คุณหมอโรคไต และหนอนหนังสือที่ใจเย็นกับทุกคน
– พญ. นวพร อัศวศักดิ์สกุล –
หากมาที่ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม โรงพยาบาล BNH แล้วได้คุยกับ พญ. นวพร อัศวศักดิ์สกุล อายุรแพทย์โรคไต จะสัมผัสได้ถึงความใจดีและใจเย็นของเธอที่ทำให้คนไข้รู้สึกสบายใจ ซึ่งเป็นลักษณะของแพทย์มืออาชีพ แต่เรื่องราวของคุณหมอก็มีทั้งความตลกและน่าประหลาดใจ ตั้งแต่เหตุผลที่มาเป็นหมอโรคไต และความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ก็ยังเลือกมาเรียนหมอ
เหตุผลที่มาเป็นหมอไต
“ความฝันวัยเด็กคืออยากนับเงิน เราชอบนับแบงก์ เลยรู้สึกว่าการเป็นเด็กแคชเชียร์นี่น่าสนุก เครื่องเก็บเงินที่กดแล้วมันเด้งออกมานั้นน่าสนุก พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็อยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ ชอบที่ได้ใช้กระบอกฉีกตั๋ว แต่ยิ่งโตความฝันยิ่งลดลง”
พอโตเข้าวัยมัธยม นวพรก็คิดอยากลองใช้ชีวิตแบบพนักงานออฟฟิศที่ได้แต่งตัวสวย ๆ ไปทำงาน แต่พ่อกับแม่ซึ่งเป็นเภสัชกรอยากให้ลูกได้เรียนหมอ ซึ่งเป็นงานที่มั่นคงและมีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนวพรและน้องสาวซึ่งไม่ได้มีอาชีพในฝันที่ชัดเจนอยู่แล้ว จึงตัดสินใจไม่ยากที่จะมาเป็นหมอตามความต้องการของครอบครัว
ผ่านการเรียน 6 ปีที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมอนวพรได้ไปใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งทำให้คนกรุงเทพฯ อย่างเธอ ได้เห็นชีวิตอีกด้านที่ต่างออกไป ในอำเภอชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา
“ขับรถไปก็เจอไก่เจอวัว ไปโรงพยาบาลต้องเดินผ่านป่า ไม่มีปั๊มน้ำมัน ในบ้านพักแพทย์ไม่มีฝักบัวต้องใช้ขันตักอาบ แต่ถึงลำบากก็เป็นชีวิตที่สนุกมาก”

เพราะเธอเป็นคนเมือง ไม่ชินกับวิถีต่างจังหวัด คุณหมอจึงพาพี่เลี้ยงที่ดูแลเธอมาจนโตไปอยู่ด้วยกันเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในสิ่งที่เธอไม่ถนัด เช่น หุงหาอาหาร เพราะร้านอาหารในพื้นที่นั้นก็ไม่สามารถหากินได้ง่ายเหมือนในเมือง
ชีวิตที่ลำบากในตอนนั้น ทำให้คุณหมอได้เห็นความลำบากของชาวบ้านในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เต็มตา ทำให้เธอเข้าใจปัญหาของคนไข้มากขึ้น งานหลักของหมอนวพรที่ศรีสะเกษคือการดูแลคนไข้ทั่วไป รวมถึงการทำคลอด ซึ่งด้วยความจำเป็น ก็มีผู้ป่วยหลายรายที่แทนที่จะได้คลอดแบบปกติในห้องคลอด หมอนวพรก็ต้องทำคลอดทั้งในรถพยาบาลและในห้องฉุกเฉินหลายเคส ดูแลคุณแม่มือใหม่มาหลายคน จนคุณแม่บางรายก็ตั้งชื่อลูกว่า ‘นวพร’ ตามชื่อคุณหมอ
แต่การใช้เวลาอยู่กับงานของแผนกสูตินรีเวชมาก ไม่ได้ทำให้คุณหมอชอบงานในแผนกนี้ อาจด้วยชินกับการรักษาแบบฉุกเฉิน เมื่อมีตำแหน่งว่างในสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หมอนวพรก็ตัดสินใจสมัครเรียนต่อทันที อย่างไรก็ตาม 3 ปีในการเรียนต่อทำให้เธอรู้ว่างานนี้ไม่เหมาะกับเธอ เธอจึงยอมเริ่มต้นเรียนเฉพาะทางใหม่อีกครั้ง โดยใช้เวลาอีก 3 ปี เรียนอายุรแพทย์ และอีก 2 ปี เพื่อเรียนเฉพาะทางต่อยอดด้านไต

