หลอดเลือดสมองโป่งพอง ภัยร้ายที่ซ่อนเงียบ รู้ก่อน รอดก่อน รู้ทีหลัง อาจไม่รอด

มีหลายครั้ง ที่คนรอบข้างหรือคนที่รู้จัก เกิดอาการหมดสติแล้วจากไปอย่างกระทัน แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นขณะออกกำลังกาย ทำงาน รับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน หรือทำกิจวัตรประจำวันอยู่ ทั้งที่คนนั้นยังมีสุขภาพแข็งแรง อายุน้อย บางคนเป็นนักกีฬา ออกกำลังกายประจำ ทานอาหารที่มีแต่ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอนหลับเป็นเวลา ไม่ใช้สิ่งเสพติด แต่ฉไหนเล่า แล้วเราหล่ะ? จะมีโอกาสเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ประกอบกับในยุคที่การทำงานมีอัตราการแข่งขันกันสูง ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบก็สูงขึ้นซึ่งสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาระการดูแลครอบครัวในฐานะเสาหลักของครอบครัวต่อสมาชิกคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูก หลาน พี่ น้อง ก็ย่อมมีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเจ็บป่วยแบบกระทันหันที่ทำให้เกิดเสียชีวิตและเกิดความทุพลภาพ นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ยังเป็นภาระที่ต้องให้ผู้อื่นดูแลอีก

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก (ruptured brain aneurysm) ก็เป็นโรคหรือภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างกะทันหันและยังเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) ที่พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยเป็นอันดับที่ 1 (ปี 2557) 1 ซึ่งนำหน้ากลุ่มโรคมะเร็ง (cancer) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) ไปแล้ว ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมักจะไม่มีอาการถ้าโรคอยู่ในภาวะสลบ ไม่มีการแตก (rupture) ที่มีเลือดไหลออกนอกหลอดเลือด แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากมีอาการแล้วมักจะทำให้การพยากรณ์โรคและผลของการรักษาไม่ดี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวยิ่งนัก เราจะยอมหรือเปล่าที่จะให้เกิดอาการแล้วค่อยมารับการรักษา ดังนั้นการสกัดกั้นภัยเงียบนี้จึงเป็นหัวใจหลักที่จะเอาชนะโรคนี้ ดังนั้น การที่เรามีความรู้ของการเกิดโรคนี้รวมถึงทำอย่างไรให้ตรวจพบก่อนที่จะเกิดอาการ อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์ รวมถึงวิธีการรักษาแบบให้หายขาดก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้นมีกี่แบบ รวมเรียกว่า “วิธีโกงความตาย” ได้อย่างแยบยล มาให้ได้รู้กัน

ความหมายของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (definition)

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองมีการโป่งพองออก ซึ่งมักเกิดจากความอ่อนแอของผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะคล้ายบอลลูนและมีความเสี่ยงที่จะแตกออกได้ หากหลอดเลือดโป่งพองแตก อาจทำให้เกิดเลือดออกในสมอง (Subarachnoid Hemorrhage) ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง (cause and risk factor)

จริงๆแล้วสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลายปัจจัยมากที่ทำให้หลอดเลือดสมองมีการเสื่อมสภาพและทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง และทนกับแรงดันของการสูบฉีดหลอดเลือดไม่ได้ ทำให้เกิดการโป่งพองเกิดขึ้น  โดยสาเหตุหลักสามารถจำแนกได้เป็นปัจจัยที่สามารถป้องกันได้กับปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ (Controllable factors)

