คุณหมอกระดูกนักออกกำลังกาย
– นพ. ภาคภูมิ สมรักษ์ –
ที่ศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร โรงพยาบาล BNH จะมีแพทย์ท่านหนึ่งผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นที่สุด คือ นายแพทย์ภาคภูมิ สมรักษ์ ผู้ป่วยเคสปัญหากระดูกและข้อ หากผ่านมือคุณหมอไปแล้วก็จะได้เทคนิคออกกำลังกายที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตัวเองกลับไปด้วยทุกครั้ง แต่อาชีพที่คุณหมอภูมิใจและคนไข้ไว้ใจนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นงานที่ครอบครัวไม่สนับสนุนมาก่อน
อาชีพที่แม่ไม่ปลื้ม
“แม่อยากให้รับช่วงธุรกิจที่บ้าน หรือไปเป็นวิศวะ ทำงานสายเทคโนโลยี ไปต่อโทเมืองนอก แล้วกลับมาอยู่บริษัทข้ามชาติไปเลย”

ภาพฝันที่คุณแม่ของหมอภาคภูมิวาดไว้ให้อนาคตของลูกชายดูจะห่างจากเสื้อกาวน์และมีดผ่าตัดไปไกลโข การพัฒนาทักษะวิชาชีพให้เก่งจึงไม่ใช่เพียงเพื่อคนไข้ แต่ยังเป็นการพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัวว่าเส้นทางที่เลือกนี้ไม่ทำให้ตัวเองผิดหวัง
หมอภาคภูมิเป็นคนชลบุรี เติบโตมาจากครอบครัวทหารเรือ อาชีพหมอในมุมมองของทางบ้านคือเส้นทางที่ยาวนานแถมงานก็หนัก ไม่มีใครในครอบครัวสนับสนุนทางเลือกนี้ แต่เขาผู้ชื่นชอบวิชาชีววิทยามาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย มีความใฝ่ฝันเดียวเท่านั้นคือการได้เป็นหมอรักษาคน จนสอบเข้าเรียนได้ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ยังไม่วายถูกทางบ้านเข้าใจว่าเข้าไปเรียนเพียงเพราะทำตามเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมอุดมศึกษาที่ส่วนมากต่างเลือกเรียนหมอ
กายวิภาคศาสตร์เป็นวิชาที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เรียนแพทย์ปี 2 โดยเฉพาะกล้ามเนื้อกระดูก ประกอบกับความชอบในการได้ลงมือผ่าตัดด้วย ทำให้ นศพ.ภาคภูมิ ตัดสินใจไม่ยากในการเลือกเรียนสาขาออร์โธปิดิกส์ เพราะรู้ความต้องการของตัวเองเร็ว การใช้ทุน 3 ปี ที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรีของคุณหมอ จึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์กับงานกระดูกและข้อนี้ไปเลยโดยไม่ต้องไปวนทำงานที่แผนกอื่น ๆ
“ที่นั่นอุบัติเหตุเยอะ เคสกระดูกหักเข้ามาทุกรูปแบบเลย เจอหมด ได้ทำเอง ได้ลงมือผ่าตัดเอง จนทําให้มั่นใจ ทุกอย่างท้าทาย ต้องเรียนรู้เองด้วย บางทีมีเรื่องไม่รู้ก็แอบไปเปิดหนังสือแอบเปิดวีดีโอดู แล้วก็รู้สึกว่าโตขึ้นเร็วมาก”
ผ่านด่าน 3 ปี ที่โรงพยาบาลในชลบุรี มีผู้คนจากชุมชนรอบข้างเข้ามาฝากผีฝากไข้ให้รักษา และคุณหมอก็ได้เปลี่ยนชีวิตที่เคยทรมานจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกายเพราะปัญหากระดูกและข้อให้กลับเคลื่อนไหวอย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุดอีกครั้ง ทางครอบครัวจึงเริ่มเปิดใจยอมรับในสิ่งที่คุณหมอพอใจจะเป็นในที่สุด
ด้วยประสบการณ์ที่ประจำอยู่แค่แผนกกระดูกและข้อตอนใช้ทุน หมอภาคภูมิจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางโดยมีแต้มต่อ แม้เพิ่งจบแพทย์เฉพาะทางมาเมื่อ พ.ศ. 2564 แต่เขาก็มีประสบการณ์ตรงมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่ต้องวนราวน์หลายแผนกสมัยใช้ทุน และเข้ามาเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาล BNH ไปพร้อมกับการช่วยสอนที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ทำให้คนไข้ได้กลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง
“ผมจะบอกเลยว่าประวัติแบบนี้ ผมจะตรวจร่างกายอย่างนี้ จะต้องเอกซเรย์แบบนี้ คิดว่าทางเลือกไหนเหมาะสมกับเขามากที่สุด อธิบายให้ชัดเจน ถ้ามันดีคนไข้จะพูดเลย ผมก็ได้รู้ว่าที่ทําแบบนี้แหละมันโอเคคนไข้ก็จะไว้ใจ แต่ถ้าเขาดื้อ ผมก็จะพยายามอธิบาย บอกข้อดีข้อเสียของการทํากับไม่ทํามันคืออะไร ทําหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ซึ่งอาจมีบ้างที่เขาเลือกไม่ทำ แต่เราก็ให้ข้อมูลไปแล้ว”

ปัญหากระดูกและข้อ อาจไม่ใช่อาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตอย่างโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่หากอาการเรื้อรังก็มีผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิต และปัจจัยที่คนไข้เลือกรับการรักษาก็ต่างกันไป บางคนแค่อยากเป็นคุณย่าที่ได้เลี้ยงหลาน บางคนอยากเล่นสกีได้อีกครั้ง บางคนอยากกลับมาเดิน บางคนอยากออกกำลังกาย ซึ่งไม่ว่าเหตุผลอะไร สุดท้ายแล้วการได้เห็นคนไข้กลับมาทำสิ่งที่อยากทำคือความภาคภูมิใจสูงสุดของคุณหมอ
“คนไข้ถ้ามีอายุเยอะ ก็อาจมีปัญหาอย่างอื่นด้วย เช่น น้ำหนักเกินทําให้ข้อเข่าเสื่อม ผมก็จะส่งไปปรึกษาที่แผนกโภชนาการให้ช่วยลดน้ำหนัก ถ้าข้อเข่าเสื่อมมา อย่างอื่นก็อาจเสื่อมด้วย ก็ดูท่าเดิน มีหลังค่อมมั้ย กระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาททําให้กล้ามเนื้อมันฝ่อ ทำให้น้ำหนักไปลงที่เข่า เข่าก็เสื่อมมากขึ้นมั้ย ผมจะพยายามมองคนไข้เป็นองค์รวม แล้วหากสงสัยว่ามีปัญหาที่มันอาจจะเกี่ยวเนื่องกัน ผมก็จะให้คนไข้ได้รับการรักษาไปด้วยเลย”
ข้อดีของโรงพยาบาล BNH คือความใกล้ชิดกันให้หมู่คณะแพทย์และบุคลากรภายในที่นับว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งคุณหมอภาคภูมิก็ได้รับการต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แม้จะเป็นรุ่นน้องที่อ่อนอาวุโสกว่าอาจารย์หมอส่วนมาก แต่แพทย์แต่ละท่านแต่ละแผนกก็ให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดีโดยถือประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้ง ทำให้การส่งต่อเคสและดูแลแบบองค์รวมเป็นเรื่องง่าย ในเคสผู้ป่วยที่ซับซ้อน ก็มักไม่ได้จบที่การรักษาของหมอภาคภูมิเพียงลำพัง แต่เป็นความร่วมด้วยช่วยกันของทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง
“ผมชอบหาวิธีการทํางานที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ชอบใช้เหตุผลเลยเป็นคนไม่ทําอะไรโดยใช้อารมณ์ และจะฟังให้มากเพื่อหาต้นตอปัญหา แล้วก็สื่อสารออกมาให้ดี ”
คุณหมอเล่าถึงจุดเด่นในการดูแลคนไข้ ในแต่ละวัน หมอภาคภูมิจะกลับมาทบทวนตัวเองอยู่เสมอถึงปัญหาในงานที่เกิดขึ้น สิ่งที่กังวล สิ่งที่ยังคาใจ เพื่อให้ได้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด และมอบการดูแลได้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายมากที่สุด
พูดไม่ค่อยเก่ง
หมอภาคภูมินิยามตัวเองว่าเป็นอินโทรเวิร์ด แม้ว่าเขาไม่ใช่คนพูดเก่ง แต่คุณหมอก็พยายามไม่ให้สิ่งนี้มาเป็นข้อจำกัดในการสร้างสังคม ตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ คุณหมอเป็นรองประธานวิเทศสัมพันธ์ของคณะ ทำหน้าที่ดูแลนิสิตที่มาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ และบางครั้งเขาเองก็ได้เป็นตัวแทนนิสิตไปโครงการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์ที่ต่างประเทศ ทำให้เขาได้พัฒนาทักษะการเอาตัวรอดเพียงลำพัง ไปพร้อมกับทักษะการเข้าสังคม ที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ๆ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนต่างชาติต่างภาษา ซึ่งคุณหมอบอกว่าคนเงียบ ๆ อย่างคุณหมอต้องพยายามฝึกตัวเองให้กล้าพูดมากขึ้น