“ตลกไหม ที่ตัดสินใจเรียนด้านไต เพราะรุ่นพี่ไปโฆษณาว่าถ้ามาเรียนแล้วจะแจกหนังสือฟรี”
หมอนวพรที่เป็นคนรักการอ่านมาก ๆ ก็เลยมาลงเรียนด้านไตด้วยเหตุผลนี้ แล้วเธอก็ได้หนังสือเรียนฟรีที่เขียนโดยอาจารย์ประจำภาควิชาไปประมาณ 10 กว่าเล่ม หลังเรียนจบ เธอก็มาเริ่มงานกับโรงพยาบาล BNH ทันทีเป็นที่แรก จนถึงปัจจุบันก็ราว 7 ปีแล้ว
“โรงพยาบาลนี้ไม่ใหญ่มาก หมอรู้จักกันหมด พอมีเคสแล้วคุยปรึกษาส่งต่อกันได้ง่าย เลยเป็นเสน่ห์อย่างนึงของโรงพยาบาล”
ด้วยความที่พื้นฐานเดิมคือคุณหมอ ER หมอนวพรจึงรู้รายละเอียดการดูแลคนไข้ในขั้นต้นของแผนกอื่น ๆ ทั้งหมด เพราะต้องอยู่ในหน้าที่ดูแลคนไข้ฉุกเฉินที่มีโอกาสเกิดปัญหากับทุกส่วนของร่างกาย ทำให้การดูแลคนไข้ของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่ส่วนไตเท่านั้น เธอยังดูแลครอบคลุมไปถึงความผิดปกติในส่วนอื่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาหากคนไข้รู้ตัวช้าเกินไป และแม้ว่าคุณหมอจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในส่วนนั้น ๆ แต่โรงพยาบาล BNH ก็มีทีมแพทย์ที่พร้อมปรึกษาหรือส่งต่อเคส ทำให้การดูแลคนไข้เป็นไปอย่างครบถ้วนรอบด้าน หรือ Complete Care ตามนโยบายของโรงพยาบาล
“แล้วเราก็ต้องดูไปถึงปัญหาทางจิตใจของคนไข้ด้วย พวกนี้มันก็เกี่ยวกับปัญหาทางสังคม ครอบครัว สภาพแวดล้อม หรือการเงินของเขา เพื่อให้มันครบถ้วนจริง ๆ ไม่ใช่แค่ดูแลร่างกายเท่านั้น เพราะคนป่วยที มันมีอีกสารพัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกัน”
หมอนวพรมองตัวเองเป็นสายฟังมากกว่าสายพูด เธอสามารถรับฟังเรื่องราวของคนไข้ได้ยาว ๆ โดยไม่ขัด หรือแสดงความเบื่อหน่าย ทำให้คนไข้สบายใจที่จะเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง และหลายครั้งก็นำไปสู่การได้รู้พฤติกรรมคนไข้ หรือปัญหาของเขา ซึ่งล้วนมีผลต่อการวินิจฉัยที่ตรงจุด และการรักษา
หนังสือกับน้องสาว
หมอนวพรชอบอ่านหนังสือมาก ถึงขนาดโดนล่อให้ลงเรียนต่อด้านไตเพราะหนังสือฟรีมาแล้ว
“หมออ่านหนังสือได้ทุกประเภทเลย เป็นคนที่อ่านค่อนข้างเร็ว ก็รู้สึกว่าเป็นข้อได้เปรียบ บางทีเราอ่านจนจบ แต่คนอื่นยังไม่จบเลย อ่านได้ทั้งวัน อ่านไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องกินข้าวเลยก็ได้”

