หมอที่สะสมของน่ารักเต็มผนัง
– พญ. นวลศรี แตระกุล –
ห้องทำงานของ พญ. นวลศรี แตระกุล อายุรแพทย์โรคทั่วไปในแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาล BNH เต็มไปด้วยของน่ารักสไตล์ญี่ปุ่น ที่ทำให้เธอเชื่อมโยงกับคนไข้ได้ง่ายขึ้นผ่านเรื่องราวเบื้องหลังสิ่งของน่ารักเหล่านี้ แต่นอกจากนี้ เธอคือคุณหมอที่เข้าใจคนไข้และญาติคนไข้ที่กำลังเผชิญช่วงเวลาลำบากในชีวิต เพราะคุณหมอเองก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว
เส้นทางของหมอ
จบเป็นแพทย์เต็มตัว คุณหมอนวลศรีก็ได้เลือกเรียนอายุรกรรม เธอใช้ทุนที่จังหวัดสงขลา ก่อนมาเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งในสมัยเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว การเรียนแพทย์เฉพาะทางจะยังไม่นิยมเรียนเฉพาะทางต่อยอด ทำให้หมออายุรกรรมทั่วไปจะมีความรู้กว้างขวาง สามารถดูอาการได้ทุกโรค จนเมื่อ พ.ศ.2544 คุณหมอนวลศรีก็ได้มาเริ่มงานที่โรงพยาบาล BNH

“แล้วก็อยู่ยาวเลย ถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว ที่นี่ดี มีวัฒนธรรมที่เคารพซึ่งกันและกัน แล้วก็เป็นกลุ่มก้อนรักใคร่กันดี อบอุ่น”
ถึงโรงพยาบาล BNH จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่คุณหมอที่นี่ก็เปิดใจเข้าหาคนไข้อย่างใกล้ชิดและไม่ถือตัว และนี่ก็เป็นมุมมองที่คนไข้มีต่อคุณหมอนวลศรีเช่นกัน
“คนไข้บอกว่าดูหมอไม่ถือตัวกับคนไข้เลย ดูคนไข้ก็ก้มลงไปตรวจใกล้ชิดไม่ได้นั่งดูอยู่ไกล ๆ อย่างเวลาหมออยู่กับคนไข้ ก็จะให้เขาเล่าสิ่งที่เขาอยากบอก ถ้าเขาเล่าไม่ถูก เราก็จะค่อย ๆ เสริมคําถามเข้าไปให้ตรงจุดที่เราคิดว่าเป็นปัญหาของเขา ก็จะช่วยให้เราได้ข้อมูลมามากขึ้น”
คุณหมอนวลศรีมักดูแลคนไข้แบบองค์รวม และดูแลไปถึงครอบครัวคนไข้ เพราะคุณหมอมองว่าคุณภาพชีวิตของคนรอบตัวนั้นย่อมส่งผลต่อคนไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และเป็นหน้าที่ของแพทย์เจ้าของไข้ที่ต้องใส่ใจ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ รวมไปถึงการดูแลเพื่อป้องกันคนไข้จากโอกาสที่จะเจ็บป่วย เช่น สัญญาณของโรคต่าง ๆ ที่คุณหมอสังเกตเห็น แม้ว่าจะอยู่นอกเหนือขอบเขตงานเฉพาะทางที่เธอดูแลก็ตาม หรือวัคซีนที่จำเป็น เป็นต้น เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างสมบูรณ์ที่สุด ตามนโยบาย Complete Care ของโรงพยาบาล BNH
กว่า 40 ปี ของชีวิตการเป็นหมอ มีเคสการตรวจรักษามากมายที่คุณหมอนวลศรีสร้างความประทับใจให้คนไข้ แต่หนึ่งในเคสที่คุณหมอภูมิใจมากที่สุด คือการวินิจฉัยคนไข้จนพบความผิดปกติในช่องท้องจากอาการตั้งต้นที่ดูเหมือนไม่น่าเกี่ยวข้องกันเลย
