สูตินรีแพทย์รุ่นเก๋าผู้มีเพื่อนเยอะ กิจกรรมก็เยอะ
– พญ. นฤมล ชรากร –
พญ. นฤมล ชรากร สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาล BNH นับว่าเป็นหนึ่งในคุณหมอที่อาวุโสที่สุดของโรงพยาบาล และก็เป็นคุณหมอที่มีคนไข้ไว้ใจให้มาดูแลทั้งครอบครัวเป็นประจำเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในโรงพยาบาล คุณหมอยังคงเต็มที่และสนุกกับการทำงาน นอกโรงพยาบาล คุณหมอคือคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่า จนมีเรื่องราวมากมายนำมาแลกเปลี่ยนกับคนไข้
สายสัมพันธ์หมอและคนไข้
นฤมลเป็นคนลำปาง เธอโตมาในโรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วนที่มีคุณครูเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งนับว่าพบได้ไม่บ่อยนักเมื่อกว่า 60 ปีก่อน อาจด้วยจำนวนนักเรียนไม่เยอะ นักเรียนแทบทุกคนจึงได้เป็นตัวแทนโรงเรียนในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และหน้าที่ดรัมเมเยอร์ก็ตกมาเป็นของนฤมล จนเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เธอก็เดินรอยตามพี่สาวเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

“ที่ลำปาง เราเรียนกับชาวต่างชาติมาตลอด ตอนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ภาษาอังกฤษก็ได้คะแนนเต็ม ตอนเข้ามาเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาฯ คะแนนภาษาอังกฤษก็ดีมาก ๆ โดยไม่ต้องเรียนเลย พอมาอยู่โรงพยาบาล BNH ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเยอะ ก็เลยโอเค”
เมื่อเพื่อนร่วมรุ่นชวนกันไปสอบเข้าเรียนแพทย์ นฤมลที่ถนัดวิชาเคมีและชีววิทยาเป็นพิเศษก็ไปสอบตาม และได้เป็นนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 2 ในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อจบออกมาแล้วก็ได้ไปใช้ทุน และเรียนต่อสาขาสูตินรีเวชศาสตร์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการแยกสาขาย่อย คุณหมอจึงต้องเรียนทุกอย่างและทำทุกอย่าง ทั้งด้านมารดาและทารก เวชศาสตร์เจริญพันธุ์ และโรคทางนรีเวช
หลังจากได้เป็นสูตินรีแพทย์เต็มตัว หมอนฤมลก็ไปทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง 24 ปี และทำให้คนไข้ประทับใจในแนวทางการรักษา จนติดตามมารักษากับคุณหมอเมื่อเธอเริ่มงานใหม่ที่โรงพยาบาล BNH ใน พ.ศ.2544 จนถึงวันนี้ในวัยกว่า 70 ปี หมอนฤมลยังคงมีคนไข้ประจำที่ไว้ใจให้เธอดูแลอย่างต่อเนื่อง และบางคนก็แนะนำคนในครอบครัวให้มารักษากับคุณหมอ จนเรียกได้ว่าเป็นเธอเป็นแพทย์ประจำหลายครอบครัวไปแล้ว
“เคสที่เพิ่งตรวจไป ก็เป็นภรรยาของเด็กชายที่หมอทําคลอด แม่ของเด็กชายนี่ก็มาให้อาจารย์ตรวจทุกปี จนถึงวันนี้ก็ 30 กว่าปีมาแล้ว มันเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คิดว่าเลือกสาขาไม่ผิด เพราะว่าเวลาเด็กเกิด ครอบครัวเขาดีใจมาก เราก็ได้ดีใจด้วย หมอมีคนไข้จำนวนพอสมควรที่พอเขาเดินเข้ามา เราก็รู้ว่าเขาเป็นใคร ชื่ออะไร บางคนก็มาเล่าชีวิตให้ฟังเหมือนเราเป็นแม่เขาคนหนึ่ง บางคนที่เราทำคลอดก็ยังเอาดอกไม้มาให้อาจารย์ในวันแม่ กับคนไข้มันเลยเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมากอย่างบอกไม่ถูก แต่นำมาซึ่งกำลังใจให้จัดเต็มกับการดูแลคนไข้ของเรา”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไข้ชื่นชอบแนวทางการรักษาของคุณหมอ คือความใส่ใจที่หมอนฤมลมอบให้ คนไข้หลายรายมาหาด้วยปัญหาจากความกังวลในใจไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม สำหรับหมอนฤมล การที่คนไข้นั่งคุยกับเธอไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะเธอพร้อมรับฟังและให้เวลากับคนไข้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวม Complete Care ดูแลครบถ้วนรอบด้านทั้งร่างกายและจิตใจ การได้ใช้เวลากับคนไข้นี้ยังทำให้เธอสังเกตเห็นจากความผิดปกติอื่นนอกเหนือไปจากโรคทางนรีเวช ทำให้คุณหมอช่วยประสานงานกับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น และรักษาโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมไปถึงได้รู้ข้อมูลสุขภาวะคนใกล้ตัวของคนไข้ ที่หลายครั้งก็มีผลกระทบต่อคนไข้เช่นกัน
ประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 50 ปี และจำนวนคนไข้ที่ไว้ใจให้คุณหมอดูแลเป็นประจำ แสดงความเชี่ยวชาญในอาชีพของคุณหมอนฤมล แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น คุณหมอก็มีอาการเจ็บป่วยบ้างตามธรรมดาของช่วงวัย
“อาจารย์ไปผ่าเข่ามา 10 วัน คนไข้ก็โทรมาบอกว่าอยากเจอ หมอเจ้าของไข้เขายังไม่ได้สั่งให้มาทำงานนะ แต่เราอยากเจอคนไข้ คนไข้ก็คิดว่าถ้าไม่เจอเราแล้วจะให้เขาไปเจอใคร ก็เลยเพราะคนไข้นี่แหละที่ทำให้เรายังอยากมาทำงานจนทุกวันนี้”

เพื่อนดี ชีวิตก็ดี
“ปกติอาจารย์จะไม่มีเวลาว่างเลย ถ้ามีเราก็หาอะไรมาใส่ อาจารย์มีเพื่อนเยอะจนเดือนนึงเกือบไม่พอที่จะเจอเพื่อนทุกกลุ่ม”
ในวันที่ลูก ๆ 4 คน ของคุณหมอเติบโตจนประสบความสำเร็จ และได้เจริญรอยตามเธอเป็นแพทย์กันหมดทุกคน เวลานอกเหนือจากการทำงานของคุณหมอจึงหมดไปกับการพบปะเพื่อนฝูง ซึ่งเธอสามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนทุกกลุ่มที่ผ่านเข้ามาในทุกช่วงของชีวิต ตั้งแต่เพื่อนสมัยเรียนมัธยม เพื่อนมหาวิทยาลัย เพื่อนหมอ หรือเพื่อนจากกลุ่มสังคมอื่นที่คุณหมอมีโอกาสเข้าไปทำความรู้จัก
และหนึ่งในเพื่อนกลุ่มที่มักมอบประสบการณ์ชีวิตแปลกใหม่ให้คุณหมอมากที่สุด คือเพื่อนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)
“ก็คนไข้นี่แหละ ที่เป็นคนพาอาจารย์ไปฝากเรียน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว”

ในวงสังคมนั้น หมอนฤมลได้เรียนรู้การเล่นกอล์ฟ ชิมไวน์ เล่นเรือใบ เล่นหุ้น ชิมอาหารร้านมิชลิน ซึ่งเธอก็ไม่เคยสนใจมากก่อน จนกระทั่งเพื่อนในกลุ่มชวนให้เปิดใจ
“อาจารย์ชอบกินอาหาร ร้านมิชลินในประเทศไทยเนี่ยเหลืออยู่ไม่กี่ร้านที่ยังไม่ได้ไป อย่างเจ๊ไฝนี่ก็กินมาตั้งแต่เขายังไม่มีคนรู้จัก”
สำหรับคนที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตอย่างคุณหมอ เธอยินดีลงทุนเพื่อหาความสุขและสมดุลชีวิตให้ตัวเอง แต่เธอก็เลือกลงทุนอย่างคุ้มค่า อาหารหลายเมนูที่เธอไปลองมาจากร้านมิชลิน คุณหมอยังประยุกต์มาทดลองทำเองที่บ้าน และสรรหาวัตถุดิบชั้นดีผ่านคนรู้จักในแวดวงสังคมของเธอ
“อย่างปลาหิมะ ตามร้านนี่ชิ้นนึงพันกว่าบาท แต่อาจารย์ไปเจอคนที่นําเข้าเนื้อปลาชิ้นนึงแค่หลักร้อย แล้วก็เอามาชุบแป้งทอด ทําไมเราจะทําไม่เป็น เพราะฉะนั้นเวลาไปกินข้าว ถ้ามีเมนูปลาหิมะเราก็ไม่สั่ง ก็จะกินแต่ของที่มันทํายาก พอไปกินบ่อยเข้า ก็จะรู้ว่าที่ไหนอร่อยแล้วก็ไม่แพง”
เพราะมีกลุ่มเพื่อนมากหน้าที่ชวนกันไปทำกิจกรรมหลากหลาย หลายคนก็เข้ากันได้ดีถึงขั้นไปออกทริปด้วยกัน การเดินทางของคุณหมอจึงมักมีเพื่อนร่วมทางที่รู้ใจไปไหนไปกัน
“เห็นทํางานหนักอย่างนี้ อาจารย์เป็นคนชอบเที่ยวมาก ตอนนี้ไปจนหมดที่เที่ยวแล้ว ต้องไปมาดากัสการ์แล้ว”
ทริปล่าสุดของหมอนฤมลคือมาดากัสการ์ สถานที่ที่เป็นจุดหมายของคนไทยน้อยคน เธอมักไปไหนกับกลุ่มเพื่อนขนาดเล็กโดยมีไกด์คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก พอคนน้อย ก็เรื่องน้อย ก็ง่ายต่อการจัดการ ทำให้คุณหมอมักได้ใช้เวลาที่ดีในสถานที่ที่ถูกใจ ค่อย ๆ ดื่มด่ำกับธรรมชาติและเพื่อนร่วมทางที่ต่างก็เป็นเพื่อนเก่าแก่ จบทริป คุณหมอก็มักมีรูปถ่ายสวย ๆ จากมุมสวย ๆ ในเวลาที่ลงตัว กลับมาอวดคนทางบ้าน
“ทุกวันนี้ อาจารย์ก็คิดว่าได้ใช้ชีวิตคุ้มแล้ว ชีวิตสมดุลมาก ๆ”

สมาธิกับการดูแล

“อาจารย์อ่านเรื่องเกี่ยวกับสมาธิมาเยอะ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรที่มันใช่ ต้องทํายังไงถึงจะถูกต้อง ก็เลยสมัครไปเรียนจนจบ มีใบอนุญาตให้สอนได้ เขาก็ให้เป็นครูฝึก ตอนนี้อาจารย์ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็เอามาใช้กับคนไข้ตั้งครรภ์ อาจารย์จะสอนเขากำหนดลมหายใจเข้าออก”
เมื่อคุณแม่ฝึกลมหายใจ ทารกในครรภ์จะได้รับออกซิเจนมากขึ้น และสารที่ทำให้มดลูกบีบตัวก็จะหยุดหลั่งไปพักนึง เหลือแต่สารที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งหมอนฤมลก็จะพยายามสอดแทรกเทคนิคเหล่านี้ที่ส่งผลดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ลงไประหว่างการติดตามดูแล
“อาจารย์ก็ได้ใช้เองแล้วทำให้หลับได้นาน ปกติหลับได้ 8 ชั่วโมงยาวต่อเนื่องไม่มีตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะฉะนั้นหากคนไข้มีปัญหา อาจารย์ก็ช่วยเขาได้”
คุณหมอนฤมลยังได้ไปช่วยงานอาสาสอนนั่งสมาธิตามแนวทางทางพระพุทธศาสนาราว 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเวลานอกเหนือจากคลาสเรียน หากมีคนมาถามหรือมีคนไข้สนใจ เธอก็ยินดีให้คำปรึกษา
“ถึงแม้สิ่งที่เราจัดการกันอยู่ที่นี่มันเป็นโรคทางกาย แต่ที่จริงคนเราเวลาป่วย มันมีทั้งจิตและกายเกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อไหร่กายทุกข์จิตก็ทุกข์ด้วย หากรู้จักการนั่งสมาธิ แม้กายทุกข์ จิตจะทุกข์น้อยหรือไม่ทุกข์ เพราะเรายอมรับได้ว่าโรคทางกายมันเกิดขึ้นแล้ว อาจารย์จึงว่ามันมีประโยชน์แบบที่หยิบออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้”

“อาจารย์ปฏิบัติต่อคนไข้ด้วยความเมตตา และไม่ได้มองเขาเป็นแค่คนไข้ที่มาให้เราดูแล้วก็จบกัน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบนพื้นฐานของความเมตตา เพราะฉะนั้นความสุขมันก็เกิดขึ้น พอยังมีคนเห็นคุณค่าของเราอยู่ ก็ทำให้เรายังอยากมาทำงาน อย่างที่เขาว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว อาจารย์เชื่อว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน ถ้ามีโอกาสทําดีก็ให้ทําไป เราทำดีต่อเขา ความดีก็ไม่ไปไหน จะวนกลับมาหาเราเอง”
คุณหมอนฤมลนิยามว่าเธอเป็นคนที่โชคดี เพราะมีกัลยาณมิตรที่ดี ครอบครัวที่ดี คนไข้ที่ดี ประกอบกับความหวังดีที่คุณหมอมอบให้คนอื่น สิ่งดี ๆ จึงเกิดขึ้นกับคุณหมอในทุกวัน และทำให้ช่วงอายุเลยวัยเกษียณของคุณหมอยังคงมีคุณค่าและมีความหมาย
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

– Diplomate Thai Board of Obstetrics and Gynaecology
– M.D., Ramathibodi Hospital, Mahidol University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อังคาร | 09:00 – 13:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
พุธ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
เสาร์ | 09:00 – 12:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |