หมอโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ผู้รักการกินขนม
– พญ. นวลพรรณ ชูประเสริฐสุข –
ที่แผนกเด็ก โรงพยาบาล BNH มีคุณหมอคนหนึ่งที่ชอบทานขนม แถมยังเคยป่วยด้วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ เธอคือหมอพิ้ง พญ. นวลพรรณ ชูประเสริฐสุข กุมารแพทย์ด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม สาขาเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความชอบและประสบการณ์ตรงในชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอเข้าอกเข้าใจคนไข้ได้เป็นอย่างดี
ออฟฟิศคือโรงพยาบาล

พิ้งมีพี่สาว 2 คน ที่เป็นแบบอย่างในชีวิตให้เธอมาตลอด แม้ว่าไม่ญาติผู้ใหญ่เป็นหมอ แต่พี่คนโตก็ยังเลือกเรียนหมอ แล้วพี่คนรองก็เลือกตามไป จนถึงวันที่เธอต้องเลือก พี่ 2 คนที่กำลังเป็นนักศึกษาแพทย์ก็เตือนเธอด้วยความเป็นห่วงให้เลือกเรียนสาขาอื่น
“พี่ ๆ ค้าน บอกว่าไม่ต้องเรียนหรอก หมอมันเรียนหนัก เหนื่อย แต่ตอนนั้นก็ดื้อไง คิดว่าพี่ยังเรียนได้เลย ก็เลยไม่เชื่อ แล้วก็เลือกมาเป็นหมอ”
แต่ที่จริงแล้วความฝันในวัยเด็กของพิ้งคือการได้เป็นนักบัญชี
“เราชอบเลข และพ่อกับแม่ก็เรียนบัญชีทั้งคู่ ตอนเด็ก ๆ นั่งรถไปโรงเรียน แล้วเห็นคนไปทํางานออฟฟิศแต่งตัวสวยจัง เราเลยรู้สึกว่าถ้าเรียนบัญชีจะได้ทํางานในออฟฟิศสวย ๆ”
พอจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออฟฟิศของหมอพิ้งก็คือโรงพยาบาล และเสื้อผ้าสวย ๆ ที่ได้ใส่ก็ซ่อนอยู่ใต้เสื้อกาวน์แทน
ด้วยความชอบเด็กเป็นทุนเดิม เธอจึงสมัครทุนสาขากุมารเวช ที่โรงพยาบาลสวนดอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไป และเธอก็รู้ว่าคิดไม่ผิดที่เลือกทำงานเกี่ยวกับเด็ก
“เด็กเขาบริสุทธิ์มาก ไม่มีพิษภัยอะไรเลย ทุกอย่างที่เขาป่วย เขาไม่ได้ทำให้ตัวเองป่วย ไม่ได้ไปทําอะไรที่ไม่ดี อยู่ดี ๆ อาการมันเกิดกับเขาเอง แล้วก็เวลาเด็กป่วยเขาน่าสงสาร เราจึงอยากทําให้เขากลับไปเป็นเด็กที่สดใสเหมือนเดิม”
หมอพิ้งชอบชีวิตที่เชียงใหม่มาก ๆ แต่สุดท้าย บ้านที่ใช่คือสถานที่ที่มีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า เธอจึงตัดสินใจย้ายกลับกรุงเทพฯ หลังเรียนจบเฉพาะทางต่อยอดต่อมไร้ท่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมาเริ่มงานกับโรงพยาบาล BNH เป็นที่แรก
“ชอบโรงพยาบาล BNH ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่เตรียมอุดมฯ อยู่จุฬาฯ ก็รู้จักที่นี่อยู่แล้ว ขับรถผ่านบ่อย ๆ เป็นโรงพยาบาลที่ชื่อเสียงดี แล้วก็ภาพลักษณ์ทั้งภายนอกและภายในก็ดี เราอยากทํางานในที่ที่สภาพแวดล้อมดีอยู่แล้ว พอมาทํางานที่นี่จริง ทุกอย่างเพียบพร้อม เพื่อนร่วมงานต้อนรับเราดีมากตั้งแต่เพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ ชวนไปกินข้าว ไปกินกาแฟ เลยรู้สึกว่าเข้ากันได้ง่ายกับทั้งรุ่นเดียวกันและกับอาจารย์ผู้ใหญ่ ทุกคนใจดีกับเรา”

