงพยาบาล และโทรศัพท์เครื่องที่สองของอำเภอก็มาติดตั้งที่นี่
แม้เพิ่งจบมาใหม่ ๆ แต่ที่โรงพยาบาลซึ่งมีหมอประจำแค่ 2 คนนี้ หมอพิมุขได้เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำทุกอย่างตั้งแต่ช่วยงานบริหารจนถึงทำคลอด ผ่าไส้ติ่ง นอกเหนือจากนั้นคือการทำความเข้าใจคนในพื้นที่
“ตอนนั้นสนุกมาก เหมือนชีวิตเราเปลี่ยนจากคนกรุงเทพฯ ไปเป็นคนต่างจังหวัด ไปช่วยเขาทํานา เกี่ยวข้าว จับปลา ไปออกหน่วยพายเรือเยี่ยมหมู่บ้านที่น้ำท่วม”
อยู่ไปได้ 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็มีข้อเสนอให้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ นับเป็นทางเลือกที่หมอพิมุขต้องตัดสินใจว่าจะเอาดีในสายงานบริหารหรือไปเป็นแพทย์เฉพาะทาง แต่แล้วเขาก็เลือกอย่างหลัง แล้วย้ายมาประจำแผนกอายุรกรรมในโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดราชบุรี
“พอมาอยู่อายุรกรรม ต้องทํา CPR เกือบทุกวันเลย อยู่ 1 ปี ได้ฝึกดูคนไข้หนักจริง ๆ”
เมื่อมั่นใจแล้วแน่ ๆ ว่าจะไปทางอายุรกรรม หมอพิมุขก็มาเรียนต่อเฉพาะทางที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนค้นพบความชอบในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เขาจึงเรียนต่อสาขาต่อมไร้ท่ออีก 2 ปี และไปเป็นแพทย์ Visiting Fellow ที่โรงพยาบาล Hospital of The University of Pennsylvania ในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาอีก 6 เดือน ก่อนกลับมาเป็นอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อประจำโรงพยาบาล BNH ตั้งแต่ พ.ศ.2541 จนถึงวันนี้ก็ร่วม 25 ปีแล้ว

Health Life Balance

“ผมมีข้อคิดอยู่อย่าง ที่เราเคยได้ยินว่า Work Life Balance ทําให้ชีวิตลงตัว แต่ผมจะพูดกับตัวเองว่า ต้องมี Health Life Balance ด้วยคือเรามีสุขภาพที่ดีได้ แต่เราต้องมีชีวิตที่ดีด้วย”
บางคนรักษาสุขภาพ ควบคุมอาหาร แต่มัวไปกังวลเรื่องโภชนาการจนเครียด กินอะไรทีก็ระแวงแล้วชีวิตไม่มีความสุข ซึ่งหมอพิมุขทำงานด้านนี้ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรดีต่อร่างกาย แต่เขาเลือกเดินบนจุดสมดุลที่ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป
“จะมีวันที่เราปล่อยอิสระ ทานตามใจได้ แต่จะมีตัวช่วย เช่น ใช้ยาควบคุม ออกกําลังกาย เพื่อจะให้ทุกอย่างมันเป็น Health Life Balance พอใช้กับตัวเองรู้สึกว่ามันดีนะ ทั้งผลลัพธ์ในการดูแลตัวเอง ทั้งชีวิตที่ไม่ตึงเกินไป พอเอามาใช้กับคนไข้ หลายคนก็ชอบ กลายเป็นว่าคนไข้มาหาหมอพิมุข เพราะผมไม่บังคับห้ามกินนู่นกินนี่ แล้วเขาไปบอกต่อกันว่าให้มาหาผมเพราะผมให้กินได้”
คนไข้โรคเบาหวานส่วนมาก เมื่อไปพบแพทย์ก็มักถูกแนะนำให้คุมอาหาร แต่กับแนวคิดในการรักษาสมดุลชีวิตกับสุขภาพของหมอพิมุข คนไข้ยังคงมีความสุขกับการทานได้ควบคู่ไปกับการควบคุมเบาหวาน