แม้จะพูดไม่เก่ง แต่ นศพ. ภาคภูมิ ในฐานะรองประธานวิเทศสัมพันธ์ ก็กล้าลุกขึ้นมาทำคือการรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย ที่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วยังนับเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ถูกพูดถึงนักในสังคมไทย
เรื่องที่คิดไม่ถึงอีกอย่างของคุณหมอ คือความใฝ่ฝันที่จะได้เป็น ‘ดีเจ’ ซึ่งอาจน่าแปลกใจสำหรับคนที่ชอบอยู่เงียบ ๆ หากจะต้องมาสร้างความบันเทิงให้ผู้ฟัง
“เราก็ไม่ต้องพูด ให้เพลงพูดแทน”
ตอนนี้คุณหมออาจยังหาเวลาไปลงเรียนหลักสูตรดีเจแบบจริงจังไม่ได้ แต่เขาก็ไปร่วมงานดนตรีที่มีดีเจมาเปิดเพลงเป็นประจำ โดยคุณหมอชอบดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ที่มีจังหวะไม่หนักมาก แค่ได้ฟังสบาย ๆ กับกลุ่มเพื่อนโดยไม่ต้องพูดอะไรมาก ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีมากแล้ว อย่างงาน Wonderfruit คุณหมอก็ไปกับกลุ่มเพื่อนทุกปี
“ผมเป็นคนค่อนข้างเงียบ ๆ แต่เวลามีเพื่อนอยู่ก็ไม่ได้เงียบจนเศร้าขนาดนั้น ถ้าคนที่สนิทจะรู้ว่าที่จริงก็พูดเยอะเหมือนกัน แล้วเป็นคนมีเหตุมีผลในการใช้ชีวิตหรือตัดสินใจ ดังนั้นพอเวลามีเรื่องอะไร เพื่อนก็ชอบให้ไปรับหน้า หรือไปเคลียให้”
นับว่าในความอินโทรเวิร์ตของคุณหมอ ยังมีอีกหลากมุมที่คาดไม่ถึง

ออกกำลังกายดี กินดี ชีวีเป็นสุข

“ผมเป็นคนบ้าออกกําลังกายมาก ถ้าไม่ได้ออกจะหงุดหงิด แล้วเป็นคนกินข้าวตรงเวลามาก”
หุ่นกระชับ รูปร่างสมส่วน เห็นนายแพทย์ภาคภูมิครั้งแรก จะรู้ได้เลยว่าคนคนนี้ออกกำลังกายเป็นประจำและดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง คุณหมอเริ่มออกกำลังกายจริงจังตั้งแต่ค้นพบความชอบในงานออร์โธปิดิกส์เมื่อเรียนแพทย์ปี 5 จนในวันนี้ที่อาชีพแพทย์ทำให้มีงานรัดตัว คุณหมอก็ยังออกกำลังกายครั้งละ 2 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ เน้นการออกแรงจำพวกเวทเทรนนิ่งอยู่ที่บ้าน หรือเข้าฟิตเนสบางครั้ง
“การเป็นหมอกระดูกก็ช่วยเราได้เยอะ เพราะผมเข้าใจหลักกายวิภาค อะไรอยู่ตรงไหนเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เจ็บไม่หายก็ระวังได้ ออกกำลังกายก็ดีต่องานด้วยเพราะว่าเดี๋ยวนี้เจอเคสเยอะมากที่ออกกําลังกายแล้วบาดเจ็บมา พอมีพื้นฐาน รู้ว่าท่านี้ทําแล้วจะไปโหลดตรงไหนมากเป็นพิเศษ เราก็จะบอกให้คนไข้ระวังได้ ผมเข้าใจคนไข้ที่เขาออกกําลังกาย ถ้าสั่งห้ามเขา เขาไม่หยุดอยู่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่าท่าไหนที่เขาทําได้ ท่านี้เขาทําไม่ได้แล้วบอกเขา จะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเขามากกว่า”
จะเรียกว่าเป็นจุดแข็งของหมอภาคภูมิเลยก็ว่าได้ นอกจากมาหาหมอเพื่อรักษาบรรเทาปัญหากระดูกและข้อแล้ว ยังประหนึ่งว่าได้เข้าพบฟิตเนตเทรนเนอร์ไปในตัว ซึ่งคุณหมอก็ฝากถึงผู้ชื่นชอบออกกำลังกายไว้ว่า ทุกอย่างไม่มีทางลัด ต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป การออกกำลังกายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องเข้าใจข้อจำกัดของตัวเอง และเลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตัวเอง
“ออกกําลังกายแล้วต้องเพิ่มน้ำหนักไปเรื่อย ๆ จนกล้ามเนื้อเราแข็งแรงมากขึ้นแล้วค่อยเปลี่ยนไปท่าอื่น มันก็จะปลอดภัยมากขึ้น แล้วที่สำคัญคือไม่ต้องทำทุกอย่างตามที่คนอื่นบอกเพราะคนเราไม่เหมือนกัน”
ในบรรดาคนไข้คุณหมอ มีผู้ที่บาดเจ็บจากการก้มยกน้ำหนักจนหลังเคลื่อน แล้วหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจนทำให้เป็นอัมพาต แต่ยังโชคดีที่ถึงมือหมอไว และผ่าตัดให้ฟื้นกลับมาได้ 90% หมอภาคภูมิจึงเน้นย้ำเรื่องการออกกำลังกายมาก ๆ
หมอภาคภูมิโชคดีที่ไม่ชอบทานของหวานหรือของทอด การควบคุมโภชนาการอาหารของตัวเองเลยง่าย การเป็นหมอทำให้เขาทราบปริมาณสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อวัน แต่ถึงแม้การรับประทานจะอยู่ภายใต้การควบคุม คุณหมอก็ยังเลือกทางเลือกที่กินง่ายอยู่ง่ายแต่ได้สารอาหารครบถ้วน
“ก็ทําอะไรง่าย ๆ อย่างซื้อไข่หรืออกไก่เพื่อให้ได้โปรตีนถึงค่าที่ต้องการ แล้วก็มีผักสดผลไม้สดติดบ้านไว้ตลอด หากมีบางมื้อที่เลือกไม่ได้ ผมก็จะมาชดเชยส่วนที่ยังขาดด้วยไข่ต้มหรือว่าผักผลไม้ที่บ้าน สมมุติว่าทานข้าวผัดหมู ผมก็จะเลือกร้านที่สั่งได้ว่าผัดโดยใช้น้ำไม่ใช่น้ำมัน ถ้าโปรตีนไม่ถึงผมก็จะมีไข่ต้มกับผักเอามาทานด้วยกัน คือเราทานตามใจได้ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ขาดไปก็ต้องมีเสริม”
หรือแม้กระทั่งกิจวัตรประจำวันที่อาจส่งผลต่อสารอาหารบางอย่างในร่างกาย เช่น วันนี้งานหนักพักผ่อนน้อย หรืองานในโรงพยาบาลยุ่งจนแทบไม่ได้ออกไปรับแสงแดดภายนอกเลย อาหารเสริมพวกวิตามินดีก็เป็นคำตอบที่ช่วยเติมสิ่งที่ขาดหายรายวัน โดยคุณหมอไม่ได้เลือกให้อาหารเสริมเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในทุกวัน
“การมีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เดี๋ยวนี้ความรู้มันเข้าถึงง่ายแค่มีอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ามีปัญหา หรือมีอะไรที่ไม่แน่ใจว่ามันสุดโต่งไป ผมก็พร้อมให้คําปรึกษาตลอดครับ”

จนถึงวันนี้ ไม่เพียงทางบ้านจะยอมรับอาชีพที่หมอภาคภูมิใฝ่ฝัน แต่คนไข้เองก็ยอมรับในความสามารถและทุ่มเทที่คุณหมอมอบให้ด้วย การรักษากับคุณหมอจะไม่ใช่แค่การดูแลกระดูก แต่หมายถึงการได้กลับมาออกกำลังกายดี และกินอาหารดี เพื่ออนาคตที่ไม่เจ็บไม่ป่วย และมีความสุขในทุก ๆ วัน
“สิ่งที่อยากทำมากที่สุด คือทําให้ทุกคนรอบข้างมีความสุข ทั้งคนที่ผมเป็นห่วงและคนที่เป็นห่วงผม รวมถึงคนไข้ด้วย กําลังใจจากคนไข้ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ อยากมีชีวิตเพื่อทําสิ่งที่ทําอยู่ทุกวันนี้ไปเรื่อย ๆ”
Customer’s Story

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. ภาคภูมิ สมรักษ์
ศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร
ความชำนาญพิเศษ
ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
– อนุสาขาข้อสะโพกและข้อเข่า
– วุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทาง สาขาออร์โธปิดิกส์ 2565
– วุฒิบัตรอนุสาขาข้อสะโพกและข้อเข่า 2566
– แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2558
– สาขาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2565
– อนุสาขาข้อสะโพกและข้อเข่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2566
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 10:00 – 18:00 | ศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์กระดูกและข้อครบวงจร |