ถึงแม้ว่าจะอ่านหนังสือได้จบเร็ว แต่หมอนวพรก็ลืมเนื้อหาที่อ่านได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะหากเนื้อหาเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเธอ เช่น พวกหนังสือนิยาย หนังสือการ์ตูน ทำให้เธอสามารถสนุกกับหนังสือเล่มเดิมได้หลาย ๆ รอบ เพราะจำเรื่องราวไม่ได้แล้ว
“แต่ถ้าเป็นหนังสือเรียน อันไหนต้องจําเราก็จะพยายามจําให้ได้ เพราะมันต้องเอามาใช้”
หมอนวพรชอบอ่านหนังสือมาตลอดตั้งแต่เริ่มอ่านออก ในวัยเด็กของคุณหมอ เธอชอบอ่านหนังสือเงียบ ๆ มากกว่าออกไปเล่นในสนามเด็กเล่น มีหนังสือเป็นเพื่อนข้างกาย มากกว่าได้พูดคุยกับผู้คน แต่น้องสาวของเธอก็ทำให้เธอกล้าออกจากกรอบ และเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ มากขึ้น โดยไม่ต้องทิ้งความรักในการอ่าน
“เมื่อก่อนเราไม่ค่อยสนิทกับคุณแม่ รู้สึกว่าท่านดูห่างจากเรา น้องสาวก็ถามว่าทําไมต้องรอให้แม่เข้าหาก่อน กับเรื่องอื่น เขาก็คอยถามว่าทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ ทําให้เราค่อย ๆ เปลี่ยน”
น้องสาวของคุณหมออายุน้อยกว่าเธอ 2 ปี คุณหมอบอกว่าน้องคนนี้มีนิสัยขั้วตรงข้ามกับเธอ ช่างพูด ช่างสร้างสัมพันธ์ ในขณะที่หมอนวพรชอบรับฟังเงียบ ๆ การได้สนิทกับน้องสาวมาตั้งแต่เด็ก เติบโตมาด้วยกัน คุยกันได้ทุกเรื่อง ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากน้อง และกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองมาลองทำอะไรอย่างอื่น ในวันที่ชีวิตเธอประสบปัญหา ก็มีน้องสาวคนนี้ที่คอยเป็นธุระคลายปัญหาจากหนักเป็นเบาให้
จนถึงตอนนี้ที่ทั้งคู่เป็นหมอ พวกเธอก็ยังปรึกษาเคสคนไข้ด้วยกัน
“แถมตอนนี้ลูก ๆ ก็สนิทกับน้องสาวมากกว่าแม่เสียอีก”
คนใจเย็น

“หมอเป็นคนใจเย็น คิดว่าช้าหน่อยก็ได้ เราไม่ทำอะไรฉึบฉับ จะแบบค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทํา แล้วก็ไม่เคยโมโหคนไข้เลย บางทีก็มีบ้างที่เขาไม่ยอมทำนู่นนี่ตามที่แนะนำ ก็พยายามคิดว่าเขาอาจจะไม่สบายอยู่ เจ็บป่วยอยู่”
แต่การเป็นแพทย์ ต้องเจอคนไข้ที่มีนิสัยหลากหลาย สิ่งที่ทำให้หมอนวพรสามารถรับมือได้อย่างใจเย็น คือการสวดมนต์เป็นประจำ

“หมอไม่ได้เป็นคนธรรมะธัมโม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไร แต่เราสวดมนต์ทุกวัน ช่วงที่สวดมนต์ ทําให้เราได้อยู่กับตัวเอง ลดความเครียด แล้วจิตมันก็ไม่ค่อยฟุ้งซ่าน ทําให้เราอดทนได้มากขึ้น”
จุดเริ่มต้นการสวดมนต์ของคุณหมอ มาจากช่วงที่ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออก ซึ่งการตั้งครรภ์ของเธอถือว่ามีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นท้องแรกในช่วงที่มีอายุมากแล้ว ตอนแรกคุณหมอก็คิดว่าอาจเสียลูกไป เธอเข้ารับการรักษาทางการแพทย์แล้ว แต่คุณแม่ก็แนะนำให้ลองสวดมนต์ไปควบคู่กัน แล้วสุดท้ายก็สามารถคลอดลูกออกมาได้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก ทำให้คุณหมอสวดมนต์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนนั้น
“บทสวดมนต์หลายบทยาวเป็น 10 หน้าเลย คุณแม่เลือกมาให้ หมอก็สวด 15 นาทีก่อนนอน”
นอกจากนี้ หมอนวพรยังใส่บาตรเป็นประจำตั้งแต่ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลในศรีสะเกษ
“ที่จริงหมอเป็นคนกลัวผีมาก ปกติตอนกลางคืน ถ้ามีเหตุฉุกเฉินก็จะมีพยาบาลโทรศัพท์มาปลุกเราไปดูคนไข้ แต่มันมีช่วงนึงที่เรานอนอยู่แล้วมีคนมาปลุก แต่ตื่นมากลับไม่มีใคร มันมีคนมาเรียกแบบนี้ทุกคืน หลังจากนั้นเราก็เริ่มใส่บาตร”
การสวดมนต์และใส่บาตรเป็นประจำ จึงทำให้คุณหมอรับมือกับความเครียด ความกดดันจากการทำงาน และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต ทั้งสิ่งที่บอกได้และบอกไม่ได้ ได้เป็นอย่างดี
ฝันของคนเป็นหมอ
ตอนนี้เวลาของคุณหมอ นอกเหนือจากงาน เธอก็มอบให้ลูก 2 คน และด้วยความที่เด็กยังอยู่ในวัยซน การพาลูกไปไหนไกลนอกเหนือจากแวะไปหาญาติผู้ใหญ่ ก็ดูจะเป็นปัญหาสำหรับคนเป็นแม่ ทำให้ตัวคุณหมอเองไม่ได้ไปไหนมากนัก

“เอาเขาไปก็ไปร้องไห้อยู่บนเครื่องบิน คราวก่อนก็ชี้ไปทาง Business Class ขอไปนั่งทางนู้น เราก็เออ…หม่าม้าไม่มีเงินลูก กลับไปที่ Economy Class เร็ว ตอนนี้เรายังคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เลยต้องรอให้เขาโตหน่อยดีกว่า เราถึงไปไหนได้”
ปัญหาเมื่อเดินทางร่วมกับเด็กเล็ก อาจเป็นเรื่องทั่วไปที่หลายครอบครัวต้องเผชิญ แต่ลึกลงไป สิ่งที่คุณหมอทำมันคือการเสียสละความสุขของตัวเองเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่หมอนวพรพร่ำสอนลูก ๆ อยู่เสมอ
“อยากจะทําอะไรก็ทำไป แต่ต้องไม่สร้างปัญหาให้คนอื่นหรือตัวเอง”
แต่ก่อนหน้านี้ คุณหมอก็ดำเนินชีวิตมาโดยเลือกที่จะไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น แต่กลับสร้างปัญหาให้ตัวเอง เพราะเธอกลัวที่จะแสดงความคิดความรู้สึกของตัวเองออกไป จนกลายเป็นความกดดันสะสมของตัวเอง ซึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ คุณหมอถึงได้เรียนรู้ที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเอง และเธอก็ต้องการสอนลูกให้รู้จักทั้งการเคารพทั้งตัวเองและผู้อื่น
“หมออยากเป็นเหมือนคุณแม่ที่เลี้ยงให้ลูกมีความสุขกับทุกอย่าง ไม่บังคับอะไรเยอะ ให้ทําในสิ่งที่อยากทํา แล้วแม่จะสนับสนุนตลอด”
หน้าที่ของหมอนวพรในตอนนี้คือดูแลคนไข้ และดูแลครอบครัว ชีวิตปัจจุบันของเธอดูละห่างไกลจากความฝันวัยเด็กไปไกล
“เหมือนโตแล้วเรารู้อะไรเยอะขึ้น ทําให้ความฝันเราหายไป อันนี้มันก็ไม่ค่อยดี ที่จริงคนเราทุกคนควรมีความฝัน เราก็ไปตามนั้น หมอเลยรู้สึกว่าต้องมองหาฝันใหม่ พอเราเกษียณ และน้องสาวเกษียณ หมอก็ฝันว่าต้องไปเที่ยวรอบโลก อยากจะไปทุกทวีปเลย อยากไปเห็นชีวิต เห็นผู้คน เห็นสิ่งแวดล้อม ไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง”
“หมอมีความคิดว่าคนเราเกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนมีหน้าที่ที่ต้องทำ หมอเองก็อยากอยากเป็นหมอที่ดี รักษาคนไข้ให้ดีที่สุดเหมือนเป็นญาติเรา อยากเป็นแม่ที่ดี ช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จ และอยากเป็นคนที่ดีในทุก ๆ วัน”
ความใจเย็นและรับฟังของคุณหมอนวพร คือสิ่งที่ทำให้คนไข้สบายใจที่จะรับการดูแลจากเธอ และคุณหมอก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อมอบการดูแลที่ดีกว่าเดิมในทุกวัน

ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– โรคไต
– วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์
– วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญโรคไต
-แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับสอง) 2552
-วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ 2559
-วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคไต 2561
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พุธ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |
อาทิตย์ | 12:00 – 20:00 | ศูนย์หัวใจ ไต เมตาบอลิซึม |