“คนไข้รายนี้มีอาการขาไม่มีแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หมอฟังอาการของเขาแล้วลองคิดดูว่ามันเข้าข่ายไหน สุดท้ายก็มาตรวจแล็บแล้วก็วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคที่เกี่ยวกับการขาดโพแทสเซียม แล้วหมอก็ไปปรึกษากับแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ เพราะหมอคิดว่าน่าเป็นเพราะโรคที่มีก้อนอยู่ในช่องท้องทําให้มีความผิดปกตินี้ สุดท้ายก็เจอเนื้องอกในท้องจริง เป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไต คนไข้ก็ได้รับการรักษาจนหายขาด เราก็ดีใจที่คิดเป็นระบบ แล้วเลือกดูว่าควรจะตรวจอะไรจนนำไปสู่การวินิจฉัยได้ประสบความสําเร็จ”
จุดเด่นอีกอย่างของหมอคุณนวลศรี คือเธอเป็นคนละเอียดมาก ทั้งในการดูแลคนไข้ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความสะอาด
“หมอใส่ใจทุกอย่าง อย่างในชีวิตประจําวัน หมอจะใส่ใจหมด ทั้งเรื่องความสะอาดของห้อง โต๊ะทํางาน อ่างล้างมือ เราก็ต้องดู เพราะว่ามันสําคัญกับการทํางานของเรา”
และตลอดการทำงานที่ผ่านมา มักจะมีคนไข้ที่กลับมาปรึกษาปัญหาสุขภาพกับคุณหมอ หรือชวนคนใกล้ตัวมารับการดูแลจากคุณหมอ ซึ่งคุณหมอนวลศรีมองว่านี่คือกำลังใจสำคัญในการทำงาน แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนไข้
“หมอคิดว่าหมอประสบความสําเร็จในการดูแลคนไข้ในแนวของเรา ไม่ว่าผ่านมาสักกี่ปี คนไข้ก็ยังกลับมาหาเรื่อย ๆ หรือแม้แต่คนไข้ที่อยู่ไกล ทุกปีเขาก็จะกลับมาหาเรา อันนี้เป็นเหมือนรางวัลที่แสดงว่าเราทําได้ดี ทั้งครอบครัวก็มาเป็นคนไข้เราหมด มีอะไรก็จะต้องมาปรึกษากัน”
และส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณหมอนวลศรีเข้าใจความรู้สึกของคนไข้ และหัวอกของคนใกล้ตัวได้ดี ก็เพราะว่าครั้งหนึ่งเธอเองก็เคยอยู่ในสถานะของคนใกล้ชิดผู้ป่วยที่ดิ้นรนหาทุกวิถีทางเพื่อรักษา จนถึงวันที่การรักษาไปจนสุดทางแล้ว การปล่อยวางเพื่อให้ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายกับคนที่รักอย่างมีคุณภาพที่สุดก็กลายเป็นคำตอบที่ทำให้เธอผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไม่มีอะไรค้างคา

วันที่ลูกป่วย
“ตอนที่ลูกหมอป่วยเนี่ย หมอได้ความรู้จากลูกเยอะเลย”
เดิมทีคุณหมอนวลศรีมีลูก 3 คน แต่คนกลางป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว คุณหมอและสามีซึ่งเป็นแพทย์เช่นกัน ก็พยายามหาทางรักษาแทบทุกทาง แต่สุดท้ายก็สูญเสียลูกไปในวัย 15 ปี
