หมอด้านการผ่าตัดลดความอ้วน
คนแรก ๆ ของประเทศ
– นพ.อภิชัย ไชยโรจน์ –
หากเคยมาใช้บริการโรงพยาบาล BNH คุณอาจรู้สึกว่าทำไมใช้กระดาษน้อยจัง นี่คือนโยบายภายใต้การผลักดันของ นพ.อภิชัย ไชยโรจน์ หรือหมอกิ๊ก ศัลยแพทย์จากแผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล งานถนัดในโรงพยาบาลของคุณหมอคือการผ่าตัดลดความอ้วนและผ่าตัดส่องกล้อง แต่งานถนัดนอกโรงพยาบาลของคุณหมอคือเป็นนักร้อง
สุภาพบุรุษวชิราวุธ
“ก่อนคุณปู่จะเสียชีวิตไม่กี่วัน ท่านก็บอกว่าอยากให้ผมเป็นหมอ”
ช่วงมัธยมต้น นพ.อภิชัย มีโอกาสอยู่ดูแลคุณปู่ในช่วงวาระสุดท้าย แม้ว่าคำสั่งเสียนั้นจะไม่เชิงเป็นคำสั่ง แต่การเติบโตมาโดยมีคุณพ่อผู้เป็นวิสัญญีแพทย์เป็นแบบอย่างในชีวิตทั้งด้านความสมถะ ความพอเพียง และด้านวิชาชีพ ก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกทางเดินนี้โดยไม่ต้องมองหาตัวเลือกอื่น

นพ.อภิชัย เป็นเพียงคนเดียวจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่หากได้คุยกับคุณหมอ ภาพความประทับใจในประสบการณ์และสิ่งที่โรงเรียนประจำชายล้วนที่ก่อตั้งตามพระบรมราชโองการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 แห่งนี้มอบให้ยังคงแจ่มชัด และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิตของเขาอย่างมาก
จุดเริ่มต้นนั้นก็มาจากความประทับใจของคุณพ่อที่มีต่อบุคลิกภาพและทัศนคติของเพื่อนร่วมรุ่นคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่เป็นศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย คุณพ่อจึงส่งลูกชาย 3 คน ให้ร่ำเรียนที่นี่ทั้งหมด และทุกคนก็โตมาประสบความสำเร็จ ลูกชายคนโตเป็นแพทย์จบจากโรงพยาบาลศิริราช คนกลางเป็นสถาปนิก และหมอกิ๊กเป็นลูกคนสุดท้อง
เพราะได้กินนอนอยู่ในโรงเรียนที่มีจำนวนเพื่อนร่วมรุ่นไม่ถึง 100 คน มาตั้งแต่ชั้นประถม 3 จนจบมัธยมปลาย ความผูกพันในหมู่เพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องจึงเหนียวแน่นมาก และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ถูกลดทอนลงหากเทียบกับชีวิตนอกรั้วโรงเรียนก็ทำให้คุณหมอได้ใช้เวลาว่างไปกับการค้นหาความถนัดด้านอื่น ๆ นอกจากการเรียน เขาเป็นนักว่ายน้ำของโรงเรียนมาตั้งแต่ ป. 3 และยังเล่นกีฬาทุกประเภทเท่าที่มีเพื่อนเล่นในโรงเรียน แต่มาถูกใจกีฬาสควอชตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
“ผมเล่นสควอชจนได้เป็นตัวแทนโรงเรียน พอเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ก็ยังเล่นต่อจนได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่ง Asean University Game ที่ประเทศสิงคโปร์ ตอนนั้นเป็นจุดสูงสุดของชีวิตนักกีฬาแล้ว”
การอยู่โรงเรียนประจํามาตั้งแต่เด็กยังฝึก Soft skills ให้คุณหมอได้พัฒนาความแกร่งในตัวเองจากการรับมือกับปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องหันไปพึ่งพาผู้ปกครอง ได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นํา การได้คลุกคลีกับกีฬามาแต่เด็กยังเสริมสร้างให้ นพ.อภิชัย ในวัยใกล้ 60 ปี ยังคงมีแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายทุกวัน และมีสุขภาพดีมาจนทุกวันนี้ ทุกสิ่งที่ได้รับจากโรงเรียนยังทำให้คุณหมอตัดสินใจส่งลูกชายไปเป็นรุ่นน้องในโรงเรียนนี้ด้วยเช่นกัน