  1. ความดันโลหิตสูง (hypertension) เป็นสาเหตุหลักที่พบได้มากที่สุด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน เพราะไม่เคยวัดหรือคิดว่าไม่มีอาการ สุขภาพแข็งแรง หรืออายุยังน้อย แต่อย่าลืมว่าโรคนี้หลบซ่อนอยู่ จะทำให้หลอดเลือดสมองแตกได้ทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน 
  2. เบาหวาน (diabetes mellitus) ก่อให้เกิดการแข็งของหลอดเลือดสมอง ทำให้สูญเสียความยืดยุ่น เกิดการแรงเซาะของแรงบีบจากหัวใจ หลอดเลือดโป่งเป็นกระเปาะได้ 
  3. ไขมันโลหิตสูง (hyperlipidemia) การสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือด เกิดเป็นตะกอนหรือคราบไขมัน ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง แล้วมีการย่อยผนังหลอดเลือดให้บางลงจากการหลั่งเอนไซม์ของเม็ดเลือดขาว เกิดเป็นหลอดเลือดโป่งพอง
  4. การสูบบุหรี่ (smoking) รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า มีการสัมผัสต่อสารพิษหลายชนิดที่อยู่ในบุหรี่โดยเฉพาะนิโคตินและทาร์ ทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหายและอ่อนแอ และกระตุ้นการอักเสบในหลอดเลือด ทำลายเซลล์บุผนังหลอดเลือด (endothelial cells) 
  5. การขาดการออกกำลังกาย (lack of exercise) การไม่ออกกำลังกายทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) นอกจากนี้ยังทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน โรคอ้วนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาด้วย
  6. การนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการนอนกรนทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง และกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องในร่างกาย ซึ่งทำให้หลอดเลือดสมองเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  7. การใช้สิ่งเสพติด (substance abuse) ยาเสพติดบางชนิด เช่น โคเคน และแอมเฟตามีน ทำให้หลอดเลือดมีการอักเสบและอ่อนแอ ทั้งนี้ยังทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดต้องรับแรงดันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและแคบลง (vasoconstriction) ซึ่งทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการแตกของหลอดเลือด
  8. การรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ (low-quality food) สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่อาหารที่รับประทานปัจจุบันและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่หารับประทานได้ง่ายในท้องตลาด โดยอาหารที่มีการบรรจุหีบห่อพร้อมรับประทาน (instant food) มักมีปริมาณโซเดียมสูงเพื่อรักษาความสด ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ไขมันอิ่มตัวในอาหารฟาสต์ฟู้ดทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น การสะสมของคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีน้ำตาลสูงสามารถเพิ่มน้ำหนักและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วน ซึ่งทั้งสองโรคนี้ส่งผลต่อสุขภาพหลอดเลือดและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของ

สเตอรอยด์หรือสารกระตุ้น เช่น เอเฟดรีน (Ephedrine) อาหารเสริมบางชนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth  Hormone) สามารถเพิ่มความดันโลหิตและความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ หรืออาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเกินไป แม้สารต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ แต่การบริโภคในปริมาณที่สูงเกินไปอาจทำให้การป้องกันความเสียหายของเซลล์หลอดเลือดไม่สมดุล และส่งผลเสียต่อสุขภาพหลอดเลือด

ปัจจัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ (Uncontrollable Factors)

  1. อายุ (age) ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะหลังอายุ 55 ปีขึ้นไป
  2. ประวัติครอบครัว (family history) หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยมีโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้ก็จะเพิ่มขึ้น การมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
  3. การกลายพันธุ์ของยีน (genes mutation) การกลายพันธุ์ของยีนบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง เช่น การกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผนังหลอดเลือด หรือการควบคุมความดันโลหิต
  4. โรคทางพันธุกรรม (genetic disease) บางโรคทางพันธุกรรมที่หายาก เช่น Polycystic Kidney Disease (PKD) และ Ehlers-Danlos Syndrome (EDS) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ เนื่องจากโรคเหล่านี้มีผลกระทบต่อความแข็งแรงและยืดหยุ่นของหลอดเลือด โรคที่มีการสะสมของโปรตีนผิดปกติในหลอดเลือด เช่น CADASIL (Cerebral Autosomal Dominant Arteriopathy with Subcortical Infarcts and Leukoencephalopathy) ทำให้หลอดเลือดอ่อนแอและมีความเสี่ยงในการโป่งพอง
  5. เพศ (gender) เพศชายมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิงในช่วงวัยกลางคน อย่างไรก็ตาม หลังจากวัยหมดประจำเดือน ความเสี่ยงของเพศหญิงจะเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับเพศชาย
  6. เชื้อชาติ (race) บางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชีย หรือชาวแอฟริกัน จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเชื้อชาติอื่นๆ
  7. ภาวะทางสุขภาพที่มีมาแต่กำเนิด (congenital condition) บางคนมีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองตั้งแต่เกิด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก

การแตกของหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Ruptured cerebral aneurysm) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการที่พบเมื่อหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกมีดังนี้

  1. ปวดศีรษะรุนแรงทันที  (sudden onset of severe headache) อาการปวดศีรษะที่รุนแรงและฉับพลัน ผู้ป่วยจะบอกว่าเป็น “ปวดศีรษะที่รุนแรงที่สุดในชีวิต” โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  2. คลื่นไส้และอาเจียน (nausea and vomiting) ความรู้สึกคลื่นไส้และการอาเจียนเกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดศีรษะ อาจจะมีอาเจียนพุ่ง
  3. คอแข็ง (neck stiffness) ปวดท้ายทอย หรือปวดต้นคอ การเกิดอาการคอแข็งหรือปวดคอ เนื่องจากการระคายเคืองจากเลือดที่ออกมาสัมผัสกับเยื่อหุ้มสมองบริเวณส่วนคอ
  4. การมองเห็นเปลี่ยนแปลง (blur vision) การมองเห็นเบลอ มองเห็นภาพซ้อน หรือการสูญเสียการมองเห็นบางส่วน ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดร้าวไปที่กระบอกตา การไวต่อแสงหรือการมองเห็นแสงจ้า
  5. ความสับสนและสูญเสียการรับรู้ (alteration of consciousness) การเกิดความสับสน งุนงง หรือการสูญเสียสติสัมปชัญญะ
  6. อาการทางระบบประสาทที่ผิดปกติ (neurological deficit) อาการชา อ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตที่หน้า แขน หรือขา ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  7. ชัก (seizure) การเกิดชักเป็นอาการที่พบได้บางกรณีเมื่อหลอดเลือดสมองโป่งพองแตก เกิดจากเลือดที่ออกไประคายเคืองและรบกวนการนำกระแสประสาทที่สมองกลีบนอก

การวินิจฉัยโรค (diagnosis)

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถทำได้จากประวัติ การตรวจร่างกายและส่งตรวจทางภาพรังสีวิทยาเพิ่มเติมได้ดังนี้

การถ่ายภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography - CT Scan)

โดยการทำ CT Scan ใช้รังสีเอ็กซ์ในการสร้างภาพตัดขวางของสมอง ช่วยตรวจหาการมีเลือดออกในสมองซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะที่ตำแหน่งใต้เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี ใช้เป็นการตรวจขั้นแรกของภาวะนี้

การถ่ายภาพหลอดเลือดสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Angiography - CTA)

CTA เป็นการตรวจ CT Scan ที่ใช้สารทึบรังสีฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้เห็นภาพของหลอดเลือดได้ชัดเจนขึ้น จะพบหลอดเลือดที่มีความผิดปกติ  สามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นขั้นต่อจากการทำ CT scan ก่อนหน้านี้ ใช้เวลาในการทำไม่นาน

การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging - MRI)

MRI ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพของสมองที่มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบเลือดที่ออกในสมองและรายละเอียดของเนื้อสมองรอบๆได้เป็นอย่างดี โดยปราศจากการใช้รังสีเอ็กซ์ แต่ต้องใช้เวลาทำที่นานขึ้นและต้องใช้ความร่วมมือจากผู้ป่วยที่ต้องอยู่นิ่ง

การถ่ายภาพหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography - MRA)