“การที่ลูกป่วยเนี่ย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราต้องมาโวยวายนู่นนี่ สามีหมอก็เข้าไปค้นในอินเทอร์เน็ตหาวิธีรักษาลูก เราไปปรึกษากับหมอที่รักษา ซึ่งกรณีของลูกก็รักษาไป 2 รอบแล้ว แต่ทําท่าจะไม่ตอบสนอง ก็พอดีว่าเราไปเจอมูลนิธิฉือจี้ ที่ไต้หวัน ซึ่งเขาทำธนาคารไขกระดูก เราก็ติดต่อจนกระทั่งได้ไขกระดูกบริจาคมาจากที่นู่น พอเอามาใส่ในตัวลูก เขาก็ดีขึ้นอยู่ 2 ปี…ช่วงนี้ทําให้เราได้เรียนรู้อีกว่ามีวิทยาการต่าง ๆ เยอะมากในโลก หมอได้รู้อะไรที่มีประโยชน์เยอะมากจากความเจ็บป่วยของลูก เราไม่มาคอยคร่ำครวญว่าทําไมลูกต้องเป็นโรคนี้ ก็เขาเป็นไปแล้ว เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริง แล้วก็มองข้อดีที่ได้จากการดูแลลูก”

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วลูกของคุณหมอนวลศรีจะไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายได้ แต่คุณหมอก็ทำดีที่สุดแล้ว และได้ใช้เวลาที่ดีที่สุดร่วมกับลูก จนไม่มีอะไรติดค้างหรือต้องเสียใจในภายหลังแล้ว นอกจากนี้ ประสบการณ์และความรู้ที่คุณหมอได้รับจากการดูแลลูกที่ป่วย ยังกลายเป็นสิ่งล้ำค่าในการช่วยเหลือคนอื่น
“พอเราเคยเป็นญาติคนเจ็บ เราจะเข้าอกเข้าใจคนไข้มากขึ้นว่าทําไมเขาถึงทรมานสาหัสอย่างนี้ และทำให้มีความนุ่มนวลออกมาในคําพูดและในกิริยาที่เราแสดงออก ทำให้หมอสร้างสัมพันธ์กับคนไข้ได้ คนไข้ก็จะสบายใจขึ้นเยอะเพราะเขารับรู้ได้ถึงความอบอุ่น หมอเจอคนไข้เป็นมะเร็งมาพูดเรื่องคีโม เราก็เข้าใจ รู้ทุกจุดว่ามันจะต้องเป็นยังไงบ้าง เพราะลูกเราผ่านมาหมดแล้ว เราก็จะคุยกับคนไข้ได้ ทําให้หมอคิดได้ว่าคนที่เรียนหมอ ถ้าจะเข้าใจผู้ป่วย การได้เคยอยู่ในสถานะเดียวกันทำให้เข้าใจบริบทนี้มากขึ้น”

การใช้ฝีมือรักษาคนไข้นั้น หมอทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน แต่ประสบการณ์ชีวิตเท่านั้นที่จะหล่อหลอมให้คนเป็นหมอรักษาคนไข้ด้วยหัวใจ ตัวคุณหมอนวลศรีเอง เมื่อเรียนจบแพทย์ใหม่ ๆ เธอก็ยังไม่เข้าใจคนไข้ ไม่เห็นความสำคัญของการปลอบประโลมหรือให้กำลังใจ เพราะแค่การรักษาปัญหาทางกายก็ใช้เวลามากแล้ว
“แต่ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้นสักหน่อย กินข้าวเสร็จเร็วอีกหน่อย เพื่อรีบกลับมาดูคนไข้อีกนิดนึง เขาก็จะดีใจมากขึ้น แต่สมัยจบมาใหม่ ๆ หมอก็ทําไม่เป็นหรอก แต่ตอนนี้ดูคนไข้มาเยอะ แล้วก็ผ่านการดูแลลูกมาด้วย เราเลยเข้าใจคนไข้มากขึ้นมาก ๆ”
นอกจากหน้าที่แม่ของคนป่วยแล้ว คุณหมอยังมีหน้าที่แม่ของลูกที่ไม่ป่วยอีก 2 คน ซึ่งระหว่างการดูแลลูกคนกลางที่ป่วย เธอก็ยังต้องบริหารเวลาเพื่อดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านไม่ให้ขาดตกบกพร่อง สิ่งสำคัญมากคือคนในบ้านต้องเข้าใจและร่วมมือกันรับมือกับปัญหาไปด้วยกัน และครอบครัวก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้เพราะความสนิทสนมใกล้ชิดกันเหมือนเพื่อนจนสามารถพูดคุยสารทุกข์สุกดิบได้ทุกอย่าง ประสบการณ์ในการประคับประคองครอบครัวให้ผ่านวันที่ยากลำบากนี้ไปได้ก็ช่วยให้คุณหมอเข้าใจแนวทางในการดูแลคนใกล้ตัวคนไข้ที่กำลังเผชิญความกดดันในแบบที่เธอเคยเผชิญ