อยู่กับกิจกรรมมาตลอด 10 ปี พอเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นศพ.อภิชัย ก็ไม่ยอมให้การเรียนมาลดระดับความเป็นนักกิจกรรมลง เขาทำกิจกรรมตั้งแต่ปีแรก พอปี 3 เขาก็เป็นประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์ของคณะ ทำหน้าที่จัดอีเว้นท์ต่าง ๆ พอปี 4 เขาก็ได้รับเลือกให้อยู่ในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และเป็นประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย
“ปี 4 เป็นปีที่เรียนหนักที่สุด แต่ก็ต้องทํากิจกรรมหนักที่สุดด้วย ก็ได้เพื่อนแพทย์นี่แหละที่ช่วยรับหน้าอาจารย์ให้เรามีเวลาแว็บไปแว็บมาได้ ปีนั้นจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 47 ก็มาแหวกแนวคือเสื้องานบอลสีชมพูมีปกสีดํา แล้วก็เป็นปีแรกที่สแตนด์ฝั่งจุฬาฯ เต็มก่อนฝั่งธรรมศาสตร์ ผมไปเชียร์อยู่หน้าอัฒจันทร์กับเพื่อนคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่เป็นประธานเชียร์ ปีนั้นใครชนะก็จำไม่ได้ แต่ผมเชียร์จนเสียงแหบ
“แต่หลังจบปี 4 เราก็ไม่ทํากิจกรรมอะไรเยอะแล้ว ต้องตั้งใจเรียน”
กิจกรรมที่เคยทำยังทำให้คุณหมอค้นพบอีกความฝัน ที่วันนี้เขายังคงได้สนุกกับมัน แม้จะไม่ได้อยู่ในจุดนั้นอย่างเป็นทางการก็ตาม
“เมื่อก่อนก็อยากเป็นหมอมาตลอด แต่ถ้ามาถามตอนนี้ ก็คงอยากไปเป็นนักร้องแล้ว”
ดนตรีกาลในหัวใจ

OV Music เป็นวงดนตรีที่เกิดจากการกลับมารวมตัวกันของเหล่าศิษย์เก่าวชิราวุธ 12 คน โดยมีหมอกิ๊กรับหน้าที่นักร้องนำสลับกับเพื่อนร่วมวง นัดซ้อมกันทุกอาทิตย์ เล่นได้ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล รับออกงานตามอีเว้นท์ต่าง ๆ ตามแต่เวลาจะอำนวย
“เราเพิ่งมาจัดทีมกันได้เมื่อสัก 7-8 ปี ที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้เจอกันเกือบ 20 ปี เริ่มจากเรานัดเลี้ยงอาหารคุณครูที่เคยดูแลชมรมดนตรีสมัยเรียน แล้วเพื่อนคนนึงก็มีความรู้สึกว่ามารวมตัวกันสักทีเถอะ”
สมัยเรียนอยู่วชิราวุธวิทยาลัย หมออภิชัยเป็นสมาชิกวงดนตรีของโรงเรียน เขาเล่นแมนโดลินซึ่งเป็นเครื่องสายหน้าตาคล้ายกีตาร์ มีสาย 4 คู่ 8 สาย ใช้ดีด ให้เสียงสูงเร้าอารมณ์โศกเศร้าได้ดี ในตอนนั้นวงโรงเรียนก็ได้รับโอกาสให้ไปเล่นที่ สถานีวิทยุ อ.ส. ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงตั้งขึ้น ถ่ายทอดสดจากพระราชวังดุสิต
“นักเรียนรุ่นก่อน ๆ เคยบอกว่าบางครั้งพระองค์ท่านจะเสด็จมาร่วมเล่นดนตรีด้วย แม้ผมยังไม่เคยมีโอกาสนั้น แต่ที่ได้ไปเล่นในวังก็ถือว่าได้รับเกียรติมากแล้ว
“ตอนนั้นทั้งร้องทั้งดีดแมนโดลิน เวลาดีดก็ร้องไม่ได้ ก็ต้องสลับกันไป เวลาร้องบางทีก็ล่ม ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ล่มกลางอากาศไปเพราะเป็นรายการสด”
หลังจากจบชั้นมัธยม 6 นพ.อภิชัย ก็ไม่ได้กลับไปเล่นแมนโดลินอีกเลย หรือแม้แต่การร้องเพลงที่เคยชอบก็ห่างหายไปนาน จนกระทั่งตั้งวง OV Musics ทำห้เขาและเพื่อนเก่าได้รำลึกความหลังไปกับดนตรีกาลในหัวใจ และชุบชีวิตความชอบครั้งเยาวว์วัยกลับมา
