หมอระบบประสาทที่เข้าใจชีวิตผ่านการเล่นเกม
– นพ. จักรพงศ์ หล่อสุวรรณศิริ –
คนติดเกม ชื่นชอบการ์ตูน อาจฟังดูไม่เหมือนเป็นหมอ แต่นี่คือความสุขยามว่างของ นพ. จักรพงศ์ หล่อสุวรรณศิริ อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาล BNH สิ่งบันเทิงเหล่านั้นไม่ได้มีแต่ด้านลบอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะสำหรับคุณหมอ เขาเรียนรู้คนจากเกมและประสบการณ์ชีวิต เพื่อสร้างตัวเองให้เป็นหมอที่เข้าใจคน และเข้าใจคนไข้
เส้นทางสู่แพทย์ประสาทวิทยา
จักรพงศ์คือเด็กดีที่ทำตามกรอบของพ่อแม่มาตลอด เขาไม่เคยทำเรื่องที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่ดี
“มีแค่ครั้งเดียวที่โดดเรียนไปดู Titanic เพราะใคร ๆ เขาก็ดูกันแล้ว และตอนนั้นมันก็ไม่มีเวลาอื่นจริง ๆ”
แต่นอกจากนั้น จักรพงศ์ก็เป็นเด็กดีที่อยู่ในกรอบมาตลอด เขาเป็นเด็กเรียนได้กลาง ๆ ไม่ได้จัดว่าเก่งอะไร จนกระทั่งถึงชั้น ม.5 เขาได้เจออาจารย์สอนพิเศษท่านหนึ่งที่มาพร้อมวิธีการสอนที่เปลี่ยนความไม่เข้าใจของเขาให้กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อย่างง่ายดาย

“ผมว่านี่เป็นพื้นฐานของหลายคนที่ก้าวผ่านจุดที่คิดว่าตัวเองแย่มาได้ อย่างน้อยคือคุณทําอะไรแล้วรู้สึกว่าฉันทําได้ เมื่อก่อนผมเรียนเคมีแย่มาก แต่พอเข้าใจแล้วฝึกทํา มันก็ทำได้นี่นา ชอบหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พอใส่ความพยายามลงไปแล้วมันทําได้”
เมื่อเขาพยายามเรียนก็เรียนได้ พยายามสอบก็สอบเข้าเรียนได้ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตั้งแต่ปี 4 นศพ.จักรพงศ์ก็สนใจเป็นอายุรแพทย์ แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะลงลึกในทางไหน รู้แค่ว่าต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด จนกระทั่งเขาเรียนจบแล้วไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางที่รับคนไข้จากภาคเหนือตอนล่างที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลจังหวัด จึงมีจำนวนคนไข้ที่ต้องดูแลมาก และส่วนมากเป็นคนไข้เคสยาก
“ที่เราอุตส่าห์เรียนมาในโรงเรียนแพทย์ พอเห็นของจริงมันอีกอย่าง ผมเคยเจอคนไข้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ พอฉีดยาให้เขาปุ๊บ สีหน้าก็บ่งบอกเลยว่าเขาหายทรมาน หรือตอนปั๊มหัวใจแล้วหัวใจมันกลับมาเต้น คนไข้ก็ตื่น หรือแม้กระทั่งโรคเล็กน้อยอย่างหวัด แล้วคนไข้มาขอบคุณเมื่อหายป่วย ถึงหมออาจจะชิน แต่ผมเชื่อว่าลึก ๆ นั่นแหละเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้หมอยังอยากปฏิบัติหน้าที่กันอยู่”
ผ่านการใช้ทุนมา หมอจักรพงศ์ก็เลือกเรียนต่อเฉพาะทางอายุรกรรมด้านประสาทวิทยาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แล็วก็มาทำงานที่โรงพยาบาล BNH ซึ่งทำให้เขาได้ค้นพบความสนใจในศาสตร์เร้นลับของโรคที่ได้รับความสนใจน้อยกว่าโรคอื่นในหมู่แพทย์
“ผมว่าโรคลมชัก ลมบ้าหมู มันเป็นศาสตร์มืด เพราะคนสนใจน้อย อะไรที่คนรู้เยอะอยู่แล้วมันไม่สนุก”
แล้วหมอจักรพงศ์ก็บินลัดฟ้าสู่สหรัฐอเมริกา เพื่อไปเรียนด้านโรคลมชักอยู่ราว 1 ปี ที่สถาบัน UH Cleveland Medical Center เมือง Cleveland รัฐโอไฮโอ