MRA เป็นการตรวจ MRI ที่เน้นการดูรายละเอียดของหลอดเลือดในสมอง ช่วยให้แพทย์เห็นภาพของหลอดเลือดโป่งพองได้ชัดเจน สามารถตรวจได้อย่างละเอียดและมีความแม่นยำสูง เป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพหลอดเลือดในสมอง การตรวจ MRA Brain เป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดอันตรายจากรังสีเอ็กซ์ จากเทคนิคการสร้างภาพของเครื่อง MRI อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการฉีดสารทึบรังสีร่วมด้วยเพื่อดูหลอดเลือดสมอง จึงทำให้มีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับค่าการทำงานของไต หรือการเจาะหลอดเลือดดำเพื่อทำการฉีดสารทึบรังสี

การถ่ายภาพหลอดเลือดสมองโดยการตรวจแบบผ่านสายสวน (Cerebral Angiography)

การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงและทำการฉีดสารทึบรังสีขณะทำการตรวจเพื่อให้เห็นภาพของหลอดเลือดในสมองอย่างละเอียด โดยเครื่องจะทำการสร้างภาพเป็นสามมิติเพื่อดูหลอดเลือดอย่างละเอียด การตรวจแบบนี้นับว่าเป็นวิธีมาตรฐานที่มีความแม่นยำที่สุด (gold standard) วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือในการเตรียมการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือใส่ขดลวด และทำในกรณีที่เห็นภาพจากการตรวจด้วยวิธีอื่นยังไม่ชัดเจน

ภาพแสดงการการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง DSA แบบ 2 และ 3 มิติ โดยแสดงให้เห็นหลอดเลือดสมองโป่งพองตามลูกศรชี้

การรักษา (treatment)

การรักษาหลักคือทำให้ไม่มีเลือดเข้าไปที่กระเปาะหลอดเลือดโป่งพอง และให้สามารถไหลไปหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนปลายได้ปกติ เพื่อลดภาวะเลือดออกในสมองที่ทำให้เกิดการเพิ่มความดันในสมองตามมา การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของหลอดเลือดโป่งพอง รวมถึงอาการทั่วไปของผู้ป่วย วิธีการรักษาได้แก่ การรักษาเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉิน (emergency treatment) ถ้าผู้ป่วยหมดสติ จำเป็นต้องสอดท่อช่วยหายใจ ร่วมกับควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในค่าที่ปกติ พิจารณาให้ยาลดความดันถ้าผู้ป่วยมีมีภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน ให้ยากันชักถ้ามีอาการชัก ให้ยาลดความดันสมองถ้ามีถาวะสมองบวมมาก รวมถึงการเตรียมการส่งตรวจขั้นพื้นฐานเพื่อเตรียมการรักษาในขั้นถัดไป ทั้งนี้สามารถทำการผ่าตัดเบื้องต้นเช่น ใส่สายระบายน้ำในโพรงสมองชั่วคราวถ้าเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองฉับพลัน (acute obstructive hydrocephalus) เพื่อลดความดันสมองให้ลดลงอย่างรวดเร็ว

การรักษาเฉพาะ (specific and definite treatment)

เป็นการทำการรักษาภายหลังจากการตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งพอง พร้อมระบุขนาดและตำแหน่งได้ชัดเจนแล้ว มีดังต่อไปนี้

1. การผ่าตัดแบบหนีบหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Microsurgical aneurysm clipping)

เป็นการผ่าตัดเปิดกะโหลก เพื่อหนีบหลอดเลือดโป่งพองเพื่อป้องกันการแตกซ้ำโดยผ่านกล้องผ่าตัดกำลังขยายขนาดสูง (microscopic)  การใช้คลิปหนีบพิเศษที่ทำจากโลหะเพื่อหนีบหลอดเลือดโป่งพองให้ปิดสนิท ป้องกันไม่ให้เลือดไหลเข้าไปในบริเวณโป่งพองอีก ซึ่งจะมีความแม่นยำและหายขาดสูงหลังจากทำการรักษาสำเร็จ แต่ต้องมีแผลผ่าตัดเปิดสมอง

ภาพแสดงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดโดยใช้คลิปหนีบหลอดเลือดสมองโป่งพอง

2. การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองอุดด้วยขดลวดขนาดเล็ก (Endovascular Coiling)

เป็นการรักษาเทียบเคียงแบบผ่าตัด แต่ไม่ต้องมีแผลเปิดกะโหลก ใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านหลอดเลือดที่ขาหนีบเพื่อนำขดลวดขนาดเล็ก (coil) หรือท่อขดลวดค้ำยันหลอดเลือด (stent) เข้าไปในหลอดเลือดโป่งพองเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ ทำการรักษาภายใต้เครื่องตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดโดยเฉพาะ (digital subtraction angiography: DSA) โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะสามารถเห็นภาพหลอดเลือดจากการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดสมองขณะทำการรักษา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และเจ็บตัวน้อยที่สุดในการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกในปัจจุบัน

ภาพที่ได้จากการฉีดสารทึบรังสีจากเครื่อง DSA แบบสามมิติ

ภาพการอุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยขดลวด (coil) ตามลูกศรชี้ แสดงให้เห็นหลอดเลือดสมองโป่งพองตามลูกศรชี้

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพ เช่น

– เลิกสูบบุหรี่

– ควบคุมความดันโลหิต

– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

– ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อเฝ้าระวังโรค

การคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm Screening)

การคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการตรวจหาภาวะหลอดเลือดโป่งพองในสมองก่อนที่จะแตกออก การตรวจคัดกรองสามารถช่วยในการป้องกันและรักษาภาวะที่อาจเป็นอันตรายนี้ได้ทันท่วงที

การคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นวิธีที่สำคัญในการตรวจหาภาวะนี้ในระยะเริ่มต้น การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยป้องกันการแตกของหลอดเลือดและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ การใช้วิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมและการติดตามผลอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

วิธีการคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์

   – แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ

   – การตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อหาสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง

2. การถ่ายภาพหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography – MRA)

   – MRA เป็นวิธีการตรวจที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพหลอดเลือดในสมอง สามารถตรวจหาหลอดเลือดโป่งพองได้โดยไม่ต้องใช้สารทึบรังสี ไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับรังสี ไม่ต้องเจาะเลือดขณะทำการตรวจ

3. การถ่ายภาพหลอดเลือดสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Angiography – CTA)

   – CTA เป็นวิธีการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงและสารทึบรังสีในการสร้างภาพหลอดเลือดในสมอง สามารถตรวจหาหลอดเลือดโป่งพองได้อย่างละเอียด

4. การถ่ายภาพหลอดเลือดสมองโดยการตรวจแบบผ่านสายสวน (Cerebral Angiography)

   – การตรวจโดยการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดและฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจดูภาพหลอดเลือดในสมองอย่างละเอียด วิธีนี้เป็นการตรวจที่แม่นยำที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่า

กลุ่มที่ควรได้รับการคัดกรอง

1. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง

   – ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองควรได้รับการคัดกรองเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่า

2. ผู้ที่มีภาวะทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง

   – โรคทางพันธุกรรมเช่น Polycystic Kidney Disease (PKD) และ Ehlers-Danlos Syndrome (EDS) มีความเสี่ยงสูงในการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง

3. ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง

   – ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรได้รับการคัดกรองเนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

4. ผู้ที่สูบบุหรี่

   – การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพอง ผู้ที่สูบบุหรี่ควรได้รับการคัดกรอง

5. ผู้ที่มีประวัติการใช้ยาเสพติด

   – ผู้ที่ใช้ยาเสพติดบางชนิด เช่น โคเคน มีความเสี่ยงสูงในการเกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองและควรได้รับการคัดกรอง

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง แต่สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การป้องกันและการรักษาโรคนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การคัดกรองจึงมีส่วนสำคัญมากในกลุ่มเสี่ยง สามารถตรวจเจอโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองก่อนที่จะแตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการตรวจด้วย MRI MRA สมอง เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่เจ็บตัว เห็นภาพได้อย่างละเอียด และยังมีวิธีการรักษาที่ทันสมัย เจ็บตัวน้อย ปลอดภัย ได้ผลดี สามารถเรียก “การโกงความตาย” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

"STROKE" ภัยเงียบอันตราย อย่ารอให้มีอาการ!

ราคาพิเศษ!