แม้จะผ่านมานานแล้ว แต่อุปสรรคที่ทำให้สมาชิกในบ้านของหมอนวลศรีต้องร่วมฝ่าฟันไปด้วยกันในวันนั้น ได้ทำให้ทุกคนรักกันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ความเข้มแข็งที่เกิดกับครอบครัวยังทำให้ลูกทั้ง 2 คน ตัดสินใจมาเป็นหมอตามพ่อและแม่ และใช้ประสบการณ์ชีวิตที่ได้เห็นการรับมือกับความเป็นความตายของคนใกล้ตัวมาแต่เล็กมาดูแลคนไข้
นักสะสมแสตมป์

คุณหมอนวลศรีเป็นนักสะสมแสตมป์ตัวยง เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เธอเป็นสมาชิกนิตยสารไปรษณียากร เมื่อการไปรษณีย์ไทยออกคอลเลกชันใหม่มา คุณหมอก็จะได้รับแสตมป์แบบครบเซตมาสะสมทุกครั้ง
“ที่สะสมแตมป์ก็เริ่มจากมีลูก ก็เลยอยากให้ลูกหัดสะสมแสตมป์ ก็ไปซื้อสมุดแสตมป์มา แล้วก็ใส่ให้เขาทีละดวง ตอนนีมีอยู่ 2-3 เล่ม แต่ลูกไม่เอาเลย เขาว่าเขาไม่รู้จะเอาไปทําอะไร เราเกิดคนละยุคกัน ยุคหมอนี่เป็นยุคที่คนสะสมแสตมป์กับเหรียญเยอะมาก เราเลยบอกว่าพอแม่ไม่อยู่ลูกก็ค่อยเอาไปขายละกัน”
นอกจากแสตมป์แล้ว หมอนวลศรียังชอบสะสมเหรียญที่ออกมาในโอกาสพิเศษ สมัยก่อนเธอเคยมีคนไข้ที่ทำงานในโรงงานกษาป พอคนไข้รู้ความชอบของเธอ ก็จะคอยนำเหรียญใหม่ที่ออกมาในโอกาสพิเศษมาฝาก หรือธนบัตรรุ่นใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ เพราะคุณหมอชอบเก็บธนบัตรใหม่
“คุณพ่อเคยให้แบงก์ 10 บาท 20 บาท ที่เป็นรุ่นเก่า เราดูแล้วสวยดี ชอบ ก็เลยสะสมมา แต่ไม่ได้ไปตามซื้อเก็บอะไร”
ญี่ปุ่นในหัวใจ
หากได้มาพบคุณหมอนวลศรีแล้ว จะเห็นว่าห้องทำงานของคุณหมอถูกประดับด้วยพวงกุญแจ ตุ๊กตา เครื่องรางจากญี่ปุ่น ไปจนเต็มผนังหนึ่งด้าน เพราะเธอชอบประเทศญี่ปุ่นมากจนหาโอกาสกลับไปแทบทุกปี ไปแต่ละทีก็จะต้องมีของกระจุกกระจิกติดมือกลับมาเป็นที่ระลึก พอคนไข้เห็นบ่อยเข้า จึงชอบนำของที่ระลึกเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมาฝากเธอ
“หมอชอบประเทศญี่ปุ่นที่ประเทศเขามีวัฒนธรรมเก่าแก่ แล้วเขาก็สอนคนของเขาให้รักษาวัฒนธรรม”
คุณหมอไปประเทศญี่ปุ่นมา 10 กว่ารอบ ไปมาเกือบทุกเมืองแล้ว เหลือเพียงตอนกลางไม่กี่จังหวัด ตอนแรกเธอก็ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ แต่พอเริ่มไปบ่อย เธอก็เริ่มเช่ารถขับ เริ่มไปในสถานที่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก และหาช่องทางใหม่ ๆ ที่จะได้สัมผัสประสบการณ์แบบญี่ปุ่นแท้ ๆ