“หมอไม่ได้ลดเป้าหมายในการรักษา แต่แค่ทำยังไงให้มันสมดุล ซึ่งการอธิบายคนไข้แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เราต้องดูโดยภาพรวม เช่นอย่างที่ผมทำคือมีวันกินอิสระสักวัน มีโควตาจะกินของหวานเท่านี้ก็เก็บไว้วันที่อยากกิน เช่น วันเกิดต้องไปฉลอง ต้องกินเค้ก แต่ไม่ใช่กินทุกวัน คนไข้ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น”
ด้วยความยืดหยุ่นที่หมอพิมุขมอบให้ คนไข้หลายคนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จโดยที่ยังมีความสุขในชีวิต บางคนจากที่น้ำหนักตัวเยอะ พอต้องมาคุมอาหารควบคู่ไปกับการหาทางเลือกที่จะมีความสุขกับอาหาร พวกเขาก็หันมาออกกำลังกาย แล้วน้ำหนักตัวก็ลดลง สุขภาพก็ดีขึ้นไปโดยปริยาย
“ผมก็รู้สึกประทับใจว่าเราไม่ได้แค่รักษาคนไข้ แต่ว่าคุณภาพชีวิตในภาพรวมของคนไข้ก็ดีขึ้น”
การดูแลคนไข้โรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง คือการประคับประคองความเสื่อมในร่างกายไม่ให้แย่ลง หนึ่งในเคล็ดลับมัดใจคนไข้ให้เลือกอยู่กับคุณหมอ คือการปฏิบัติกับคนไข้ประหนึ่งเขาคือเพื่อนร่วมทีมในการรักษา เขาจะได้มีส่วนร่วมในการวางแผนการรักษา และได้ตัดสินใจเอง บางอย่างหากคนไข้ไม่สะดวกใจ คุณหมอก็พยายามปรับให้ลงตัวกับคนไข้ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่คนไข้หลายคนถึงไว้ใจให้หมอพิมุขดูแลมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่เริ่มทำงานที่โรงพยาบาล BNH
“เวลาดูคนไข้ก็ต้องให้ครบถ้วน คนไข้เบาหวานมักมีโรคแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น เบาหวานขึ้นตาก็ตาบอดได้ หรือเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ไตวาย ไตเสื่อม ทำให้เป็นโรคไตเรื้อรังในอนาคต หมอก็จะต้องดูในภาพรวมให้ครบถ้วน พยายามให้โรคเหล่านี้มันเกิดขึ้นช้าลง หรือว่าไม่เกิดขึ้นเลย”
และนี่ยังเป็นไปตามนโยบาย Complete Care ของโรงพยาบาล BNH ที่แพทย์จะมอบการดูแลแบบองค์รวมครบถ้วนรอบด้านโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะส่วนงานที่กำลังรักษา

ล่องสร้อย
ในสมัยเด็ก พ่อแม่ของคุณหมอพิมุขทำงานเยอะ ข้างกายเขาจึงมักมีน้องหมาพันธุ์ไทยผสมเยอรมันเชพเพิร์ดชื่อ ‘จู’ และเพื่อน ๆ แก๊งจักรยานแบบเดียวกับที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง’แฟนฉัน’
“ตอนเด็ก ๆ สนิทกับเจ้าจูมาก เวลาขี่จักรยานไปเที่ยวกับแก๊ง หมาของผมก็จะวิ่งตาม พอเราหยุดมันก็หยุด ไปไหนไปด้วยกันตลอด บ้านผมอยู่ในซอยฝั่งธน เราก็ขี่จักรยานลัดเลาะในซอยไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เราแต่งจักรยานติดไฟกันเป็นความสนุกในวัยเด็ก”
พอโตมา หมอพิมุขตั้งมั่นว่าจะเป็นหมอที่หาเวลามีความสุขกับชีวิต แล้วเขาก็ได้โอกาสทำตามความตั้งใจเมื่อออกไปใช้ทุนที่จังหวัดยโสธร หากมีเวลาเขาจะขับรถไปเที่ยวทั่วภาคอีสาน ท้ายรถมีกะละมังใส่เสื้อผ้าแทนกระเป๋าเดินทาง ข้างตัวมีกีต้าร์ ที่คอห้อยกล้องถ่ายรูป ในกระเป๋ามีสมุดไดอารี่

“เมื่อก่อนจะมีรถโฟล์กเต่าสีดํา หลายคนก็จะรู้นะว่าเป็นรถหมอพิมุข เพราะมันไม่ค่อยมีใครใช้ ผมถ่ายรูปด้วยฟิล์มสไลด์ เพราะว่ามันสวยกว่ารูปฟิล์ม แล้วซื้อเครื่องส่องรูปสไลด์อันเล็ก ๆ ไว้ดู ผมยังเขียนบันทึกประจําวันด้วย ตั้งชื่อว่า ‘ล่องสร้อย’ เป็นภาษาอีสานแปลว่าไปเรื่อยเรื่อย แต่ตอนนี้มันหายไปไม่รู้อยู่ที่ไหนแล้ว”
ล่องสร้อยของคุณหมอ บันทึกการเดินทางตามลำพังทั่วภาคอีสาน ค่ำไหนนอนนั่น ไม่มีการวางแผน บางคืนนอนตามโรงแรม บางคืนขอพระนอนตามวัด และบางคืนก็นอนในบังเกอร์ทหาร
“ตอนนั้นขับรถไปที่เขาค้อ สมัยก่อนมีการสู้รบ เลยมีบังเกอร์ทหาร ผมก็ซื้อข้าวเหนียวไก่ย่างไปฝาก แล้วไปบอกพี่ทหารว่าขอนอนในบังเกอร์ด้วย ตอนนั้นสถานการณ์เริ่มสงบแล้ว แต่ยังมีทหารประจําการอยู่ ผมอยากรู้ว่าเวลาทหารนอนในบังเกอร์มันเป็นยังไง ก็ตกลงไปนอนกับเขาคืนนึง ได้ประสบการณ์ดี
“ข้ามไปฝั่งลาวด้วย ไปดูชีวิตของคนลาวเป็นยังไง ก็สนุกดี”
เมื่อย้ายไปประจำการที่โรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี หมอพิมุขก็ตระเวนเที่ยวแถบนั้นจนทั่ว ขึ้นไปถึงกาญจนบุรี ตาก
“ทริปที่โหดที่สุด คือตอนไปน้ำตกทีลอซู ไม่ไกลจากแม่สอด จริง ๆ ต้องล่องแก่งจากตัวเมืองอุ้มผางไปครึ่งทางเพื่อกางเต็นท์ในป่า แล้วนั่งรถจากจุดกางเต็นท์ไปอีก 2 ชั่วโมง แต่ตอนนั้นเป็นหน้าฝน รถจะติดหล่ม ถ้าจะไปต้องเดินเท้าเท่านั้น คนนําทางก็บอกว่ามันไม่น่าจะเดินได้เพราะทางมันเละมาก แต่ผมก็คิดว่ามาแล้ว อยากเห็นน้ำตกสักครั้งนึง เขาก็ว่าถ้าคุณกล้าไปผมก็กล้านําทางให้ มันเดินยากมาก เดินทั้งวัน อากาศร้อนชื้น ปวดขา เหนอะหนะไปหมด แต่พอได้เห็นน้ำตกก็รู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อย รีบถอดเสื้อกระโจนลงน้ำ แต่เขาให้เวลาแค่ 10 นาที ก็ต้องกลับแล้วไม่งั้นมันจะมืด ทางมันจะอันตราย ทริปนี้ที่สุดแล้วเพราะเดินเท้าในป่าเต็มไปด้วยโคลนกับทาก แต่ผมก็ประทับใจ”
สมัยอยู่สหรัฐอเมริกา หมอพิมุขก็ยังคงคอนเซ็ปเดิมเดินทางไกลด้วยรถคู่ใจ ซึ่งเป็นรถแวนเก่ามือสามมือสี่ที่ซื้อมาในราคา 500 เหรียญ แล้วขับเที่ยวล่องสร้อยทุกอาทิตย์
“พอเป็นรถแวนเราก็นอนในรถได้ บางทีก็ไปนอนในอุทยานแห่งชาติเพื่อประหยัดเงิน เคยขับไปถึงโตรอนโต ในแคนาดาด้วย”
นั่นคือประสบการณ์ล่องสร้อยเมื่อนานมาแล้ว แต่ในปัจจุบันที่มีเวลากับอายุเป็นข้อจำกัด หมอพิมุขหันมาท่องเที่ยวตั้งแคมป์กางเต็นท์ เดินทางกับครอบครัวที่มีทั้งภรรยาและลูกเป็นหมอ พักค้างคืนตามจุดพักแรม มีอุปกรณ์ตั้งแคมป์ครบ และดื่มด่ำกับช่วงเวลาท่ามกลางธรรมชาติโดยไม่ต้องสมบุกสมบันเช่นที่ผ่านมา
ประสบการณ์ในวันวาน ยังเป็นสิ่งที่ทำให้คุณหมอสอนลูกให้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และอย่ามุ่งแต่เรียนอย่างเดียว
ดนตรีกับอารมณ์

อีกสิ่งที่อยู่คู่กับหมอพิมุขมาเนิ่นนาน คือดนตรี ในวันที่เหน็ดเหนื่อย เขาจะมีกีตาร์และคีย์บอร์ดเป็นเพื่อน ซึ่งคุณหมอไม่ถึงกับช่ำชองทั้งสองอย่าง แต่มันก็สร้างความเพลิดเพลินให้เขาได้มาก