กลับสู่กรุงเทพฯ หมอจักรพงศ์กลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาล BNH การเป็นอายุรแพทย์ทำให้เขาสามารถดูแลโรคที่หลากหลายโดยไม่ได้จำกัดแค่อาการลมชักซึ่งอาจพบได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคทั่วไปอื่น ๆ แต่หากพบเมื่อไร ก็จัดว่าเป็นอาการที่อันตรายและน่าเห็นใจคนไข้ โดยเฉพาะอาการลมชักที่ไม่พบตัวกระตุ้น จึงยากต่อการควบคุม
“สมมุติว่าคุณไปกินเหล้ามาแล้วชัก ถ้าไม่กินเหล้าก็ไม่ชัก อันนั้นก็จบไปเพราะมันมีตัวกระตุ้นที่ชัดเจน แต่ถ้าเกิดจากความผิดปกติทางเนื้อสมอง ก็ต้องกินยาไปเรื่อย ๆ และอย่างบางเคสก็เป็นภาวะแทรกซ้อนจากภาวะอื่น เช่น หัวใจหยุดเต้น เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง พอปั๊มให้เลือดไปเลี้ยงสมองก็เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอาการลมชัก ซึ่งควบคุมได้ยาก มีทั้งที่มีอาการให้เห็น และไม่มีอาการ ซึ่งคนไข้ก็จะนอนอยู่นิ่ง ๆ แต่ว่าตรวจคลื่นสมองแล้วมีลักษณะการชักเกิดขึ้น ถ้าเขาไม่ได้ยาเลย เนื้อสมองเสียหายไปแล้ว เขาก็มีโอกาสไม่ตื่นกลับมา”
ด้วยบรรยากาศของโรงพยาบาล BNH ที่เน้นการดูแลคนไข้ทั้งครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นที่แนะนำต่อกันแบบปากต่อปาก หมอจักรพงศ์เองจึงได้รู้จักคนไข้หลายคนทั้งครอบครัว คนไข้หลายรายก็เป็นคนไข้ประจำที่มักกลับมาให้คุณหมอดูแล ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะความสามารถทางการแพทย์ แต่เพราะเหตุผลอย่างการคุยกันถูกคอก็มี ถูกจริตก็มี
“เราจะเป็นผู้รับฟังที่ดี ปล่อยให้คนไข้เล่าไปเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องประเมินคนไข้ก่อนว่าคนนี้ชอบคุยอ้อม ๆ หรือคุยตรง ๆ มันต้องมีจุดที่เป็นปัญหาทางการแพทย์ออกมา แล้วเราดูแลคนไข้ตามนโยบาย Complete Care ของทางโรงพยาบาล BNH ที่เน้นดูกันตั้งแต่ยังไม่ป่วย มีการคัดกรอง ซึ่งก็ดีกว่า เพราะอย่างโรคทางระบบประสาท หากป่วยแล้วค่อยมารักษา มันจะใช้เวลานานกว่าจะหาย ถ้าป้องกันก่อน หรือเห็นความปกติเล็กน้อยแล้วไปแก้ มันก็จะง่ายกว่า ซึ่งการดูแลของหมอก็ไม่ได้เน้นแค่คำพูด เราจะดูแลเขาจริง ๆ ตั้งแต่เริ่มป่วยไปจนทุกวาระ”

กาลครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
“ผมสนับสนุนให้คนไปลองใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนะ จะได้รู้ว่าเรื่องที่คนเคยไปแล้วมาบอกต่อทั้งหลายมันจริงหรือเปล่า”

ก่อนหน้านี้ หมอจักรพงศ์เองก็มีภาพจินตนาการว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องมีความเป็นเมืองที่สะดวกสบาย แต่พอไปถึงแล้ว เขาจึงได้รู้ว่านั่นคือภาพจำของชีวิตที่กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา
“พอไปถึงครั้งแรก ราวตีหนึ่งกว่า เราก็จินตนาการว่าคงมีร้านมินิมาร์ทอยู่ทุกที่ แต่ปรากฏว่าเมืองที่ผมอยู่มันไม่มี ร้านค้าที่เปิด 24 ชั่วโมงอยู่ไกลจากผมไปเป็นกิโล แล้วตอนนั้นตีหนึ่ง ใครจะไปกล้าเดินในเมืองที่เพิ่งไปครั้งแรก เราถึงได้รู้ว่าภาพที่อเมริกานําเสนอคนทั้งโลก มันก็มีอยู่แค่นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส และชิคาโก้ ที่อื่นก็ไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น สรุปคืนนั้นผมก็ทนหิวไป”
ในเมือง Cleveland รัฐโอไฮโอ ที่คุณหมอไปเรียนต่อด้านลมบ้าหมู คุณหมอได้พบเจอคนหลายเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม ซึ่งพอได้ทำความรู้จัก ได้พูดคุยกัน ก็ทำให้รู้ว่าคนอื่นเขามีระบบความคิดอย่างไร รวมไปถึงเหตุผลเบื้องหลังที่หลายคนต้องโยกย้ายถิ่นฐานมาไกลบ้าน อย่างตอนนั้นมีภาวะสงครามกลางเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลาง เขาก็ได้รู้จักกับผู้อพยพจากประเทศนั้นที่ต้องทิ้งครอบครัวเข้ามาลี้ภัย
“มันเป็นสภาพของคําว่าบ้านแตกจริง เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าการที่เราไป มันไม่ได้เห็นแค่สภาพบ้านเมืองที่เราไปอยู่ แต่เห็นคนที่ไปอยู่ตรงนั้นด้วย และได้เรียนรู้จากเขาด้วย เราไม่ได้ไปเรียนรู้แค่วิชาการ แต่เราไปเรียนรู้ผู้คนและสถานที่ด้วย เพราะคุณจะไม่เห็นภาพพวกนี้ตอนไปเที่ยวที่ไม่ได้คุย ไม่ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ แต่ถ้าอยู่เป็นหลักปี จะได้เรียนรู้ เปิดโลก เปิดความคิด ว่าสภาพความเป็นอยู่มันหนักหน่วงกว่าที่บ้านเรามั้ย”
ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกาของคุณหมอจักรพงศ์จึงไม่ใช่แค่ความรู้ที่นำมาใช้รักษาคนไข้ แต่คือความเข้าใจมนุษย์ที่คนในอาชีพหมอจำเป็นต้องมี เพื่อเข้าใจคนไข้ที่มีปูมหลังแตกต่างกัน โดยเฉพาะคนไข้ที่โรงพยาบาล BNH ซึ่งจำนวนมากเป็นคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม


ชีวิตในเกม
“ยอมรับครับว่าผมอายุเยอะขนาดนี้ก็ยังเล่นเกมออนไลน์ ผมชอบที่มันเหมือนอีกโลกหนึ่งที่เราไม่ต้องคิดอะไรมาก สนุกและก็ผ่อนคลายดี”
หมอจักรพงศ์ชอบเล่มเกมแนว MMORPG หรือ Massively Multiplayer Online Role-Playing ที่ผู้เล่นแต่ละคนจะเล่นเป็นคาแรคเตอร์ในเกม และสามารถมีปฏิสัมพันธ์ หรือพูดคุยกับเพื่อนคนอื่น ๆ ในเกมได้
“แต่ผมไม่ได้เป็นสายคุยนะ ผมก็เล่นเกมของผมไป แต่ความน่าสนใจคือในเกมเป็นอีกสังคมหนึ่งที่กฎระเบียบในเกมมันเข้มมาก ถ้าไปด่ากันก็โดนแบน ถ้าสื่อสารแบบตรงไปตรงมาเกิน อย่างบอกว่าเธอไปตรงนั้นไม่ได้นะ เพราะอยู่ตรงนั้นแล้วเธอจะตาย แต่ในเกม ที่คุณจะต้องบอกคือ เธอมายืนตรงนี้ดีกว่ามั้ย น่าจะปลอดภัยกว่า มันเป็นการลดความขัดแย้ง น่าจะเป็นลักษณะของวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย พอทํางานมาหนัก มาเจอลักษณะแบบนี้ ผมว่าก็ผ่อนคลายดี”
คุณหมอไม่ได้เป็นเด็กติดเกมมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาเพิ่งมาเริ่มเล่น Final Fantasy14 ช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้วเกมนี้ก็ทำให้เขาติดใจในความงดงามของภาษา ความสนุกในการวางโครงเรื่อง จนคุณหมอจักรพงศ์ถึงกับเปรียบว่าการเล่นเกมออนไลน์นี้เหมือนได้อ่านหนังสือคุณภาพ และที่สำคัญคือเขาชื่นชอบสังคมของคนเล่นเกม
“ผมเคยไปนั่งรอเข้าฉากต่อสู้ แต่มันต้องใช้คนเยอะ แล้วก็มีคนมาทักว่ารออะไร พอเขารู้ก็เรียกเพื่อนมา ผมก็คิดว่าคนไม่รู้จักกันแล้วมาช่วยกันเฉย ๆ เราก็พากันไปสู้บอสเสร็จเรียบร้อยไม่ต้องรอนาน ซึ่งผมคิดว่าคนเล่นเกมมักจะมีประสบการณ์แบบนี้คล้ายกัน ผมจําได้ว่าในยูทูป มีคนเล่าว่าเจอคนไม่รู้จักออกมาให้กําลังใจ ก็เลยรู้สึกว่าเกมนี้น่าประทับใจ”
นอกจากนี้ อีกอย่างที่ได้จากเกมคือการมองคน ทั้งจากการพัฒนาเนื้อเรื่องของเกมให้มีมิติ และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในเกม
“มุมมองมันจะเปลี่ยน ไม่ใช่มีแค่ผู้ร้ายกับตัวเอก แต่ว่าจะมีคําถามว่าตัวร้ายทําไมถึงร้าย แต่ว่าคนเราเกิดมาไม่ได้ร้ายทันที อะไรทําให้เขามีความคิดแบบนี้ ตอนหลังผมรู้สึกว่าการ์ตูนหรือเกมมันมีรูปแบบนี้มากขึ้น ผมว่ามันก็เป็นการพัฒนาเนื้อเรื่องให้มันมีมิติมากขึ้น ซึ่งก็ดีนะ เพราะมันก็สอดคล้องกับชีวิตประจําวันของคนเราด้วย พอมีความเข้าใจ เราก็จะไม่รู้สึกต้องเอาเป็นเอาตายกับการกระทำของคนอื่นที่ไม่ถูกใจเรา”
ถึงจะติดเกม เกมนี้ก็ไม่ได้กินเวลาชีวิตของคุณหมอนัก เพราะเขาจำกัดเวลาเล่นอย่างมากแค่ 2 ชั่วโมง เมื่อว่างเว้นจากงานประจำ เพราะเกมคือสิ่งที่ช่วยรักษาสมดุลชีวิตให้เขา
หมอจักรพงศ์ยังชอบอ่านหนังสือการ์ตูน และก็เช่นเดียวกับเกมออนไลน์ เขามองเห็นความหมายบางอย่างจากการ์ตูนที่มากกว่าแค่ความบันเทิง
“ถ้าดูการ์ตูนญี่ปุ่น คุณจะเห็นวัฒนธรรมหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในการ์ตูน คือวันแมนโชว์ไม่มี ต้องร่วมมือกัน การ์ตูนญี่ปุ่นจะเป็นอย่างนี้เกือบทุกเรื่อง ตัวละครเอกมันก็เก่งแหละ แต่มันจะทําคนเดียวไม่ได้ ต้องมีความเป็นทีม ผมคิดว่าเป็นกุศโลบายทั้งในเกมและการ์ตูนของญี่ปุ่นที่สอนเรื่องความเสียสละเป็นพื้นฐาน ถ้าคุณอ่านการ์ตูนแล้วสามารถดึงเอาลักษณะที่ดีเหล่านี้ออกมาได้ มันก็ได้ประโยชน์นะ”


“คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คือการมองคนอื่นอย่างเข้าใจ ซึ่งบางอย่างคือประสบการณ์ที่ได้จากการไปเห็นโลกมามาก หรือจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทําให้เรามองโลกอย่างเข้าใจมากขึ้น ตอนเด็ก ผมอาจคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล แต่ว่าพอโตมาแล้วมันไม่ใช่ ความเข้าใจและยอมรับบทบาทในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมก็ทำให้ผมมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข”
ในความเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ ของคุณหมอจักรพงศ์ ทำให้บุคลากรทุกคนทำงานด้วยอย่างสบายใจ ในความเข้าใจโลก ก็ทำให้เขาเข้าใจคนไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการรักษาที่คุณหมอมีพร้อมด้วยประสบการณ์เกือบ 20 ปี
Articles & Published Content
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. จักรพงศ์ หล่อสุวรรณศิริ
แผนกอายุรกรรม, ศูนย์สมองและระบบประสาท
ความชำนาญพิเศษ
ประสาทวิทยา
ภาษา
– ประสาทวิทยา
– ประสาทวิทยา
– M.D., Thammasat University 2006
– Thai Board of Neurology , Thammasat University
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 08:00 – 19:00 | แผนกอายุรกรรม, ศูนย์สมองและระบบประสาท |
อังคาร | 12:00 – 19:00 | แผนกอายุรกรรม, ศูนย์สมองและระบบประสาท |
พุธ | 13:00 – 19:00 | แผนกอายุรกรรม, ศูนย์สมองและระบบประสาท |
เสาร์ | 08:00 – 17:00 | แผนกอายุรกรรม, ศูนย์สมองและระบบประสาท |