แพ็กเกจตรวจประเมินความเสี่ยงของหลอดเลือดสมองตีบ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงก่อนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

Basic Stroke screening program โปรแกรมตรวจอัลตร้าซาวน์หลอดเลือดคอไปเลี้ยงสมอง

 

Advance Stroke screening program โปรแกรมตรวจอัลตร้าซาวน์หลอดเลือดคอไปเลี้ยงสมอง และประเมินสภาพของของสมองโดยทั่วไป รวมถึงตรวจหาเนื้องอกด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง

 

รายการตรวจ

Complete Blood Count ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

Glucose (Fasting) ระดับน้ำตาลในเลือด

Glycated Hb (HbA1c) ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม

Lipid set (Chol, Tri, HDL, LDL) ระดับไขมันในเลือด

AST (Aspatate Transaminese) ตรวจการทำงานของตับ

ALT (Alanine  Transaminese) ตรวจการทำงานของตับ

Creatinine (plus eGFR) ตรวจการทำงานของไต

VDRL/RPR (Rapid Plasma Reagin)

Chest PA เอกซเรย์บริเวณทรวงอก

EKG (ECG Cardiac) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

Ultrasound Carotid Artery อัลตร้าซาวน์หลอดเลือดคอ

Physician Evaluation (Neuro) ตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง

เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีประวัติอาการทางสมองเรื้อรัง เช่น ปวดหัวเรื้อรัง เวียนหัวเรื้อรัง

*ราคาดังกล่าวรวมค่าแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาลแล้ว

ลงทะเบียนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

เอกสารอ้างอิง

  1. อรรถเกียรติ กาญจนพิบูลวงศ์. 2563.  รายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน. ISBN 978-616-11-4313-8

*ภาพทั้งหมดลิขสิทธิ์ของ นพ.อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย

บทความโดย

ผศ.นพ.อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย

ประสาทศัลยแพทย์และรังสีร่วมรักษาระบบประสาท

ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลบีเอ็นเอช

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ยินยอมทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
    เปิดใช้งานตลอด

    เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเว็บไซต์ของเรา เนื่องจากคุกกี้เหล่านี้ทำให้เว็บเซิร์ฟเวอร์สามารถตอบสนองต่อการกระทำของท่านได้ อีกทั้งยังช่วยในการแสดงผลหน้าเว็บต่อท่าน และยังรวมถึงมอบประสบการณ์ที่สอดคล้องในระหว่างการท่องเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้จะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นสุดการเยี่ยมชมของท่านและจะถูกลบอัตโนมัติทันที
    รายชื่อคุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

    ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ของเราด้วยจำนวนครั้งการเข้าดูหน้าเว็บและจำนวนผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ โดยบริการวิเคราะห์เว็บจะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเราจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้หรือค้นหาส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ที่ควรได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ (กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถใช้เพื่อระบุตัวตนของท่านและไม่มีการเก็บรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ และที่อยู่อีเมลของท่าน) และข้อมูลเหล่านี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติเท่านั้น
    รายชื่อคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์/เพื่อประสิทธิภาพ

  • คุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

    ช่วยให้เรารับรู้เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา ด้วยข้อมูลนี้เราจึงสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ของเราให้เป็นไปตามความต้องการของท่านได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเยี่ยมชมของท่านให้มีประสิทธิภาพและเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อมูลที่รวบรวมโดยคุกกี้เหล่านี้จะไม่สามารถระบุตัวตนของท่านได้
    รายชื่อคุกกี้เพื่อช่วยในการใช้งาน

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณา

    จะอยู่บนอุปกรณ์ของท่านเพื่อบันทึกหน้าเว็บไซต์หรือลิงค์ที่ท่านได้เยี่ยมชมหรือติดตาม ข้อมูลที่ได้จะถูกใช้เพื่อปรับแต่งเว็บไซต์ของเราและแคมเปญโฆษณาของเราเพื่อให้เหมาะกับความสนใจของท่าน
    คุกกี้เพื่อการโฆษณา

บันทึก