“ตอนที่สอบเข้ามหาลัยได้ก็ขอกีตาร์เป็นของรางวัลจากที่บ้าน แล้วก็ไปซื้อหนังสือเพลงที่มีคอร์ดกีตาร์ ผมหัดเล่นเองจากหนังสือ เล่นเพลงง่าย ๆ ก่อน พวกเพลงโฟล์กซองของฝรั่ง ถ้าของไทยก็ต้องเพลงวงชาตรี ตอนไปทํางานที่ต่างจังหวัดก็ไปเล่นกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ไม่ได้ถึงกับเล่นเป็นนักดนตรี แค่เล่นสนุก ๆ”
ส่วนคีย์บอร์ด หมอพิมุขก็อาศัยวิธีครูพักลักจำเอาจากเพื่อน ๆ ในวง MD CU Band ของคณะแพทย์ เมื่อเพื่อนซ้อมกัน เขาก็ไปนั่งดูเพื่อนแล้วลองเล่นบ้าง เล่นแล้วรู้สึกสนุกดี พอเรียนจบก็ไปซื้อคีย์บอร์ดจากมาบุญครอง แล้วหิ้วขึ้นรถทัวร์ทั้งคีย์บอร์ดทั้งกีตาร์ขนไปเล่นระหว่างทำงานต่างจังหวัด
จนทุกวันนี้ เขาก็ได้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยจัดการกับความเครียดในการทำงาน และนี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณหมอจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดี
“คนเขาชอบพูดกันว่าผมไม่เคยดุใคร ไม่เคยอารมณ์เสีย ซึ่งที่จริงมันก็ต้องมีบ้าง แต่ว่าเราไม่ได้แสดงออกมาเต็มที่ ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติในการทํางาน ถ้ามีไม่พอใจ หมอก็พยายามออกจากสถานการณ์นั้น แล้วพออารมณ์ดีขึ้นค่อยมาคุยกัน บางทีเมื่อมองถอยหลังออกมา เราก็จะเห็นอะไรที่ครบถ้วนมากขึ้น”
คนไข้จึงมักเห็นคุณหมออารมณ์ดีอยู่เสมอ

องค์ประกอบของสมดุลชีวิตของหมอพิมุขแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและจังหวะชีวิต แต่สุดท้ายปลายทางคือคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งคุณหมอที่ผ่านโลกมามากก็พร้อมส่งต่อแนวทางแห่งความสมดุลนั้นให้คนรอบตัว รวมถึงคนไข้ที่ต้องดูแล เพื่อให้ทุกคนได้มีชีวิตที่ดีไปพร้อมสุขภาพที่ดี
“ผมจะบอกคนไข้เสมอให้มี Health Life Balance เป็นหลักในการรักษา การทํางาน และความเป็นอยู่ ทําทุกอย่างให้สมดุล และหากมีปัญหาผมก็พร้อมช่วยเหลือ ผมอยากให้เขามองว่าเราเข้าถึงง่าย มีอะไรก็คุยกันได้อยู่แล้ว”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. พิมุข เทพมงคล
ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม
ความชำนาญพิเศษ
โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– Diplomate Thai Board of Internal Medicine
– Diplomate Thai Board of Endocrinology & Metabolism
– MD., Chulalongkorn University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อังคาร | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 09:00 – 16:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
ศุกร์ | 09:00 – 15:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อาทิตย์ | 09:00 – 12:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |