ผู้มีเทนนิส หนังสือ และเรื่องท้าทายเป็นขุมพลัง
– นพ. บุญเลิศ เตรียมอมรวุฒิ –
หากได้พูดคุยกับ นพ. บุญเลิศ เตรียมอมรวุฒิ สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาล BNH เราจะสัมผัสได้ถึงความมั่นใจที่เต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาคนไข้ หรือการใช้ชีวิต ประสบการณ์ชีวิต ผู้คนที่ผ่านเข้ามา ความสนใจที่เลือกรับไว้ และความท้าทายที่แปรเปลี่ยนเป็นพลัง ปัจจัยเหล่านี้คือต้นเหตุที่มาของความมั่นใจนั้น ที่ซึ่งส่งต่อให้คนรอบข้างเชื่อมั่นในมือคุณหมอตามไปด้วย
หมอสู้ชีวิต
เริ่มต้นเส้นทางสู่อาชีพแพทย์จากการเลือกตามเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมอุดมศึกษา กับความคิดเพียงว่ายังไงอาชีพนี้ก็คงมั่นคงและไม่มีวันตกงาน แต่พอได้ลองเข้าจริงที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นศพ.บุญเลิศก็ได้รู้ว่าหนทางนี้มันเหนื่อยหนักกว่าที่คิด
“ตกกระไดพลอยโจนเข้ามาแล้ว ไปไหนไม่รอดแล้ว ก็ต้องพยายามทําให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้นเอง ข้อดีของการได้เรียนหมอคือ จะถูกอบรมให้มีความทั้งอดทนอดกลั้น ความสนใจที่จะเรียนรู้ กล้าวิเคราะห์แก้ไขปัญหายาก ๆ โดยไม่ถอยหนี แล้วพอสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ วิชาเริ่มแก่กล้าขึ้นก็มั่นใจสูงมากขึ้น แต่อย่างน้อยถ้าเรามั่นใจมาก ๆ ก็เพราะเรามีความรู้จริง เราจะช่วยคนไข้ได้จริง คนเก่งกับคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมักนจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน”
ผ่านการเรียนหมอ 6 ปี หมอบุญเลิศต้องไปใช้ทุนที่ต่างจังหวัดดังเช่นแพทย์เกือบทุกคน แต่ที่ต่างออกไปคือการเรียนรู้จากผู้ที่มาเป็นนายของเขา

“ตอนใช้ทุนปีแรก ไปที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ก็ได้มีประสบการณ์กับคนไข้ที่มากและยากอย่างหลากหลาย แล้วก็ไปใช้ทุนอีก 2 ปี ที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นลูกน้องทํางานร่วมกับอาจารย์ นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือพี่หงวน ผู้ที่เริ่มต้นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค”
ถึงแม้ว่าสมัยนั้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะยังไม่ถือกำเนิด แต่ความทุ่มเทของหมอหงวนในการทำงานเพื่อส่วนรวมก็เป็นมาเนิ่นนานจนได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท และความตั้งใจนั้นก็ได้ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ท่านอื่นในโรงพยาบาล
“ผมโชคดีที่ได้เป็นลูกน้องทํางานร่วมกับพี่หงวนอยู่ 2 ปี ได้เรียนรู้จากแกในการทํางานเพื่อส่วนรวม โชคดีที่การไปใช้ทุนเนี่ย ทั้งทีม หมอ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทุ่มเทชีวิตทําเพื่อประชาชน งานหนักแต่มีความสุข ผมก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้นเยอะมาก”
พื้นที่นั้นในปัจจุบันอาจพัฒนาขึ้นมากแล้ว แต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ห้องน้ำยังเป็นสิ่งหายากในชุมชน คนยากคนจนคนขาดโอกาสทางการศึกษาถือเป็นเรื่องปกติ ความคิดของชาวบ้านเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยคือ มาหาหมอขอยาฟรีเยอะ ๆ เพื่อเก็บไว้ใช้นาน ๆ
“ผมได้เห็นความยากลําบากของคนไข้จริง ๆ และส่วนหนึ่งคือได้เรียนรู้ว่า คนไข้มาหาเพราะเขาป่วยมา รักษาไป อธิบายวันนึงเป็นร้อย ๆ รอบ ก็เป็นแค่การแก้ปัญหาปลายเหตุ เราจะต้องสอนเขาให้มีความรู้ในการป้องกันก่อนที่จะป่วย ต้องทํางานชุมชน ลงไปหาเขา ให้เขารู้จักดูแลสุขภาพ ตรงนี้เป็นงานที่หนักและเหนื่อย ไม่มีผลตอบแทน แต่ได้ความภูมิใจเพราะเราเห็นคุณค่าของงานที่เราเสียสละให้กับชุมชน โชคดีที่ผมได้มีโอกาสผ่านเรื่องตรงนี้มา”
และการป้องกันก่อนการรักษา ก็เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Complete Care มอบการดูแลแบบองค์รวมรอบด้านโดยไม่ต้องรอให้ป่วย และดูแลครบถ้วนทั้งร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงคนใกล้ตัว ที่โรงพยาบาล BNH กำลังส่งเสริม
หมอบุญเลิศชอบเรียนรู้งานวิชาการ และก็สนุกกับการได้ผ่าตัดทําหัตถการ สูตินรีเวชจึงเป็นสาขาที่มีความเป็นกลาง คือผสานระหว่างความรู้ทางทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งคุณหมอรู้ตัวตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตแพทย์ และพอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสถานการณ์จริงเมื่อใช้ทุนต่างจังหวัดครบ 3 ปี จึงมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้ที่โรงพยาบาลศิริราช
เส้นทางชีวิตหมอสูติของ นพ.บุญเลิศ อยู่ประจำในหลายโรงพยาบาล ควบคู่กับการเป็นบรรณาธิการวารสารการแพทย์ ในเครือ “MIMS” ซึ่งเขาต้องอ่านงานวิจัยจากทั่วโลก เพื่อคัดเลือกเนื้อหาและเรียบเรียงเนื้อหาให้เหมาะกับงานสำหรับลงตีพิมพ์ ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ ๆ ก็ได้ผ่านตาคุณหมอแทบทุกวันมาตลอดกว่า 10 ปีของชีวิตบรรณาธิการ แม้ว่าปัจจุบันวารสารนั้นจะไม่มีแล้ว และหมอบุญเลิศเองก็วางมือจากงานวารสารไปนาน แต่การเป็นคนชอบอ่านชอบศึกษาอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ยังคงอยู่กับเขามาจนถึงวันนี้
และเมื่อ พ.ศ.2539 หมอบุญเลิศก็ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองใหม่ ลองมาสมัครงานในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงด้านแม่และเด็กอย่างโรงพยาบาล BNH โดยที่ทางโรงพยาบาลยังไม่มีนโยบายเปิดรับสูตินรีแพทย์เพิ่มเติม แต่ประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาของเขาก็เข้าตาผู้อำนวยการในยุคนั้น และได้ทำงานที่นี่มายาวนานถึง 28 ปี โดยไม่มีความคิดที่จะย้ายไปที่อื่น
“วัฒนธรรมองค์กรเป็นอะไรที่เคมีตรงกับเรา ผมต้องการงานวิชาการที่มีคุณภาพสูง ทีมงานที่คุณภาพสูง มันลงตัว แล้วองค์กรก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยยังเน้นเรื่องคุณภาพงาน เอาใจใส่คนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนร่วมงานนอกจากมีความรู้ความสามารถสูง อัธยาศัยดี ความรับผิดชอบสูง มีความใส่ใจในการดูแลคนไข้ ทําให้เรามั่นใจในทีมตั้งแต่แรกว่า ถ้าเราจะต้องส่งต่อคนไข้ไปปรึกษาสาขาอื่น เขาจะได้รับการดูแลที่ดี ผมทํางานแล้วมีความสุขก็เลยอยู่กันมายาว ๆ
หมอบุญเลิศยังเคยเป็นแพทย์ช่วยบริหารโรงพยาบาล BNH อยู่ 7 ปี แต่ปัจจุบันได้เกษียณจากตำแหน่งแล้ว และทุ่มเทเวลางานให้การดูแลคนไข้เพียงอย่างเดียว

คนไข้รอดชีวิต
ประสบการณ์ในการทำคลอดรวมกว่า 30 ปี ของหมอบุญเลิศ ทำให้เขามั่นใจในการเลือกหนทางที่เหมาะสมที่สุด ปลอดภัยที่สุด เจ็บตัวน้อยที่สุด และเสี่ยงน้อยที่สุดให้กับคนไข้ ซึ่งการตัดสินใจก็ยังต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจข้อดีและความเสี่ยงชัดเจนและร่วมการตัดสินใจด้วยกัน แต่ส่วนมากแล้ว หากหมอเชื่อมั่นในทางเลือกที่เสนอให้ คนไข้เองก็รู้สึกมั่นใจและเชื่อใจตามไปด้วย
“หากมีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมจะบอกสถานการณ์ให้คนไข้ทราบว่าเกิดอย่างนี้ขึ้น ทางเลือกต่อไปประกอบด้วยอะไรบ้าง โชคดีที่ผมสามารถอธิบายคนไข้โดยเปลี่ยนเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ขอเพียงบอกให้คนไข้รู้ล่วงหน้าเนี่ย ส่วนใหญ่คนไข้ก็จะเข้าใจและยอมรับได้ ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาตามมา”
คนไข้ส่วนมากของคุณหมอก็เข้ามาจากการแนะนำแบบปากต่อปาก ครอบครัวชวนครอบครัว เพื่อนชวนเพื่อน ส่งต่อความไว้ใจกัน อย่างเคสหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศมาทำคลอด แล้วเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งส่วนมากแล้วคนไข้จะเสียชีวิตภายใน 1-2 นาที และเป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่มีทางคาดเดาล่วงหน้าได้ แต่โชคดีที่คนไข้ของคุณหมอรายนี้คลอดลูกโดยการผ่าตัด เครื่องมือและบุคลากรในห้องผ่าตัดที่มากกว่าในห้องคลอดเอื้อให้การช่วยเหลือคนไข้ทำได้อย่างทันท่วงที
“คนไข้ระหว่างผ่าตัดคลอด พอผมอุ้มลูกออกมาหันหลังส่งให้กับหมอเด็กที่รอรับเด็กอยู่ พอหันกลับมาอีกที คนไข้ก็หยุดหายใจแล้ว แค่ใน 1-2 วินาที ไม่มีสัญญาณล่วงหน้า โชคดีที่ในห้องผ่าตัดมีหมอดมยาอยู่ เขาก็ช่วยกู้ชีวิตเดี๋ยวนั้น แต่ว่าอาการที่เป็น นอกจากระบบหายใจอุดตันแล้ว มันทําให้อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว สิ่งที่ตามมาคือภาวะเลือดไม่แข็งตัว จะมีเลือดออกเยอะมากจากตัวมดลูก มีเลือดคั่งในมดลูกหลายลิตรเลย พอผ่าตัดครั้งที่สองก็ต้องตัดมดลูกออกเพราะเลือดไหลไม่หยุดในมดลูก แต่ท้ายที่สุดก็สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้
“เป็นเหตุฉุกเฉินที่เรียกว่าฝันร้ายที่สุดในชีวิตหมอสูติ ส่วนใหญ่คนไข้ 90% มักเสียชีวิต มีโอกาสที่จะรอดน้อยมาก ถ้าไม่ได้อยู่ในห้องผ่าตัดคงช่วยไม่ทัน งานนี้ถือว่าต้องขอบคุณทั้งทีมที่ช่วยกัน แม้แต่ ผอ.โรงพยาบาล BNH ก็ช่วยติดต่อจัดหาเลือดจากสภากาชาดมาให้จนเพียงพอ ในห้องไอซียู คนไข้ใช้เลือดไปประมาณ 5-6 ถุงได้”
จากเคสนี้ คุณแม่จากเกือบทั้งชุมชนคนไทยในเมืองนั้นก็เลือกเดินทางไกลมาทำคลอดกับคุณหมอบุญเลิศ
“ผมชอบศึกษาหาความรู้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่การเจอเคสยาก ๆ เนี่ยเป็นความท้าทาย พอเราช่วยคนไข้ได้ ส่วนหนึ่งเราได้เรียนรู้ มีความรู้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือความภูมิใจว่าเราทํางานที่มีคุณค่า และที่สําคัญคือเราช่วยคนไข้ได้ ผมไม่เคยกลัวของยาก”

เทนนิสเพื่อชีวิต
หมอบุญเลิศชอบเปลี่ยนความท้าทายเป็นพลัง ซึ่งไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล แต่ชีวิตนอกโรงพยาบาลของคุณหมอก็สนุกกับความท้าทายอย่างอื่น ที่เพิ่มศักยภาพในการทำงาน และได้รักษาสมดุลชีวิตไปพร้อมกัน หนึ่งในนั้นคือกีฬา

“ตั้งแต่ชั้นประถม ผมเล่นกีฬามาหลายอย่าง และทุกอย่างที่ผมเล่น ผมจะเล่นให้ถึงระดับเป็นตัวแข่ง คือต้องดีประมาณนึงอะ แต่เพิ่งได้มาเล่นเทนนิสหลังจากเรียนจบแล้ว มาเรียนตอนแก่ ถึงได้เรียนรู้ว่าเราเข้าใจเทนนิสผิดมาตลอด”
หมอบุญเลิศเคยเรียนเทนนิสสมัยมัธยมปลายในชั้นเรียน 40 คน แต่ก็ไม่ได้ชอบมากนัก จนญาติสนิทชวนเขามาเล่นอีกครั้งในอีกหลายปีต่อมา ความสนุกที่ได้ตีลูกข้ามตาข่ายและผ่านด่านเทนนิสพื้นฐานมาได้ ได้มอบความรู้สึกสนุก ท้าทาย และภาคภูมิใจให้เขา จนเลือกอยู่กับเทนนิสมาตลอด 30 ปี
“นี่เป็นกีฬาที่เล่นยากมาก ร่างกายต้องฟิตพอ ทำความเร็วพอ ควบคุมลูกได้ และท้ายที่สุดคือการใช้สมองวางแผนการเล่น ต้องคิดเหมือนทํางานเลย ไม่ใช่ตีแบบอัดเอามัน จะเอาชนะคู่แข่งด้วยวิธีไหนจะต้องมีแผนหลักแผนรอง ทํายังไงที่ตัวเองจะตีเสียน้อยและบังคับให้คู่แข่งตีเสียเยอะกว่าเรา ผมจะต้องสามารถบังคับลูกไปวางในตําแหน่งที่ผมต้องการในเสี้ยววินาทีในตําแหน่งที่คู่ต่อสู้นึกไม่ถึง ซึ่งพออยู่ในเกมแล้วมันทำได้ยาก เพราะว่าฝีมือเค้าก็ไม่ได้เป็นรองเรา
“อาจารย์ผมเล่นจนอายุ 80 เทนนิสเป็นกีฬาที่เล่นได้จนแก่ ไม่เหมือนกีฬาอื่น เพียงแต่ว่าเราต้องปรับอุปกรณ์ไปตามสภาพร่างกายและฝีมือ อย่างตอนนี้ผมไม่ใช้ไม้แร็กเกตของมือสมัครเล่นแล้ว เพราะว่ามันบังคับบอลไม่ได้ตามที่ต้องการ จำเป็นต้องใช้ไม้ระดับที่มืออาชีพใช้ ทำใเพื่อช่วยห้เรายังสามารถบังคับบอลได้โดยที่ไม่ต้องออกแรงเยอะหรือวิ่งเยอะ ยังเล่นเกมสนุกได้แม้อายุขนาดนี้”
ทุกวันนี้คุณหมอยังคงตีเทนนิสสัปดาห์ละ 1-2 วัน และวิ่งอีกสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้ร่างกายฟิตพอที่จะลงสนามเทนนิสได้อย่างสนุก
หนังสือกับชีวิต
“สมัยอยู่ ม.ปลาย ผมอ่านเยอะมาก มีหนังสืออยู่ในมือตลอด 24 ชั่วโมง แม้แต่ตอนนอน ซื้อหนังสือมาอ่านเป็นตู้ ๆ หมดเงินไปหลายหมื่น ใน 2 ปีอ่านไปกี่ร้อยเล่มก็ไม่รู้ ได้คําตอบเดียวจากการอ่านหนังสือว่าชีวิตไม่มีความแน่นอน ผมมองหาจุดมุ่งหมายในชีวิตไม่เจอ ตอนนั้นคิดว่าจะไปหาทางสงบแล้ว จะไปบวชไม่สึก”

แต่ผู้ที่ดึงคุณหมอในวัยเด็กกลับมาสู่ชีวิตทางโลกคืออาจารย์ที่ปรึกษา
“ชีวิตเธอไม่ใช่ของเธอ เธอยังมีภาระความรับผิดชอบ มีครอบครัวที่ต้องดูแล เธอจะหนีไปบวชไม่ได้”
ด้วยคำพูดจากอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้คุณหมอเปลี่ยนความคิดเป็นว่า การเป็นลูกคนโตต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เพราะฉะนั้นแนวทางก็คือ ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า มีอาชีพที่มั่นคง ที่สามารถดูแลพ่อแม่ต่อไปได้”
มุมมองหนึ่งของชีวิตจากการอ่านหนังสืออย่างบ้าคลั่งอาจเกิดขึ้นด้วยความไร้เดียงสา ที่ดับหายไปเมื่อเห็นอีกมุมจากผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ในตัวคุณหมอคือผลจากการได้ฝึกสมาธิเมื่อหมกมุ่นอยู่กับหน้าหนังสือ
“การอ่านหนังสือตลอดเวลาเนี่ย มันเหมือนว่าเราได้จดจ่ออยู่กับเรื่องเดียว ตอนนั้นบอกเลยว่าเป็นช่วงชีวิตที่สงบสุขที่สุด หัวถึงหมอนไม่เกิน 5 นาที ก็หลับ ไม่เคยฝัน ตื่นขึ้นมาแต่ละวันเวลาต่างกันไม่เกิน 5 นาที ก็พร้อมกับวันใหม่ ชีวิตรู้สึกโล่ง ไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวผูกพันที่ต้องกังวล ทําสิ่งที่ต้องทําด้วยความปล่อยวาง”

ในวันนี้ภาระผูกพันที่มากขึ้นจากหน้าที่ ทั้งในฐานะแพทย์ พ่อ และลูก คงไม่อาจทำให้คุณหมอมองชีวิตได้เหมือนเมื่อสมัยมัธยมปลาย แต่สิ่งที่เขาคิดได้คือการทํายังไงให้ชีวิตดําเนินไปโดยราบรื่นที่สุด และยังมีความสุขกับความรับผิดชอบที่ยังคงต้องแบกไว้บนบ่า
“ตอนนี้ใครทําอะไรไม่ดีกับเรา สิ่งที่ผมทำคือผมให้อภัยเสมอ ผมไม่โกรธใครมาหลายสิบปีแล้ว ผมโกรธไม่เป็น”
ในเวลาที่ว่างเว้นจากหน้าที่ที่ต้องทำ หมอบุญเลิศยังคงรักที่จะอยู่กับหนังสือ เขาอ่านได้ทุกแนว หนังสือเล่มใดโด่งดังจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เขาก็จะไปหาดู เพลงประกอบจากภาพยนตร์ที่ได้ดูและฟังติดหู เขาก็จะไปหาฟัง หากมีประวัติศาสตร์จากหน้าหนังสือ เขาก็จะหาโอกาสไปชมของจริง
“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อีกอย่างคือ งานศิลปะทุกสาขาสะท้อนความเป็นมนุษย์ การดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสือ มันสะท้อนชีวิตวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน ในแต่ละสังคม และอื่น ๆ อีกเยอะแยะมากมาย ถ้าคุณไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็จะนึกภาพไม่ออกว่าเสพสิ่งเหล่านี้แล้วมันมีความสุขขนาดไหน”
มีภาพยนตร์ที่ผ่านตาคุณหมอมาแล้วนับไม่ถ้วน และหากอยากรู้จักหมอบุญเลิศผ่านภาพยนตร์ เขาแนะนำ Jonathan Livingston Seagull (1973), What’s Eating Gilbert Grape (1993), Departures (2008), Incendies (2010), และ Aftershock (2010)

ความสุขและคุณค่าของชีวิตหมอบุญเลิศคือการได้ช่วยเหลือคนที่มีความเดือดร้อน ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะงานหมอ แค่ได้เห็นผู้อื่นมีความสุขกับสิ่งที่เขาได้ทำ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณหมอยังคงภูมิใจกับชีวิตทางโลกที่เลือกเดิน
“ส่วนหนึ่งที่ผมภูมิใจคือคนไข้ไม่ว่าจะมาหาด้วยเรื่องอะไรก็ตาม แต่เขาออกจากห้องตรวจผมไปด้วยรอยยิ้มเสมอ เขาสบายใจขึ้น รู้ว่ามีทางเลือกที่ดีที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับเขาได้”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ. บุญเลิศ เตรียมอมรวุฒิ
ศูนย์สุขภาพสตรี
ความชำนาญพิเศษ
สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ภาษาที่ใช้
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
– วุฒิบัตรสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, 2534
– แพทย์ประจำบ้าน สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2533
– แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
อังคาร | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
พฤหัสบดี | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |
ศุกร์ | 09:00 – 17:00 | ศูนย์สุขภาพสตรี |