“หมอเป็นคนไม่กินของดิบ แต่พวกชาบู สุกี้ ทงคัตสึ เราชอบ ตอนแรกก็ทานไปเรื่อย ต่อมาก็ดูหาร้านอร่อย มีร้านข้าวหน้าปลาไหลร้านนึงตอนไปนาโกย่า คิวยาววนเป็นเขาวงกต เลยถามเขาว่าจะต้องทํายังไงถึงจะได้กิน เขาบอกว่าถ้าซื้อกลับบ้านจะทําให้เลย เราก็ซื้อกลับไปกินโรงแรม ก็ยังอร่อยเลย”

Tokyo Disneyland ที่หลายคนไปแล้วต้องเจอกับปัญหาคิวยาวเหยียด คุณหมอนวลศรีเมื่อไปครั้งแรกกับทัวร์ก็ต้องหมดเวลาไปกับการต่อแถวจนแทบไม่ได้เล่นเช่นกัน แต่รอบ 2 เมื่อเธอและลูกสาวรู้วิธีแล้ว ก็ตื่นแต่เช้าไปรอเข้าสวนสนุกตั้งแต่ยังไม่เปิด และวิ่งเข้าไปเป็นคนแรก ๆ เครื่องเล่นส่วนมากจึงมีคิวยังไม่ยาว ทำให้เธอได้ใช้เวลาเต็มที่ภายในนั้นจนจบที่การชมขบวนพาเหรดในยามเย็น เมื่อหมดวัน คุณหมอก็เต็มอิ่มกับดิสนีย์แลนด์จนไม่คิดว่าจะต้องกลับมาซ้ำที่นี่อีกครั้ง
ตุ๊กตาที่คุณหมอสะสมติดผนังห้องทำงาน ยังเติมเต็มความชอบวัยเด็กที่มีต่อสินค้า Sanrio ซึ่งคุณหมอฝันอยากได้มาตลอด แต่สมัยที่เธอยังเด็ก ของพวกนี้ก็ราคาแพงเกินเอื้อม
“ส่วนมากที่ฮิตตั้งแต่ยังเด็กคือ Hello Kitty และ My Melody แต่สมัยก่อนเราก็ไม่ได้ซื้อได้ง่าย ๆ ราคาก็แพง ความชอบพวกนี้มันคงติดอยู่ในตัวเรามาจนโต ถ้าเราไปที่ญี่ปุ่นมันจะถูกกว่ากันเยอะ ก็เลยชอบสะสม”
ของสะสมทั้งหลายนั้นไม่เพียงถูกแปะอยู่ข้างผนังในห้องทำงาน แต่อีกส่วนหนึ่งยังถูกตั้งประดับไว้เต็มตู้ที่บ้าน บางชิ้นคุณหมอก็สะสมมาตั้งแต่เด็ก และด้วยคุณภาพของสินค้า Made in Japan ทำให้เหล่าของน่ารักเหล่านั้นยังอยู่กับคุณหมอจนถึงวันนี้
“หมออยากให้คนไข้ได้จดจำว่าเราเป็นหมอที่ดี ใส่ใจคนไข้ เวลามีปัญหาส่วนใหญ่ก็แก้ปัญหาให้ได้ ถ้าแก้ให้ไม่ได้ก็จะหาทางออกให้ เราคงไม่ได้เก่งที่สุด แต่เราจะใส่ใจช่วยเขาแก้ปัญหา หรือมองหาผู้ช่วยที่ช่วยกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน”
หลายปีในชีวิตแพทย์ที่คุณหมอนวลศรีเปลี่ยนความสูญเสียในอดีตเป็นพลังในการช่วยคน เพราะเธอเคยผ่านปัญหานั้น และเลือกที่จะเข้มแข็งอยู่กับความเป็นจริง เธอจึงพร้อมที่จะส่งต่อความเข้มแข็งนั้นไปให้คนไข้ของเธอ

Customer’s Story


ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Diplomate Thai Board of Family Medicine
– Diplomate Thai Board of Internal Medicine
– M.D. Siriraj Hospital, Mahidol University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |
อังคาร | 08:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |
พุธ | 08:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |
พฤหัสบดี | 08:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |
ศุกร์ | 08:00 – 15:00 | แผนกอายุรกรรม |