อเมริกันดรีม

ภาพฝันอเมริกันดรีมของใครหลายคนคือการย้ายถิ่นฐานไปแสวงหาโอกาสในประเทศแห่งความหวัง และนายแพทย์อภิชัยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่อเมริกันดรีมของเด็ก ม.5 ในตอนนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าโอกาสที่จะได้แสวงหาประสบการณ์ตามลำพังในประเทศใหม่ที่ซึ่งโอกาสเป็นของทุกคน
หมอกิ๊กไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ในเมืองเล็ก ๆ ชื่อโซลอน รัฐโอไฮโอ เขากลายเป็นพี่ชายคนโตของเด็ก 4 คน ในครอบครัวโฮสต์ชาวอเมริกัน และมีเพื่อนสนิทกลุ่มใหม่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากนานาประเทศ
“ปีนั้นแทบไม่เจอคนไทยเลย เพราะเมืองที่ผมอยู่ไม่มีคนไทย เด็กอเมริกันสมัยนั้นเขาก็ไม่ได้ดูถูกเรา เขามองว่าเราเป็นเพื่อน ก็ได้เห็นชีวิตแบบอเมริกันที่ค่อนข้างต่างจากเรา ผมได้มุมมองของชีวิต ความเปลี่ยนแปลงของตัวเองก็ได้จากตรงนั้นมาเยอะ เพราะเราได้เห็นสิ่งที่มากกว่าที่เห็นในเมืองไทย และมากกว่าที่เห็นจากการดูหนัง”
ใครเคยดูภาพยนตร์ฮอลลีวูดยุค 80 ที่นักแสดงชายมาดเท่ไว้ผมยาวหวีกรีดผมและใส่เจลให้ผมแข็งอยู่ทรง หมอกิ๊กอินอเมริกาก็เป็นเช่นนั้น ในฤดูหนาวอุณหภูมิติดลบ 40 องศา เขาออกไปนอกบ้านแป๊บเดียว ผมที่จัดทรงอย่างดีก็จะถูกแช่แข็งจนกรอบถึงขั้นดีดปุ๊บหักปั๊ป ภาพจำความประทับใจเก่า ๆ ของคุณหมอในต่างแดนยังมีการได้ลงแข่งว่ายน้ำตกปลาในแม่น้ำครั้งแรกในชีวิต และความผูกพันกับน้อง ๆ ในครอบครัวโฮสต์ ที่แม้ผ่านมานานหลายสิบปีแล้ว มิตรภาพทางไกลยังคงอยู่ สำหรับเขาแล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งปีที่มาค่าและมีส่วนสร้างเขาให้เป็นเขา
“กลับมาเรียนที่ไทยก้ต้องจบหลังเพื่อนไปปีนึง เพราะสมัยนั้นยังเทียบเกรดไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไร เราได้อะไรมาเยอะ เป็นอีกเรื่องที่ได้ใช้ชีวิตคุ้ม”

อยากลดน้ำหนัก หมอผ่าตัดช่วยได้
อ่านแล้วอย่าเพิ่งดีใจไป เพราะการผ่าตัดลดความอ้วนเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่แพทย์พิจารณาว่ามีปัญหาด้านน้ำหนักจากความผิดปกติของร่างกายเท่านั้น อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปัญหาในการดูดซึมอาหาร ซึ่งทางแก้มีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ปรับการหลั่งฮอร์โมน เปลี่ยนเส้นทางลำเลียงอาหาร เป็นต้น
“ตรงกันข้ามกับการดูดไขมัน อันนี้เราผ่าตัดเพื่อให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและควบคุมโรคบางโรค หลังผ่าตัด คนไข้ต้องให้สัญญาตัวเองเลยว่าต้องออกกําลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30-45นาที อาทิตย์นึงไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ควบคุมอาหาร ห้ามกินเยอะ เวลาอิ่มแล้วต้องหยุด ไม่อย่างนั้นกระเพาะที่ลดไปแล้วมันก็จะขยายขึ้น”
ถึงแม้ว่าภาวะน้ำหนักเกินจะพบได้ในชาติตะวันตกมากกว่าคนเอเชีย แต่แพทย์จากเอเชียรวมทั้งไทยก็ถือว่าเชี่ยวชาญด้านนี้ในระดับต้น ๆ ของโลก และหมออภิชัยก็เป็นแพทย์กลุ่มแรกในประเทศที่สามารถผ่าตัดเฉพาะทางเพื่อลดน้ำหนัก โดยคุณหมออยู่ในวงการนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543