มิตรภาพที่ก่อตัวขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันนี้ ยังทำให้การดูแลคนไข้เป็นไปได้อย่างสะดวกเพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย หากบางครั้งที่หมอพิ้งเห็นความผิดปกติในคนไข้เด็กในส่วนอื่นของร่างกายที่นอกเหนือไปจากสาขาเฉพาะทางของคุณหมอตามแนวทางการดูแลคนไข้แบบ Complete Care แพทย์สาขาอื่นก็พร้อมช่วยเหลือ พร้อมให้คำปรึกษา ทำให้คนไข้ได้รับการดูแลรอบด้านจริง ๆ
“การดูเด็กคนหนึ่ง เราต้องดูรอบด้านอยู่แล้ว ตั้งแต่การคัดกรองตามช่วงอายุเพื่อที่จะได้ตรวจพบสัญญาณของความผิดปกติให้ได้เร็วที่สุดในเด็กที่มีปัญหา แล้วก็ในเด็กที่เจริญเติบโตตามวัยดี เราก็ต้องมอนิเตอร์เขาไปเรื่อย ๆ ว่าเขามีสุขภาพที่ดี แข็งแรงดีจริง”
นิยามของ Complete Care ของหมอพิ้ง ยังต้องรวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง ผู้ซึ่งเป็นด่านแรกที่จะเห็นความผิดปกติของเด็กซึ่งยังสังเกตอาการตัวเองไม่ได้
“เราก็จะคุยกับคนที่ดูแลเด็กด้วย แล้วก็ประเมินเขาอีกทีว่าคำแนะนำแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำแบบนี้ เขาจะโอเคมั้ย ทำได้มั๊ย หรือมีปัญหามั๊ย”
และเพราะเป็นคนไข้เด็ก การคาดหวังความร่วมมือจากคนไข้โดยตรงบางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าผู้ปกครองจะให้ความร่วมมือเต็มที่แล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่ประสาอะไร แต่รู้ว่าแค่ว่าการมาโรงพยาบาลนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก จนถึงเด็กโตที่เข้าใจอาการและวิธีการดูแลตัวเอง แต่ก็ยังเลือกที่จะไม่ทำตาม
“กับเด็ก ต้องชื่นชมไว้ก่อน วันนี้หนูทําได้ดีมากเลยนะ แล้วค่อยเพิ่มเติมสิ่งที่อยากบอก ต้องทำให้เขาสบายใจที่จะอยู่กับเราก่อน แต่ถ้าเขาไม่ทำแล้วเราไปเข้มงวด จากประสบการณ์คือยิ่งดุแล้วกลับยิ่งแย่ ต้องเปิดใจคุยกัน ค่อย ๆ คุย ถ้าคุยเองไม่ไหว หมอก็จะส่งไปประเมินว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไร ทําไมถึงไม่กินยา ไม่ฉีดยา แล้วก็จะให้เขาช่วยแจงปัญหาออกมา เพื่อให้การดูแลมันครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของ Complete Care เช่นกัน”
หมอเด็กจากเชียงใหม่
สมัยก่อนนั้น เชียงใหม่เป็นชีวิตไกลบ้านครั้งแรกของคุณหมอ ที่แทบทุกอย่างแตกต่างไปจากบ้านที่กรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง แต่ก็เป็นความชิลที่เธอชอบ
“ช่วงแรกก็ต้องปรับตัว เราชอบภาษาเหนือ มันเพราะดี แต่เราฟังไม่รู้เรื่อง ไปอยู่คนเดียวก็เหงานิดหน่อย แต่ผู้คนก็ใจดี เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ที่เที่ยวเยอะ คาเฟ่ก็ราคาไม่แพง เสาร์อาทิตย์ก็ไปขึ้นเขา เราเคยไปเกือบหมดแล้วเพราะอยู่นานหลายปี ดอยสุเทพนี่ไปบ่อยมาก ไปนอนบนดอยกินหมูกระทะ”
สถานที่ที่หมอพิ้งประทับใจเป็นพิเศษ คือ ดอยผ้าห่มปก ที่อำเภอฝาง
“ตอนนั้นไปกางเต็นท์แบบปุบปับมาก ไม่ได้เตรียมอะไรเลย ไม่ได้ดูพยากรณ์อากาศด้วย เดือนกุมภาฯ อุณหภูมิแค่เลขตัวเดียว แล้วก็นอนอยู่ในเต็นท์ ไม่ได้เอาเสื้อกันหนาวไปด้วย หนาวทรมานมาก แล้วต้องตื่นตี3 เพื่อที่จะขึ้นดอยไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ต้องเดินมืด ๆ ต่อไปอีก แต่สวยมาก เป็นดอยที่จะไม่ลืมเลยเพราะมันสวย และมันก็คุ้มค่า”
การเป็นหมอที่เชียงใหม่ทำให้หมอพิ้งได้เจอคนไข้กลุ่มชาวเขา ที่สอนให้คุณหมอเห็นใจเพื่อนมนุษย์ขึ้นอีกมาก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคนไข้กลุ่มหลักที่นั่น แต่การพบเจอพวกเขาในโรงพยาบาลกลางตัวเมืองในช่วงแรกทำให้เธอตั้งคำถามว่าเหตุใดพวกเขาต้องเดินทางมาไกล มากกว่าจะคิดเห็นใจพวกเขา

“จนกระทั่งเราขับรถไปเที่ยวบ้านรักไทย ที่แม่ฮ่องสอน แล้วมันต้องขับผ่านหลายโค้ง จนไปผ่านอําเภอหนึ่งที่เราเคยเจอคนไข้มาจากอําเภอนี้บ่อย ๆ เราถึงคิดได้ว่า โอ้โห เขามากันไกลขนาดนี้เลยหรือ มาทีก็ซ้อนมอเตอร์ไซค์สามคนพ่อแม่ลูก หลังจากนั้นก็เลยเข้าใจว่าทําไมอาจารย์หมอถึงอยากช่วยเขา นัดเขามาพร้อมกันทีเดียว”
ในตอนนั้น คุณหมอก็พบกับอีกความท้าทายจากคนไข้ชาวเขา ทั้งความรู้ความเข้าใจที่มีต่อโรคที่อาจไม่เพียงพอ ยิ่งถ้าเป็นเด็กแล้ว หากพ่อแม่ขาดความรู้ ไม่เห็นความจำเป็นในการรักษา เด็กก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เลย และภาษาก็เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะชาวเขาจำนวนมากยังสื่อสารภาษาไทยไม่ถนัด และไม่ใช่ทุกครั้งที่จะมีล่ามมาด้วย หมอพิ้งจึงต้องลองทำทุกทาง ทั้งวาดรูปประกอบ ทั้งใช้หุ่นจำลอง ทั้งทำท่าทางประกอบการใช้ยาให้ดู เพื่อให้คนไข้เข้าใจได้มากที่สุด
“สิ่งที่เราได้กลับมาคือความเห็นใจ ทุกคนที่มาหาเราเขาป่วยหนัก แถมมาไกล เราก็ต้องทําให้ดีที่สุดเพื่อให้เขาได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นหมอเลยใช้สิ่งนี้กับทุกคนไม่ว่าเขาจะมาจากที่ไหน”
ที่เชียงใหม่นี้ มีบุคคลท่านหนึ่งที่คุณหมอเรียกว่า ‘แม่’ คือ อาจารย์หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อเด็ก อาจารย์แพทย์ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณหมออยากเรียนด้านต่อมไร้ท่อ และเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมอทุ่มเทเพื่อคนไข้
“ตอนเราไปเรียนที่เชียงใหม่ ก็ไม่รู้จักใคร เขาก็ให้เลือกอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่เราเข้าไป เราไปอยู่วอร์ดที่อาจารย์ท่านนี้เดินมาราวน์ ก็คิดว่าอาจารย์สวยจังเลย แล้วก็เก่งด้วย ก็เลือกท่านนี้แหละ แต่พอได้อยู่ด้วยกันไปเรื่อย ๆ ก็ได้รู้ว่าอาจารย์จิตใจดีมาก พร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนไข้เด็ก ซึ่งที่เชียงใหม่มีชาวเขาเยอะ เขาลำบากทั้งเรื่องเงินและการเดินทางลงจากดอย ช่วงแรกก็ไม่เข้าใจอาจารย์ว่าทําไมต้องช่วยเขาขนาดนี้ แต่พอเห็นความพยายามของอาจารย์ ทั้งจัดคอนเสิร์ตระดมทุน พยายามหาทางเปิดให้คนมาบริจาคเพื่อมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของคนไข้ที่ลำบากทุกคน เราก็อยากช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างนี้บ้าง”
อาจารย์ท่านนี้ยังเป็นบุคคลเบื้องหลังของหมอพิ้งที่พร้อมรับฟัง และมอบคําแนะนําที่ดีในทุกเวลาที่เธอต้องการ ทำให้หมอพิ้งได้เห็นมุมมองอีกด้านของการเป็นหมอที่ยังต้องใส่ใจดูแลคนรอบข้างให้ดี เรียกได้ว่าอาจารย์เป็นแบบอย่างในวิชาชีพนี้ที่เธอพยายามจะเจริญรอยตามในทุกด้าน
ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ ก็มีเคสประทับใจที่ทำให้หมอพิ้งมั่นใจในเส้นทางที่เลือกเดิน คือคนไข้เด็ก 6 ขวบรายหนึ่งที่เธอได้มีโอกาสดูแล น้องมาด้วยอาการอาเจียน กินไม่ได้ อ่อนเพลีย ไม่มีแรงลุกขึ้นจนต้องนอนอย่างเดียว คุณหมอวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หาย ทำได้แค่ดูแลควบคุมไม่ให้อาการกำเริบไปทั้งชีวิต
“น้องเป็นภาวะฉุกเฉิน ต้องรีบรักษา หมอก็ดูเขามาตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย หลังจากดูแลเขาจนพ้นช่วงวิกฤต ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งให้เขาใหม่เลยตั้งแต่โรคนี้คืออะไร สอนคุณแม่ทุกอย่างที่เกี่ยวกับโรค เด็กเขาขาดอินซูลินมาตั้งแต่เกิด ต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต พ่อแม่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีโรคนี้อยู่ด้วย แล้วเขาก็ต้องดูแลเด็กคนนี้ไปตลอด เด็กเองก็ต้องดูแลตัวเองได้ด้วย เขาแอดมิทอยู่ประมาณอาทิตย์นึง เราก็เลยค่อนข้างผูกพันกับครอบครัวนี้ พอจะให้กลับบ้าน น้องก็เดินมาหาหมอแล้วบอกว่า ‘Thank you doctor. You are my doctor.’ วันนั้นเราอยู่เวรแล้วเหนื่อยไม่ได้นอน แต่แค่คําพูดนี้ทําให้เรามีแรง มีกําลังใจในการดูแลเด็กต่อไป จนตอนนี้เราก็ยังติดต่อกับคนไข้รายนี้อยู่”
ไทรอยด์เป็นพิษ
การมีอาจารย์แพทย์เป็นคนต้นแบบคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หมอพิ้งมาเป็นกุมารแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ แต่อีกสาเหตุคือภาวะทางร่างกายของเธอเอง
“หมอเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษตอนเรียนอยู่ปี 2 ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักโรคนี้ จำได้ว่าเรากินเยอะมาก แต่น้ำหนักตัวกลับลด กินอะไรเข้าไปก็ท้องเสีย เดินขึ้นบันไดแล้วหน้ามืด ชีพจรเต้นเร็วถึง 120 เลยไปหาอาจารย์หมอถึงได้รู้ว่าป่วยด้วยโรคนี้”

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอป่วยหนัก และยังเป็นในช่วงที่กำลังปรับตัวกับการเรียนแพทย์ ความทุกข์ซ้ำซ้อนในวันนั้นทำให้เธอต้องหันมาทบทวนอนาคตของตัวเอง แต่ด้วยกำลังใจจากครอบครัว และอาจารย์หมอที่เข้ามาเป็นธุระดูแลทุกอย่างให้ เธอจึงตัดสินใจสู้ต่อทั้งกับเส้นทางแพทย์และเส้นทางการรักษา จนถึงปี 6 อาการป่วยก็ไม่มีแนวโน้มว่าจะหายขาด อาจารย์หมอจึงแนะนำให้เธอกลืนแร่ไอโอดีนเพื่อทำลายต่อมไทรอยด์ แม้ว่าจะทำให้หายจากอาการไทรอยด์เป็นพิษ แต่เธอก็ต้องทานฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนไปทั้งชีวิต
“เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เลือกเรียนด้านต่อมไร้ท่อ เพราะเราเข้าใจคนไข้กลุ่มนี้มาก ๆ ว่าเป็นยังไง แล้วเราก็สามารถโน้มน้าวเขาให้ทานยาได้ เพราะหมอก็ต้องกินทุกวัน”
คนชอบแป้ง

“เป็นคนชอบกิน Carbs มาก อะไรก็ได้ รสจืด รสหวาน กินได้หมดเลย ไม่รู้ทําไมเหมือนกัน”
แม้ว่าหมอพิ้งจะทำงานด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน แต่เธอเองกลับชอบทานแป้งมาก ๆ ที่โปรดปรานเป็นพิเศษเห็นจะเป็น สโคน ขนมที่มักทานกับครีมหรือแยม แต่ส่วนที่หมอพิ้งชอบคือแป้ง ต่อให้ทานเปล่า ๆ รสชาติก็ยังอร่อยมากสำหรับเธอ
และก็เพราะว่าเธอเป็นคุณหมอด้านเบาหวาน เธอจึงรู้ดีว่าควรทำอย่างไรให้ความชอบไม่กลายมาเป็นปัญหาสุขภาพ และสามารถรักษาสมดุลระหว่างอาหารที่รักกับสุขภาพที่ดีได้อย่างมีความสุข
“เราก็เอาด้านดีไปแนะนําคนไข้ อย่างการจํากัดอาหารที่มันอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ กินอันนี้เยอะก็ต้องไปตัดอย่างอื่นแทน เช่น หมอชอบกินขนมปัง ถ้าวันไหนกินเยอะก็จะไม่กินน้ำหวาน อย่างกาแฟก็จะดื่มแบบไม่หวานเลยเพื่อบาลานซ์กับขนมปังที่เรากิน ปริมาณข้าวก็กินไม่ค่อยเยอะ”
สมัยอยู่เชียงใหม่ คุณหมอมีขนมปังร้านโปรดซึ่งอยู่กรุงเทพฯ เธอก็ไหว้วานสมาชิกในครอบครัวไปต่อคิวซื้อให้ แล้วส่งทางไกลไปเชียงใหม่
“มีรอบหนึ่ง กว่าจะถึงก็ขึ้นราแล้ว”
หากตอนนั้น จะมีใครไปเยี่ยมที่เชียงใหม่ ของที่คุณหมอขอให้ต้องติดมือไปก็คือขนมแป้ง ๆ ร้านดังจากกรุงเทพฯ นี่แหละ
นักกีฬาแบดมินตัน

หมอพิ้งเล่นแบดมินตันมาแต่เด็ก เพราะมีคุณพ่อเป็นแบบอย่างที่ทั้งผลักทั้งดันลูก ๆ จากตอนแรกก็แค่ให้เรียนรู้เพื่อฝึกความแข็งแกร่งให้ร่างกาย
“ตอนแรกพ่อบอกว่าไปออกกําลังกายเฉย ๆ จะได้แข็งแรง แต่สุดท้ายก็ให้เรียน แล้วก็ให้ไปแข่ง”
เธออยู่กับแบดมินตันจนจบชั้นประถมศึกษา หลังจากนั้นก็ต้องแบ่งเวลาให้กับการเรียนเยอะจนไม่มีเวลาฝึกซ้อม แต่ข้อดีที่ฝึกฝนกีฬามาแต่เด็กยังคงอยู่ จนเข้ามหาวิทยาลัย เธอรื้อฟื้นกีฬาวัยเด็กกลับมาเล่นอีกครั้ง จนได้เป็นตัวแทนคณะเข้าแข่งขันในกีฬา 13 เข็ม ซึ่งเป็นเวทีประลองความสามารถด้านกีฬาของคณะแพทยศาสตร์ต่างสถาบัน ซึ่งตอนนั้นคู่ของคุณหมอก็ได้รับเหรียญทองแดงกลับมา นอกจากนี้เธอยังได้เป็นตัวแทนคณะแข่งกีฬาภายในมหาวิทยาลัยอีกหลายสนาม แบดมินตันยังทำให้เธอได้พบสังคมใหม่ ๆ อีกด้วย
“พอไปอยู่เชียงใหม่ ก็รู้จักเพื่อนที่ชอบตีแบดฯ เขาก็ชวนไปเข้าก๊วน เลยได้ไปตีอาทิตย์ละ 2-3 วัน”
พอย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยเวลาที่ไม่ตรงกันกับหมู่เพื่อน ด้วยความลำบากในการเดินทาง หมอพิ้งก็ไม่อาจเล่นแบดมินตันได้บ่อยนัก แต่เธอได้ค้นพบความชอบในกีฬาใหม่ คือ พิลาทิส
“เพิ่งฝึกพิลาทิส เพราะว่าปวดหลัง เราอ่านหนังสือเยอะ นั่งทํางานเยอะ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน เราก็รู้สึกว่าต้องยืดตัวบ้าง หลังเลิกงานก็พยายามไปให้ได้ 2 วันต่อสัปดาห์”
“การเป็นหมอตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากทําจริง ๆ เด็กพอป่วยจะมาสภาพนึง แล้วพอหายกลับจากโรงพยาบาลก็จะเป็นอีกแบบนึง นี่คือสิ่งที่เห็นชัดเจน แล้วทําให้เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ได้รักษาเด็ก เราภูมิใจที่ได้นําสิ่งดี ๆ ที่เคยได้รับมาส่งต่อไปถึงคนอื่น แล้วก็อยากเป็นหมอที่คนไข้กล้ามาคุยด้วย ไม่อยากให้มีเส้นกั้นระหว่างกัน”
ไม่มีบทเรียนไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าประสบการณ์จากชีวิตจริงของตัวเอง ในฐานะแพทย์ต่อมไร้ท่อที่เคยเป็นและยังเป็นคนไข้โรคต่อมไร้ท่อ หมอพิ้งคือหมอที่เข้าใจคนไข้จากก้นบึ้งของหัวใจ ในฐานะหมอเด็กที่รักเด็ก ความเข้าใจคนไข้จะบังเกิดเมื่อมีความเห็นใจเป็นพื้นฐาน คุณหมอก็ผ่านสารพัดเหตุการณ์ที่เธอได้เรียนรู้ที่จะเห็นใจคนไข้จากก้นบึ้งของหัวใจเช่นกัน

Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

พญ. นวลพรรณ ชูประเสริฐสุข
แผนกกุมารเวช
ความชำนาญพิเศษ
กุมารเวชศาสตร์, กุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– กุมารเวชศาสตร์
– กุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
– สาขากุมารเวชศาสตร์
– อนุสาขากุมารเวชศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
– คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 07:00 – 16:00 | แผนกกุมารเวช |
พุธ | 07:00 – 16:00 | แผนกกุมารเวช |
พฤหัสบดี | 11:00 – 19:00 | แผนกกุมารเวช |
ศุกร์ | 07:00 – 16:00 | แผนกกุมารเวช |
เสาร์ | 08:00 – 17:00 | แผนกกุมารเวช |