การผ่าตัดลดความอ้วน คือความสนใจที่ไปด้วยกันได้กับความถนัดในการผ่าตัดส่องกล้องซึ่งหมออภิชัยจบเฉพาะทางจากสถาบัน The Alfred Hospital, Melbourne และ Flinders Medical Center, Adelaide ในประเทศออสเตรเลีย และผ่านเคสท้าทายอย่างการผ่าตัดคนไข้ที่มีปัญหาพังผืดหน้าท้อง จึงจำเป็นต้องเจาะเปิดแผลเล็กที่หน้าท้องเพื่อผ่าตัดเพียง 2 แผล จากที่ต้องเปิด 3-4 แผลในการผ่าตัดส่องกล้องปกติ
ที่ออสเตรเลีย นพ.อภิชัยได้รู้จักกับการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารด้วยกล้องจากการร่วมผ่าตัดส่องกล้องกับอาจารย์แพทย์ด้านนี้ พอกลับมาทำงานที่เมืองไทย เขาก็ได้นำความรู้มาผ่าตัดคู่กับแพทย์รุ่นพี่ที่เก่งการผ่าตัดส่องกล้องและมีความสนใจเหมือนกัน
“ยังไงก็ต้องทําคู่กัน ทําเดี่ยวไม่ได้ เพราะมันซับซ้อนและจะทำได้ช้าเกิน การผ่าตัดคนไข้น้ำหนักเยอะ ยิ่งทําเร็วยิ่งดี เพราะว่าคนไข้นอนอยู่เฉย ๆ น้ำหนักของตัวเองจะกดทับ อาจทําให้กล้ามเนื้อถูกทับจนขาดเลือดได้ ผ่าตัดร่วมกันงานจึงออกมาดีที่สุด ใช้ระยะเวลาสั้นสุด และปลอดภัยที่สุด”
คนไข้หญิงชาวต่างชาติรายหนึ่งเคยเข้ารับการรักษาน้ำหนักเกินด้วยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ผ่านมา 15 ปี คนไข้รายเดิมกลับมาอีกครั้งในฐานะนักวิ่งวัย 80 ปี พร้อมหุ่นผอมเพรียวแบบนักกีฬา นี่คือหนึ่งในเคสที่หมอกิ๊กภูมิใจว่าการผ่าตัดลดความอ้วนจะเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนได้ในระยะยาว หากคนไข้มีวินัยในตัวเองมากพอ
การผ่าตัดลดความอ้วน หมออภิชัยต้องดูแลคนไข้แบบ Complete Care หรือการดูแลองค์รวมครบถ้วนรอบด้าน สำหรับการผ่าตัดคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด โดยคุณหมอจะอาศัยการพูดคุยหลายครั้งเพื่อประเมินความมุ่งมั่นอันแรงกล้าของคนไข้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในระยะยาว มีการให้คนไข้รับการปรึกษากับจิตแพทย์หากจำเป็น ประสานงานกับนักโภชนาการเพื่อดูแลอาหาร กับอายุรแพทย์ดูแลโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำหนักร่างกาย ไปจนถึงวิสัญญีแพทย์เพื่อวางแผนการวางยาสลบ ทำงานกันเป็นทีมสหวิชาชีพเพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุดและได้ผลยั่งยืนที่สุด
“มันคือการเปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่ผ่าตัดเสร็จแล้วจะได้หุ่นสวยเป๊ะสำเร็จรูป มันต้องอาศัยเวลา เราต้องคุยรายละเอียด แล้วคนไข้เป็นคนตัดสินใจเอง หลายคนมาคุยกับผมแล้วก็ตัดสินใจไม่ผ่าตัดก็มี เพราะเขารู้สึกว่าเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไม่ได้”

Paperless Hospital

ตั้งแต่กลับจากการศึกษาเฉพาะทางที่ต่างประเทศ หมออภิชัยก็เข้าทำงานพาร์ทไทม์ในโรงพยาบาล BNH ก่อนจะตัดสินใจมาเป็นแพทย์ผ่าตัดเต็มเวลาที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ซึ่งโรงพยาบาลนี้ก็นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีผ่าตัดส่งกล้องมาใช้ในประเทศไทย และมีเคสผ่าตัดส่องกล้องมากมาตั้งแต่สมัยนั้น
หลายปีต่อมา คุณหมอได้รับการทาบทามไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพโรงพยาบาลในผ่านมาตรฐาน JCI ที่ใช้วัดความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาล โดยหมออภิชัยยังคงทำงานพาร์ทไทม์ให้กับโรงพยาบาล BNH อยู่ตลอด และเมื่อโรงพยาบาลอีกแห่งนั้นบรรลุเป้าหมาย คุณหมอก็กลับมาประจำที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอชเต็มเวลา พร้อมรับอีกหน้าที่ด้านงานบริหาร
“ที่ผมหายไปจากที่นี่ก็แค่ไม่ได้อยู่เต็มเวลา แต่ผมก็ผูกพันกับที่นี่ มีกิจกรรมอะไรก็มาตลอด อยู่ที่นี่มา 20 ปีแล้ว ทุกคนที่นี่รู้จักผม ตอนนี้ถึงกลับมาเป็นผู้บริหาร แต่ก็ยังออกตรวจเหมือนเดิม”

จากตำแหน่งประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาล BNH 2 สมัย สู่ผู้ช่วยผู้บริหารดูแลงานไอที เปลี่ยนจากงานเอกสารสู่ข้อมูลดิจิทัล ลดการใช้กระดาษบันทึกเคสคนไข้ ทำให้ไม่มีการเก็บเวชระเบียนเข้าแฟ้มอีกต่อไป
“ผมพยายามเปลี่ยนทีมให้เอาระบบไอทีมาใช้ โดยให้เวลากับเขา ให้ทีมไปคุยกับแพทย์ทุกท่านเลยว่าอยากให้เป็นยังไง แพทย์จะมีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งที่ตัวเองต้องใช้ ในที่สุดก็ยกระบบไอทีขึ้นมาใช้ได้ โชคดีที่คุณหมอที่นี่เป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยน เป็นทีมเวิร์คที่ดี ดังนั้นเขาจะให้ความร่วมมือ ผมก็ต้องให้เครดิตกับหมอทุกคน”
หมวกหลายใบ ทั้งหน้าที่แพทย์ งานบริหาร นักร้อง นักกีฬา สามี และพ่อ หมอกิ๊กพยายามจัดสรรเวลาเพื่อทุ่มเทกับหน้าที่ทุกอย่างให้เต็มที่ ควบคู่ไปกับเวลาที่ใช้เพื่อตัวเองอย่างการออกกำลังกาย ตามความคิดที่ว่าหากแพทย์ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ก็จะเพิ่มศักยภาพในการดูแลคนไข้ให้ดีมากยิ่งขึ้นไป
“ชีวิตเราเนี่ย มันก็ไม่มีอะไรมาก ทํางานให้ดี ดูแลตัวเองให้ดี ดูแลครอบครัวให้ดี อยู่ในองค์กรที่ดี แค่นี้ชีวิตผมก็มีคุณค่าแล้ว”
ทำนัดหมายแพทย์ออนไลน์ | Appointment

นพ.อภิชัย ไชยโรจน์
แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก
ความชำนาญพิเศษ
ศัลยศาสตร์ และการผ่าตัดส่องกล้อง
ภาษา
ไทย, อังกฤษ
การผ่าตัดผ่านกล้อง, การผ่าตัดลดความอ้วน
– วุฒิบัตรสาขาศัลยศาสตร์, 2538
– แพทย์ประจำบ้าน สาขา ศัลยศาสตร์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2538
– แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535
ตารางออกตรวจแพทย์
วัน | เวลา | แผนก |
---|---|---|
จันทร์ | 09:00 – 18:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |
อังคาร | 09:00 – 18:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |
พุธ | 09:00 – 17:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |
พฤหัสบดี | 09:00 – 18:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |
ศุกร์ | 09:00 – 18:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |
เสาร์ | 09:00 – 12:00 | แผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยกรรมกระดูก |